การกลับมาของ Airman ที่รุ่นแรกถูกผลิตขึ้นเพื่อสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปของแวดวงการบินในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ Glycine Airman Worldtimer SST (GL0309) ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดแตกต่างจากรุ่นที่ผ่านมา โดยถือเป็นนาฬิกานักบินอีกรุ่นที่น่าสนใจในงบฯ ที่จับต้องได้
Glycine Airman Worldtimer SST (GL0309) การกลับมาที่ไม่ทำให้ผิดหวัง
-
การกลับของ Airman ที่มีความทันสมัยอย่างเวอร์ชัน SST ที่เคยโด่งดังในยุคทศวรรษที่ 1960
-
รุ่นใหม่ยังใช้มิติตัวเรือนที่ใกล้เคียงกับรุ่นที่แล้ว แต่มีการปรับปรุงการจัดวางเม็ดมะยมใหม่
-
ทางเลือกในตลาดมีรุ่นย่อยให้เลือกมากมาย แต่ที่ได้รับการจับตามองที่สุดคือ GL0309 ซึ่งถูกมองว่าเป็น The New Pumpkin
ช่วงปลายปีที่แล้ว Glycine เปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ของทั้ง Airman และ Combat Sub สำหรับเอาใจแฟนๆ ที่ยังซื่อสัตย์และมั่นคงกับแบรนด์อยู่ โดยหนึ่งในบรรดานั้นที่ได้รับความสนใจและถูกจับตามองก็คือ การกลับมาของ Airman SST-12 ซึ่งจะมากับชื่อใหม่ คือ Airman Worldtimer SST หรือที่ถูกเรียกสั้นๆ ว่า SST-21 และแน่นอนว่าในฐานะที่เป็นแฟนตัวยงของ Glycine Airman ผมไม่ยอมพลาดกับนาฬิการุ่นนี้อย่างแน่นอน
ถ้าคุณติดตามการ Review ของ Ana-Digi.com มาโดยตลอด จะพบว่าผมเป็นแฟนเหนียวแน่นของ Glycine Airman และไม่ค่อยพลาดที่จะสัมผัสกับนาฬิกาของพวกเขา (ถ้ามีโอกาส) ซึ่งการเปิดตัวของ Airman SST ใหม่ถือเป็นอะไรที่ถูกใจและถูกผมจับตามองมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพียงแต่ว่าสถานการณ์ของ Glycine ในบ้านเรานั้น ช่องทางจำหน่ายอย่างเป็นทางการได้หายไปแล้ว เหลือแต่การนำเข้าจากผู้นำเข้ารายย่อยเท่านั้น ซึ่งเป็นที่พึ่งเดียวของแฟนๆ ชาวไทย
สำหรับ Airman Worldtimer SSTใหม่มีเปิดตัวออกมาหลายรุ่นย่อยด้วยกัน แต่รุ่นที่ผมเชื่อว่าถูกจับตามองและอาจจะเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดเลยก็คือ GL0309 ซึ่งเป็นทายาทสืบทอดรุ่นฮิตในอดีตอย่าง SST-12 ที่เรียกว่า Pumpkin (Ref.GL0146) ซึ่งมีความสวยเด่นด้วยขอบสเกล 24H วงนอกที่มีสีส้มตัดกับพื้นหน้าปัดสีดำ เพียงแต่ในรุ่นนี้มีการปรับปรุงใหม่แบบยกยวงเพื่อให้เกิดความแตกต่าง และสอดคล้องกับชื่อรุ่นที่มีคำว่า Wolrdtimer ปรากฏเข้ามา…และไม่มีอะไรผิดคาด ผมสอยเจ้า GL0309 มาลองทันที
แวบแรกที่ผมได้เห็นหน้าตาของ Airman Worldtimer SST ครั้งแรกในหน้าอินเตอร์เนตนั้น สารภาพเลยว่า ขัดใจสุดๆ โดยเฉพาะวงหน้าปัดด้านในที่ถูกบีบให้ดูแคบและเล็กลงอันเป็นผลมาจากการใช้หลักชั่วโมงที่เป็นตัวเลขซึ่งมีขนาดใหญ่ เข้ามาแทนที่หลักชั่วโมงที่เป็นแท่งสี่เหลี่ยม เมื่อทั้งหมดถูกวางเอาไว้ในหน้าปัดขนาดเล็ก ผลคือ ความแน่นและอึดอัดที่สามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนเวลามองเข้าไปในหน้าปัด
แต่หลังจากนั่งมองสักพัก และลองใช้เวลาอยู่กับนาฬิกาเรือนนี้บนข้อมือสัก 2-3 วัน สารภาพเลยว่าความคิดของผมเปลี่ยนไป และเริ่มกลับหันมาชอบแนวทางการออกแบบนี้ไปซะงั้น ต้องบอกก่อนนะว่าไม่ใช่ว่าเสียเงินไปแล้วเลยจำใจต้องชอบ
เมื่อเปรียบเทียบกับ Airman SST-12 แล้ว เราจะพบกับความแตกต่างอย่างชัดเจนกลายจุด
อย่างแรกคือ
ตำแหน่งของเม็ดมะยมทั้ง 2 อัน จากเดิมอยู่ในตำแหน่ง 2 และ 3 ในรุ่นเดิม ส่วนในรุ่นใหม่ Airman Worldtimer SST หรือ SST-21 จะเปลี่ยนมาเป็น 2 และ 4 ซึ่งหน้าที่ของแต่ละปุ่มยังเหมือนเดิมคือ อันบนสำหรับหมุนสเกลด้านในหน้าปัด โดยจะต้องทำผ่านเหรียญที่ Glycine แถมมาในเซ็ต หรือไม่ก็ใช้เหรียญบาทบ้านเราหมุนแทนได้ ส่วนอันล่างเป็นการปรับวันที่ และเวลา
อย่างที่ 2 คือ
สเกลด้านในที่หมุนได้ จากเดิมเป็นสเกล 24H แต่ในรุ่นใหม่จะเป็นสเกล Worldtime โดยจะมีชื่อเมืองต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของโซนเวลาที่สำคัญของโลก แต่ที่เปลี่ยนไปคือ โซนเวลาต่อจาก London หรือ +1 ชั่วโมงแต่เดิมจะต้องเป็น Paris มาเป็น Bienne ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ Glycine แทน และการหมุนสเกลชุดนี้ยังทำผ่านเม็ดมะยมในตำแหน่ง 2 นาฬิกาเหมือนเดิม
ส่วนที่ 3 คือ
รูปทรงของเข็ม สำหรับ Airman Worldtimer SST ใหม่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีรุ่น Purist หรือเดิมแบบ 24 ชั่วโมง 1 รอบหน้าปัดใน 1 วันเหมือนกับรุ่นที่แล้ว มีขายเฉพาะรุ่น GMT เท่านั้น แต่ทว่า Glycine ก็นำรูปทรงของชุดเข็มที่เป็นเวอร์ชัน Purist ของรุ่นที่แล้วมาใช้กับรุ่นนี้ เราจึงได้เห็นเข็มชั่วโมงมากับรูปทรงหัวลูกศรขนาดใหญ่ ส่วนเข็มนาทีเป็นทรงปลายแหลมเหมือนกับดาบหรือ Blade Hand
และสุดท้ายคือ
รายละเอียดบนหน้าปัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวเลขแทนหลักชั่วโมงแบบเป็นแท่งในรุ่นเดิม และการย้ายช่องหน้าต่างวันที่ หรือ Date จากเดิมในตำแหน่ง 3 นาฬิกาย้ายมาอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา และสเกล 24H ที่วางอยู่รอบนอกหน้าปัดจะมีการแบ่งเป็นกลางวัน/กลางคืน ด้วยการใช้สีดำและสีขาวแบ่งครึ่งฝั่งบนและฝั่งล่าง
ในเรื่องของขนาดตัวเรือน ต้องบอกว่า Airman Worldtimer SST มีขนาดใกล้เคียงกับรุ่นที่แล้ว ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลาง 43 มิลลิเมตร และ Lug to Lug ขนาด 46 มิลลิเมตร ความหนาราวๆ 11 มิลลิเมตร ตัวเรือนผลิตจากสแตนเลสสตีล และรูปทรงของตัวเรือนเป็นแบบขาสายสั้นออกแบบอ้วนป้อม และความกว้างขาสายอยู่ที่ 22 มิลลิเมตร ซึ่งในรุ่นนี้มากับสายสแตนเลสสตีล ที่มีลายแบบ 5 ข้อออกแนววินเทจนิดๆ พร้อมบานพับแบบปีกผีเสื้อ
เมื่อพลิกด้านหลังดูจะพบกับฝาหลังแบบทึบพร้อมกับการสลักภาพของเครื่องบิน SST หรือ Super Sonic Transportation ที่ถือกำเนิดในปี 1967 และเป็นจุดเริ่มต้นของ Airman SST รุ่นแรกที่เปิดตัวในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
ในเมื่อขนาดของตัวเรือนแทบไม่ได้เปลี่ยนจากรุ่นที่แล้ว ดังนั้น Airman Worldtimer SST จึงให้อารมณ์ที่เหมือนเดิมไม่ต่างจาก SST-12 โดยเฉพาะกับขนาดข้อมือในระดับ 6.5 นิ้วขึ้นไปที่ใส่ดูแล้วสวยและลงตัว และด้วย Lug to Lug ที่ไม่ยาวมาก จึงหมดปัญหาเรื่องอาการกางเมื่ออยู่บนข้อมือ
ตัวกลไกยังเหมือนเดิมกับรุ่นที่แล้ว เป็นรหัส GL293 ซึ่งใช้พื้นฐานมาจาก Sellita SW-330 มีฟังก์ชั่น GMT ในการบอกเวลาที่ 2 เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง และมีกำลังสำรอง 42 ชั่วโมง ซึ่งในแง่ของของการทำงานทั้งในเรื่องความทนทาน ความเที่ยงตรง และฟังก์ชั่นถือว่าไว้ใจได้ เพราะ SW-330 GMT ก็ถือการโคลนเอาพื้นฐานของกลไกที่สุดถึกอย่าง ETA 2892-2 มาใช้นั่นเอง
สิ่งหนึ่ง ที่ผมค่อนข้างซีเรียสเวลาเป็นเจ้าของนาฬิกาที่ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยคือ การเซอร์วิสโดยเฉพาะเมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนพาร์ทที่เป็นชิ้นส่วนภายนอก ซึ่งหลายต่อหลายครั้ง ช่างไทยสามารถแก้ไขได้ แต่บ่อยครั้งจำเป็นจะต้องเปลี่ยน ซึ่งการควานหาพาร์ทเหล่านี้ถือว่าเล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นของใหม่อย่างน้อยก็เบาใจเรื่องนี้ไปได้ในระดับหนึ่งเลย เพราะเป็นนาฬิกาที่คุณใช้งานเองและแน่นอนว่าย่อมต้องถนอมและดูแลมันเป็นอย่างดี
มาถึงประเด็นสำคัญในแง่ของการเป็นเจ้าของ ถ้าคุณชอบ Airman อยู่แล้ว ผมคงไม่ต้องยุ เพราะยังไงก็ต้องโดนเพียงแค่จะเป็นรุ่นย่อยไหนเท่านั้นเอง โดยเฉพาะพวกที่มีข้อมือใหญ่ ซึ่งในปัจจุบัน Airman ในกลุ่ม Vintage นับวันมีแต่จะผลิตตัวเรือนเล็กลงเรื่อยๆ ตามกระแส ขณะที่ตัวใหม่ที่เป็น Modern ผมและเชื่อว่าแฟนๆ อีกหลายคนอาจจะยังทำใจยอมรับไม่ได้กับหน้าตาที่ดูยังไงก็ไม่เข้ากัน
ส่วนขาจร กับราคาที่ผมได้มาประมาณ 25K ผมว่านี่คือทางเลือกที่น่าสนใจนะครับ เพราะนาฬิกามาแบบครบเครื่องจริงๆ แบรนด์สวิสส์เก่าแก่ (แม้จะไม่แก่มาก) ตัวนาฬิกามีสตอรี่ ได้ฟังก์ชั่นที่มีทั้ง Worldtime และ GMT ความประณีตในการขัดแต่งและสเป็กที่โอเคเลย เรียกว่าถ้าภายใต้วงเงินนี้ น่าจะยากที่จะหาตัวเลือกที่มีสเปกใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบ
ถ้าชอบ ถูกใจ และที่สำคัญคือ ผบ. อนุมัติ…ผมเชียร์นะครับ
รายละเอียดทางเทคนิค : Glycine Airman Worldtimer SST (GL0309)
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 43 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 46 มิลลิเมตร
- ความหนา : 11 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน/สาย : สแตนเลสสตีล 316L
- กระจก : Sapphire
- กลไก : อัตโนมัติรหัส GL293 พร้อมฟังก์ชั่น GMT
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- จำนวนทับทิม : 21 เม็ด
- กำลังสำรอง : 42 ชั่วโมง
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ การเพิ่มฟังก์ชั่น Worldtime ที่ทำงานคู่กับ GMT
- ไม่ประทับใจ : ไม่มี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
You Tube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline