Seiko Marinemaster SBBN029 : คุ้มไหมกับส่วนต่างเพื่อคำว่า Limited ?

0

เจ้าทูนากระป๋องถือเป็นสินค้าเลื่องชื่อของ Seiko โดยนอกจากรุ่นธรรมดาแล้ว พวกเขายังผลิตเวอร์ชันพิเศษ ที่ผลิตจำกัด ออกมาด้วย และเรามาดูกันว่าเจ้า SBBN029 คุ้มค่าไหมที่จะเป็นเจ้าของ

Seiko Marinemaster SBBN029 : คุ้มไหมกับส่วนต่างเพื่อคำว่า Limited ?
Seiko Marinemaster SBBN029 : คุ้มไหมกับส่วนต่างเพื่อคำว่า Limited ?

Seiko Marinemaster SBBN029 : คุ้มไหมกับส่วนต่างเพื่อคำว่า Limited ?

- Advertisement -

ว่ากันว่าถ้าคุณสามารถผ่านช่วงเวลาที่เรียกว่าสุดโหดในช่วงจังหวะหนึ่งของการทำอะไรสักอย่างมาได้ ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นตามมาจะมีอยู่ 2  แบบ…ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง นั่นคือ คุณจะไม่ทำมันอีกเลยเพราะเข็ด หรืออีกแบบคือ คุณจะทำมันด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลายกว่าเดิม เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่าผมจะมีสภาพแบบหลังตอนที่ควักเงินจ่ายเจ้า Seiko Marinemaster SBBN029 หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า Platinum Ocean

ย้อนกลับไปสักเกือบ 5 ปีที่แล้ว สมัยที่คนเล่น Seiko ยังไม่ได้ถูกรวบรวมเข้ามาด้วย Social Media ในตู้โชว์ของ Seiko ตามห้าง รุ่นหรูที่สุดยังเป็นแค่ Sumo และในยุคที่เงินเยนมีอัตราแลกเปลี่ยน 100 เยนกับ 40 กว่าบาท เคยมีคนตั้งคำถามแบบเครียดๆ กับผมว่า ‘ทำไมถึงกล้าจ่ายเงินถึง 5 หลักแบบนำหน้าด้วย 6 กับ Seiko ที่เป็นเครื่อง Quartz’

ผมบอกไปว่าไม่รู้หรอก รู้อย่างเดียวว่า ‘โคตรชอบ’ นาฬิการุ่นนี้เลย…ก็แค่นั้นเอง และฝรั่งเคยบอกว่า Seiko Tuna Can เป็นอะไรที่ไม่เคยมีคำว่าตรงกลางในแง่ความรู้สึก เรียกว่าถ้าไม่รักฉิบหาย ก็โคตรจะไม่ชอบเอาเสียเลย

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนสั่งนำเข้าเจ้า Darth Tuna ในรหัส SBBN013 เข้ามาใช้งานเมื่อประมาณปี 2013

และเมื่อปีที่แล้ว อาการเดียวกันก็เกิดขึ้นมาอีก แม้ว่าค่าตัวของเจ้า SBBN029 จะไม่แพงเท่า เพราะผมซื้อมือ 2 มา (จริงๆ แล้วมือ 1 เมืองไทยราคาป้ายตั้งเอาไว้ที่ 90,000 บาท) แต่กับตัวเลขที่เปิดเผยออกมา ผมเชื่อว่าก็คงยังมีคำถามแบบเดิมถูกยิงออกมาอีก เพราะว่ามันนำหน้าด้วยเลข 5 และผมก็คงตอบแบบเดิมว่า ‘ก็ชอบนี่หว่า’

ถ้าใครที่ติดตามการเคลื่อนไหวของเจ้า Tuna Can มาตลอดจะพบว่านอกจากรุ่นธรรมดาแล้ว ทาง Seiko ยังมีการผลิตรุ่นพิเศษออกมาให้สัมผัสอยู่ด้วยเหมือนกัน อย่างในซีรีส์ที่แล้ว ก็มีตัวเกราะสีขาวที่เรียกว่า White Dolphin หรือ SBBN019 ที่ผลิตออกมา 300 เรือนในวาระฉลองครบรอบ 45 ปีของการผลิตนาฬิกาดำน้ำของ Seiko ตามด้วย Blue Ocean ตัวเกราะสีฟ้าในรหัส SBBN021 จำนวน 400 เรือนในวาระของการก่อตั้งบริษัทครบ 130 ปี

ส่วนเจ้า Platinum ก็ถูกส่งออกมาในวาระของการฉลองครบ 50 ปีของการผลิตนาฬิกาดำน้ำของ Seiko เมื่อปี 2015 และมีการผลิตจำนวน 700 เรือนเท่ากับตัวอัตโนมัติที่ใช้เกราะสี Rose Gold อย่าง SBDX016 หรือมีชื่อเล่นว่า Gold Ocean

เมื่อมองในแง่ของความน่าสนใจ ไม่น่าแปลกใจที่ SBBN029 จะยังหลงเหลือในตลาด และหาง่ายกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ SBDX016 ที่แม้จะมีราคาแพงกว่าเกือบเท่าตัว แต่แทบไม่เห็นในตลาดแล้ว การใช้กลไกควอตซ์อาจจะไม่ใช่ประเด็นหลัก ส่วนการใช้สีของสาย แม้ว่าทาง Seiko เลือกใช้สีเทาอ่อนสำหรับสายซิลิโคน ซึ่งดูแล้วอาจจะดูแลรักษายากกว่า ก็ยังไม่น่าใช่ปัจจัยหลักเช่นกัน

ดังนั้น ผมว่าราคานี่แหละเป็นตัวการหลักที่ทำให้ขายยาก เพราะ SBBN029 ถูกตั้งใกล้เคียงกับ Tuna 1000M รุ่นปกติที่ใช้กลไกอัตโนมัติ

ลองมองง่ายๆ ว่าคุณเป็นหน้าใหม่ในกลุ่ม Tuna Can 1000M ตัวเลือกแรกที่จะหยิบก็คงไม่ใช่รุ่น LE กลไกควอตซ์ที่มีราคาแพงแบบก้าวกระโดดขึ้นมาประมาณ 800 เหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 30,000 บาทจากรุ่นควอตซ์ธรรมดาอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น คนที่จะหยิบเจ้า SBBN029 ส่วนใหญ่ต้องเป็นสาวก Tuna ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งปริมาณก็คงไม่ได้มีเยอะแยะเท่าไร และสำหรับบางคนที่งบจำกัดไหนๆ ยอมจ่ายกันขนาดนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนทั้งหน้าใหม่และเก่าก็อาจจกัดฟันชนิดแทบหลุดออกจากเหงือกเพื่อเลือกขยับไปหา SBDX016 ที่น่าจะมีอนาคตที่สดใสกว่า ส่วนพวกรักแบบถอนตัวไม่ขึ้นก็ต้องเหมาสองไปตามระเบียบ ซึ่งผมก็อยากทำนะ แต่ปัจจัยไม่เอื้ออำนวยเท่าไร

การเข้ามาของ SBBN029 ถือเป็นการเติมเต็มช่องว่างที่ทำให้หายคิดถึงเจ้า Darth Tuna ที่ผมปล่อยออกไป และนอกจากความสะดวกในการใช้งานเพราะเป็นนาฬิกาควอตซ์แล้ว ขนาดตัวเรือนของ Tuna 1000m ที่ใช้กลไกควอตซ์ ถือว่าอยู่ในจุดที่ลงตัวพอดี คือ ไม่เล็กจนเกินไปเมื่อเทียบกับตัวควอตซ์ 300m

ตัวเรือนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 49.4 มิลลิเมตร (เทียบกับ 1000m อัตโนมัติ 52.4 มิลลิเมตร) และก็ไม่หนาหรือใหญ่จนเกินไปเมื่อเทียบกับ 1000m อัตโนมัติ (หนา 15.3 มิลลิเมตร ส่วน1000m หรือ Emperor Tuna ตัวใหม่หนา 17.4 มิลลิเมตร) เรียกว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ใหญ่ แต่ตัวเรือนไม่หนาเป็นกระป๋องห้อยข้อมือ

ส่วนในเรื่องของชุดเข็มที่มีการปรับโฉมยกเซ็ตมาจาก Darth Tuna หลายคนอาจจะบอกว่าไม่ค่อยชอบ ซึ่งตอนแรกผมก็เป็นนะ แต่ดูไปดูมาแล้ว ผมว่ามันก็สวยและลงตัวดี โดยเฉพาะเข็มชั่วโมงที่เป็นหัวลูกศรแท่งใหญ่ เช่นเดียวกับหน้าปัดที่มีการเปลี่ยนหลักชั่วโมงใหม่ แถม Seiko ยังเคลมว่ามีความสว่างเพิ่มขึ้นจากรุ่นเก่ามากกว่า 60% และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการซื้อรุ่นใหม่ถึงน่าสนใจกว่ารุ่นเก่า

สิ่งที่ LE ของนาฬิกา Tuna ที่มีความพิเศษและแตกต่างจากรุ่นปกติ นอกจากสีของสายแล้ว คือ Bezel ที่ต้องดูตอนกลางคืนถึงจะรู้ เพราะ Tuna 1000m รุ่นปกติจะไม่มีการเคลือบวัสดุเรืองแสงบนหลักสำหรับจับเวลาบน Bezel แต่ Tuna รุ่น LE ทำ และก็ทำมาตลอดไม่ใช่เพิ่งมาทำกับ SBBN029 เรียกว่าเป็นการสร้างความแตกต่างในจุดเล็กๆ แต่สร้างความรู้สึกพิเศษที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยจะมีการเคลือบสารเรืองแสงตั้งแต่ตำแหน่ง 0-20

นอกจากหน้าตาแล้ว อีกสิ่งที่ต่างคือ วัสดุที่ใช้ในการทำเกราะหรือ Shroud ขณะที่รุ่นปกติทั้งควอตซ์และอัตโนมัติของ Tuna 1000m คือ เซรามิก แต่สำหรับทั้ง SBBN029 และ SBDX016 จะเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่เรียกว่า Cermet  ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า Ceramic Metal Composite และถือเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้กับนาฬิกาดำน้ำของ Seiko โดยตัวเกราะจะถูกผลิตด้วยวิธีการอัดขึ้นรูปผงเซรามิกและโลหะลงบนแม่พิมพ์ด้วยความร้อนที่ต่ำกว่าจุดหลอมละลาย ทำให้มีความแข็งแรง และจากการที่มีโลหะผสมทำให้สามารถขัดให้ขึ้นเงาได้และแตกต่างจากเกราะที่ผลิตจากเซรามิกอย่างเดียว ซึ่งจะมีลักษณะด้านๆ

ตัวเรือนผลิตจากไทเทเนียมที่มีการเคลือบแข็งและขึ้นรูปแบบชิ้นเดียวไม่มีฝาหลัง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ และทำให้มันถูกเรียกว่า Tuna Can เพราะนอกจากรูปทรงที่ดูคล้ายกระป๋องแล้ว เวลาจะเปิดเอาเครื่องออกก็ต้องเปิดจากทางกระจกหน้า ซึ่งตรงนี้อาจจะกลายเป็นจุดยุ่งยากสำหรับคนใช้ เพราะเวลาเกิดอะไรที ช่างปกติอาจจะทำลำบาก และยิ่งเป็นควอตซ์ซึ่งมีอายุการเปลี่ยนถ่าน 5 ปี ก็ต้องส่งกลับไป Service ที่ศูนย์ ซึ่งเมื่อก่อนสมัยที่ Seiko ยังไม่นำนาฬิกาพวกนี้เข้ามาขายอย่างเป็นทางการ ต้องส่งกลับไป Service ถึงญี่ปุ่นเลย  แต่เดี๋ยวนี้ดีหน่อยที่ช่าง Seiko ไทยสามารถทำได้แล้ว ก็เลยทำให้รุ่นควอตซ์น่าใช้ขึ้นมาอีกนิด

เมื่อพลิกด้านหลังก็จะมีกำหนดการเปลี่ยนถ่านสลักเอาไว้ แต่พิเศษกว่ารุ่นปกติ ก็คือ มีคำว่า Limited Edition และลำดับที่ผลิตจากจำนวนที่ผลิตทั้งหมด 700 เรือน กำกับเอาไว้

น้ำหนักตัวเรือน 120 กรัมไม่ได้เป็นปัญหาในการสวมสใส่ในแง่ของภาระที่เกิดขึ้นบนข้อมือเวลาใส่ไปนานๆ ตัวกระจกเป็นแบบ Sapphire เคลือบสารกันแสงสะท้อน แถมยังป้องกันสนามแม่เหล็กอีกด้วย ขณะที่สายซิลิโคนสีเทาลงตัวกับสีของตัวเรือน และนุ่มมาก แต่ก็ไม่ย้วย ทำให้การสวมใส่ไม่จำเป็นต้องรัดให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้นาฬิกาดิ้นบนข้อมือเหมือนกับ Diver Watch บางรุ่นของ Seiko

กลไกควอตซ์ 7C46 ของ Seiko เป็นชุดเดียวกับที่ใช้กับตัว 300 เมตร และถือเป็นกลไกที่เด่นรุ่นหนึ่งในแง่ของการบริหารการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ได้อย่างยอดเยี่ยม และตามกำหนดของสเปกระบุว่าแบตเตอรี่มีอายุนานถึง 5 ปี (แต่จริงๆ ใช้ได้นานกว่านี้) ซึ่งตรงนี้ช่วยทำให้ลดภาระความวุ่นวายในการเปลี่ยนถ่านของเจ้าของ Tuna Can ได้มาก แถมยังมีความเที่ยงตรงในระดับ  +- 15 วินาทีต่อเดือน

มาถึงตรงนี้ต้องบอกว่า SBBN029 เป็นนาฬิกาที่ใส่ง่ายรุ่นหนึ่ง และโดดเด่นมากเวลาอยู่บนข้อมือ แต่ปัญหาที่กวนใจคือ เรื่องของราคาที่แพงกว่ารุ่นปกติค่อนข้างเยอะ และสายซิลิโคนที่เป็นสีอ่อน ซึ่งทำให้การใช้งานกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและวุ่นวายสำหรับบางคน และที่แน่ๆ ไม่ใช่ผมอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับการเปลี่ยนถ่าน ที่แม้ว่าฝรั่งจะบอกว่าทำได้ แค่เชื่อเถอะเข้าศูนย์ดีกว่า เพราะกลัวเรื่องความสามารถในการกันน้ำอาจจะไม่เหมือนเดิม

ถ้าถามว่าคุ้มไหม ถ้าคุณไม่ใช่คนมี Passion กับ Tuna และต้องการมีเพียง Seiko Marinemaster แค่เรือนเดียวในกรุ ผมว่ายังไงก็ไม่คุ้ม สู้มองหารุ่นควอตซ์ปกติที่มีราคาถูกกว่าดีกว่า หรือไม่ก็ขยับไปหา Emperor Tuna เลย แต่ถ้าคุณเป็นพวกบ้ากระป๋อง บอกได้คำเดียวว่านี่คือ อีกไฟท์บังคับที่คุณปฏิเสธไม่ได้

คุณสมบัติของ : Seiko Marinemaster SBBN029

  • ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง : 49.4 มิลลิเมตร
  • หนา : 15.3 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • ตัวเรือน : ไทเทเนียม+เกราะที่ผลิตจาก Cermet
  • กระจก : แซฟไฟร์ เคลือบสารกันแสงสะท้อน
  • กลไก : ควอตซ์ 7C46
  • ความคลาดเคลื่อน :+/- 15 วินาทีต่อเดือน
  • แบตเตอรี่ : 5 ปี
  • ระดับการกันน้ำ : 1,000 เมตร
  • จุดเด่น : สวย ใช้วัสดุที่ดี และมีความแตกต่างจากรุ่นปกติ ใช้งานง่าย
  • จุดด้อย : การ Service ไม่ค่อยสะดวก ราคาแพง สายสีอ่อนดูแลลำบาก