นาฬิกาอีกรุ่นจาก Glycine Airman ที่ถือว่ามีเอกลักษณ์คือ Luminous หรือหน้าปัดเรืองแสงทั้งแผ่น ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่มีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ Airman 7 แต่มาชัดเจนและมีรูปแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบันเมื่อปี 2014 กับการเปิดตัวรุ่น Base 22 Luminous ออกมา และจนถึงตอนนี้ Glycine ยังไม่ลืมหน้าปัดสไตล์นี้ และนำเสนอผ่านกับเวอร์ชันใหม่ล่าสุดนั่นคือ Airman Contemporary ซึ่งในปี 2022 มีการเปิดตัวเวอร์ชัน 2 ที่เป็นหน้าปัดสีส้มออกมา และเราได้นำรุ่น GL0463 ที่เป็นแบบ Purist มา Review
Glycine Airman Luminous Contemporary Man Purist GL0463 อีกสไตล์ของหน้าปัดที่ไม่ควรพลาด
- เวอร์ชันหน้าปัดเรืองแสงหรือ Luminous ที่ถูกนำเสนอผ่านตัวเรือนใหม่ของ Glycine Airman
- หน้าปัดเรืองแสงทั้งแผ่นและมากับพื้นหน้าปัดสีส้มอ่อนดูแปลกตาบนตัวเรือนรมดำแบบ PVD
- ขับเคลื่อนในแบบ Purist หรือเดินวันละ 1 รอบหน้าปัดของกลไก GL239
ผมพยายามบอกตัวเองหลายครั้งแล้วว่า เราน่าจะพอกับการตะลุยตามหา Glycine Airman กันได้แล้ว เพราะในกรุก็ถือว่ามีกันพอสมควรแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้เทรดออกไปแล้วหลายเรือน แต่จนแล้วจนรอดเมื่อทางแบรนด์เปิดตัว Luminous Version หรือ Full Lume เวอร์ชันใหม่ออกมา ดูเหมือนว่าผมจะทนเสียงเย้ายวนในหัวไม่ไหว ออกตามหานาฬิกาเรือนนี้ในทันที จนกระทั่งสมหวังในที่สุด และ Glycine Airman Luminous Contemporary Man Purist GL0463 ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสมาชิก Airman ของผมจนได้
ถ้าตามอ่าน Review ของ Ana-Digi.com มาตลอด จะทราบดีว่า ผมมักจะพ่ายแพ้ต่อความเย้ายวนของนาฬิกา Airman จากค่ายนี้เสมอ และสำหรับ Luminous Version ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่มีมานานแล้วกับรุ่น Airman 7 ที่เป็นแบบ 3 หน้าปัดเวลา แต่ผมเพิ่งจะมีโอกาสได้สัมผัสกับเรือนจริงกับเวอร์ชันปี 2014 ที่ใช้พื้นฐานของ Base 22 พร้อมกับเคยทำ Review และต้องบอกว่าเสียดายมากหลังจากนาฬิกาเรือนนี้ถูกเทรดเรือนอื่นๆ เข้ามาในกรุ เพราะในปัจจุบันหายากมากในบ้านเรา
Luminous หรือ Full Lume หมายถึงการผลิตหน้าปัดแบบเรืองแสงทั้งแผ่น ซึ่งหลังจากที่ GL0213/GL0214 (GMT และ Purist) ที่เปิดตัวในปี 2014 และผมเคยมีแล้ว ทาง Glycine ก็ยังมีการผลิตนาฬิกาลักษณะนี้ออกมาขายคู่กับเวอร์ชั่นอื่นๆ โดยรุ่นต่อมาคือ GL0069/0142 (GMT และ Purist) ซึ่งเป็นการใช้พื้นฐานของ Airman รุ่นใหม่แบบ Contemporary หรือเป็นดีไซน์ใหม่ที่ถูกส่งเข้ามาทำตลาดแทนที่ (ในปัจจุบัน นาฬิการุ่นหลักของ Airman จะมีขายด้วยกัน 3 ซีรีส์ คือ Contemporary ที่เป็นรุ่นหลักโดยมีทั้งกลไกอัตโนมัติ และควอตซ์ ตามด้วย Vintage ซึ่งมากับดีไซน์ย้อนยุค และ SST)
ดังนั้น GL0463 ที่อยู่ในมือผมจึงถือเป็น Luminous รุ่นใหม่ที่เป็นอีกทางเลือก ซึ่งถูกพัฒนาต่อจากรุ่นแรกของซีรีส์ Contemporary ที่เปิดตัวในปี 2017 ในรหัส GL0069/0142
ที่ต้องบอกเช่นนั้นก็เพราะเมื่อเช็คจากเว็บรุ่นแรกของมัน ซึ่งคือ GL0069/0142 ก็ยังมีโชว์อยู่บนเว็บไซต์แม้ว่าจะขายมาได้ 5 ปีแล้ว ซึ่งก็มองได้ 2 ทาง คือ ขายไม่หมด กับทั้ง 2 รุ่นนี้ต่างกันไม่ได้มาทดแทนกัน เพราะแม้ว่าจะอยู่ในซีรีส์ Contemporary เหมือนกัน แต่สีหน้าปัดก็ไม่เหมือนกัน เนื่องจาก GL0069/0142 ออกสีเหลืองอ่อนเหมือนกับ Luminous Dial รุ่นแรกๆ ที่เราพบเห็นได้ตามท้องตลาด ส่วน GL0462/0463 จะออกสีส้ม ดังนั้น จะเรียกว่าเข้ามาแทนที่คงไม่สามารถพูดได้เต็มปากนัก
สิ่งที่เหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้ ตัวนาฬิกาจะมีทั้งรุ่น GMT ที่มากับรหัส GL0462 และรุ่นที่ผมเล็งเอาไว้คือ Purist ที่เดิน 1 รอบหน้าปัดต่อวัน ในรหัส GL0463 ซึ่งตามปกติแล้วจะค่อนข้างหายากกว่า เพราะเป็นที่หมายปองของบรรดาแฟนๆ Airman และนี่คือนาฬิกาอีกรุ่นที่ผมตัดสินใจไม่นาน ใช้เวลาแค่ไม่ถึงนาทีในการส่งข้อความถึงพ่อค้าขาประจำ ทันทีที่เห็นโพสต์ของเขาใน FB เนื่องจากเป็นเป้าอยู่ใน Wish List อยู่แล้ว
ต้องบอกก่อนว่า Glycine เป็นนาฬิกาที่เราไม่สามารถหาได้จากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่ตัวแทนจำหน่ายล่าสุดเลิกจำหน่าย ดังนั้น ทางออกในการเป็นเจ้าของจึงมีไม่เยอะนัก นั่นคือ การสั่งผ่านออนไลน์จากเว็บเมืองนอก ตลาดมือสองในบ้านเราและเมืองนอก หรือตลาดนำเข้าอิสระ ดังนั้น ถ้าอะไรที่เล็งเอาไว้แล้วโผล่ขึ้นมาหน้า Feed อย่าได้ลังเล (ถ้ามีเงินอยู่ในกระเป๋า) เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว อาจจะมานั่งเสียใจในตอนหลังได้
สำหรับ Glycine Airman Luminous Contemporary Man Purist GL0463 ถูกพัฒนามาจากซีรีส์ Contemporary หรือเป็น Airman ยุคใหม่ที่แตกต่างจากรุ่นที่เราคุ้นเคยกันมาก่อน และที่สำคัญคือ เป็น Airman ที่ถูกออกแบบมาในยุคที่ Invictar Watch Group เข้ามาครอบครองในฐานะเจ้าของใหม่…อันนี้สำคัญมากที่ส่งผลในเชิงจิตวิทยานิดๆ
เพราะนับจากปี 2016 เป็นต้นมา Invictar เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการของ Glycine ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะถูกมองในแง่ลบไปซะทั้งหมด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะภาพลักษณ์ติดลบของ Invictar ที่มีอยู่ในใจของคนรักนาฬิกาอยู่แล้ว และเมื่อซีรีส์ Contemporary ถูกเปิดตัวออกมาในช่วงนั้นพร้อมกับหน้าตาที่ไม่โดน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนตั้งคำถามแบบเหมาๆ เอาว่าทีมออกแบบของ Glycine โดยแทรกแซงหรือ Invictar เข้ามาวุ่นวายกับการทำงานมากไปหรือเปล่า ? (ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจจะไม่เลยก็ได้)
