ผลผลิตใหม่ล่าสุดของ Seiko 5 Sports ที่มีความน่าสนใจด้วยการนำไอเดียของการผลิตงานในแบบ Collage Art หรือการนำชิ้นงานหลายๆ อย่างมารวมกันเพื่อสร้างเป็นงานใหม่ขึ้นมา จนได้นาฬิการุ่น Seiko 5 Sports Kosuke Kawamura Limited Edition SRPJ41 ขึ้นมา
Seiko 5 Sports Kosuke Kawamura Limited Edition SRPJ41 งานรวมมิตรที่คุณไม่ควรพลาด
-
นาฬิการุ่นพิเศษที่เกิดจากไอเดียการผสมผสานในสไตล์ Collage Art ของ Kosuke Kawamura
-
ตัวนาฬิกามีการนำจุดเด่นของนาฬิกาวินเทจรุ่นต่างๆ ของ Seiko ที่เปิดตัวในทศวรรษ 1960-1970 มารวมกัน
-
ผลิต 3,000 เรือน และในเมืองไทยมีเข้ามาจำหน่ายในราคา 16,900 บาท
แวบแรกที่ผมได้เห็นภาพของนาฬิกาเรือนนี้ เสียงรำพึงกับตัวเองดังมาแต่ไกลว่า ‘ได้เสียเงินอีกแล้ว’ เพราะเจ้า Seiko 5 Sports Kosuke Kawamura Limited Edition SRPJ41 มีอะไรที่พิเศษและชวนให้ผมนึกถึงเรื่องที่เกือบจะเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับนาฬิการุ่นหนึ่งที่ Seiko เอามาใช้ในการออกแบบกับนาฬิการุ่นนี้ นั่นคือ Time Sonar และยิ่งได้อ่านเรื่องราวในการพัฒนาเข้าไปด้วยแล้ว ผมว่าแนวคิดและวิธีการลงตัวและแจ่มมากๆ จนนำไปสู่การที่จะไม่พลาดในการเป็นเจ้าของและนำมารีวิวในครั้งนี้
เอาเรื่องแรกก่อน เกี่ยวกับ Time Sonar ในรหัส 7015-6010 Time Sonar Chronograph นั่นคือนาฬิกาจับเวลาของ Seiko ที่เปิดตัวออกมาในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ซี่งมีจุดเด่นอยู่ที่พื้นหน้าปัดซึ่งเป็นแบบใสทำให้สามารถมองเห็นจานวันที่และวันประจำสัปดาห์ได้อย่างชัดเจน ผมชอบนาฬิการุ่นนี้มาก
และเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีคนนำนาฬิกาวินเทจรุ่นนี้มาขายเหมาอยู่บนบอร์ดซื้อขายที่ผมเข้าใช้บริการประจำ จนทำให้ผมต้องสลายกรุเพื่อเตรียมสอยดีลนี้ แต่สุดท้ายก็โดนตัดหน้าไปจนได้ ซึ่งหลังจากนั้น ผมก็แทบจะไม่ได้เห็น Seiko Time Sonar ในตลาดนาฬิกามือสองอีกเลย และเรื่องนี้ก็กลายเป็นความหลังฝังใจที่ว่าสักวันหนึ่งจะต้องตามหามาให้ได้ แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จสักที
ดังนั้น เมื่อเห็น Press Release ของ Seiko 5 Sports Kosuke Kawamura Limited Edition SRPJ41 มันก็เลยเหมือนกับความหลังที่ตัวเองเคยผิดหวังวนกลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้ผมจะต้องไม่พลาดเหมือนกับครั้งที่แล้ว
บอกก่อนเลยว่าผมไม่รู้จัก Kosuke Kawamura หรอกว่าเขาคือใคร ? ดังนั้น บอกก่อนเลยว่า บุคคลนี้ไม่ได้มีผลอะไรเลยในการตัดสินใจซื้อในครั้งนี้ของผม อย่างไรก็ตาม พอได้อ่านสิ่งที่เขาทำและ Seiko นำมาผนวกเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานาฬิกาเรือนนี้ขึ้นมานั้น บอกเลยว่า เจ๋งมาก
เพราะ Kawamura เป็นศิลปินที่เรียกว่า Collage Artist หรือพูดง่ายๆ คือ พวกที่เอาของจากหลายๆ อย่าง หลายๆ ที่มายำๆ แล้วสร้างชิ้นงานที่เป็นของตัวเองขึ้นมา คุณอาจจะบอกว่าทำอะไรโคตรง่ายเลย แต่เชื่อผมเถอะว่า ถ้าแค่เอามาวางให้เป็นชิ้นงานสักอย่างที่ไม่ได้หวังผลอะไร มันก็คงง่ายอย่างที่คิดกันนั่นแหละ แต่ถ้าทำแล้วต้องดี ต้องเจ๋ง และได้รับการยอมรับ ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน
ผมว่าในแง่ของชื่อเสียงของ Kawamura คงมีระดับหนึ่งแหละ ไม่อย่างนั้น Seiko คงไม่ Collaboration และเอาความสามารถของเขามาสร้างเป็นคอนเซ็ปต์สำหรับนาฬิกาเรือนนี้ ด้วยการนำจุดเด่นของนาฬิกาวินเทจรุ่นต่างๆ ที่เปิดตัวในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 มาผสมผสานจนเป็นชิ้นงานแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเมื่อดูๆ แล้ว ผมคิดว่าส่วนผสมน่าจะมีนาฬิกาไม่ต่ำกว่า 3 รุ่นอย่างแน่นอนที่ถูกรวมอยู่ใน SRPJ41
จริงๆ แล้วนาฬิการุ่นนี้มีด้วยกัน 2 รุ่นและเป็น Limited Edition ทั้งคู่ โดยรุ่นแรกคือ SRPJ41 เรือนที่เห็นอยู่นี้ ซึ่งมีขายทั่วโลก 3,000 เรือนและในจำนวนนั้น 200 เรือนจะเป็นรหัสญี่ปุ่นคือ SBSA177 ส่วนอีกรุ่นมีน้อยกว่า แค่ 500 เรือนเท่านั้นทั่วโลกจะเป็นรหัส SRPJ43
ผมชอบ SRPJ41 มากกว่าเพราะการเลือกใช้คู่สีบนหน้าปัดมีความโดดเด่นและสวยงามกว่าอีกรุ่น ซึ่งในบ้านเรา รุ่นนี้จะถูกกว่าด้วย อยู่ที่ 16,900 บาทขณะที่อีกรุ่น 17,900 บาทและมาพร้อมกับสาย NATO แถมอีกเส้น สำหรับนักสะสม อาจจะบอกให้เก็บทั้งคู่ แต่ถ้าผมเอาความชอบของตัวเองเป็นบรรทัดฐานเช่นเดียวกับเงินที่เหลืออยู่ในกระเป๋าที่กำหนดให้เลือกได้เพียงแค่หนึ่ง SRPJ41 ก็คือ คำตอบ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ SRPJ41 คือ การที่ Kawamura นำจุดเด่นของนาฬิกา Seiko วินเทจรุ่นต่างๆ ที่เปิดตัวออกมาแล้ว มาใส่อยู่ในนาฬิกาเรือนเดียว Time Sonar คือ หนึ่งในนั้น ซึ่งสะท้อนผ่านทางจุดหลักของตัวนาฬิกา นั่นคือ แผ่นหน้าปัดที่เป็นแบบใสทำให้สามารถมองเห็นจานวันประจำสัปดาห์และวันที่ซึ่งอยู่ข้างใต้ และจุดนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของ Time Sonar
ในรุ่น SRPJ41 จะต่างจากรุ่นดั้งเดิมที่หน้าปัดของ Time Sonar จะเป็นสีเดียว ซึ่งก็มีทั้งสีส้ม สีฟ้า สีขาว หรือสีเขียว แต่ในรุ่นใหม่จะเป็นการนำสีมาผสมกัน และการเลือกสีส้มและสีฟ้ามาคู่กันถือเป็นอะไรที่ลงตัวสุดๆ ในแง่ของความสวยสะดุดตา นอกจากนั้นมีการนำเลย์เอาท์ของการจัดวางของรุ่นดั้งเดิมมาใช้ ซึ่งคุณจะเห็นจากแถบดำคั่นกลางหน้าปัดที่วางทอดจากตำแหน่ง 9 ไปยัง 3 นาฬิกา ส่วนอีกจุดที่มาจาก Time Sonar คือ ชุดเข็มของตัวนาฬิกาที่ถอดแบบมา ซึ่งผมว่าสวยและลงตัวมาก
นอกจากนั้น บนมาร์คเกอร์ในตำแหน่ง 12 นาฬิกาของหน้าปัดก็จะมีคำว่า Zero เหมือนกับรุ่นดั้งเดิม ขณะที่สเกลที่อยู่รอบนอกของหน้าปัด ถ้าเป็น Time Sonar รุ่นดั้งเดิมก็จะเป็นสเกล Tachymeter สำหรับใช้ในการวัดความเร็ว แต่ในรุ่นนี้ก็จะเป็นแค่สเกลสำหรับการจับเวลาจาก 0-60 แต่ก็มีรูปแบบและลวดลายที่ได้รับอิทธิพลกันมา
ส่วนอีกจุดที่อ้างอิงจาก Time Sonar รุ่น 7015-6010 ที่เปิดตัวในปี 1979 คือ ฝาหลังแบบใสที่มีการเคลือบด้วยสีชา แต่ในรุ่น SRPJ41 จะมีการพิมพ์ลายเซ็นของ Kosuke Kawamura ลงไปด้วย เช่นเดียวกับการสลักเรือนที่ผลิตจากจำนวนการผลิตทั้งหมด 3,000 เรือนสำหรับขายทั่วโลก
สำหรับนาฬิกาวินเทจรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ลายของอินเสิร์ตริงแบบอะลูมิเนียมที่วางอยู่บนขอบตัวเรือนของนาฬิกา ซึ่งหลายคนมักเรียกรูปแบบของลายนี้ว่า Rally Diver Insert ซึ่งถูกใช้ในนาฬิการุ่น 5 Sports ของ Seiko รุ่น Ref.51-5-352 ที่เปิดตัวในปี 1969 ซึ่งก็ถูกจับมายำอยู่ในนาฬิกาเรือนนี้ และเข้ากับได้อย่างลงตัวเลยนะในมุมของผม ซึ่งถ้าเป็นเป็นสาย MOD หรือ Modify อินเสิร์ตริงของขอบตัวเรือนสไตล์นี้มักเป็น Aftermarket Part ตัวเลือกแรกๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้ในการ MOD นาฬิกา Seiko อยู่เสมอ
นอกจากนั้นบนหน้าปัดยังมีสเกล 350/1 ที่สกรีนบงบน Circle Index หรือหลักชั่วโมงย่อยบนหน้าปัด ซึ่งดีไซน์นี้อ้างอิงมาจากนาฬิการุ่น Ref. 70SP-042 ที่เปิดตัวในปี 1970
และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ SKX Style Case หรือตัวเรือนที่อ้างอิงจากนาฬิกาสุดคลาสสิคของ Seiko อย่าง SKX ซึ่งกลายมาเป็นตัวเรือนหลักของ 5 Sports รุ่นปัจจุบันนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 และถือเป็นตัวเรือนที่มีเอกลักษณ์ เช่นเดียวกับขนาดที่สามารถสวมใส่ได้ง่ายทั้งผู้ชายและผู้หญิงด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 42.5 มิลลิเมตร โดยในรุ่นนี้มากับสายสแตนเลสสตีลที่คุ้นเคยกันดีสำหรับแฟนๆ ของ Seiko 5 Sports
สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบสำหรับนาฬิการุ่นนี้คือ การผสมผสานโดยนำนาฬิการุ่นวินเทจของ Seiko มารวมมิตรได้อย่างลงตัว โดยรุ่นที่เป็น Theme หลักของการออกแบบคือ Time Sonar ดันเป็นนาฬิกาที่ผมชอบมาก มันก็เลยได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษอย่างช่วยไม่ได้ ที่สำคัญคือ Seiko คงรูปแบบที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของ Time Sonar อีกอย่างเอาไว้คือ
การใช้กลไกที่มีจานวันประจำสัปดาห์ หรือ Day Plate ที่มีทั้งตัวคันจิ และภาษาอังกฤษเอาไว้ ทั้งที่ตามปกติแล้ว ถ้าเป็น 5 Sports รุ่นปกติทั่วไปสำหรับวางขายในตลาดโลก จานวันประจำสัปดาห์ของกลไกจะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษกับโรมันเท่านั้น เลยต้องบอกว่าตรงนี้ถูกใจสุดๆ สำหรับคนที่ชอบความต่างๆ โดยเฉพาะอารมณ์แบบ JDM
นอกจากนั้นอีกจุดที่ Seiko ทำได้ดีคือ แพ็คเกจของตัวนาฬิกาที่ดูอลังการและตั้งใจเพื่อให้เป็นความพิเศษ โดยนอกจากกล่องเฉพาะรุ่นแล้ว ภายในยังมีแผ่นพับที่กางออกมาเป็นโปสเตอร์ ซึ่งบอกรายละเอียดจุดต่างๆ ของตัวนาฬิการุ่นนี้
ด้วยความสวยบวกกับกระแสทำให้นาฬิการุ่นนี้ถูกจับจองอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากจำนวน 3,000 เรือนที่ผลิตทั่วโลก ผมทราบแค่ว่ามี 200 เรือนสำหรับรหัส SBSA177 ของญี่ปุ่น ส่วนเมืองไทยเข้ามาทำไรนั้นไม่ได้มีการระบุออกมาอย่างชัดเจน และเพียงแค่ 2-3 วันแรกของการเปิดตัว นาฬิกาก็ถูกจับจองอย่างรวดเร็ว รุ่น SRPJ43 ที่เป็น Boutique Edition หมดเกลี้ยงจากชอปออนไลน์ของ Seiko ขณะที่รุ่นนี้ยังพอมีเหลืออยู่ ดังนั้น ใครที่สนใจก็ควรรีบให้ไว ส่วนราคาป้ายก็อยู่ที่ 16,900 บาท
รายละเอียดทางเทคนิค : Seiko 5 Sports Kosuke Kawamura Limited Edition SRPJ41
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 42.5 มิลลิเมตร
- ความหนา : 13.4 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 46 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือนและสาย : สแตนเลสสตีล
- กระจก : Hardlex
- กลไก : อัตโนมัติรหัส 4R36
- ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
- ค่าความคลาดเคลื่อน : +45 ถึง -35 วินาทีต่อวัน
- กำลังสำรอง : 41 ชั่วโมง
- การกันน้ำ : 100 เมตร
- ประทับใจ : คอนเซ็ปต์ของตัวนาฬิกา การผสมผสานที่ลงตัว ขนาดตัวเรือนที่กำลังดีของ Seiko 5 Sports
- ไม่ประทับใจ : ไม่มี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline