ในยุคก่อนที่เราจะมาถึงพวก Androidwear หรือสมาร์ทวอชท์ทั้งหลาย แนวคิดในการทำให้นาฬิกามีความฉลาด และสามารถปรับเวลาได้ตามประเทศที่เดินทางไปนั้นถือว่าเป็นไอเดียที่แจ่มสุดๆ นั่นก็เลยทำให้ Casio ได้คิดค้นเทคโนโลยีที่เรียกว่า Wave Ceptor ออกมา ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมาใช้คำว่า Multiband ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งโดยพื้นฐานการทำงานแล้ว มันคือนาฬิกาที่ปรับเวลาได้เองผ่านคลื่นสัญญาณวิทยุ หรือ Radio Controlled นั่นเอง
Casio Multiband : สรุปแล้วมันใช้งานอย่างไร ?
ผมพยายามมองหาความต่างในเรื่องของ Wave Ceptor กับ Multiband แต่ก็ยังหาไม่เจอสักที (ถ้าใครมีจะกรุณาจักเป็นพระคุณอย่างมาก) ดังนั้นความเข้าใจสำหรับผมในตอนนี้ มันคือระบบที่มีพื้นฐานเดียวกัน แต่เรียกให้เกิดความแตกต่างในแง่ของกลยุทธ์ทางการตลาดเท่านั้น
เพราะถ้าเป็น G-Shock รุ่นใหม่ๆ จะนิยมใช้คำว่า Multiband ไม่ว่าจะ 5 หรือ 6 มากกว่า ส่วน Wave Ceptor ก็จะเคยมีใช้กับ G-Shock รุ่นเก่าๆ หน่อย แต่ปัจจุบันจะพบกับนาฬิกาของ Casio รุ่นธรรมดาเป็นหลัก หรือไม่ถ้าเกี่ยวข้องกับ G-Shock ก็จะต้องมีคำว่า GPS Hybrid เพิ่มเข้ามาด้วยอย่างพวกนาฬิกาตระกูล GWP1000
จริงๆ แล้วหน้าที่ของมันคือ การปรับเวลาให้ตรงตามสัญญาณวิทยุที่ถูกกระจายออกมา ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องสอดคล้องกับเสาที่ส่งสัญญาณออกมาด้วย เรียกว่าถ้าความถี่ของคลื่นไม่ตรงกันก็จะไม่สามารถ Sync กันได้ ดังนั้น ถ้าอ่านแมนนวลของ G-Shock ดีๆ เราจะพบว่าเสาสัญญาณที่ว่ามีทั้งแบบ 5 เสา (เรียก Multiband 5 ) และ 6 เสา (เรียก Multiband 6)
ทั้ง 6 เสาจะกระจายอยู่ที่ญี่ปุ่น 2 เสา (เมืองฟูคุชิมะ/ฟุคุโอกะ) จีน 1 เสา (ฉางจี) ยุโรป 2 เสา (อังกฤษ/เยอรมีน) และสหรัฐอเมริกา 1 เสา (เมืองฟอร์ตคอลลินส์) ซึ่งแบบ 5 เสาก็อ้างอิงจากแหล่งตรงนี้เช่นเดียวกัน ตามปกติแล้ว คลื่นวิทยุตรงนี้จะกระจายออกมาได้จากจุดเสาประมาณ 500-3,000 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับกำลังของสัญญาณที่ถูกปล่อยออกมา
ดังนั้น ถ้าเอาไปใช้กับประเทศอื่นที่สัญญาณไม่ครอบคลุม บอกได้คำเดียวว่า ‘หมดสิทธิ์’
ทำไม Multiband ถึงมีความสำคัญ
ตามปกติแล้ว นาฬิกาทุกเรือนจะมีเรื่องของความเที่ยงตรงที่มาก-น้อยขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและความสามารถของผู้ผลิตนาฬิกาในการผลิตกลไก ซึ่งแม้ว่านาฬิกาควอตซ์หรือดิจิตอลจะมีความเที่ยงตรงอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือ จะเกิดความผิดเพี้ยนอย่างมาก ถ้าคุณตั้งเวลาจากแหล่งที่ไม่สามารถอ้างอิงเวลาที่เป็นมาตรฐานได้ เช่น บางคนก็ตั้งโดยดูเวลาจากนาฬิกาเพื่อน บางคนก็ตั้งจากนาฬิกาที่ร้าน นั่นเท่ากับว่ามีโอกาสที่เวลาจะผิดเพี้ยนไปเป็นนาทีๆ หรือ 5-10 นาทีเลยก็มี
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดตามแนวคิดนี้คือ การปรับตั้งเวลาให้กับนาฬิกาของคุณโดยอ้างอิงจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ซึ่งก็คือ จากสัญญาณวิทยุที่ถูกปล่อยออกมา เหมือนกับที่คุณโทรเขา 181 เพื่อเทียบเวลากับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่งตรงนี้สำคัญอย่างมากสำหรับประเทศที่ให้ความสำคัญกับเวลาอย่างญี่ปุ่น พวกเขาก็เลยคิดเทคโนโลยีขึ้นมาใช้งาน
ประเด็นหนึ่งที่คนใช้งานในบ้านเรายังเข้าใจผิด (ซึ่งก็รวมถึงผมในตอนแรกด้วย) นั่นคือ คิดว่าตัวระบบ Multiband จะปรับเวลาให้เองอัตโนมัติเมื่อคุณเดินทางไปยังประเทศที่สัญญาณวิทยุส่งออกมาถึง เช่น บินออกจากกรุงเทพแล้วเมื่อมาถึงญี่ปุ่น เวลามันจะปรับเองอัตโนมัติ
คำตอบ คือ ผิด