นั่นก็เป็นเพราะรูปลักษณ์ออกแนวทื่อๆ ขาดกลิ่นอายของความเป็น Airman ไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะชุดเข็มทั้งเข็มชั่วโมง นาที วินาที หรือแม้แต่ GMT ที่ดูเทอะทะขาดเสน่ห์ และกลายเป็น Airman ที่คนร้องยี้กันค่อนข้างเยอะ ทั้งที่ในตอนที่ Invictar เข้าเทคโอเวอร์จาก DKSH (ที่ซื้อกิจการมาในปี 2014 เพื่อหวังรุกตลาดเอเชีย) Eyal Lalo CEO ของ Invicta ได้ให้คำมั่นกับแฟน ๆ ว่าเขา “ไม่มีความตั้งใจที่จะทำลายคุณภาพและประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ทำให้ Glycine เป็นแบรนด์ที่เคารพอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”
เขากล่าวต่อไปว่า “เราจะสนับสนุน Glycine ในขณะที่ยังคงรักษาความเป็นอิสระและมรดกอันล้ำค่าของสวิสเอาไว้” แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวางตำแหน่ง การออกแบบ หรือการจัดจำหน่ายนั้นยังคงต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งตรงนี้แหละที่หลายคนอาจจะคิดว่า Invictar กำลังเข้าไปล้วงลูกเรื่องนี้หรือเปล่า
จริงๆ ผมก็ไม่ชอบหน้าตาของมันเหมือนกันนะ แต่สุดท้ายก็สอย Airman Bronze เข้ามาอยู่ในกรุจนได้ แม้จะออกแนวแบบฝืนๆ ใจตัวเอง แต่สุดท้ายความอยากได้นาฬิกาบรอนซ์ที่มีแบรนด์ก็เอาชนะข้อด้อยตรงนี้ไปได้ เช่นเดียวกับเหตุผลที่ว่า นี่คือ Contemporary รุ่นเดียวที่ไม่ได้มากับเข็ม GMT แบบไม้พาย ดังนั้น GL0463 นี่จึงเป็นเรือนที่ 2 ของซีรีส์ Contemporary ที่อยู่ในกรุของผม
ถ้าไม่นับเรื่องความทื่อๆ ของชุดเข็ม Airman ในซีรีส์ Contemporary ก็มีตัวเรือนคล้ายกับๆ กับ Airman รุ่นก่อนหน้านี้ในช่วง 1990-2000 เป็นนาฬิกาทรงกลมที่ขาค่อนข้างยาวในสไตล์นักบิน ขอบตัวเรือนมีสเกล 24 ชั่วโมงสำหรับใช้ทำงานร่วมกับเข็มชั่วโมงหรือ GMT ในการบอกเวลาที่ 2 หรือ 3 ซึ่งขอบตัวเรือนนี้จะถูกล็อกโดยเม็ดมะยมที่อยู่ในตำแหน่ง 4 นาฬิกา นี่คือเอกลักษณ์ในเชิงสัญลักษณ์ของ Airman ที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน
จริงๆ Airman มีขนาดตัวเรือนที่หลากหลายตั้งแต่ไซส์เล็กไปจนถึงโอเวอร์ไซส์ระดับ 46 มิลลิเมตร ซึ่งถ้าให้ผมแนะนำ โดยอ้างอิงจากขนาดข้อมือไซส์ 7 นิ้วของตัวเอง บอกได้เลยว่า ไซส์ 42 มิลลิเมตรใส่แล้วสวยที่สุด ไซส์ 44 มิลลิเมตรที่ผมเคยลองกับตัว Bronze ถือว่าโอเค แต่ถ้าต้องขยับมาถึงระดับ 46 มิลลิเมตร บอกเลยว่าอย่า ถ้าข้อมือไม่ใหญ่พอ เพราะด้วยความที่เป็นนาฬิกานักบินที่มีขาสายค่อนข้างยาว ทำให้โอกาสที่จะกางจนล้น เวลาอยู่บนข้อมือนั้นมีสูงมาก
