Casio G-Shock Mudmaster GWG1000-1A9 : กล้าไหมที่จะใส่ลุย

0

หลังจากตามอยู่นาน ในที่สุดผมก็จัดการสอยเจ้า Mudmaster  ของ Casio เข้ากรุจนได้ และเลือกสายสีเหลืองเด่นในรหัส GWG1000-1A9 มาอยู่ในครอบครอง

Casio G-Shock Mudmaster GWG1000-1A9 : กล้าไหมที่จะใส่ลุย
Casio G-Shock Mudmaster GWG1000-1A9 : กล้าไหมที่จะใส่ลุย

Casio G-Shock Mudmaster GWG1000-1A9 : กล้าไหมที่จะใส่ลุย

- Advertisement -

ผมเป็นแฟนของ Casio G-Shock อยู่เสมอ โดยเฉพาะพวกไลน์ Master of G ซึ่งผมถือว่านี่แหล่ะคือ G-Shock ที่แท้จริง ไม่ใช่พวกนาฬิกาแบบ Street Fashion เหมือนอย่างที่หลายๆ รุ่นเป็นอยู่ ดังนั้น สมัยที่ยังเล่นใหม่ๆ เมื่อสัก 8 ปีที่แล้ว เมื่อเปิดลิ้นชักออกดู G-Shock ที่ผมมีส่วนใหญ่จะเป็นนาฬิกาตระกูลนี้มากกว่าพวกตระกูล GA  หรือ DW ทั้งหลายMudman, Riseman, Gulfman หรือแม้แต่ Frogman ผ่านมือมาหมดแล้ว จนกระทั่งพวกเขาเปลี่ยนคำสร้อยต่อท้ายจาก Man มาเป็น Master ก็เป็นจังหวะที่ผมอิ่มตัวกับ G-Shock และหันไปมองฝรั่งจากสวิตเซอร์แลนด์แทน ก็เลยไม่ได้มีโอกาสคบหาดูใจกัน ดังนั้น Mudmaster ที่เห็นอยู่นี้จึงถือเป็น G-Shock เรือนแรกในรอบ 4 ปีของผมเลยก็ว่าได้ มันเหมือนกับ Old Habits Die Hard ที่สุดท้ายแล้ว ก็กลับมาตายรังเหมือนเดิม พร้อมกับเลือกสายเหลืองรหัส Casio G-Shock Mudmaster GWG1000-1A9 ติดมือมา

ทำไมผมถึงเลือก Mudmaster ? แทนที่จะเป็น Gulfmaster หรือ Gravitymaster

คำถามนี้น่าสนใจ และถ้าจะให้ตอบก็เห็นจะเป็นเรื่องของหน้าตาและความสมบุกสมบันของมัน นั่นคือเรื่องแรก ตามด้วยเรื่องที่ 2 ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนตัวคือผมค่อนข้างชอบนาฬิกาที่มีทั้งเข็มและดิจิตอล หรือ Analogue-Digital (เหมือนกับชื่อเว็บนั่นแหละ) นั่นเลยทำให้ Gravitymaster เลยโดนตัดไป และข้อที่ 3 ถ้าจะต้องซื้อนาฬิกาที่เกี่ยวกับน้ำจากค่าย Casio ผมมั่นใจแค่กบ หรือ Frogman เพียงอย่างเดียว ดังนั้น Gulfmaster ไม่อยู่ในหัวเลย

อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ว่าไปแล้วก็เหมือน Deja Vu นิดๆ เพราะเมื่อปี 2009 สมัยที่ผมตัดสินใจลุย Casio ผมก็เลือกนาฬิกาเรือนแรกของตัวเองเป็น Mudman ในตระกูล G9000 และเมื่อคัมแบ็คก็ดันเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับพวกโคลนๆ อย่าง Mudmaster อีก

Mudmaster เป็นไลน์อัพใหม่ที่ถูกส่งลงสู่ตลาดประมาณปลายปี 2015 แต่ผมเพิ่งจะมีปัญญาซื้อมาอยู่ในครอบครองเอาในอีก 1 ปีต่อมา สารภาพเลยว่าตอนแรกมันไม่ได้อยู่ในหัวเลย เพราะส่วนตัวไม่ค่อยชอบดีไซน์ใหม่ๆ  ของ G-Shock โดยเฉพาะไอ้ปุ่มกดไฟ (ที่ดูแล้วคล้ายคางของ Gundam) ที่เริ่มเอามาใช้ครั้งแรกกับ Rangeman มันทำให้นาฬิกาดูแปลกๆ ยังไงพิกล และกว่าจะเริ่มรู้สึกคล้อยตามและหลงใหล ต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ เลย

ตอนแรกที่เปิดตัวออกสู่ตลาด Mudmaster มีให้เลือก 3 รุ่นคือ GWG10000-1A3 สายเขียวที่ดูแล้วก็เด่นดีกับขอบด้านในวงตัดกับสีเหลือง สายเขียวเข้ม และเข็มวินาทีและเข็มบอกฟังก์ชั่นสีเหลือง ตามด้วย GWG1000-1A ดำล้วน ลำพรายน้ำของตัวนาฬิกาออกสีนวลๆ เน้นความเรียบง่ายด้วยฟอนต์บนตัวเรือนที่เป็นสีไข่ไก่ และอีกรุ่น GWG1000-1A9 ที่ผมเลือก ซึ่งในตอนนี้กลายเป็นของหายากไปซะแล้ว

การตัดกันชองสีระหว่างสายกับตัวเรือน และตัวอักษรบนขอบ Bezel ไม่ได้มีการเพนท์อะไรให้ดูรกตาแม้แต่คำว่า G-Shock คือสิ่งที่ผมไม่ลังเลที่จะหยิบเรือนนี้ แม้ว่าในตู้จะมีรุ่นใหม่กว่าอย่างดำ-ทองวางขายคู่กันด้วยก็ตาม และแน่นอนว่า การเลือกใช้โทนสีที่ตัดกันอย่างลงตัวระหว่างดำของตัวเรือนและเหลือง ทำให้เกิดความโดดเด่นเวลาคาดอยู่บนข้อมือคุณมากกว่าพวกสีเดียวตลอดทั้งเรือน

ในแง่ของไซส์บอกได้เลยว่าใหญ่กว่าที่คิดมาก ขนาดข้อมือ 7 นิ้วของผมยังเกือบเอาไม่อยู่ ดังนั้นพวกข้อมือเล็กกว่านี้ ถ้าใจรัก ไม่ต้องพูดถึง เพราะกางแน่ๆ เพราะ Mudmaster มากับไซส์ที่ใหญ่ถึง 56 มิลลิเมตร บวกกับ Lug-to-Lug อีก 59 มิลลิเมตร ยังไงก็ไม่รอด แถมยังหนาในระดับ 18 มิลลิเมตรอีก งานนี้ยิ่งไปกันใหญ่ แต่เชื่อเถอะว่าคนมีใจให้ แค่นี้ยังไงก็ไม่หวั่น

สำหรับการใช้งาน ผมไม่สงสัยในเรื่องสมรรถนะของ G-Shock แต่สงสัยเหมือนกันว่ากับนาฬิการะดับนี้จะมีใครยอมพาออกไปลุยให้ตัวเปรอะเปื้อนหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วเจ้านี่ก็ถึกสมชื่อ G-Shock เพราะมากับตัวเรือนที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับกับการสั่นสะเทือนแบบไม่ปกติด้วยโครงสร้างตัวเรือนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ รวมถึงยังมีคำว่า Tough MVT ซึ่งเป็นคำที่ผมได้สัมผัสครั้งแรกกับพวกนาฬิกานักบินที่มีระบบ Multiband อย่าง GW3000 (บ้านเราใช้ชื่อ G1200 ซึ่งไม่มีระบบ Tough MVT มาให้) เป็นความสามารถในการทนทานต่อการเหวี่ยงหนีศูนย์

นอกจากนั้น  Mudmaster ยังเป็นนาฬิกาแบบเข็มเรือนแรกของ G-Shock ที่มีความสามารถในการกันโคลน ซึ่งถ้าใครที่เคยใช้ Mudman มาก่อนก็คงทราบดีว่านาฬิกาพวกนี้ปุ่มจะค่อนข้างกดยาก เพราะมีการซีลด้วยประเก็นหลายชั้น ซึ่งทำให้ต้องออกแรงกดปุ่มกันหน่อย

สิ่งหนึ่งที่ G-Shock ยุคปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปคือ การนำระบบ Triple Sensor ที่ปกติแล้วจะมีอยู่ใน Protrek มาใช้ ซึ่งเป็นการติดอาวุธและเพิ่มความสามารถให้กับ G-Shock จนบางทีเริ่มเกิดคำถามว่า Casio ไม่กลัวจะไปทับไลน์ หรือแย่งตลาดกับ Protrek หรือ เพราะยังไง G-Shock ก็อึดและถึกกว่า และดีไซน์ก็ดูสปอร์ตและสวยกว่า  Protrek เสียอีก

ในส่วนของ Mudmaster นั้น มากับโมดุล 5463 แสดงผลในแบบเข็มและหน้าจอดิจิตอล พร้อมกับระบบ Multiband 6 ที่สามารถปรับเวลาให้มีความเที่ยงตรงโดยอาศัยสัญญาณวิทยุ ซึ่งบ้านเราใช้งานไม่ได้ โดยโมดุลนี้มีความสามารถในการวัดทั้งความกดอากาศ ความสูง และอุณหภูมิ แถมด้วยเป็นเข็มทิศดิจิตอล ซึ่งฟังก์ชั่นดูแล้วเทียบเท่า Preotrek เลย

เรื่องของความง่ายยากในการใช้งานนั้น  บอกคำเดียวว่า ‘จงนั่งอ่านคู่มือซะ’ หากคุณต้องการใช้งานมันอย่างเต็มที่ แต่ถ้าแค่ใส่เอาเท่ ก็ลืมๆ มันไปเถอะ เพราะต้องใช้เวลานานเอาเรื่องในการทำความเข้าใจกับระบบต่างๆ

สำหรับเม็ดมะยมที่ติดมากับตัวเรือนเป็นระบบ Smart Access ที่ Casio นำมาใช้กับ G-Shock นานแล้วตั้งแต่สมัยรุ่นนักบิน  GWA1000 เมื่อสัก 6 ปีที่แล้ว โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเลือกในฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น เมื่อคุณต้องการเซ็ตเวลาในโหมด Home City ก็ต้องดึงเม็ดมะยมซึ่งเป็นแบบขันเกลียวออกมา และหมุนเพื่อใช้ในการเลือกเมืองที่ต้องการ หรือเมื่ออยู่ในโหมด DST ก็หมุนเพื่อเปลี่ยนคำสั่งว่าจะ On หรือ Off

นอกจากฟังก์ชั่นที่ไม่น้อยหน้า Protrek แล้ว ผมยังค่อนข้างชอบเมื่อพบว่า G-Shock เดี๋ยวนี้เริ่มหันมาใช้กระจก Sapphire แทนที่ Mineral Glass ที่แฟนๆ คุ้นเคยกันมานาน และใน Mudmaster ก็หันมาใช้กระจก Sapphire แล้วด้วยเช่นกัน แถมยังมีการเคลือบสารกันแสงสะท้อนที่ด้านในด้วย เสียอย่างเดียวสายยังเป็นแค่เรซิน ไม่ได้มีคาร์บอนไฟเบอร์มาให้เหมือนกับ Frogman หรือ Rangeman

สิ่งเดียวที่ผมไม่ค่อยชอบสำหรับ Mudmaster และอาจจะรวมถึงนาฬิการุ่นอื่นๆ ของ G-Shock ที่เป็นแบบเข็ม คือ ระบบไฟที่ส่องสว่าง ผมว่ามันดูหลอนๆ ยังไม่รู้ เพราะดันส่องมาจากตำแหน่ง 6 นาฬิกา ซึ่งถ้าสมัยเด็กๆ คุณเคยเล่นผี (ผ้าห่ม) หลอกเพื่อน ด้วยการใช้ไฟฉายส่องใต้คาง ผมว่าสภาพมันแบบเดียวกันเลย

ส่วนพรายน้ำแบบ Neo Bright ที่เคลือบตรงเข็มและมาร์คเกอร์หลักๆ บนหน้าปัด ก็มี่ค่อยจะเรืองแสงเท่าที่ควร เรียกว่าถ้ามีประสบการณ์ที่ดีกับพรายน้ำของนาฬิกาดำน้ำของ Seiko มาก่อน บอกได้เลยว่า พรายน้ำของ G-Shock สอบตก

กับค่าตัวตามป้ายหน้าเคาน์เตอร์ในระดับ 28,000 บาทและส่วนลดแค่ 15% บอกได้เลยว่า นี่คือ G-Shock ที่ราคาแรงเอาเรื่อง แต่ก็ยังไม่ถึงกับแพงที่สุด เรียกว่าถ้าไม่มีใจรักจริง คงยากที่จะยอมควักเงินซื้อ เพราะตัวเลือกในช่วงราคานี้มีหลากหลายทั้งมือ 1 และมือ 2 ที่เป็นแบรนด์สวิสส์ระดับปานกลาง

แต่ผมก็เชื่อเช่นกันในฐานะที่เป็นแฟนเหนียวแน่นของ G-Shock มาตั้งแต่สมัยนุ่งขาสั้น วิ่งเอา G-Shock ไล่ปาหมา เพราะเห็นโฆษณาว่าใช้ตีแทนลูก Hockey ได้ ยังมีแฟนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าเป็นแฟนเดนตายและได้หมดแบบไม่สนใจราคา แต่กล้าที่จะจ่ายเพราะชอบในความเป็น G-Shock เพราะแฟนพวกนี้เติบโตมาพร้อมกับนาฬิกายี่ห้อนี้ และมีประสบการณ์ร่วมกันมานาน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน หลายคนเติบโตและมีฐานะมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ลืมความประทับใจในวัยเด็ก

เชื่อเถอะมีแฟนกลุ่มนี้จริงๆ

คุณสมบัติของ : Casio G-Shock Mudmaster GWG1000-1A9

  • เส้นผ่าศูนย์กลาง : 56 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 59 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 18 มิลลิเมตร
  • น้ำหนัก : 119  กรัม
  • กระจก : Sapphire เคลือบสารกันสะท้อน
  • โมดุล : 5463 แสดงผลเข็ม และดิจิตอล
  • กันน้ำ : 200 เมตร
  • ความสามารถ : เข็มทิศดิจิตอล / วัดความสูง / วัดความกดอากาศ / วัดอุณหภูมิ / ทนต่อโคลน / ทนต่อแรงสั่นสะเทือน
  • แหล่งพลังงาน : ระบบแสงอาทิตย์ Tough Solar
  • จุดเด่น  : ดีไซน์สวย ฟังก์ชั่นครบ ทนทาน
  • จุดด้อย : ระบบพรายน้ำและการส่องสว่าง ราคาที่ค่อนข้างสูง การใช้งานที่ยุ่งยาก