Glycine Airman Base 22 Purist สานต่อตำนานเดินวันละรอบจากรุ่นดั้งเดิม
-
ความพิเศษด้วยกลไก Purist ที่เดินแบบรอบเดียวซึ่งส่งผ่านตัวเรือน Airman รุ่น Base 22
-
ขับเคลื่อนด้วยกลไก GL293 ที่มีการปรับแต่งมาจากเวอร์ชัน GMT
-
ใครที่สนใจคงต้องควานหาเอาในตลาดมือ 2 เพราะนี่คือนาฬิการุ่นเก่าที่เปิดตัวในช่วงปี 2010-2016
ใครก็ตามที่ปวาราณาตัวเองเป็นแฟนของ Glycine สิ่งที่ถูกใช้พิสูจน์ในแง่ของความเป็นแฟนเดนตายของแบรนด์ นอกเหนือจากปริมาณของนาฬิกา Glycine ที่อยู่ในกรุแล้ว อีกสิ่งที่ควรจะต้องมี ก็คือ Airman ที่เดินวันละรอบหน้าปัด หรือที่ถูกเรียกว่า Purist และหลังจากที่ผมติดตาม Airman มาตลอดเกือบครึ่งชีวิตในการเสียเงินให้กับนาฬิกาคอลเล็กชั่นนี้ ในที่สุด ผมก็ได้ Purist มาครอบครองแล้ว และเป็นรุ่น Base 22 ที่แม้เปิดตัวออกมาหลายปีแล้ว และถึงจะเก่า แต่ก็ถือว่าสร้างความน่าสนใจและชื่นจิตชื่นใจให้กับผมอย่างมากมาย
ถ้าติดตาม Ana-Digi.com มาโดยตลอด จะพบว่าชีวิตผมวนเวียนกับ Glycine ค่อนข้างเยอะ เรียกว่าในกลุ่มแบรนด์สวิสส์เป็นรองก็แค่ Oris เท่านั้นเอง โดย Glycine ถือเป็นแบรนด์ที่มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ และมีสตอรี่ที่น่าสนใจมากมาย แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่เพียงพอกับการพาตัวเองให้อยู่รอดในตลาดท่ามกลางการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือด
Glycine ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1914 โดย Eugene Meylan และรุ่นที่สร้างชื่อพร้อมกับความโดดเด่นให้กับแบรนด์คือ Airman ที่ถูกเปิดตัวออกมาในปี 1953 หลังจากที่ Sam Glur ผู้บริหารที่ดูแลด้านการขายของพวกเขาได้ไอเดียในการผลิตจากการพูดคุยกับ Chat Brown หัวหน้านักบินของสายการบินไทยแอร์เวย์เที่ยวบินจากกรุงเทพไปกัลกัตตา (รีวิวนาฬิการุ่นที่ผลิตเพื่อระลึกถึงเรื่องนี้อ่านได้ ที่นี่) จนนำไปสู่การผลิตนาฬิการุ่น Airman ในที่สุด
Airman รุ่นแรกถูกสร้างขึ้นภายใต้ความต้องการของนักบิน ที่ในยุคนั้นยังไม่มีนาฬิกาข้อมือเรือนไหนสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ในแง่ของการใช้งาน โดยเฉพาะในเรื่องของการดูเวลาที่เป็น Home Time (เมืองที่บินจากมา) และ Local Time (เมืองที่เดินทางไปถึง) ภายในเรือนเดียวกันได้ ที่สำคัญคือ นักบินต้องการนาฬิกาที่ดูและสามารถอ่านค่าเวลาได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น ใน 1 วันนาฬิกาข้อมือเรือนนั้นควรจะเดินเพียงรอบเดียว เพื่อให้รู้ว่าเวลา 10.00 น. นั้นคือ 10 โมงเช้า หรือ 22.00 น. นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนากลไกที่มีรูปแบบเฉพาะตัวซึ่งเรียกว่า Purist ขึ้นมา ซึ่งหมายความว่า ใน 1 วัน นาฬิกาเรือนนั้นจะเดินเพียงแค่ 1 รอบหน้าปัด ไม่ใช่ 2 รอบหน้าปัดเหมือนกับนาฬิกาทั่วไป
ในช่วงเปิดตัวออกมา Airman ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักบิน แต่ดูเหมือนว่านักบินในโลกนี้จะมีน้อยกว่าคนสวมนาฬิกา ดังนั้น การที่ Glycine จะพึ่งยอดขายจากนาฬิกาเพียงรุ่นใดรุ่นหนึ่งเป็นพิเศษจึงอาจจะเป็นเรื่องยากสักนิด นั่นเลยส่งผลต่อการมีอยู่ของบริษัท และกิจการได้ถูกขายทอดไปมาหลายครั้งจนกระทั่งมาถึงมือของ Invictar Group เจ้าพ่อนาฬิกาสุดแปลกที่ยอดขายถล่มทลาย
Invictar Group เข้าซื้อกิจการของ Glycine ในปี 2016 พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย และทำให้แบรนด์ที่สุดยูนีคแบรนด์นี้เกิดเครื่องหมายคำถามมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของการตลาดและการตั้งราคา ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวทำลายแบรนด์อย่างชัดเจน ที่ผ่านมาเราสามารถหาซื้อนาฬิกา Glycine ในราคา 50-70% Off ได้ตามเว็บไซต์เมืองนอก เช่นเดียวกับเคาน์เตอร์ขายนาฬิการาคาถูกๆ และนั่นทำให้คุณค่าและความเป็นแบรนด์ Glycine ถูกบั่นทอนลงเรื่อยๆ ซึ่งในเมืองไทยเอง Glycine เคยมีตัวแทนจำหน่าย แต่ดูเหมือนว่าจะอยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายก็ต้องล้มหายตายจากกันไปเหมือนกับแบรนด์เจ๋งๆ หลายแบรนด์ เช่น Fortis หรือ Sinn
ดังนั้น ทางเลือกในการเป็นเจ้าของนาฬิกา Glycine สักเรือนมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ ไม่ตามหามือ 2 เอาในตลาด ก็ต้องพึ่งพาจากของหิ้ว ซึ่งแน่นอนว่าทางเลือกที่ 2 อาจจะไม่เหมาะกับบางเรือน ที่ไม่มีป้ายแดงวางขายแล้ว และต้องบอกว่า Glycine Airman Base 22 Purist เรือนนี้ก็ไม่ใช่เป้าหมายหลักจริงๆ ของผม เพราะเป้าหมายในการได้มาซึ่งนาฬิกาแบบ Purist ของผม คือรุ่น DC-4 Purist รุ่นหน้าปัดสีครีมที่ในตอนนี้เลิกผลิตไปแล้ว
แต่ดูเหมือนว่า ของถูกใจยังไม่มา และ Glycine Purist รุ่นเก่าๆ ที่มีหน้าปัดขนาด 42 มิลลิเมตรนั้น ก็เริ่มหายากมากในตลาด เพราะรุ่นใหม่ๆ พวกเขาผลิตแต่ 40 หรือไม่ก็ 36 มิลลิเมตรเป็นหลัก ผมก็เลยต้องตัดสินใจทันทีว่าจะเอาหรือไม่เอาเมื่อเป้าหมายที่ใกล้เคียงโผล่ขึ้นมาในราคาที่ถือว่าจับต้องได้
และนั่นทำให้ผมใช้เวลาแบบไม่รวมส่งผ่าน Grab เพียงแค่ครึ่งชั่วโมงในการทำให้ Glycine Airman Base 22 Purist เรือนนี้เดินทางมาถึงมือ
Base 22 เป็นคอลเล็กชั่นยุคก่อน Invictar เปิดตัวรุ่นแรกในปี 2010 ซึ่งก็แน่นอนว่านาฬิกาเรือนนี้มีทางเลือกหลากหลายทั้งรุ่นธรรมดา รุ่น GMT และรุ่นเดินวันละรอบหรือ Purist
จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมมี Airman Base 22 อยู่ในกรุเรือนหนึ่งแล้วนั่นคือรุ่น Luminous และต้องสารภาพเลยว่า ตอนแรกที่ได้ Base 22 มาในตอนแรกเมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้ว ผมคิดว่ามันค่อนข้างเล็กไปหน่อยในตอนนั้นเพราะส่วนตัวผมมักจะเลือกใส่นาฬิกาที่มีขนาดใหญ่ไซส์ 43 มิลลิเมตรขึ้นไปทั้งนั้น แต่พอวันเวลาผ่านไป ความคิดก็เริ่มเปลี่ยน
สิ่งที่ผมชอบมากสำหรับ Base 22 กับมุมมองและรสนิยมของตัวเองในปี 2022 คือ ความลงตัวของนาฬิกาเวลาอยู่บนข้อมือ และนี่คือ Airman รุ่นหนึ่งที่มีรูปทรงและขนาดที่กระชับแม้ว่าขนาดตัวเรือนจะถือว่าไม่ได้มากมายอะไรนักเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดข้อแขนไซส์ 7 นิ้วของผม โดยตัวเลขเส้นผ่านศูนย์กลาง 42 มิลลิเมตร สามารถได้รับการทดแทนด้วยขนาด Lug to Lug ที่ยาวระดับ 51 มิลลิเมตรได้ และความหนาของตัวเรือนระดับ 10.9 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้นาฬิกาเรือนนี้สามารถสวมใส่ได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะเป็นงานกึ่งทางการหรือทางการนิดๆ
อีกทั้งอีกจุดหนึ่งอย่างขาสายที่มีความกว้าง 22 มิลลิเมตรที่แต่เดิมผมดูว่าไม่สมดุลและสัมพันธ์กับขนาดตัวเรือน กลับกลายเป็นว่าในตอนนี้ดูดี และเข้ากันกับขนาดเป็นอย่างดี
รุ่นที่ผมได้มาเป็น Ref.GL 202 หน้าปัดสีครีมพร้อมสายหนังวัวสีน้ำตาลอ่อนที่ดูแล้วเข้าชุดกันอย่างลงตัว โดยเมื่อเปรียบเทียบกับ Base 22 Luminous สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ รูปทรงของชุดเข็ม ซึ่งใน GL 202 มากับเข็มชั่วโมงที่เป็นทรง Arrow ขนาดใหญ่ ขณะที่เข็มนาทียังเป็นทรงแท่งยาว ซึ่งแตกต่างจากรุ่น Luminous และ Mystery ที่อยู่ในคอลเล็กชั่นเดียวกันอย่างชัดเจน
สิ่งหนึ่งที่ถ้าคุณเป็นแฟน Airman แล้วต้องการแยกระหว่างรุ่น GMT และ Purist ออกจากกันให้ได้แบบง่ายๆ คือ การดูว่านาฬิกาเรือนนั้นมีเข็มที่ 4 หรือไม่ ถ้าไม่มี นั่นคือ Purist แต่ถ้ามี ก็เป็น GMT ที่เดินวันละ 2 รอบเหมือนนาฬิกาทั่วไป Purist มี 3 เข็ม (ชั่วโมง-นาที-วินาที) เหมือนกับรุ่นปกติ แต่มีสเกล 24 ชั่วโมงในหน้าปัดเหมือนกับรุ่น GMT…งงไหม ?
ส่วนหนึ่งเท่าที่เคยเจอการอธิบายของบรรดาคนขายตามหน้าซื้อขายทั่วไปที่ผมเห็น พวกเขามักจะมองไปที่ตัวเลข 1-24 ที่อยู่ด้านในหน้าปัดแล้วบอกว่า มันคือ Purist ซึ่งมันคนละเรื่องกันเลย เพราะไม่ว่าจะเป็น Purist หรือ GMT ต่างก็มีสเกล 24 ชั่วโมง 2 จุดเหมือนกัน คือ จุดแรกอยู่ที่รอบนอกของหน้าปัดซึ่งอยู่เลยหลักชั่วโมงไป ตรงนี้สำหรับใช้ร่วมกับเข็ม GMT เพื่อบอกเวลาที่ 2 และเข็มชั่วโมงเพื่อบอกเวลาปกติในกรณีที่เป็นรุ่น Purist ซึ่งเดินวันละรอบ ส่วนอีกจุดคือ สเกลบนขอบตัวเรือนที่หมุนได้ เพื่อใช้ในการระบุเวลาที่ 3 สำหรับรุ่น GMT และเวลาที่ 2 สำหรับรุ่น Purist
ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วจะพบว่าใน Base 22 ไม่ว่าจะเป็นรุ่นกลไกไหน (ยกเว้นรุ่นพิเศษ คือ Luminous และ Mystery ที่ชุดเข็มต่างจาก Base 22 รุ่นปกติ) จะมีชุดเข็มที่มีรูปทรงเหมือนกัน ตรงนี้จะต่างจาก SST12 ที่รุ่น GMT กับ Purist จะมีรูปทรงเข็มชั่วโมงต่างกัน นอกเหนือจากการหายไปของเข็ม GMT ดังนั้น การดูที่แค่รูปทรงของเข็มชั่วโมงและนาทีจึงไม่สามารถใช้เป็นหลักในการระบุความต่างระหว่างรุ่น Purist และ GMT ได้แบบเป๊ะๆ
กลับมาที่ Glycine Airman Base 22 Purist ในแง่ของการใช้งาน ในกรณีที่คุณไม่คุ้นเคยกับการดูเวลาของนาฬิกาที่เดินรอบเดียว คงต้องบอกว่า เล่นเอางงในช่วงแรก ส่วนตัวผม แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยใช้ Protrek ของ Casio ที่แสดงผลแบบหน้าจอดิจิตอลและมีฟังก์ชั่นแสดงเวลาแบบเดินรอบเดียวนอกเหนือจากแสดงผลด้วยตัวเลขแบบดิจิตอล แต่นั่นก็เป็นการแสดงค่าเวลาที่เหมือนกับพวกนาฬิกาแบบเข็มเดียวอย่างแบรนด์ MeisterSinger มากกว่า นั่นคือ ใช้เข็มเดียวชี้ระบุชั่วโมงและนาทีเลย
แต่สำหรับ Purist คุณยังต้องใช้เข็มชั่วโมงเพื่อบอกชั่วโมงจากบนหน้าปัดที่ถูกซอยย่อยออกเป็น 24 ชั่วโมง หรือ 24 หลักแทนที่จะเป็น 12 ชั่วโมง และเข็มนาทีเพื่อบอกนาทีผ่านสเกลที่เดิน 12 หลักเหมือนนาฬิกาปกติ
หลักการสังเกตง่ายๆ ของผมแบบดูคร่าวๆ คือ ดูว่าเข็มชั่วโมงอยู่ฝั่งไหนของหน้าปัด ถ้าเข็มชั่วโมงยังอยู่ในช่วงครึ่งขวาของหน้าปัด (กรณีสวมนาฬิกามือซ้ายและยกขึ้นมาดู) แสดงว่ายังเป็น A.M. อยู่ และคราวนี้ค่อยมาดูว่ามันชี้ไปที่เลขอะไร แล้วค่อยมาดูเข็มวินาทีร่วมด้วยในกรณีที่อยากรู้จำนวนนาที…ฝึกไม่ยาก และดูไม่กี่ครั้งก็คุ้นเคยแล้ว
การแสดงเวลาในลักษณะนี้ กลไกย่อมแตกต่างจากรุ่นทั่วไป ซึ่งใน Base 22 Purist จะใช้กลไก GL293 แบบอัตโนมัติที่พัฒนาและดัดแปลงมาจากพื้นฐานของ ETA 2893 พร้อมโรเตอร์ที่มีการยิงเลเซอร์เป็นลายเครื่องบินใบพัดตามสไตล์ Glycine สิ่งหนึ่งที่มีการตั้งข้อสงสัยมานานแล้วเกี่ยวกับเรื่องของกลไกที่ Glycine นำมาวางใน GMT และ Purist ว่าทำไมถึงเหมือนกัน นั่นคือ GL293
เท่าที่ลองหาข้อมูลในอินเตอร์เนต เรียกว่าหายากถึงยากมาก อาจจะเพราะ Glycine ไม่ใช่แบรนด์ดังและมีการเก็บข้อมูลเก่าเอาไว้ แต่เท่าที่ได้อ่านช่างซ่อมนาฬิกาคนหนึ่งอธิบายไว้ในบอร์ดแห่งหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ
เหตุที่ GMT และ Purist ใช้กลไกเดียวกันก็เพราะการเดินของเข็มชั่วโมงและเข็ม GMT นั้นเหมือนกันคือ เดินวันละรอบ ดังนั้น ในกลไกที่เป็นเวอร์ชัน GMT ทุกอย่างจะเหมือนปกติ เฟืองชั่วโมง หรือ Hour Wheel ก็ขับเข็มชั่วโมงไป แต่สำหรับ Purist เฟืองชั่วโมงก็ยังมีอยู่แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากับเข็มชั่วโมงเหมือนกลไก GMT แต่จะมีเฟืองอีกตัวที่เชื่อมต่อเข้ามา และอาศัยกำลังจะเฟืองชั่วโมงส่งไปยังเฟืองขับอีกชุดซึ่งเป็นแบบหมุน 24 ชั่วโมง (24H Wheel)
ใน GMT เฟืองตัวนี้จะเชื่อมกับเข็ม GMT แต่ถ้าเป็น Purist เฟืองตัวนี้จะเชื่อมเข้ากับเข็มชั่วโมง และขับจานหมุนวันที่ด้วย นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมการเดินของเข็มชั่วโมงใน Purist จึงเป็นแบบวันละรอบเหมือนกับเข็ม GMT
นั่นคือ สิ่งที่ถูกอธิบายถึงกลไก Purist ที่แตกต่างจาก GMT ในแง่ของการทำงาน แต่ทว่าอยู่บนพื้นฐานของกลไกแบบเดียวกันที่บรรดาแฟน Glycine Airman ต่างสงสัยกันมานาน
ในเวอร์ชัน GMT นาฬิกา Airman ของคุณจะสามารถบอกเวลาได้ 3 เขตเวลาโดยอาศัยการทำงานของเข็มชั่วโมง (เวลาที่ 1) เข็ม GMT และสเกล 24H ในหน้าปัด (เวลาที่ 2) และเข็ม GMT และสเกล 24H บนขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ (เวลาที่ 3) แต่สำหรับ Purist คุณได้ความแปลกที่ไม่เหมือนใคร แต่ประโยชน์ใช้สอยก็ลดลงไปตาม เพราะ Purist มีหน้าที่บอกเวลาให้นักบินทราบแค่ 2 จุดคือ Home Time (เหมืองที่เดินทางออกไป) และ Local Time (เมืองที่ไปถึง) โดยคุณสามารถใช้สเกล 24H บนขอบตัวเรือนทำหน้าที่ในการบอกเวลาที่ 2 ได้ผ่านทางการคลายล็อกเม็ดมะยมชุดที่ 2 ในตำแหน่ง 4 นาฬิกา และขอบตัวเรือนสามารถหมุนได้ 2 ทิศทาง
นี่คือ ฟังก์ชั่นที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 69 ปีที่แล้ว และถือว่าเทพมากๆ ในแง่ของไอเดียในความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันแม้ว่านาฬิกานักบินจะมีเรื่องของระบบควอตซ์และดิจิตอลเข้ามาตอบสนองความต้องการที่มากขึ้น เช่น การทราบถึงเวลา UTC หรือความสามารถในการจับเวลาและบันทึก Flight Log ของแต่ละเที่ยวบินแต่ต้องบอกว่า Glycine Airman คือ ต้นกำเนิดแห่งความเทพของการพัฒนานาฬิกาภายใต้ข้อจำกัดของการเป็นนาฬิกาจักรกลเพื่อรอบรับกับความต้องการใช้งานอย่างจริงจัง
ผมคงไม่สามารถบอกได้ถึงราคาสุดท้ายของ Glycine Airman ที่จำหน่ายผ่านตัวแทนในบ้านเราได้แบบเป๊ะๆ แต่เท่าที่เคยเห็นแบบผ่านๆ จำได้ว่าราคาร่วมแสนบาทหรือเกินหลักแสนนิดๆ ซึ่งกับค่าตัวของนาฬิกาในยุคเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน และนั่นทำให้ Airman ต้องเจอกับคู่แข่งมากมายที่เหนือกว่า จนยากที่จะแข่งขันกับแบรนด์เหล่านั้นโดยอาศัยแค่สตอรี่ที่ถูกถ่ายทอดจากอดีตมาเป็นตัวตั้งต้นในด้านกลยุทธ์ทางการตลาด โดยที่ราคาไม่ได้เชิญชวนให้เป็นเจ้าของสักเท่าไร
ส่วนตัวผมว่ามันไม่พอแน่ๆ เพราะสตอรี่ของ Glycine ยังไม่ได้แกร่งและกลายเป็นประวัติศาสตร์เหมือนกับบางแบรนด์ที่เดินทางไปดวงจันทร์ และนั่นคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ Glycine ในแบบจำหน่ายอย่างเป็นทางการหายไปจากบ้านเรา ผมเคยเจอตัวเป็นๆ ครั้งล่าสุดในงานลดราคาแบบกระหน่ำของตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลากหลายอย่างด้วยราคาป้าย 70% Off เมื่อสัก 4 ปีที่แล้ว และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่ผมเห็น Glycine Airman ที่ไม่ใช่ถูกนำเข้าโดยผู้นำเข้ารายย่อย
เอาเป็นว่าในปัจจุบันนี้ ถ้าคุณอยากเป็นเจ้าของ Airman ทางเลือกมีอยู่แค่ 3 ทางเท่านั้น คือ ควานหามือสองที่วนเวียนในตลาด หรือไม่ก็พึ่งพาผู้นำเข้ารายย่อย หรือ Grey Market และสุดท้ายคือ สั่งเข้ามาเองจากเว็บเมืองนอก นี่คือ 3 ทางเลือกสำหรับแฟนๆ ของ Airman ในบ้านเรา
ข้อมูลทางเทคนิค : Glycine Airman Base 22 Purist
- ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง : 42 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug: 51 มิลลิเมตร
- ความหนา: 10.9 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย: 22 มิลลิเมตร
- กระจก: Sapphire พร้อม A/R
- ระดับการกันน้ำ: 200 เมตร
- กลไก : GL293 Purist
- สำรองพลังงาน: 42 ชั่วโมง
- ความถี่: 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- ประทับใจ : สตอรี่ ฟังก์ชั่น Purist และขนาดตัวเรือนที่กำลังดี
- ไม่ประทับใจ : ไม่มี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/