Glycine Airman Luminous Contemporary Man Purist GL0463 มากับตัวเรือนไซส์ 42 มิลลิเมตร ซึ่งผมแฮปปี้มากตัวเรือนเคลือบ PVD ดำตลอดทั้งเรือนและมีการขัดเงาสลับด้านบนตัวเรือน ซึ่งเมื่อดูผ่านๆ อาจจะไม่สังเกตเห็น เพราะสีดำทำให้มันดูกลมกลืนไปทั้งหมด นาฬิกามากับฝาหลังแบบใสขันเกลียว สามารถมองเห็นรายละเอียดภายใน และโรเตอร์ขึ้นลานที่มีการขัดลาย Geneva Stripe พร้อมกับสลักโลโก้เครื่องบินโบราณ อันเป็นเอกลักษณ์ของกลไก GL293 ของพวกเขา
หน้าปัดเป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างชอบในนาฬิการุ่นนี้ Luminous Dial หรือ Full Lume มากับโทนสีออกส้ม ซึ่งจะแตกต่างจากเวอร์ชันก่อนหน้า และ Glycine ไม่ต้องทำอะไรมากมาย แต่หาคู่สีตรงข้ามมาทำให้เกิดการตัดกัน นั่นคือ การใช้สีดำ ซึ่งไม่เฉพาะแค่หลักชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฟอนต์ที่อยู่บนหน้าปัด แถบสเกลเวลา และชุดเข็มที่มีการจัดซาตินและรมดำ
โดยทั้งหมดไม่มีการเคลือบสารเรืองแสงเอาไว้เหมือนนาฬิกาปกติ แต่จะใช้แผ่นหน้าปัดในการเรืองแสงขึ้นมาซึ่งตัวแผ่นหน้าปัดมีการเคลือบสารเรืองแสง C1 SuperLuminova และทำให้หลักชั่วโมง ฟอนต์และเข็มกลายเป็นภาพในลักษณะซิลูเอท (Silhouette) แถมหน้าปัดยังถือว่าใสปิ๊ง มองได้ชัดเจน เพราะนอกจากจะใช้ Sapphire ทรงโดมแล้ว ยังมีการเคลือบสารกันการสะท้อนแสงที่ด้านในถึง 3 ชั้นเลยทีเดียว
Airman รุ่นใหม่จะมีขายด้วยกัน 3 แบบ คือ Double Twelve ที่เป็นแบบเดินปกติ และใช้ขอบตัวเรือนที่มีสเกล 12H ในการระบุเวลาที่ 2 ตามด้วย GMT และ Purist ซึ่งเดินวันละรอบ แบบ GMT สังเกตไม่ยาก เพราะมีเข็มที่ 4 ในการบอกเวลาที่ 2 แต่ Double Twelve และ Purist นี่แหละที่สังเกตยาก และถ้าซื้อผิดเรียกว่าชีวิตเปลี่ยนเลย เพราะมีแค่ 3 เข็มเหมือนกัน
สิ่งที่ผมมักใช้การสังเกตในการแยกคือ ตัวเลขบนขอบหน้าปัด ถ้าเป็น Double Twelve มักจะมีเลขตามหลักชั่วโมงคือ 1-12 แต่ Purist มักจะมี 1-24 อยู่ขอบนอก และระหว่างหลักชั่วโมงแต่ละหลักมักจะมีหลักชั่วโมงย่อยแทรกอยู่ด้วย ด้วยเหตุที่หน้าปัดถูกเปลี่ยนจาก 12 ชั่วโมงมาเป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งเข็มชั่วโมงจะต้องเดิน 1 รอบใน 1 วัน การเดินแต่ละชั่วโมงจึงคล้ายกับเข็ม GMT ตรงนี้ก็สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนกลไก GL293
ผมเคย Review มาก่อนหน้านี้กับรุ่น Base 22 Purist ถึงเรื่องรูปแบบการแสดงเวลาที่แตกต่างกัน แต่ทำไม Glycine ถึงใช้รหัสกลไกเดียวกัน นั่นคือ GL293 ซึ่งในอดีตกลไกรุ่นนี้ถูกพัฒนาบนพื้นฐานของ ETA2893-2 แต่ในเวลาต่อมาเป็น Selitta SW-330-1 เพราะทาง ETA ไม่สนับสนุนกลไกให้กับแบรนด์นอกอีกแล้ว ก็เลยต้องใช้กลไกที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานเดียวกันอย่าง Selitta แทน
ผมตามหาข้อมูลในอินเตอร์เนตอยู่นานเอาเรื่องเหมือนกัน แต่ไม่มีการยืนยันในลักษณะที่เป็นทางการ นอกจากการบอกตรงกันว่า เหตุที่ GMT และ Purist ใช้กลไกเดียวกันก็เพราะการเดินของเข็มชั่วโมงในนาฬิกา Purist และเข็ม GMT
นั้นเหมือนกันคือ เดินวันละรอบ ดังนั้น ในกลไกที่เป็นเวอร์ชัน GMT ทุกอย่างจะเหมือนปกติ เฟืองชั่วโมง หรือ Hour Wheel ก็ขับเข็มชั่วโมงไป แต่สำหรับ Purist เฟืองชั่วโมงก็ยังมีอยู่แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากับเข็มชั่วโมงเหมือนกลไก GMT แต่จะมีเฟืองอีกตัวที่เชื่อมต่อเข้ามา และอาศัยกำลังจะเฟืองชั่วโมงส่งไปยังเฟืองขับอีกชุดซึ่งเป็นแบบหมุน 24 ชั่วโมง (24H Wheel) ใน GMT เฟืองตัวนี้จะเชื่อมกับเข็ม GMT
แต่ถ้าเป็น Purist เฟืองตัวนี้จะเชื่อมเข้ากับเข็มชั่วโมง และขับจานหมุนวันที่ด้วย นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมการเดินของเข็มชั่วโมงใน Purist จึงเป็นแบบวันละรอบเหมือนกับเข็ม GMT และ Glycine ถึงใช้กลไกที่เป็นรหัสเดียวกันในรุ่น GMT และ Purist
สำหรับราคาจริงๆ ของนาฬิกาเรือนนี้อยู่ที่ 2,050 ฟรังก์สวิสส์ และผมคงไม่ต้องบอกลายแทงหรือชี้แจงอะไรมากนักในการที่จะหานาฬิการุ่นนี้ในราคาที่ถูกว่าราคาป้ายแบบลดระดับ 50% ขึ้นไป
จริงๆ ตรงนี้ถือเป็นอีกปัญหาที่ทำให้ Glycine กลายเป็นแบรนด์ที่ภาพลักษณ์ตกต่ำลงมา ทั้งที่นี่คือหนึ่งในแบรนด์เก่าแก่ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1914 หรือกว่า 100 ปีแล้ว แม้ว่าเราจะเห็นนาฬิกาของ Glycine วางขายอยู่ในร้านค้าชั้นนำ รวมถึงร้านออนไลน์ของแบรนด์อย่าง Glycinestore.eu
แต่หลายต่อหลายครั้งเราก็ได้เห็นนาฬิการุ่นเดียวกันปรากฏอยู่บนร้านค้าออนไลน์ที่ขายของแบบลดกระหน่ำ ชนิดไม่ต่ำกว่า 50% ตรงนี้ถือว่าทำร้ายแบรนด์ทางอ้อม และทำร้ายจิตใจคนซื้อในราคาปกติแล้วมาทราบทีหลังในเรื่องนี้อย่างมาก
ในฐานะที่เป็นแฟน การทำเช่นนี้ ผมว่าไม่มีผลดีในระยะยาวและคุณค่าของแบรนด์อย่างแน่นอน แม้ว่าส่วนตัวผมจะชอบที่สามารถหา Glycine Airman ในราคาที่สบายกระเป๋าได้ก็ตาม
รายละเอียดทางเทคนิค : Glycine Airman Luminous Contemporary Man Purist GL0463
- ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง: 42 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug: 51 มิลลิเมตร
- ความหนา: 12.18 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย: 22 มิลลิเมตร
- กระจก: Sapphire ทรงโดมพร้อมเคลิอบสารกันการสะท้อนแสง
- กลไก: GL293 Purist
- สำรองพลังงาน: 42 ชั่วโมง
- ความถี่: 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- ระดับการกันน้ำ: 100 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ สตอรี่ของตัวนาฬิกา และรูปแบบการสร้างสรรค์ในสไตล์ Luminous
- ไม่ประทับใจ : นโยบายด้านราคาที่ทำลายแบรนด์
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline