เห็นราคาที่แพงขึ้นจาก Longines Hydroconquest รุ่นปกติถึง 78,000 บาท หลายคนอาจจะรีบเมินหน้าหนี Longines Hydroconquest Full Black Ceramic แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ ตัวเรือนที่ใช้วัสดุเซรามิก Zirconium Oxide ที่มีความพิเศษ
เหตุผลที่ทำให้ Longines Hydroconquest Full Black Ceramic น่าเป็นเจ้าของ
-
ตัวเรือนผลิตจากเซรามิกแบบพิเศษ
-
ขนาดตัวเรือน 43 มิลลิเมตร และใช้กลไก L888 เหมือนตัวธรรมดา
-
ราคาป้าย 136,500 บาท
‘ถ้าชอบซะอย่าง ไม่มีคำว่าแพง’
ผมค่อนข้างเห็นด้วยนะกับคำกล่าวนี้ และยิ่งเห็นด้วยมากขึ้นตอนที่ได้เห็นเจ้า Longines Hydroconquest Full Black Ceramic ตัวเป็นๆ ซึ่งทาง Longines Thailand ได้เชิญสื่อมวลชนมาพบปะสังสรรค์พร้อมกับเปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำตลาดในปีนี้ ซึ่งนั่นทำให้ผมมีโอกาสลองจับ สัมผัส ขึ้นข้อมือของตัวเอง และได้เห็นนาฬิกายิ้มให้เวลาสวมอยู่บนข้อมืออีกครั้งสำหรับปีนี้
อย่างไรก็ตาม กับค่าตัวในระดับ 136,500 บาท หลายคนอาจจะถึงกับเกิดอาการถอยหลังกรูด เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ Hydroconquest รุ่นธรรมดาที่มีราคาเพียง 58,500 บาทแล้ว ราคาของ Full Black Ceramic แพงขึ้นถึง 133.33% กันเลยทีเดียว
คำถาม คือ เพราะอะไร ?
คำตอบ ก็คือ เรื่องของวัสดุที่ใช้ในการผลิตตัวเรือนและชิ้นส่วนหลักๆ เช่น ขอบตัวเรือน หน้าปัด และบัคเคิล เพราะแทนที่จะเป็น Stainless Steel 316L เหมือนกับ Hydroconquest รุ่นธรรมดา แต่ Hydroconquest Full Black Ceramic มากับวัสดุเซรามิกที่เรียกว่า Zirconium Oxide หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่า Zirconia และมีการพิมพ์คำว่า ZrO2 ที่เป็นชื่อทางเคมีอยู่บนหน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้ …คำนี้คุ้นๆ ไหม
ถ้าคุณเป็นแฟนของ Omega น่าจะเคยผ่านตามาแล้วกับตัวย่อของ Zirconium Oxide ที่ถูกวางลงบนหน้าปัดนาฬิกา เพราะ ZrO2 คือ ผลผลิตของเซรามิกและเป็นวัสดุที่ Omega นำมาใช้ในการผลิตตัวเรือนนาฬิกาหลากหลายรุ่น โดยเริ่มจาก Speedmaster 9300 ที่มื่อเล่นว่า Darkside of the moon เมื่อปี 2013 จากนั้นก็ถูกนำมาใช้กับนาฬิกาอีกหลายรุ่นและหนึ่งในนั้นคือ Seamaster Pro 300 รุ่นปัจจุบันที่มีทั้งรุ่นที่ผลิตเฉพาะหน้าปัด และรุ่นที่ผลิตทั้งตัวเรือนผสมกับไทเทเนียม
จริงๆ แล้ว Zirconium ถูกคิดค้นและพัฒนามาตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว เพราะนักวิทยาศาสตร์ต้องการพัฒนาวัสดุให้มีคุณสมบัติที่เหนือขึ้นจากเซรามิก ที่แม้ว่าจะมีความเบา แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่เปราะและแตกหักง่าย เพราะมีส่วนประกอบของแก้วอยู่ข้างใน จนกระทั่งประสบความสำเร็จกับการปรับโครงสร้างและเติมสารเคมีบางอย่างเข้าไปจนได้ Zirconia หรือ Zirconium Oxide (ZrO2) ขึ้นมา
Zirconium Oxide เป็นเซรามิกที่มีคุณสมบัติเชิงกลเหมือนโลหะจนอาจเรียกว่า เซรามิกสตีล (Ceramic steel) และมีรายงานการนำเซอร์โคเนียมาใช้ทางการแพทย์ ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1969 เพื่อใช้เป็นวัสดุทำข้อสะโพกเทียม ทดแทนวัสดุไทเทเนียมหรืออะลูมิเนียม โดยเซอร์โคเนียจัดเป็นเซรามิกชนิดออกไซด์ของโลหะ (oxide ceramics) มีโครงสร้างเป็นผลึกปราศจากแก้วซิลิกา ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีได้น้อยและทนต่อการกัดด้วยกรด
จุดเด่นของวัสดุนี้คือ ความทนทานและแข็งแกร่งที่มากกว่าเหล็ก แต่น้ำหนักเบา ที่สำคัญ คือ สามารถสังเคราะห์ได้หลากหลายสีเหมือนกับพวกอัญมณี แต่ที่เราเห็นอยู่เป็นประจำคือ สีดำ
แล้ว Omega มาเกี่ยวอะไรกับ Longines ? คำตอบคือ ทั้ง 2 แบรนด์อยู่ในเครือ The Swatch Group ดังนั้นเรื่องการแชร์ Know How และองค์ความรู้ต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติของการผลิตนาฬิกาในยุคใหม่ที่สามารถช่วยลดต้นทุนในเรื่องของเวลาและอะไรบางอย่างลงไปได้ โดยที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเรือนเวลานั้นๆ
ตรงนี้แหละที่ทำให้ Hydroconquest Black Ceramic มีราคาที่ขยับตัวแรงจากรุ่นธรรมดาค่อนข้างเยอะ เพราะความยอดเยี่ยมของวัสดุ นอกจากนั้นการขัดแต่งแบบเงาสลับด้านบนตัวเรือนที่เน้นความพิถีพิถันยังช่วยทำให้นาฬิกาเรือนนี้มีความโดดเด่นอย่างชัดเจนจากรุ่น Stainless Steel
อีกสิ่งที่ทำให้ผมค่อนข้างชอบในตัวของ Hydroconquest คือ ในรุ่นใหม่มีการปรับปรุงในเรื่องของการดีไซน์ทั้งหน้าปัด ขอบตัวเรือนได้ลงตัวขึ้น แถมตัวเรือนที่ขยายขนาดจาก 42 มิลลิเมตรมาเป็น 43 มิลลิเมตรเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเดิม แม้จะเพิ่มเพียงน้อยนิด แต่ในแง่ของสัมผัสและการขึ้นข้อมือแล้ว ตัวนาฬิกาดูให้เต็มข้อขึ้นอย่างมาก การที่มากับโทนสีดำทั้งเรือน และใช้ฟอนต์สีขาวบนหน้าปัดถือเป็นการตัดอย่างลงตัว
โดยในแง่ของรูปทรงนาฬิกานั้น แม้ว่าในรุ่นธรรมดากับรุ่น Full Black Ceramic จะมีรูปทรงที่คล้ายกัน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่คล้ายกันไปทั้งหมด เพราะในส่วนของ Crown Guard อันเป็นเอกลักษณ์ของ Hydroconquest ก็ถูกออกแบบใหม่ให้ดูลงตัวขึ้นและไม่เทอะทะเหมือนกับรุ่นปกติ
ตัวเรือนมากับสายยางที่นุ่มมือพร้อมกับบัคเคิลที่ผลิตจากเซรามิกเหมือนกัน และพิเศษตรงที่สายยางสามารถปรับให้เข้ากับขนาดของแต่ละข้อมือได้โดยไม่ค้องตัดเหมือนกับสายยาบางรุ่น ทำให้สบายใจว่าเกิดอ้วนขึ้นมาแล้วจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทำให้หลายยังลังเลกับการเป็นเจ้าของ ราคาที่เพิ่มขึ้นมาดันไปลงที่เรื่องของวัสดุเกือบทั้งหมด ไม่ได้มีความต่างอื่นๆ เพิ่มเติมจากรุ่นธรรมดา เพราะกลไกก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ยังเป็นเหมือนกับรุ่น Hydroconquest รุ่น Stainless Steel ซึ่งก็คือรหัส L888 ที่พัฒนาบนพื้นฐานของ ETA A31-L01 หรือเป็นรุ่นปรับปรุงมาจาก ETA-2892 นั่นเอง โดยตัวกลไกนี้ถูกปรับความความถี่ให้ลงมาอยู่ที่ 25,200 ครั้งต่อชั่วโมง และสามารถสำรองพลังงานได้ 64 ชั่วโมงจากเดิมมีแค่ 50 ชั่วโมง
ตรงนี้ทำให้ผมคิดว่าบางคนอาจจะมองว่าส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาเยอะขนาดนั้นกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีน้อยไปหน่อย
สำหรับตัวผม บทสรุปหลังจากที่ได้ลองทาบข้อมือในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวัสดุคือจุดใหญ่ก็จริง แต่มันก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อย่างตามมาด้วยเช่นกัน นั่นคือ น้ำหนักที่เบาของตัวนาฬิกา ทำให้สวมใส่สบาย ไม่เป็นภาระกับข้อมือ และใครที่แพ้ Stainless Steel ก็หมดปัญหาในเรื่องนี้
ที่สำคัญมากที่สุด คือ ความสวยแบบก้าวกระโดดจากรุ่นธรรมดาค่อนข้างมาก…เท่านี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วสำหรับการเลือกสอยนาฬิกาสักเรือนเข้ามาอยู่ในกรุ ที่เหลือก็แค่งบฯ ที่มีอยู่ของตัวคุณ เพราะอย่างที่บอกข้างต้น ‘ถ้าชอบซะอย่าง ไม่มีคำว่าแพง’
ข้อมูลทางเทคนิค : Longines Hydroconquest Full Black Ceramic
- รหัสอ้างอิง : L3.784.4.56.9
- ขนาดตัวเรือน : 43 มิลลิเมตร
- การกันน้ำ : 300 เมตร
- วัสดุตัวเรือน : เซรามิก
- วัสดุสาย : ยาง
- กลไก : L888
- ความถี่ : 25,200 ครั้งต่อชั่วโมง
- จำนวนทับทิม : 21 เม็ด
- สำรองพลังงาน : 64 ชั่วโมง
เหตุผลที่ทำให้ ตัวคอลเล็กชั่นใหม่ จาก ลองจินส์ น่าเป็นเจ้าของ
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/