เพราะถ้าเสียสละเวลาอ่านจากแมนนวลสักนิด คุณจะพบว่า เงื่อนไขในการทำงานของระบบ Multiband จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อ คุณปรับเซ็ตเวลาในโหมด Time Keeping (หรือโหมดบอกเวลา) เป็นเมืองที่คุณเดินทางไปถึงก่อน หรือไม่ก็ปรับเข้าโหมด World Time แล้วเลือกเมืองได้เลย จากนั้นระบบถึงจะ Sync และจัดการปรับให้ตรงกับเวลามาตรฐานภายใต้เงื่อนไขในการทำงานของระบบ
หลายคนอาจจะถามว่า ‘อ้าว…แล้วอย่างนี้จะมีประโยชน์อะไรละ เพราะสุดท้ายก็ต้องปรับด้วยตัวเองให้เป็นเวลาของประเทศนั้นๆ ก่อน เหมือนกับนาฬิกาทั่วไป’
คำตอบคือ จุดมุ่งหมายในการพัฒนาระบบ Multiband ขึ้นมาคือ การส่งมอบความเที่ยงตรงของเวลาที่อ้างอิงจากแหล่งมาตรฐาน ทั้งในระดับนาทีและวินาที ไม่ใช่เรื่องการปรับเวลาให้อัตโนมัติในขณะที่บินข้ามเมือง
เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าคนญี่ปุ่นซีเรียสเรื่องเวลา ซึ่งจะว่าไปแล้วอาจจะระดับหลักวินาทีเลยก็ว่าได้ ดังนั้น ถ้านาฬิกาของแต่ละคนเดินไม่ตรงกันเพราะเวลาของนาฬิกาเรือนนั้นถูกปรับตั้งจากแหล่งที่ไม่ได้มาตรฐาน พวกเขาก็จะเกิดความคลาดเคลื่อนของเวลาได้ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเดินทางไปยังนัดหมายที่สำคัญ ซึ่งถ้าพลาดแม้แต่นาทีเดียวอาจจะถึงขั้นเกิดความเสียหายได้
นี่แหละคือสิ่งที่ระบบ Multiband ถูกคิดค้นขึ้นมาให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งาน
สำหรับการใช้งานนั้น อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า ผู้ใช้จะต้องปรับเวลาในโหมด Time Keeping หรือ World Time ตามเมืองที่ตัวเองไปถึงก่อน และเช็คว่าเมืองที่อยู่นั้นอยู่ในรัศมีของคลื่นวิทยุที่ถูกปล่อยออกมาหรือไม่ จากนั้นเมื่อถึงเวลานานก็นำนาฬิกาไปวางที่หน้าต่าง หรือจุดที่คิดว่าปลอดโปร่งและรับสัญญาณได้ดี โดยหันตำแหน่ง 12 นาฬิกา (เพราะตัวรับสัญญาณตั้งอยู่ตรงนี้) แค่นี้ก็จบและรอเวลารับสัญญาณ
เหตุผลที่ควรจะทำตอนกลางคืนก็เพราะว่าตัวรับสัญญาณทำได้ดีกว่าในช่วงนี้ ในบางรุ่นขณะที่รับสัญญาณจะมีเครื่องหมายแสดงบนหน้าปัด แต่บางรุ่นอาจจะไม่มี และการปรับเวลาจะใช้เวลาระหว่าง 2-10 นาทีขึ้นอยู่กับสภาพอากาศว่าปลอดโปร่งขนาดไหน และบางครั้งอาจจะนานถึง 20 นาทีก็มี ดังนั้น ตั้งทิ้งเอาไว้เลย
อันนี้เราเขียนถึงกรณีที่เป็น Auto Recieve แต่มีบางครั้งที่ผู้ใช้งานบางคนอยากจะปรับรับเวลาเองแบบแมนนวลก็ได้ โดยในบางรุ่นจะมีโหมด R/C จากนั้นก็เปิดแมนนวลทำตามได้เลย โดยในรุ่นที่แสดงผลแบบหน้าจอดิจิตอล จะมีการแสดงสถานะการทำงานให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
ข้อควรระวังในกรณีที่คุณนำออกมารอรับสัญญาณคือ อย่ายุ่งกับตัวนาฬิกา เพราะถ้าเกิดมีการกดเล่นหรือเข้าสู่ฟังก์ชั่นใดฟังก์ชั่นหนึ่ง ระบบก็จะไม่ทำงาน และนั่นก็รวมถึงระดับของกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ต้องไม่ต่ำกว่า Level3 และโหมดของนาฬิกาที่บางครั้งเมื่อทิ้งไว้สักระยะจะเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน หรือ Power Saving อันนี้ก็จะปรับเวลาไม่ได้
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการรับสัญญาณของนาฬิกา ซึ่งก็มีทั้งสภาพแวดล้อมของที่ตั้ง เช่น อยู่ในบริเวณที่มีตึกสูง อยู่ในยานพาหนะ อยู่ใกล้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคลื่นแม่เหล็ก อยู่ใกล้กับสถานที่ก่อสร้าง หรือแม้แต่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของสัญญาณมากเกินไป
อ่านมาถึงตรงนี้หวังว่าคงจะเข้าใจหลักการทำงานของ Multiband กันไม่มากก็น้อยนะครับ
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch