ถือว่าต้องรอนานร่วม 10 ปี แต่ในที่สุดผมก็เดินทางไปถึงหนึ่งในเป้าหมายที่วางเอาไว้ นั่นคือ การครอบครอง OMEGA Spacemaster Z-33 ซึ่งถือว่าเป็นนาฬิกาที่ไม่ทำให้ผิดหวังด้วยประการทั้งปวง ยกเว้นคุณจะเป็นพวกยึดมั่นว่านาฬิกาจะต้องขับเคลื่อนด้วยกลไกแบบจักรกลเท่านั้น
OMEGA Spacemaster Z-33 ไม่ผิดหวังที่ได้ครอบครอง
-
ครบรอบ 10 ปีในการทำตลาดของ OMEGA Spacemaster Z-33 นับจากเปิดตัวในปี 2012
-
เป็นนาฬิกาควอตซ์แบบอนาล็อก-ดิจิตอลที่อ้างอิงรูปทรงจากรุ่น Flightmaster ที่เปิดตัวในปี 1969
-
ตัวเรือนผลิตจากไทเทเนียมและใช้กลไกควอตซ์ 5666
เคยมีคนถามผมว่าทำไมถึงชอบคอลเล็กชั่น Speedmaster ของ OMEGA อย่างมาก และคำตอบของผมก็เหมือนเดิมตลอด นั่นเป็นเพราะความชอบในเรื่องอวกาศตั้งแต่สมัยเด็กๆ การได้มีโอกาสทำ Window Shopping ที่เคาน์เตอร์ของ OMEGA สมัยที่ยังเรียนหนังสือ อยู่เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้เหมือนกับความชอบที่ถูกย้ำๆ ทุกวันจนฝังลึกเข้าไป และนั่นทำให้คอลเล็กชั่นอะไรก็ตามของ Speedmaster มักจะเป็นตัวเลือกแรกที่ผมคิดถึงเสมอถ้ามีงบประมาณถึง และก็เป็นความชอบที่ถูกส่งต่อมายังเครือญาติของพวกมันอย่างตระกูล X-33 ที่ผมเคยรีวิวไปแล้ว และไล่มาจนถึง Z-33 ที่มาพร้อมกับชื่อ Spacemaster
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า นาฬิกาควอตซ์และดิจิตอลมักจะเป็นของแสลงที่นักสะสมนาฬิกา โดยเฉพาะในบ้านเรา เลือกมองข้ามกันอยู่เสมอ ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ตัวผมเองไม่ใช่นักสะสม และก็ไม่ใช้นักลงทุนอะไรด้วย แค่ชอบนาฬิกา และชอบที่จะทำตามใจตัวเอง ซื้อในสิ่งที่ตัวเองชอบมากกว่าที่จะซื้อในสิ่งที่มีอนาคต (แต่ถ้าสิ่งที่ตัวเองชอบดันมีอนาคต…นั่นถือเป็นผลพลอยได้ที่ร้อยวันพันปีจะเกิดขึ้นสักที) ดังนั้น OMEGA Spacemaster Z-33 จึงเป็น Wish List ของผมที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่นาฬิกาเปิดตัวใหม่ๆ และกว่าจะมีซื้อเข้ามาได้ก็ต้องรอนานถึง 10 ปีเลยทีเดียว
OMEGA เปิดตัว Spacemaster Z-33 เป็นครั้งแรกในปี 2012 และเป็นส่วนของตระกูล Speedmaster ดูได้จากฝาหลังที่มีสลักสัญลักษณ์และชื่อนี้ลงไป อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของนาฬิกาเรือนนี้ บ้างก็บอกว่านี่เป็นตัวแทนของ X-33 แต่ส่วนตัว ผมขอแย้งนิดๆ ว่าถ้าไม่นับเรื่องของการมีกลไกในแบบดิจิตอลผสมกับเข็มแล้ว ผมยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงใดๆ ของนาฬิกา 2 รุ่นนี้เลย
แต่การที่ถูกมองเช่นนั้นในช่วงเวลานั้น ก็คงไม่ผิดอะไร เพราะว่า ณ ตอนนั้น OMEGA เองก็ยังไม่ได้เปิดตัว X-33 ใหม่ที่มีชื่อต่อท้ายว่า Skywalker ออกสู่ตลาดด้วยเช่นกัน ซึ่งกว่าที่ X-33 Skywalker จะเปิดตัวตามมาก็รอจนถึงปี 2015 โน่น
เอาเข้าจริงๆ Spacemaster Z-33 ก็เหมือนกับ X-33 รุ่นแรก คือ ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอีกทางเลือกที่แตกต่างออกไปโดยอ้างอิงจากนาฬิกาที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งในกรณีของ X-33 รุ่นแรกก็คือ การผลิตนาฬิกาอีกแบบที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในด้านอวกาศกับ Moonwatch แต่สำหรับ Spacemaster Z-33 ส่วนใหญ่แล้วจะถูกมองว่าเชื่อมโยงกับนาฬิการุ่นเก๋าอย่าง Flightmaster ของพวกเขาเสียมากกว่า เพียงแต่ด้วยการตั้งชื่อว่า Spacemaster มันก็เลยเหมือนกับบีบบังคับกลายๆ ว่า นาฬิกาเรือนนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับอวกาศนะ
เมื่อดูลงในแง่ของรายละเอียดจริงๆ จะพบว่า Spacemaster Z-33 คือ นาฬิกาที่เกิดขึ้นมาสำหรับนักบิน เพราะฟังก์ชั่นที่อยู่ในกลไกควอตซ์ของพวกเขาก็เน้นไปในเรื่องนั้น โดยเฉพาะในส่วนของ Flight Log สำหรับบันทึกการบิน แถมรูปทรงในสไตล์ Helmet และการจัดเรียงของปุ่มบนตัวเรือนก็ชวนระลึกถึงนาฬิการุ่น Flightmaster ที่เปิดตัวออกมาในปี 1969 มากกว่า
ส่วนตัวผมไม่ติดนะว่านาฬิกาเรือนนี้จะได้รับแรงบันดาลใจมาจากไหน เพราะนั่นเป็นแค่คลื่นระลอกที่ 2 หรือ 3 ในการกระหน่ำเข้ามาสู่วังวนของความอยากได้ของตัวผมเอง เรียกว่าถ้าหน้าตาไม่ถูกใจต่อให้มีสตอรี่ดีหรือเกี่ยวพันกับนาฬิกาเทพๆ ในอดีต ก็ถือว่ายังไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากผมได้อย่างแน่นอน
สำหรับนาฬิกาเรือนนี้ ตัวเรือนคือประเด็นที่น่าจะทำให้ใครที่สนใจต้องคิดหนัก ถ้าขนาดข้อมือของตัวเองไม่ใหญ่พอที่จะลุยกับ Spacemaster Z-33 เพราะแม้เส้นผ่านศูนย์กลางมีขนาด 43 มิลลิเมตร ถือว่ากำลังดีกับข้อมือของตัวผมเอง น้ำหนักตัวเรือนก็ไม่ใช่ประเด็น อันมาจากการใช้ไทเทเนียม เกรด 5 กับการผลิตตัวเรือนทำให้เบาขึ้นอย่างแน่นอน แต่…สิ่งที่จะทำให้พวกเขาเลือกเมินไปได้นั้นน่าจะเป็นประเด็นในแง่ของความหนา และ Lug to Lug เสียมากกว่า เพราะมีตัวเลขอยู่ที่ 53 และ 19.8 มิลลิเมตรตามลำดับ
ความหนาที่เกิดขึ้นกับตัวเรือนนอกจากผลที่มาจากการออกแบบ ส่วนหนึ่งผมว่าน่าจะมาจากฝาหลังแบบ Double Wall Caseback ที่จะต้องทำหน้าที่คล้ายกับการสะท้อนเสียงที่เกิดขึ้นในระบบเพื่อใช้ในการแจ้งเตือนต่างๆ เช่น การตั้งปลุกหรือการครบกำหนดของเวลาที่ถูกระบุเอาไว้ในการทำภารกิจ โดยรูปทรงของฝาหลังนอกจากจะนูนขึ้นแล้วยังมีช่องอยู่รอบๆ สำหรับให้เสียงถูกส่งออกมาด้วย คล้ายกับฝาหลังของรุ่น X-33 ซึ่งถือว่าดังใช้ได้
รุ่นย่อยที่ทำตลาดมีทั้งหมด 3 ทางเลือกก็คือ สายยาง และสายหนังที่เปิดตัวออกมาก่อน จากนั้นสายไทเทเนียมถึงจะตามมาทีหลัง ซึ่งผมขอเลือกสายยางเพราะดูแล้วเข้ากับรูปแบบ รูปทรง และสไตล์ของตัวนาฬิกามากที่สุดแล้ว แต่สิ่งที่ตามมาคือ รุ่นนี้เป็นสายที่มาพร้อมกับบานพับที่จะต้องมีการตัดข้อบนสายยางให้พอดีกับขนาดข้อมือ ดังนั้น ก่อนตัด วัดและเล็งให้ดี เพราะถ้าเกิดวันหน้าวันหลังเกิดอ้วนขึ้นกว่าเก่า แล้วลืมเผื่อเอาไว้ ทางออกเดียวคือ การเปลี่ยนสายยางเส้นใหม่เท่านั้น
