Glycine Airman SST-12 GMT อีกรุ่นที่แฟน Airman ไม่ควรพลาด

0

Airman ถือเป็นคอลเล็กชั่นสุดคลาสสิคของ Glycine และเรียกว่าเป็นผลผลิตหลักที่สร้างชื่อและขายได้อย่างต่อเนื่อง และ SST-12 ถือเป็น Airman อีกรุ่นที่ได้รับความนิยมและสนใจจากแฟนๆ ทั่วโลก เพราะถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการบินให้กับ Airman ยุคเริ่มต้นเมื่อกลางทศวรรษที่ 1960

- Advertisement -

Glycine Airman SST-12 GMT

Glycine Airman SST-12 GMT อีกรุ่นที่แฟน Airman ไม่ควรพลาด

  • ผลผลิตใหม่ หรือ Re-Issue จากรุ่น SST-12 ที่เปิดตัวในปี 1967

  • รูปทรงตัวเรือนแบบ Tonneau ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 43 มิลลิเมตร

  • มาพร้อมกลไก GL293 แบบอัตโนมัติ GMT

หลังตามหาและคลาดแคล้วกันมาหลายต่อหลายรอบ ในที่สุด Glycine Airman SST-12 ที่ผมหมายปองอยู่ก็เดินทางมาถึงมือแล้ว แม้ต้องใช้เวลาในการตามหานานร่วม 4 ปีและยังไม่ใช่รุ่นที่ตัวเองต้องการก็ตามที แต่ด้วยปัจจัยในเรื่องราคาที่รับได้และโอกาสที่ไม่ได้เจอกันบ่อยๆ (ในตลาดมือสองของเมืองไทย) มันเหมือนกับไฟท์บังคับที่ทำให้ผมจัดการคว้าเจ้า Glycine Airman SST-12 GMT หน้าสีน้ำเงินพร้อมกับสาย Milanese เข้ามาอยู่ในครอบครองทันทีอย่างไม่ลังเล

Glycine Airman SST-12 GMTGlycine Airman SST-12 GMT

เจ้าเรือนที่ผมสอยเข้ากรุมานั้นมีรหัส GL0073 และก็อีกเช่นกันที่เป็น Airman แบบ GMT ไม่ใช่ Purist ซึ่งนั่นทำให้กรุ Airman ของผมยัง Clean Sheet จากรุ่น Purist ที่เดินวันละรอบและถือเป็นเอกลักษณ์ของ Airman แต่ไม่เป็นไร…หลังจากเห็นหน้าตาของ SST-12 ที่เป็น Purist ที่มาพร้อมกับเข็มชั่วโมงทรงหัวลูกศรแล้ว ผมก็พูดกับตัวเองอย่างโล่งใจว่า ไว้ไปหา (Purist) เอากับรุ่นอื่นดีกว่า

แน่นอนว่าผมก็เหมือนกับอีกหลายๆ คนที่ตกหลุมรักแบรนด์ Glycine เพราะความงามและสตอรี่ของคอลเล็กชั่น Airman และถ้าจะให้ลงรายละเอียดลึกไปอีก ของผมนั้นเกิดขึ้นกับรุ่น SST-12 ในยุคที่ Glycine ยังไม่ถูกเทคโอเวอร์เข้ามารวมกิจการกับ Invictar เมื่อปี 2016 และชื่อของ Airman ยังคงขลังอยู่ในกลุ่มคนรักนาฬิกาทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ

ซึ่งภาพของเจ้า Pumpkin SST-12 (หน้าปัดดำขอบเหลือง) ที่ได้เห็นนั้นช่างบาดใจเหลือเกิน เพียงแต่ว่าในตอนที่เจอกันครั้งแรกนั้น ราคาของ Airman ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศยังไม่บิดเบี้ยวและผิดเพี้ยนขนาดนี้ ซึ่งค่าตัวของเจ้า SST-12 Pumpkin ที่ผมตกหลุมรักนั้นอยู่ในช่วง 35-40K กันเลยทีเดียวสำหรับมือสอง ส่วนมือหนึ่งนั้นไม่ต้องพูดถึง มีแตะแสนอย่างแน่นอน

Glycine Airman SST-12 GMT Glycine Airman SST-12 GMT Glycine Airman SST-12 GMT

SST-12 ถือเป็นนาฬิกา Re-Issue จากรุ่นดั้งเดิมของ Airman ที่เปิดตัวในปี 1967 โดยการเข้ามาของ SST ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับคอลเล็กชั่น Airman ด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัยขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของการช่วงชิงเพื่อเป็นพี่ใหญ่ในแวดวงอากาศยานของชาติมหาอำนาจ

