Sapphire, Acrylic , Mineral ต่างกันอย่างไร

0

ในตลาดนาฬิกามีกระจกอยู่หลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบมีคุณสมบัติ และอยู่ในนาฬิกาที่มีระดับราคาแตกต่างกันไป วันนี้เรามาทำความรู้จักกับกระจกที่ชื่อคุ้นหูอย่าง Acrylic, Mineral และ Sapphire กัน

- Advertisement -

Sapphire, Acrylic , Mineral

Sapphire, Acrylic , Mineral ต่างกันอย่างไร

  • Sapphire, Acrylic , Mineral ประเภทของวัสดุที่ใช้ในการทำกระจกปัจจุบัน
  • Sapphire มีความแข็งระดับ 9
  • Mineral Glass และ Hardlex มีลักษณะคล้ายกัน แต่อย่างหลังมีความแข็งกว่า

เชื่อว่าในกรุของหลายท่านน่าจะมีนาฬิกาที่หลากหลายตั้งแต่ระดับหลักพันยันหลักแสนบาท ซึ่งก็รวมถึงรูปแบบของนาฬิกาที่มีทั้งรุ่นใหม่ และของเก่าในสไตล์วินเทจ แน่นอนว่าด้วยกลยุทธ์ในการทำตลาดที่แตกต่างกัน รวมถึงราคาขาย ทำให้การเลือกใช้กระจกของนาฬิกาในแต่ละรุ่นแต่ละแบรนด์แตกต่างกันออกไป และหลายคนน่าจะเคยได้ชื่อเรียกต่างๆ นานา ว่าแต่ว่าแล้ว Sapphire, Acrylic , Mineral ต่างกันอย่างไร ? วันนี้เรามาทำความรู้จักกัน

-อะครีลิก (Acrylic) : บางทีก็เรียก Celluloid พลาสติก หรือ Plexiglass แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็หมายถึงกระจกนาฬิกาที่ผลิตจากวัสดุซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของพลาสติก ซึ่งในอดีตถือเป็นวัสดุหลักในการผลิตกระจกของนาฬิกาที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมาซึ่งเมื่อพูดถึงวัสดุประเภทนี้ ชื่อแรกที่คนจะนึกถึงคือ Omega Speedmaster Professional ตัวคาลิเบอร์ 861 หรือ 1861 ข้อดีของวัสดุประเภทนี้คือ ไม่แตกเป็นชิ้นเล็กๆ เมื่อถูกกระแทก ทำให้โอกาสสร้างความเสียหายให้กับหน้าปัดเลยมีน้อย เช่นเดียวกับความสะดวกในการขจัดรอยขีดข่วนที่ทำได้ง่าย เพียงแค่ใช้เครื่องหรือน้ำยาในการขัด แต่ข้อเสียเท่าที่คนส่วนใหญ่บ่นมาคือ ความใส แต่บางคนก็บอกว่าดูคลาสสิค…อันนี้ต้องแล้วแต่มุมมองของแต่ละคนแล้ว

-Mineral Glass : คำนี้เราจะติดหูอย่างมากสำหรับคนเล่น Casio G-Shock เพราะถือเป็นวัสดุหลักในการผลิตกระจกของนาฬิกาตัวลุยตระกูลนี้ Mineral Glass เป็นวัสดุประเภทแก้ว คุณสมบัติที่ดีคือเป็นรอยขีดข่วนยากกว่า Acrylic เวลาแตกแล้วไม่เป็นเศษเล็กๆ เหมือนกับ Sapphire ส่วนความใสจะมากขึ้นจาก Acrylic แต่ขัดออกได้ยากกว่าหากเกิดรอย  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถ้าเกิดรอย ด้วยราคาของกระจก Mineral ที่ไม่ได้แพงมาก หลายคนเลยเลือกเปลี่ยนแทนจะดีกว่า

-Hardlex : เรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะนาฬิกาจาก Seiko ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะนี่คือชื่อของกระจกแบบ Mineral Base ของ Seiko ที่ได้รับการพัฒนาให้มีรูปแบบเฉพาะโดยที่ชื่อ Hardlex นั้นถือเป็นเครื่องหมายการค้าของทาง Seiko โดยกระจกแบบ Hardlex จะมีความแข็งใกล้เคียงกับ Sapphire เลย ซึ่งปกติแล้วค่าความแข็งของ Sapphire อยู่ที่ระดับ 9 ตาม Moh Scale แต่ Hardlex นี่อยู่ในระดับ 8 เลยทีเดียว อีกทั้ง Seiko ยังพัฒนาให้ Hardlex มีความยืดหยุ่นสูงแตกได้ยากกว่าในกรณีที่ใส่ลงดำน้ำและอยู่ในที่ซึ่งมีแรงดันน้ำมาก

-Sapphire : เป็นวัสดุที่ถูกผลิตขึ้นมาจากการตกผลึกของอะลูมิเนียมออกไซด์ที่ความร้อนสูงมากๆ  ในทางเคมีนั้น Sapphire ที่ถูกสร้างขึ้นหรือบางที่เรียกว่า Synthetic Sapphire จะเป็นชนิดเดียวกับ Sapphire ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและถูกใช้ทำเป็นเครื่องประดับ โดยมีคุณสมบัติในด้านความแข็งแรง และความใส

การผลิตกระจกสำหรับใช้กับนาฬิกานั้น จะมีการใช้เลื่อยที่เคลือบด้วยเพชรตัด Sapphire ออกเป็นแผ่นๆ ในขณะที่ร้อน จากนั้นจึงนำมาขัดแต่งและหลบเหลี่ยมมุมเพื่อใช้กับนาฬิกา ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่หลายคนเชื่อว่า Sapphire มีต้นทุนที่สูงกว่าวัสดุอื่นๆ ก็เพราะความแข็งของมันซึ่งอยู่ในระดับ 9 ของ Mohs Scale ทำให้ต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่มีความแข็งกว่าตัดออกมา แต่จริงๆ ในเชิงอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเยอะๆ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง ดังนั้น เราจึงสามารถเห็นนาฬิกาหลักพันที่มากับกระจก Sapphire ได้เหมือนกัน

ด้วยค่าความแข็งที่เฉียดระดับสูงสุดนั้น ทำให้หลายคนเชื่อว่า Sapphire จะต้องแข็งแรงและทนทาน ซึ่งก็จริง แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะอาจจะไม่สามารถทำให้เกิดรอยได้ แต่สามารถแตกได้ถ้าโดนกระแทกหรือทิ่มอย่างแรงในบางมุม

สำหรับวิธีการวัดค่าความแข็งของ Moh Scale ที่เขียนถึงคือ มาตรวัดความความแข็งของแร่ซึ่งคิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ชื่อ Friedrich Mohs ที่กำหนดขึ้นเมื่อปี 1812

Sapphire, Acrylic , Mineral

Sapphire, Acrylic , Mineral

ระดับความแข็ง แร่เปรียบเทียบ สภาพของการเกิดรอย
1 ทัลก์ เล็บมือขูดเข้า
2 ยิปซัม เล็บขูดเข้าแต่ผิวฝืดมือ
3 แคลไซด์ สตางค์แดงขูดเป็นรอย หรือลวดทองแดง
4 ฟลูออไรด์ มีดขูดเป็นรอย
5 อะพาไทด์ กระจกขีดเป็นรอย
6 ออร์โทเคลส เฟลด์สปาร์ ตะไบขีดเป็นรอย
7 ควอตซ์ ขีดกระจกเป็นรอย
8 โทแพซ ทับทิมขูดเป็นรอย
9 กะรุน เพชรขูดเป็นรอย
10 เพชร เป็นความแข็งของเพชร