ในเรื่องการสวมใส่ แม้ว่าตัวเรือนจะใหญ่และหนา แต่จากการที่ใช้วัสดุอย่างไทเทเนียม เกรด 5 บวกกับสายยางที่ออกแบบได้อย่างเข้ารูป ส่วนตัวผมคิดว่า Z-33 เป็นนาฬิกาที่สวมสบายและเข้ากับข้อมือขนาด 7 นิ้วของผมได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าคุณมีข้อมือไซส์ต่ำกว่านี้ และไม่ชอบนาฬิกาหนาๆ แนะนำว่าคุณคงไม่ใช่เนื้อคู่ของเจ้านี่อย่างแน่นอน
ในส่วนของกลไกที่ใช้ในการขับเคลื่อนนั้นเป็นแบบควอตซ์ Calibre 5666 แสดงข้อมูลได้ 2 ระบบ คือ ในส่วนของเวลาที่เป็นการแสดงแบบเข็ม และแบบดิจิตอลที่แสดงบนหน้าจอ 2 ส่วนทั้งแถบบนและแถบล่าง ส่วนฟังก์ชั่นในการทำงานของกลไกนี้เป็นอีกสิ่งที่ยืนยันว่า Z-33 ไม่ใช่นาฬิกาที่เกิดมาเพื่อการใช้งานในอวกาศ เพราะฟังก์ชั่นที่มีก็เป็นเรื่องของการบันทึก Log ในการบิน เช่น Log Taxi, Take-Off และ Flight Log ไม่ใช่เป็นการจับเวลาในการทำงานที่นานเป็นวันๆ หรือเป็นปีๆ สำหรับโครงการอวกาศที่เดินทางจากดาวดวงหนึ่งไปอีกดวงหนึ่งเหมือนกับ X-33
เม็ดมะยมของนาฬิกาสไตล์นี้ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของระบบ เพราะเปรียบเสมือนกับตัวควบคุมการทำงานของฟังก์ชั่นต่างๆ และเมื่อต้องใช้งาน ผมคงต้องบอกว่า หงุดหงิดนิดๆ กับการที่จะต้องหมุนอะไรต่อมิอะไรผ่านทางเม็ดมะยม และอารมณ์นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ Breitling Aerospace ละ
ใน Z-33 เม็ดมะยมยังทำหน้าที่ในการควบคุมทั้ง 2 ส่วนคือ เลือก Mode หรือ Function ในการทำงานที่ต้องการ และอีกส่วนคือ การตั้งค่าในโหมดนั้นๆ แต่จะทำเมื่อเม็ดมะยมถูกดึงขึ้นมาในสเต็ปที่ 1 และทำงานร่วมกับปุ่มกดในตำแหน่ง 2 นาฬิกาเพื่อสลับตำแหน่งของค่าที่คุณต้องการตั้ง
ตรงนี้จะต่างจากนาฬิกาอย่าง Aerospace ที่เม็ดมะยมทำทุกอย่าง และอาศัยการหมุนช้าและเร็วเป็นตัวบอกว่าคุณกำลังจะทำอะไรเท่านั้น บ่อยครั้งที่ความตั้งใจกับความเร็วในการหมุนมันสื่อกันไปคนละทิศคนละทางเลย ดังนั้น การเข้ามาของปุ่ม 2 นาฬิกาจึงช่วยลดความหงุดหงิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อคุณหมุนเม็ดมะยมก็เพื่อเลือกโหมดที่ต้องการแล้ว เมื่อต้องปรับค่า ก็ใช้วิธีดึงเม็ดมะยมขึ้น แล้วหมุนขึ้นหรือลงเพื่อปรับค่า +/- และพอจะเปลี่ยนตำแหน่งก็ใช้วิธีกดปุ่ม 2 นาฬิกา 1 ครั้งเพื่อย้ายตำแหน่งไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว ถ้าต้องการทราบว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งที่สำคัญคือ ควรดาวน์โหลดคู่มือของนาฬิกามานั่งอ่าน เสียเวลาสักครึ่งชั่วโมง ถ้าคุณมีเซนส์หรือเคยผ่านนาฬิกาควอตซ์ หรือดิจิตอลอย่าง Casio G-Shock มาก่อนแล้ว จะเข้าใจหลักการทำงานของกลไกนี้ได้อย่างเร็วขึ้น โดยในส่วนของฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในตัวนาฬิกานอกเหนือจากที่อธิบายข้างบนแล้ว ก็จะมีทั้งเรื่องการแสดง 2 โซนเวลา (Time 1/Time 2) การแสดงเวลาท้องถิ่นและเวลา UTC ตามด้วยระบบจับเวลา หรือ Chronograph เรียกว่ามากันแบบครบเครื่อง
แน่นอนว่ากลไกควอตซ์ 5666 ของ OMEGA ถือเป็นกลไกแบบ HAQ หรือ High Accuracy Quartz โดยเป็นกลไกแบบ Thermo-compensated Quartz ที่มีความเที่ยงตรงในระดับ 15 วินาทีต่อปี แต่กลไกรุ่นนี้มีการเคลมเอาไว้ถึง 10 วินาทีต่อปีเลยทีเดียว เรียกว่าไม่ถึงกับเที่ยงตรงสุดๆ เหมือนกับกลไกควอตซ์รุ่นใหม่ๆ แต่ต้องอย่าลืมว่านาฬิกาเรือนนี้เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดังนั้น จึงไม่แฟร์ถ้าจะต้องมาเปรียบเทียบกับกลไกควอตซ์ที่อยู่ในนาฬิกาที่มีระดับราคาใกล้เคียงกัน แต่ที่แน่ๆ งานนี้ก็เหมือนกับ X-33 และ X-33 Skywalker คือ Calibre 5666 คือ กลไกที่ถูกผลิตมาเพื่อการใช้งานสำหรับนาฬิกาเพียงรุ่นเดียว (หมายถึง ณ ตอนนี้)
นับจากปี 2012 จนถึงตอนนี้ถือว่าครบ 10 ปีพอดีในการทำตลาดของ Omega Spacemaster Z-33 ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยความเป็นควอตซ์ และค่าตัวตอนที่จำหน่ายในบ้านเรานั้นสูงเฉียด 200,000 บาททำให้นาฬิการุ่นนี้มักจะถูกมองข้ามเสมอสำหรับแฟนๆ ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะบ้านเราคนส่วนใหญ่ยึดติดกับนาฬิกาแบบจักรกล และด้วยค่าตัวที่สูงระดับนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่ OMEGA Spacemaster Z-33 จะเป็นตัวเลือกแรกๆ
แต่สำหรับผม นาฬิกาเรือนนี้ถือว่า Cult สุดๆ และแม้ว่าจะเป็นควอตซ์ที่พ่วงมาด้วยหน้าจอดิจิตอลที่หลายคนกังวลใจในเรื่องอายุการใช้งาน แต่ส่วนตัวผมคงต้องบอกว่า ‘ถ้าชอบหรือรักอะไร ก็อย่าให้อะไรมาเป็นกำแพงขวางคุณเพื่อไม่ให้ไปถึงสิ่งนั้นได้ ยกเว้นเมียและเงินในกระเป๋า
รายละเอียดทางเทคนิค : OMEGA Spacemaster Z-33
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 43 มิลลิเมตร
- ความหนา : 19.8 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 53 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 21 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน : ไทเทเนียม
- กระจก : Sapphire
- กลไก : ควอตซ์-ดิจิตอล Calibre 5666
- อายุแบตเตอรี่ : 2 ปี
- การกันน้ำ : 30 เมตร
- ประทับใจ : รูปทรงและดีไซน์ ความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ความเที่ยงตรง และฟังก์ชั่น
- ไม่ประทับใจ : ความหนา และราคาที่ค่อนข้างสูง
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline