คำถามหนึ่งที่ผมมักจะเจอเพื่อนๆ ถาม เช่นเดียวกับอ่านเจอตามหน้าเว็บบอร์ดอยู่เป็นประจำ (อีกละ) คือ นาฬิกาขนาดเท่านี้ (หมายถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง หรือ Diameter แบบไม่รวมเม็ดมะยม) เหมาะกับข้อมือเท่านี้หรือเปล่า ? หรือข้อมือ 7 นิ้วกับนาฬิกาไซส์ 42 มิลลิเมตรจะพอดีไหม ? ซึ่งตรงนี้บอกตรงๆ เลยว่า การใช้แค่ค่าเส้นผ่าศูนย์กลางของนาฬิกาแบบไม่รวมเม็ดมะยม (อย่างที่ผู้ผลิตชอบวัดกัน) มันไม่ใช่สูตรตายตัวในการบอกว่านาฬิกาเรือนนั้นเหมาะกับข้อมือของคุณหรือไม่
ซื้อนาฬิกาสักเรือน อย่าดูแต่ Diameter
ตัวผมเองข้อมือ 7 นิ้ว มีนาฬิกาไซส์เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ขนาด 42 มิลลิเมตร ไปจนถึง 52 มิลลิเมตรอยู่ในกรุ และก็เคยขายนาฬิกาขนาด 42 มิลลิเมตรออกไปเพียงเพราะว่าใส่แล้วมันกางเกินไป และก็เช่นเดียวกันที่เคยลองทาบนาฬิกาขนาด 42 มิลลิเมตรไปแล้ว ปรากฎว่า ‘ทำไมแม่งเล็กจังวะ’ เลยพาลให้หงุดหงิดเพราะอยากได้มาก และก็อีกเช่นกัน ข้อมือของผมเคยลองทาบกับนาฬิกา Oversize ขนาด 52 มิลลิเมตร (ไม่ใช่ Casio G-Shock) ได้อย่างลงตัว แต่พอมาเจอกับขนาด 47 มิลลิเมตรของบางยี่ห้อถึงกับหงายหลัง เพราะมันกางแบบสุดๆ และใส่แล้วดูใหญ่มาก
ทีเกริ่นมาทั้งหมด ผมกำลังจะบอกว่า เวลาคุณจะซื้อนาฬิกาสักเรือน ปัจจัยที่จะบอกว่าข้อมือของคุณสามารถรับมือกับนาฬิกาเรือนนั้นได้หรือไม่ได้นั้น ไม่ได้มีแค่เส้นผ่าศูนย์กลาง หรือ Diameter เพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่อีกค่าหนึ่ง นั่นก็คือความยาวของตัวเรือนโดยรวม หรือที่เรียกว่า Lug-to-Lug
Lug-to-Lug เป็นการวัดจากปลายขานาฬิกาด้านหนึ่งไปจนถึงอีกด้านหนึ่ง และตรงนี้จะสอดคล้องกับขนาดข้อมือของคุณโดยตรง ซึ่งในความเห็นผมมีผลต่อการใส่ของคุณมากกว่า Diameter เสียอีก เพราะถ้าลองมองข้อมือของตัวเอง Diameter จะสัมพันธ์กับแนวความยาวของข้อมือมากกว่า แต่ Lug-to-Lug จะสัมพันธ์กับความกว้างของข้อมือ หรือเส้นรอบวงของข้อมือพวกตัวเลข 6 นิ้ว 7 นิ้วอย่างที่คุณชอบเรียกกัน
เรียกว่าจะกางหรือไม่กางก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้แหละ เพราะนาฬิกาบางรุ่น โดยเฉพาะพวกนักบินขาสายจะค่อนข้างยาว และเมื่อทาบกับข้อมือแล้ว หากทางผู้ผลิตไม่ออกแบบให้ขาสายโค้งลงเพื่อรับกับข้อมือ คุณจะพบว่ามันกางออกมาอย่างมาก โดยเฉพาะพวกไซส์ 44 มิลลิเมตร ซึ่งคนที่มีข้อมือต่ำกว่า 7 นิ้ว อาจจะใส่แล้วไม่สวยเลย และไม่ต้องพูดถึงไซส์ 47 มิลลิเมตรเลย ขนาดข้อมือ 7 นิ้วยังแทบเอาไม่อยู่ ต้องมากกว่านี้ถึงจะดูสวย
ความยาวของ Lug-to-Lug ก็เป็นปัจจัยหนีง ส่วนอีกปัจจัยคือ การออกแบบขานาฬิกาว่ามีรูปแบบอย่างไร มีขนาดโค้งลงหรือไม่ เพราะบางยี่ห้อแม้ว่าตัวเรือนนาฬิกาจะทำออกมาใหญ่มาก แต่ด้วยการออกแบบขาสายที่เอื้อต่อการใส่ก็ทำให้ข้อมือบางขนาดก็สามารถรับมือกับมันได้ เช่น Oris Prodiver Chronograph ที่ใครๆ ก็บอกว่ามันคือเจ้ายักษ์ของวงการนาฬิกา แต่ด้วยการออกแบบขาสายที่นอกจากจะสั้นแล้ว ยังมีลักษณะงุ้มลงรับกับข้อมือ ก็เลยทำให้นาฬิกาเรือนนี้ไม่ได้สร้างความลำบากใจอะไรให้กับผมที่มีข้อมือขนาด 7 นิ้ว
เอาเป็นว่าอ่านมาถึงบรรทัดนี้ เวลาที่คุณจะซื้อนาฬิกาสักเรือนแบบไม่เห็นตัวจริง แต่จินตนาการความเหมาะสมของมันเวลาอยู่บนข้อมือตัวเองผ่านทางตัวเลขของรายละเอียดทางเทคนิค อย่าพิจารณาแค่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่านั้น ให้ดูค่าอื่นๆ ร่วมด้วย และถ้าเป็นไปได้ ยังไงผมก็แนะนำให้ไปลองทางตัวจริงดีกว่า จะได้รู้ว่าสุดท้ายแล้วนาฬิกาเรือนนั้นยิ้มให้คุณหรือไม่
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch