ปัญหาโลกแตกของพวกที่บ้าช้อป คือ เมื่อนาฬิกากองอยู่เกลื่อนบ้าน แล้วเราจะดูแลมันอย่างไรดีละ ? วันนี้เรามีเทคนิคในการดูแลนาฬิกาแต่ละประเภทมาฝากครับ
จะดูแลนาฬิกากันอย่างไร เมื่อกรุของคุณเริ่มขยายตัว
ปัญหาหนึ่งที่คิดว่านักสะสมหลายคนจะต้องเจออยู่บ่อยครั้งคือ สภาพหลังจากที่บ้าพลัง นั่นคือ นาฬิกากองเกลื่อนในช่วงที่กระสุนมีเยอะ และทำให้กรุของตัวเองขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งไม่ทันได้คิด หันมามองอีกที จาก 2 เรือนทบทวีคูณกลายมาเป็น 10 เรือนอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าสิ่งที่จะต้องตามมาคือ แล้วเราจะดูแลนาฬิกาเหล่านี้อย่างไรดี
นี่คือปัญหาที่ผมเจอเข้ากับตัวเอง และเชื่อเหอะว่าตอนแรกคุณก็มีความตั้งใจในการที่จะปฏิบัติตัวเพื่อทำหน้าที่ดูแลแต่ละเรือนที่คุณดึงเข้ามาอยู่ในกรุอย่างเต็มใจ แต่ก็เชื่ออีกเถอะว่า ผ่านไปไม่นาน ถ้าคุณไม่มีวินัยที่ดีและความตั้งใจที่หนักแน่นพอ มันก็จะต้องนอนนิ่งสนิทอยู่ในกล่องแบบไม่มีการเหลียวแลที่ดีเท่าที่ควร
เอาละ…วันนี้เรามาเริ่มกันใหม่สำหรับคนที่มีนาฬิกาเยอะๆ ชนิดที่สามารถใส่ไม่ซ้ำกันได้ภายใน 1 สัปดาห์ รวมถึงกรุของคุณมีรูปแบบผสมผสานทั้งไขลาน ออโต้ ควอตซ์แบบกินถ่าน ควอตซ์แบบกินแสง หรือพวก Kinetic ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องการการดูแลที่แตกต่างกันออกไป
อัตโนมัติ-ไขลาน : แม้ว่ากลไกจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ผมคิดว่าทั้ง 2 กลไกนี้ต้องการการดูแลที่คล้ายๆ กันไม่ต่างจากกันเท่าไร นาฬิกาจักรกลหรือไขลานกับรถยนต์เหมือนกันตรงที่ ถ้าไม่ได้ใช้ คุณก็ควรที่จะพามันมาออกกำลังกายบ้าง ไม่มากก็น้อย เพราะการจอดหรือวางเอาไว้นิ่งๆ โอกาสที่จะมีการเสื่อมสภาพก็ค่อนข้างสูง
ตามปกติแล้ว ผมจะมีการจัดวางตารางเวลาในการนำนาฬิกาแต่ละเรือนออกมาออกกำลังกายอย่างน้อยก็ 2 สัปดาห์ครั้ง ด้วยเหตุที่ตัวเองไม่ชอบกล่องหมุนนาฬิกา กิจวัตรที่ว่าคือ สำหรับนาฬิกาอัตโนมัติ จะมีการคลายเกลียว ดึงเม็ดมะยม หมุนตั้งเวลาเพื่อให้ชิ้นส่วนได้มีการขยับบ้าง จากนั้นก็กดกลับไปสู่สภาพปกติ และค่อยๆ หมุนนาฬิกาเป็นวงกลมทั้งทวนเข็มและตามเข็มนาฬิกาอย่างนุ่มนวลเพื่อให้เข็มวินาทีเดิน จากนั้นก็จับขึ้นข้อ นั่งพิมพ์งาน หรือทำงานบ้านไปเรื่อยๆ อย่างน้อยสักชั่วโมง เพื่อให้นาฬิกาขยับตัวตามแขน และมีการเก็บลาน ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะสามารถเก็บพลังงานได้สัก 3-4 ชั่วโมง เพื่อทำให้ชิ้นส่วนเหล่านี้เดินไปได้อย่างต่อเนื่องก่อนหมดลาน
ปกติแล้วถ้าเป็นการออกกำลังกาย ผมมักจะไม่ค่อยใช้วิธีขึ้นลานมือสักเท่าไร เพราะเน้นให้นาฬิกามีการขยับตัวของชิ้นส่วนเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะเตรียมใส่ในวันต่อไปหรือต้องการความเที่ยงตรงในการเดินของตัวนาฬิกาแต่อย่างใด ซึ่งการขึ้นลานมือจริงอยู่ที่เป็นการช่วยเติมกำลังในกระปุกลานเพื่อให้นาฬิกามีกำลังมากพอที่จะเดินอย่างความเที่ยงตรงตามสเป็ก แต่ก็จะมีผลกระทบในแง่ของชิ้นส่วนในระบบกลไกอัตโนมัติ เพราะเมื่อเราทำการขึ้นลานมือแล้ว กำลังจากการขึ้นลานส่วนหนึ่งจะทำให้ระบบอัตโนมัติของตัวกลไกมีการหมุนฟรีด้วยความเร็วรอบที่สูงกว่าการทำงานปกติหลายเท่า ส่งผลให้มีการเสียดสีและสึกหรอที่มากกว่าการทำงานปกติ ดังนั้น ถ้าเราขึ้นลานมือบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้ชิ้นส่วนในระบบนี้มีการเสื่อมสภาพเร็วขึ้นกว่าปกติ
ส่วนในกรณีของนาฬิกาไขลาน ก็จะไขไปเรื่อยๆ สักครึ่งทาง จากนั้นดึงเม็ดมะยมออกมาหมุนตั้งเวลา และค่อยหมุนไขลานต่อไปจนกระทั่งลานเต็ม ขึ้นข้อใส่ไปสักชั่วโมง เพื่อชื่นชมความงามของมันสักหน่อย จากนั้นก็เก็บเข้ากล่อง และปล่อยให้เดินไปจนหมดลาน…เท่านี้เป็นอันเสร็จพิธี
ควอตซ์ใช้ถ่าน : อันนี้ไม่ต้องดูแลอะไรมากมาย แค่หยิบออกมาเช็คว่านาฬิกาหยุดเดินหรือไม่ หรือในบางรุ่นที่มีตัว Indicator เช่น การเดินกระตุก 2 วินาทีของเข็มวินาทีก็เตรียมตัวเอาเข้าเมืองเพื่อไปเปลี่ยนถ่านที่ร้าน โดยเลือกคุณภาพของถ่านที่ดี ไม่ใช่เน้นราคาถูกเป็นหลัก อาจจะมีการคลายเกลียวเม็ดมะยมบ้าง เพื่อปรับวันที่ สำหรับเดือนก่อนหน้านั้นเป็นเดือนที่ลงท้ายด้วยคำว่า ยน ทางที่ดี คุณควรจะเปลี่ยนถ่านก่อนที่นาฬิกาจะหมดกำลังเพราะแบตเตอรี่เกลี้ยง โดยอาจจะเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกๆ 3 ปีแบบนับหนึ่งพร้อมกัน ถึงแม้ว่ามันจะหมดหรือไม่ก็ตาม จะได้สะดวกในการเปลี่ยนยกรุ ไม่ต้องมานั่งจำกันทีละเรือนๆ
ต่ำเท่าไร ยิ่งทำให้มีการนับ Cycle เพิ่มขึ้น และทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว
พลังแสงอาทิตย์ : อันดับแรกเลยผมจะปรับเซ็ตนาฬิกาในกลุ่มนี้ให้เปิดโหมด PS หรือ Power Saving เอาไว้ เพื่อที่ว่าเวลาเก็บเข้ากล่องและอยู่ในที่มืดสนิท นาฬิกาจะเข้าสู่โหมดจำศีล มีการใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย และนั่นเท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาในการชาร์จกระแสออกไป แต่โดยสรุปแล้ว แม้ว่าจะมีโหมด PS ซึ่งบางเรือนถ้าชาร์จเต็มอยู่ได้เป็นปีเลย แต่ผมก็มักจะหยิบนาฬิกาพวกนี้ออกมาใส่บ้างเป็นบางครั้ง อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง และมีนำออกมาตากแดด 2 สัปดาห์ต่อครั้งๆ ละ 1-2 ชั่วโมงแล้วแต่เวลาจะเอื้ออำนวย เพื่อให้มีการชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในระบบและชดเชยส่วนที่ถูกใช้งานไป ที่สำคัญผมไม่เคยปล่อยให้นาฬิกาในกลุ่มนี้ตกอยู่ในสภาพ ‘ถูกลืม’ จนถึงขั้นไฟเกลี้ยงแบตฯ เพราะถ้าทำบ่อยๆ แบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุของระบบอาจจะเสื่อมหรือเสียก็ได้
ตามคู่มือของ Citizen ที่ใช้ระบบ Eco-Drive พวกเขาแนะนำให้คุณนำนาฬิกาออกมาโดดแดดเพื่อชาร์จอย่างน้อยเดือนละ 5-6 ชั่วโมง แต่คุณก็ไม่ควรทิ้งนาฬิกาเอาไว้กลางแดดนานเกินไป แม้ว่าแสงแดดจะฟรีและช่วยทำให้ชาร์จเร็ว ซึ่งระดับอุณหภูมิที่พวกเขาแนะนำคือ ไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส เพราะถ้าร้อนมากๆ อาจจะทำให้ชิ้นส่วนที่เป็นยางภายในตัวนาฬิกาเสื่อมสภาพ หรือกลไกข้างในเกิดความร้อนสะสมจนมีปัญหาได้ ส่วนถ้าใช้พวกหลอดไฟชาร์จ ก็ควรทิ้งระยะห่างระหว่างตัวนาฬิกากับหลอดไฟประมาณ 50 เซ็นติเมตรเพื่อป้องกันความร้อนสะสมบนตัวเรือน
นอกจากนั้น การชาร์จที่มีประสิทธิภาพคือ คุณต้องหันเอาหน้าปัด (ซึ่งปกติแล้วจะมีส่วนประกอบของแผงโซลาร์เซลล์) กันเข้าหาแหล่งของแสงไฟ ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์ หรือแสงจากหลอดไฟ โดยตรง ไม่ใช่เอียงตะแคงเข้าด้านข้างของตัวเรือนเข้าหาแหล่งแสงไฟ
Kinetic : เท่าที่มีอยู่ในตลาด ก็คงเป็นของ Seiko ซึ่งเมื่อก่อนผมเคยมีอยู่ในกรุ 2-3 เรือน แต่ตอนนี้เหลือเพียงเรือนเดียวแล้ว ข้อดีของระบบนี้คือ มักจะมีปุ่มกดเพื่อให้คุณสามารถเช็คระดับพลังงานที่เหลืออยู่ในแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุ และนั่นจะเป็นการบอกตัวคุณเองด้วยควร หรือไม่ควรเติมพลังเข้าไป
ตามคู่มือของ Seiko บอกเอาไว้ว่า ถ้าคุณสวิงแขน 250 ครั้ง จะสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในระบบเพื่อพอใช้หล่อเลี้ยงนาฬิกาให้เดินได้ 1 วัน แต่พวกเขาก็บอกว่าทางที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุเสื่อม ควรจะมีกระแสไฟฟ้าสำรองเอาไว้ในระดับ 2 วัน หรือเท่ากับว่าคุณควรจะแกว่งแขนจำนวน 500 ครั้ง หรือพูดง่ายๆ คือ เดินแกว่งแขนเป็นระยะทางสัก 720 เมตร ก็จะสามารถสำรองพลังงานได้ 2 วันโดยประมาณ
อย่างที่บอกว่าในระบบนี้มักจะมีปุ่มกดในตำแหน่ง 2 นาฬิกาเพื่อบอกถึงระดับพลังงาน ซึ่งถ้ากดแล้วเข็มวินาทีวิ่งเดินหน้าไป 5 วินาทีจากจุดสุดท้ายที่เข็มเดิน ก็จะมีพลังงานสำรองมากกว่า 1 วัน 10 วินาทีก็มากกว่า 7 วัน, 20 วินาที ประมาณ 1 เดือน และ 30 วินาทีประมาณ 6 เดือน ส่วนอีกระบบที่จะแจ้งเตือนให้ทราบว่าแบตเตอรี่อ่อน คือ การเดินกระตุกของเข็มวินาทีแบบทีละ 2 วินาที ซึ่งถ้ามีอาการนี้เมื่อไร แสดงว่าในแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุมีกระแสไฟฟ้าเหลืออยู่ประมาณวันนิดๆ
SmartWatch : ใครจะหาว่าผมบ้าก็ได้ แต่กับนาฬิกาพวกนี้ก็มีติดกรุอยู่เหมือนกัน แม้ว่ามันจะน่าเซ็งตรงนี้ต้องเอาออกมาชาร์จเกือบทุกๆ วัน ซึ่งนั่นทำให้หลายคนเริ่มเบื่อ และถอดนาฬิกาพวกนี้ทิ้งเอาไว้ที่กล่องเก็บ ตรงนี้จะเป็นการบั่นทอนอายุการใช้งานของมันด้วย เพราะปกติแล้ว แบตเตอรี่ในตัวนาฬิกาควรจะต้องมีการชาร์จอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพราะเราไม่สามารถถอดแบตเตอรี่ออกมาจากตัวเรือนได้
ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ได้ใช้งาน ควรชาร์จไฟก็ต่อเมื่อระดับแบตเตอรี่อยู่ที่ 65-70% หรือถ้าไม่ได้จริงๆ ชาร์จเมื่ออยู่ในระดับ 35-60% ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เพราะแบตเตอรี่เหล่านี้มักจะมีการนับเป็น Cycle ยิ่งเราชาร์จในขณะที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ในแบตเตอรี่ต่ำเท่าไร ยิ่งทำให้มีการนับ Cycle เพิ่มขึ้น และทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/