ครั้งหนึ่งพวกเขาก็เคยไปในอวกาศเหมือนกัน

0

เมื่อพูดถึงอวกาศ คุณอาจจะนึกถึงชื่ออย่าง Omega Bulova Tag Heuer หรือแม้แต่ Fortis แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกชื่อหนึ่งที่สมควรถูกใส่เข้าไปด้วย นั่นคือ Seiko

ครั้งหนึ่งพวกเขาก็เคยไปในอวกาศเหมือนกัน
ครั้งหนึ่งพวกเขาก็เคยไปในอวกาศเหมือนกัน

ครั้งหนึ่งพวกเขาก็เคยไปในอวกาศเหมือนกัน

- Advertisement -

เมื่อพูดถึงเรื่องของอวกาศ คงมีนาฬิกาเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่สามารถใช้ตรงนี้เป็นจุดเด่นในการสร้างแบรนด์ และวางกลยุทธ์ในการตลาด แต่สำหรับบางแบรนด์ที่ไม่เคยนำเรื่องนี้มาพรีเซ็นต์ในวงกว้าง ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่เคยไปนะ และแน่นอนว่าสำหรับ Seiko เราคงต้องบอกว่า ครั้งหนึ่งพวกเขาก็เคยไปในอวกาศเหมือนกัน

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นในปี 2008 ที่งาน BaselWorld ทาง Seiko ได้เปิดตัวนาฬิการุ่นพิเศษที่ผลิตตามความต้องการของลูกค้า (Custom Design) โดยลูกค้าคนที่ว่าคือ Richard Garriot อดีตเจ้าของบริษัทเกมที่เชื่อว่าหลายคนคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 อย่าง EA หรือ Electric Arts ซึ่งเขาได้ขายกิจการไปในปี 1992 และได้เดินตามความฝันที่ต้องการเหมือนกับพ่อซึ่งก็คือ Owen Garriot ที่เป็นนักบินอวกาศ

ในปี 2008 ฝันของเขาก็เป็นจริง เมื่อเขาเป็นคนทั่วไปรายที่ 6 ซึ่งมีสิทธิ์ได้ขึ้นไปท่องอวกาศ โดยเดินทางไปด้วยจรวด Soyuz TMA-13 ของรัสเซีย เพื่อเดินทางไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2008 และบนข้อมือของ Garriot ที่ออกเดินทางไปยังอวกาศมีนาฬิกาของ Seiko ที่มีชื่อรุ่นว่า Spacewalk Spring Drive ติดตามไปด้วย

โปรเจ็กต์นี้เป็นการสานฝันร่วมกัน ซึ่ง Seiko จำเป็นจะต้องผลิตนาฬิกาขึ้นมาให้ตรงกับความต้องการที่เฉพาะของลูกค้า โดย Garriot ต้องการนาฬิกาที่มีน้ำหนักเบา และมีระบบโครโนกราฟที่ทำงานง่าย แถมตัวเลขที่อยู่บนหน้าปัดจะต้องอ่านได้ชัดเจนแม้ว่าจะเหลือบตามอง

ในเรื่องของเลย์เอาท์หน้าปัดนั้น มีการออกแบบหลายต่อหลายครั้ง และในที่สุดพวกเขาก็ได้เลย์เอาท์ที่เหมาะสม ในการดึงหน้าปัดย่อยของวงจับเวลาขึ้นไปอยู่ในตำแหน่ง 11 และ 1 นาฬิกา ขณะที่เข็มต่างๆ จะได้รับการออกแบบมาเพื่อความสะดวกสูงสุดในการมองเห็น ขณะที่ชุดเม็ดมะยมและการกดปุ่มทำงานของระบบจับเวลา ก็มีการย้ายปุ่มขึ้นมาอยู่ด้านบน และมีการออกแบบให้ใหญ่กว่าปกติ

แน่นอนว่า Seiko ขึ้นชื่อในเรื่องของพรายน้ำอยู่แล้ว กับวัสดุเรืองแสงแบบ Lumibrite แต่สำหรับนาฬิการุ่นนี้พวกเขาใช้สารที่มีความสว่างในการเรืองแสงมากกว่าที่ใช้อยู่ในนาฬิกาปกติถึง 3 เท่า

ตัวเรือนของ Spacewalk มากับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 48.7 มิลลิเมตร Lug-to-Lug 53 มิลลิเมตร หนา 15.2 มิลลิเมตร และเบาเพียง 92.5 กรัมซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ไทเทเนียมแบบ High-intensity ในการผลิตตัวเรือน โดยมีการออกแบบตัวเรือนมาช่วยด้วย โดยเฉพาะการเว้าทางด้านข้าง เพื่อให้มีการใช้วัสดุน้อยกว่าปกติ และทำให้เฉพาะตัวเรือนขนาดเกือบ 49 มิลลิเมตรมีน้ำหนักเพียง 44 กรัม หรือเบากว่านาฬิกาไซส์เดียวกันแต่ผลิตด้วย Stainless Steel ถึง 50%

นอกจากเบาแล้วยังต้องทนทาน ดังนั้นทั้งเคสและฝาหลังจึงได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษในการรับมือกับอุณหภูมิในระดับ -20 ไปจนถึง 70 องศาเซลเซียส และมีการพัฒนาประเก็นแบบพิเศษ Special Gaskets ที่อาศัยประสบการณ์จากการพัฒนานาฬิกาดำน้ำในตระกูล Tuna 1000 เมตรเข้ามาช่วยในการผลิต

Seiko ใช้กลไกตระกูล 5R68 ที่เป็น Spring Drive Chronograph มาใช้เพื่อความแม่นยำในการทำงาน และระดับการสำรองพลังงานที่ยาวนาน ซึ่งมากว่า 72 ชั่วโมงในการเดินปกติแบบที่ไม่มีการใช้กลไกการจับเวลา แถมด้วยระบบ GMT

นาฬิกาที่ผลิตเพื่อการใช้งานในอวกาศล็อตแรกมีทั้งหมด 6 เรือน และ Garriot เอาไปใช้งาน 2 เรือน  ก่อนที่จะนำออกประมูลเข้าองค์กรการกุศลเมื่อปี 2009 โดยเรือนที่เขาสวมใช้งานจริงนั้นจบที่ราคา 45,600 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.6 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับนาฬิกาเรือนนี้มากขึ้น ดังนั้นในปี 2010 พวกเขาก็เปิดตัว Civilian Version ของ Spacewalk ออกมา โดยมีการผลิตเพียง 100 เรือน และใช้รหัส SRPS005 ส่วนราคาหรือ แรงเอาเรื่องเหมือนกับ เพราะเปิดออกมาที่ 28,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 980,000 บาท และหมดลงอย่างรวดเร็ว โดยสเปกและหน้าตา เหมือนกับรุ่นที่ผลิตให้กับ Garriot

และแน่นอนว่าเมื่อถึงตอนนี้ มันเป็นหนึ่งใน The Grail ของบรรดาสาวกของ Seiko ทั่วโลกไปโดยปริยาย

SeikoSpace
https://vimeo.com/22969422