มาทำความเข้าใจเรื่องการกันน้ำของนาฬิกากัน (1)

0

เรื่องของระดับการกันน้ำในนาฬิกาเป็นสิ่งที่ถกกันมานาน บางคนก็ทราบ บางคนก็ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร ทำไมนาฬิกาเรือนเล็กๆ แต่กันน้ำได้ตั้ง 50 เมตร วันนี้เรามานั่งคุยเรื่องนี้กัน

มาทำความเข้าใจเรื่องการกันน้ำของนาฬิกากัน (1)
มาทำความเข้าใจเรื่องการกันน้ำของนาฬิกากัน (1)

มาทำความเข้าใจเรื่องการกันน้ำของนาฬิกากัน (Water Resist)

- Advertisement -

หลายคนคงเคยสังเกตสิ่งที่อยู่บนหน้าปัดนาฬิกาของตัวเอง หรือศึกษารายละเอียดของนาฬิกาเรือนนั้นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ และก็อาจจะเข้าใจไปว่า ตัวเลขที่แสดงถึงการกันน้ำ หรือ Water Resistance หรือ Water Proof นั้น หมายความว่านาฬิกาของตัวเองสามารถกันน้ำในระดับที่ระบุอยู่ตามนั้น…เอาใหม่ๆ วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกันน้ำของนาฬิกากัน เพราะดูเหมือนว่าหลายคนอาจจะไม่ทราบ หรือเข้าใจผิดกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ มีการพูดถึงกันเป็นระยะๆ แต่ก็เชื่อเถอะว่ามีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ

ต้องบอกก่อนว่า อันนี้เราพูดกันถึงนาฬิกาปกติ ที่ไม่ใช่พวกที่เกิดมาอยู่กับน้ำอย่างนาฬิกาดำน้ำ หรือ Diver Watch ซึ่งนาฬิกาในกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาอะไร เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นนาฬิกาดำน้ำ นั่นหมายความว่าจะต้องผ่านการทดสอบแบบพิเศษมาก่อน และตัวเลขในการป้องกันน้ำมักจะเริ่มต้นที่ 200 เมตร หรือ 20ATM อยู่แล้ว (ยกเว้นพวกรุ่นเก่าๆ ที่เป็นนาฬิกาวินเทจ) แต่กับนาฬิกาที่ใช้งานทั่วไป…มันไม่ใช่

ต้องเข้าใจกันก่อนว่านาฬิกาข้อมือปกติที่ไม่ใช่นาฬิกาที่ถูกพัฒนามาเพื่อการดำน้ำนั้น จะมีตัวเลขของระดับการป้องกันน้ำที่แตกต่างกันตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 200 เมตร แต่ที่เห็นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 50-100 เมตร หรืออาจจะมี 200 เมตรปนมาบ้าง เช่น Casio G-Shock (ยกเว้นรุ่น Frogman ที่ผ่านการทดสอบอีกรูปแบบตามมาตรฐานการทดสอบของนาฬิกาดำน้ำ)

นาฬิกาทั่วไปจะผ่านการทดสอบที่เรียกว่า ISO2281 โดย เป็นการทดสอบในน้ำภายใต้สภาพนิ่งๆ คงที่ และไม่มีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเคลื่อนที่ของน้ำ คลื่น แรงกระแทกจากน้ำ ฯลฯ และตัวเลขที่ระบุอยู่บนหน้าปัดหรือคู่มือเป็นการบอกว่านาฬิกาเรือนนั้นๆ มีความสามารถในการ ‘ป้องกัน’ หรือ ‘ทน’ ต่อแรงดันในระดับเทียบเท่ากับตัวเลขความลึกที่ระบุเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถลงไปที่ความลึกในระดับนั้นได้จริงๆ เพราะภายใต้การใช้งานจริง ยังมีเงื่อนไขหรือตัวแปรอื่นๆ อีกเยอะ ซึ่งถ้าต้องการใช้งานในรูปแบบนั้น ก็ควรเลือกใช้นาฬิกาดำน้ำที่มีรูปแบบการทดสอบที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับหน่วยที่ใช้กำกับบนหน้าปัดนาฬิกาหรือบนฝาหลัง มีทั้งคำว่า ATM หรือ Atmosphere ซึ่งเป็นการวัดระดับแรงดันที่เกิดขึ้นทั้งในน้ำหรืออากาศ หรือหน่วยเมตร เพื่อระบุความลึกในแนวดิ่งของตัวเลข ซึ่งค่าทั้ง 2 จะมีความสอดคล้องกันในลักษณะ x10 เช่น 20ATM ก็หมายความว่าทนแรงดันในระดับเทียบเท่าความลึก 200 เมตร

ตามปกติแล้ว นาฬิกาทั่วไปจะได้รับการทดสอบการกันน้ำตามมาตรฐาน ISO2281 (ซึ่งเป็นคนละมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบนาฬิกาดำน้ำ) โดยมีการเริ่มนำมาใช้เป็นมาตรฐานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 สำหรับใช้ในการทดสอบนาฬิกาทั่วไปที่ไม่ใช่นาฬิกาดำน้ำ ซึ่งการทดสอบตามมาตรฐานนี้ก็มีทั้งการวางนิ่งๆ อยู่ในน้ำที่มีระดับความลึก 10 เซ็นติเมตรนาน 1 ชั่วโมง รวมถึงการทดสอบแรงกดในระดับ 5 นิวตันบนเม็ดมะยมหรือปุ่มอื่นๆ ที่ความลึก 10 เซ็นติเมตรเป็นเวลา 10 นาที ตามด้วยการทดสอบความทนทานต่ออุณหภูมิที่ทั้งร้อนและเย็น การทดสอบแรงดันที่เกินจากสเป็กที่ระบุ ฯลฯ

อย่างที่เกริ่นตั้งต้นว่าตัวเลขที่ได้มาคือ การทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมในห้องแล็บ แต่สำหรับการใช้งานจริง ถ้าคุณนำนาฬิกาที่มีระดับการกันน้ำ 30 เมตร หรือ 3ATM มาใส่ว่ายน้ำหรือดำน้ำ อาจจะไม่เหมาะ เพราะแขนมีการเหวี่ยงหรือเคลื่อนไหวตลอดเวลาและมีแรงดันอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นแรงดันในน้ำจะมีความเปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเคลื่องไหวของข้อมือว่าแรงหรือเบา ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่น้ำจะเข้าไปได้

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากที่คุณควรทำความเข้าใจให้ดี ก่อนที่จะพานาฬิกาคู่ใจทำกิจกรรมอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และนี่คือ ตารางที่แสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมของระดับการกันน้ำกับกิจกรรมที่นาฬิกาเรือนนั้นๆ เผชิญได้ โดยที่ไม่เกิดสภาพน้ำเข้าแต่ออกไม่ได้ และเป็นนาฬิกาใหม่ ส่วนนาฬิกาที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ก็ต้องดูความสมบูรณ์ของซีลยางต่างๆ ว่ายังมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดีหรือไม่

0 – 1 ATM / 0 – 10 M ล้างมือ, ตากฝน

3 ATM / 30 M ล้างมือ, ตากฝน, ล้างรถ

5 ATM / 50 M ล้างมือ, ตากฝน, ล้างรถ, อาบน้ำ, ว่ายน้ำ

10 ATM / 100 M ล้างมือ, ตากฝน, ล้างรถ, อาบน้ำ, ว่ายน้ำ และ การดำน้ำทะเลตื้น (Snorkel)

20 ATM / 200 M ล้างมือ, ตากฝน, ล้างรถ, อาบน้ำ, ว่ายน้ำ, การดำผิวน้ำ หรือ Snorkle และ การดำแบบใช้อุปกรณ์ หรือ Scuba

เดี๋ยวในตอนหน้าเราจะมาคุยกันต่อเรื่องของการกันน้ำกับนาฬิกาที่เป็นกลุ่ม Diver Watch กันครับ

WaterResist
WaterResist
WaterResist WaterResist
  • ไม่ควรกดปุ่นในน้ำ โดยเฉพาะพวกนาฬิกาดิจิตอลที่มีปุ่มต่างๆ ให้จับเวลา เพราะน้ำอาจจะแทรกเข้าไปได้ในจังหวะที่คุณกดปุ่ม รวมถึงไม่ควรหมุนหรือดึงเม็ดมะยมออกมาเมื่ออยู่ในน้ำ
  • สำหรับนาฬิกาควอตซ์ เมื่อต้องเปลี่บนแบตเตอรี่ นอกจากการเป่าฝุ่นบนเครื่อง ควรให้ช่างเช็คสภาพของโอริงยางไปด้วยในตัว
  • เมื่อต้องทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้ำ ควรตรวจสอบเม็ดมะยมว่าอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ เพราะถ้าเกิดมีการคลายเกลียวออกมา อาจจะทำให้เกิดน้ำเข้าได้
  • แม้ว่านาฬิกาบางเรือนอาจจะมีความสามารถในการกันน้ำในระหว่างล้างมือได้ แต่คุณควรระวังในเรื่องของความแรงของน้ำจากก็อกด้วย เพราะถ้าเปิดแรง แรงดันของน้ำที่ถูกส่งออกมาจะมีมากและอาจจะเล็ดรอดเข้าไปในนาฬิกาได้