SST ที่มีชื่อย่อมาจาก Super Sonic Transportation โดยถือเป็นอากาศยานแห่งอนาคตที่ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต (ในยุคนั้น) และชาติยุโรปต่างแข่งขันกันเพื่อเป็นผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารลำแรกที่สามารถบินเหนือเสียงได้ โดยสหรัฐอเมริกามีโปรเจ็กต์ที่พัฒนาโดย Boeing ในชื่อ 2707 ทางด้านโซเวียตมี Tupolev และชาติยุโรปภายใต้การทำงานร่วมกันของอังกฤษและฝรั่งเศสในชื่อ Aerospatiale and the British Aircraft Corporation (BAC) ก็มี Concorde เป็นตัวชูโรง

ในปี 1969 ที่งาน Airshow ทั้ง BAC และโซเวียตนำต้นแบบออกมาจัดแสดง แต่ทางสหภาพโซเวียตเหนือกว่าเพราะ TU-144 ของพวกเขาบินได้ตั้งแต่ปี 1968 ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการบินโชว์ในปีต่อมา ซึ่งตรงนี้ได้ส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนและคนทั่วไป พร้อมกับเกิดคำถามว่า เราจำเป็นจะต้องบินกันเร็วขนาดนั้นไหม

เพราะผลพลอยได้จากการบินเหนือเสียง คือ การก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง เช่นเดียวกับความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้เดินทาง สุดท้ายแล้ว ทางอเมริกาก็จัดการปิดโปรเจ็กต์ 2707 ไปในปี 1971 เพราะความกังวลในเรื่องมลพิษ และไม่สามารถระดมทุนเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น 2707 ก็เลยเหลือแค่ชื่อและภาพสลักอยู่บนฝาหลังของ Glycine SST โดยเหลือเพียง BAC เท่านั้นที่ผลักดันจนทำให้ Concorde กลายเป็นจริงขึ้นมา

สำหรับ Glycine SST ในยุคนั้นมีทั้งรุ่น GMT Purist และ Chronograph โดยขอบนอกของหน้าปัดที่เป็นสเกลสำหรับหมุนเพื่อดูเวลาที่สองจะเป็นสีส้ม ซึ่งสีส้มนอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องของการดำน้ำแล้ว ในกลุ่มนักบินที่ต้องอยู่ในห้องโดยสารที่มืดของทั้งเครื่องบินขับไล่หรือเครื่องบินสอดแนม สีส้มจะมีประโยชน์มากที่สุด เพราะเป็นสีที่มองเห็นได้อย่างสะดวกในที่มืด และนั่นทำให้ SST รุ่นแรกจึงมีชื่อเล่นว่า Pumpkin

Glycine Airman SST-12 GMTGlycine Airman SST-12 GMTGlycine Airman SST-12 GMT

ส่วนรุ่นใหม่ที่เป็น Re-Issue นั้นมีหน้าปัดหลากหลายสีทั้งดำขอบเหลือง สีขาว และสีน้ำเงินแบบไล่เฉดสีแต่ไม่ถึงกับขนาด Sunburst เช่นเดียวกับกลไกที่มีทั้ง Purist และ GMT ซึ่งในรุ่น Purist จะแตกต่างจาก GMT ในส่วนของเข็มชั่วโมงที่เป็นทรงหัวลูกศรที่ดูแล้วขัดตาพิกล

Glycine Airman SST-12 GMT

เมื่อเปรียบเทียบกับ Airman อย่างตระกูล Base 22 แล้ว ต้องบอกว่า Glycine Airman SST-12 GMT มีความพิเศษกับการถอดแบบรูปทรงของตัวเรือนแบบถังเบียร์หรือ Tonneau ทรงไร้ขาสายมาจากเรือนต้นแบบ และแม้ว่าตัวเรือนที่ผลิตจากสแตนเลสสตีลจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 43 มิลลิเมตร แต่เชื่อผมเถอะว่าคนที่มีข้อมือไม่ใหญ่ในระดับไม่ต่ำกว่า 6.5 นิ้วก็ใส่ได้ ดีไม่ดีใส่ง่ายกว่าพวก Base 22 ที่แม้ว่าจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแค่ 42 มิลลิเมตรแต่กลับมีขาสายค่อนข้างยาวตามสไตล์นาฬิกานักบิน

Glycine Airman SST-12 GMT

Glycine Airman SST-12 GMTGlycine Airman SST-12 GMT

นั่นเป็นเพราะตัวเรือนทรง Tonneau ของ SST-12 ทำให้ตัวเลข Lug to Lug ของตัวนาฬิกาไม่ได้ยาวอะไรมากมาย แค่ 46.4 มิลลิเมตร บวกกับขนาดตัวเรือนที่บางแค่ 11.1 มิลลิเมตร บอกเลยว่านี่คือ นาฬิกาที่ลงตัวอย่างมากบนข้อมือในช่วง 6.5-7 นิ้ว

เช่นเดียวกับ Airman รุ่นอื่นๆ SST-12 จะมากับเม็ดมะยม 2 เม็ดคือ สำหรับใช้ในการตั้งเวลา และอีกเม็ดสำหรับใช้หมุนสเกลบนขอบตัวเรือนในการปรับเพื่อเวลาที่ 2 หรือ 3 ซึ่งตามปกติแล้วเม็ดมะยมตรงนี้จะอยู่ในตำแหน่ง 4 นาฬิกาสำหรับ Airman ทั่วไป แต่สำหรับ SST-12 จะอยู่ในตำแหน่ง 2 นาฬิกา และตัวปุ่มไม่มีการขันเกลียว โดยการใช้งานนั้นจะต้องใช้เหรียญที่ Glycine มีให้ในชุดวางเข้าไปบนร่องที่ถูกบากอยู่บนหน้าตัดของเม็ดมะยมแล้วหมุนปรับเวลา แต่ถ้าไม่มีจริงๆ หรือไม่ได้พกเหรียญนี้มาก็สามารถใช้เหรียญบาทของบ้านเราแทนได้ เพียงแต่ต้องระวังสักนิดส์นึง เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะมีการฝากร่องรอยเอาไว้ได้

Glycine Airman SST-12 GMTGlycine Airman SST-12 GMTGlycine Airman SST-12 GMT

สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบสำหรับ SST-12 หน้าน้ำเงินคือ การออกแบบหน้าปัดแบบไล่เฉดสี แต่สำหรับใน SST-12 จะเป็นแบบแบ่งครึ่ง โดยด้านบนปกติในตำแหน่ง 3-9 น. (หรือ 6-18 น.ตามสเกล GMT) จะเป็นสีน้ำเงินเข้มเพื่อแสดงถึงเวลากลางคืน ส่วนด้านล่างลงมาจะไล่โทนน้ำเงินอ่อนๆ เพื่อสื่อถึงช่วงเวลากลางวัน ซึ่งในรุ่นหน้าสีขาว คุณจะไม่เห็นความพิเศษนี้

นอกจากนั้นในส่วนของ GMT ของ Glycine Airman ที่มีขายอยู่ในตลาดนั้น คุณสามารถใช้งานในแบบ 3-Time Zone ได้ นั่นคือ ดูจากหน้าปัดหลัก เวลาที่ 2 ดูจากหน้าปัด GMT แบบ Fixed ที่ปกติแล้วจะอยู่บนอินเสิร์ตอยู่รอบหน้าปัด และเวลาที่ 3 ดูจากสเกล 24H บนขอบตัวเรือนซึ่งหมุนได้ แต่สำหรับรุ่น SST-12 จะเป็นแบบขอบหมุนอยู่ในตัวเรือนเลย

สำหรับกลไกของ Glycine Airman SST-12 GMT นั้น ด้วยความที่เป็นนาฬิการุ่นเก่าและ Discontinued ไปจากตลาดแล้ว พื้นฐานของกลไกอัตโนมัติในรหัส GL293 มาจาก ETA 2893-2 แต่มีการขัดแต่งให้สวยงามโดยเฉพาะการสลักโรเตอร์ให้สวยงามตามสไตล์ Glycine แต่คุณคงไม่ได้เห็นเพราะนาฬิการุ่นนี้มากับฝาหลังแบบทึบ

การใช้งาน GMT ไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะเป็น Office GMT ที่คุณสามารถปรับเข็มที่ 4 ได้อย่างอิสระหลังจากที่คลายเกลียวเม็ดมะยมและดึงมันขึ้นมาหนึ่งตำแหน่ง

ในเรื่องของราคาและความยากในการหาสำหรับตลาดบ้านเราตอนนี้คงต้องบอกว่าค่อนข้างยาก แต่ถ้าคุณมีกำลังทรัพย์การสั่งจากเมืองนอกเข้ามานั้นย่อมง่ายกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าราคาขายของ Glycine Airman ที่เป็นของหิ้วในบ้านเรา ซึ่งในปัจจุบัน Glycine เป็นแบรนด์ที่ไม่มีตัวแทนจำหน่ายแล้วในบ้านเรา

ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่นาฬิกาดีๆ ต้องสูญหายไปจากบ้านเรา

ข้อมูลทางเทคนิค : Glycine Airman SST-12 GMT

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 43 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 11.1 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 46.4มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : สแตนเลสสตีล
  • กระจก : Sapphire
  • กลไก : อัตโนมัติรหัส GL293 พร้อมฟังก์ชั่น GMT
  • ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
  • จำนวนทับทิม : 21 เม็ด
  • กำลังสำรอง : 42 ชั่วโมง
  • การกันน้ำ : 200 เมตร
  • ประทับใจ : รูปทรง ดีไซน์ และสตอรี่
  • ไม่ประทับใจ : –