ตามรอยพะยูนถึงเกาะลิบง เติมเรื่อง Oris Payoon Limited Edition ให้สมบูรณ์

0

เรื่องราวของมาเรียม เกาะลิบง และพะยูนที่เหลืออยู่ในธรรมชาติไม่มากนัก ได้นำไปสู่การสร้างสรรค์นาฬิการุ่น Payoon Limited Edition ของ Oris ที่มีทางฝั่งไทยเป็นจุดเริ่มต้นและผลักดันโครงการนี้ ดังนั้น ทีมงานของ Oris และผม เลยได้มีโอกาสตามรอยและสัมผัสกับประสบการณ์ตรงในการทำงานของกลุ่มพิทักษ์พะยูนรวมถึงการได้สัมผัสกับพะยูนในธรรมชาติและแหล่งอาหารของพวกมัน เพื่อเติมเต็มเรื่องราวของโปรเจ็กต์นี้

- Advertisement -

Oris Payoon Limited Edition

ตามรอยพะยูนถึงเกาะลิบง เติมเรื่อง Oris Payoon Limited Edition ให้สมบูรณ์

  •  การเดินทางไปเกาะลิบงเพื่อมอบเงินสนับสนุนให้กับกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง

  • ได้สัมผัสกับประสบการณ์การตามรอยของมาเรียมและการมองหาพะยูนตามแหล่งธรรมชาติที่เข้ามากินหญ้าทะเล

  • ทั้งหมดคือเรื่องราวและการนำไปสู่การสร้างสรรค์นาฬิการุ่นพิเศษ Payoon Limited Edition ของ Oris

ก่อนที่นาฬิการุ่นพิเศษที่เป็น Limited Edition ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอยู่ที่ประเทศไทยอย่าง Oris Payoon Limited Edition จะถูกเปิดตัวออกมาในวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ผมได้มีโอกาสเข้าไปส่วนหนึ่งของทริปเดินทางสู่เกาะลิบง จังหวัดตรังกับทีมงาน Oris Thailand เพื่อได้มีโอกาสสัมผัสกับเรื่องราวและบรรยากาศจริงๆ ที่ถือว่าเป็นต้นทางของแนวคิดที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นาฬิกาเรือนนี้ให้เป็นจริงขึ้นมา

เอาจริงๆ ตอนแรกผมก็คิดว่ามันก็แค่การเดินทางทริปหนึ่งเท่านั้น ไม่น่าจะมีอะไรมากมาย แต่หลังจากที่เวลาเดินผ่านไปเรื่อยๆ กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง สารภาพตามตรงเลยว่า คิดผิดอย่างมาก เพราะนับจากที่เดินทางไปถึงเกาะราวๆ 10 โมงเช้า ตลอดเวลา 6 ชั่วโมงที่ผมและทีมงานใช้ตามจุดต่างๆ ของเกาะลิบงนั้น ทำให้ผมได้เห็นเรื่องราวมากมาย โดยเฉพาะความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งที่ต่างพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายเดียวกันในการบรรลุถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีชื่อว่า ‘พะยูน’ ซึ่งอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

Oris Payoon Limited Edition
ทิวทัศน์และความสวยงามของผืนน้ำรอบๆ เกาะลิบง และที่เห็นลิบๆ คือ ภูเขาบาตูปูเต๊ะที่เป็นจุดชมวิวพะยูนของเกาะ

Oris Payoon Limited Edition
ผืนน้ำสีเขียวของทะเลจากจุดชมวิวพะยูนบนเขาบาตูปูเต๊ะ

Oris Payoon Limited Edition
ภาพวาดสวยๆ ของพะยูนและสัตว์น้ำบนพื้นถนนที่นำมาสู่หอดูพะยูน ซึ่งภาพถูกวาดก่อนการจัดงานพะยูนแห่งชาติ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2022

ทำไมต้องเป็นเกาะลิบง

เชื่อว่าหลายคนอาจจะตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเช่นเดียวกับผม แต่เรื่องนี้มีคำตอบในตัวของมันเองอยู่แล้ว ง่ายๆ และไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะเกาะลิบงเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์และมีพื้นที่ของหญ้าทะเลมากมาย ซึ่งนี่คืออาหารหลักของพะยูน ดังนั้น เมื่ออาหารพร้อมและมีเยอะ บรรดาพะยูนที่อยู่ในธรรมชาติซึ่งเหลือเพียง 250-260 ตัวต่างก็ต้องมารวมตัวกันที่นี่

อีกเรื่องคือ ความโด่งดังเมื่อปี 2019 ของมาเรียม พะยูนเด็กที่พลัดหลงจากแม่จนไปเกยตื้นที่กระบี่ และทางทีมสัตวแพทย์เองพยายามผลักดันให้มันกลับสู่ทะเล แต่สุดท้ายมาเรียมก็กลับมาเกยตื้นอื่น ทำให้มีการตัดสินใจทดลองเลี้ยงมาเรียมในธรรมชาติ พร้อมกับเลือกลิบงให้เป็นสถานที่เลี้ยง ในช่วงนั้นสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บรรดาจิตอาสาจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย และชาวบ้านของเกาะลิบงโดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง หรือ Dugong Guard เข้ามาช่วยทำงานกันอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ เพื่อช่วยให้เพื่อนต่างสายพันธุ์นี้ได้กลับไปใช้ชีวิตในท้องทะเลเหมือนเดิม และที่นี่เราได้เห็นภาพถ่ายที่ชื่อว่า กอด หรือ Marium The Mermaid จากฝีมือของคุณชิน – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและช่างภาพใต้น้ำ ที่เป็นการบันทึกในระหว่างทุกคนกำลังช่วยชีวิตของมาเรียม ถือเป็นภาพที่อบอุ่นและมีความสวยงามอย่างมาก

อย่างที่ทราบกันดีว่า เรื่องราวของมาเรียมไม่ได้จบอย่างสวยงามสักเท่าไร แต่ถึงกระนั้นการจากไปของมาเรียมก็ช่วยส่งสัญญาณเตือนให้เราได้รับทราบถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พะยูน และเป็นที่มาของการพัฒนาโปรเจ็กต์การผลิตนาฬิกาที่มีจุดเริ่มต้นอยู่ในประเทศไทย

พะยูน คือ จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การสานต่อแนวคิดเพื่อผลิตนาฬิการุ่นพิเศษที่เป็น Thailand Special Project ของ Oris ซึ่งทางทีมงานได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการผลักดันให้นาฬิกาเรือนนี้ได้เกิดขึ้นมา พวกเขาต้องเก็บข้อมูล และนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจต่างๆ นานา ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทนี้ และ Oris Payoon Limited Edition ถูกเปิดตัวออกมาด้วยเป้าหมายในการสร้างการตระหนักและรับรู้เรื่องราวของพะยูน เช่นเดียวกับการนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งของการจำหน่ายนาฬิกาเรือนนี้ไปมอบให้กับทางกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเพื่อเป็นงบประมาณในการทำงาน

ไอเดียและการทำงานทั้งหมดสอดคล้องกับแนวคิดของ Oris ที่มีคอนเซ็ปต์ว่า Change for the better ตรงนี้ทำให้ผมค่อนข้างชอบนาฬิการุ่นพิเศษของพวกเขาอยู่เสมอ เพราะในฐานะของเพื่อนร่วมโลก การให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม ผมคิดว่าเป็นที่ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะมาในแบบทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งเพื่อให้การทำงานของหน่วยงานท้องถิ่นนี้สามารถเดินหน้าไปได้ ทางคุณเต็มจาก Oris Thailand และ Trocadero Time ได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท สำหรับช่วยเหลือกิจกรรมและการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงในเกาะลิบง ในการจัดซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จำเป็นในการทำงาน

พบพะยูนตัวเป็นๆ ไม่ง่ายแต่เหนื่อยเอาเรื่อง

จุดแรกที่เราเดินทางไปถึงคือ หอดูพะยูน และเป็นช่วงที่น้ำขึ้นและอีกไม่นานก็กำลังจะลงแล้ว แน่นอนว่าเมื่อมาถึงที่นี่ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือ จะต้องเห็นพะยูนตัวเป็นๆ ด้วยตาให้ได้ แต่หลังจากยืนดูไปได้สักระยะ มีแนวโน้มว่าความคาดหวังของเราอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย สุดท้ายก็ต้องเคลื่อนทัพไปที่จุดชมพะยูนที่อยู่บนภูเขาบาตูปูเต๊ะใกล้ๆ กับบ้านพักของทีมงานที่เลี้ยงน้องมาเรียมจะดีกว่า

เราใช้เวลาเดินทางบนถนนในเกาะประมาณ 10-15 นาที แต่สิ่งที่นานกว่านั้นคือ การที่จะขึ้นไปอยู่บนจุดชมพะยูนให้ได้นั้นไม่ใช่ทางธรรมดาสักเท่าไร จริงอยู่ที่มีสะพานไม้และบันไดไม้ในบ้างช่วง แต่อีกเกือบ 40% เส้นทางคือการเดินผ่านกองหินในถ้ำ หรือการไต่หินเพื่อขึ้นไปสู่จุดที่สูงขึ้น เรียกว่าเล่นเอาทีมงานเหนื่อยไปตามๆ กันเลย

แต่เมื่อมาถึงจุดชมพะยูน ผมต้องบอกเลยว่าคุ้มค่า ไม่ใช่เพราะเรื่องโอกาสที่มากขึ้นในการได้เห็นพะยูนตัวเป็นๆ แต่เป็นความงดงามของท้องทะเลรอบเกาะลิบง พื้นน้ำสีเขียวเหมือนกับสีของหน้าปัดนาฬิการุ่น Oris Payoon Limited Edition ทอดตัวยาวสุดสายตาและส่องประกายระยิบระยับ

เราใช้เวลาร่วมชั่วโมงท่ามกลางแดดเปรี้ยงๆ บนความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะได้เห็นพะยูนตัวเป็นๆ แต่สิ่งที่คอยรบกวนเรื่องนี้คือ เวลาที่มาถึงของเราซึ่งอาจจะไม่ใช่ช่วงที่ดีนักเพราะน้ำกำลังลง นั่นทำให้เราต้องทอดสายตาไปไกลกว่าเดิม และโอกาสทำให้มองเห็นที่ตามปกติจะค่อนข้างยากอยู่แล้วและยิ่งยากขึ้นไปอีก นี่ยังไม่รวมถึงเต่าทะเลที่มักจะทำให้เราเข้าใจผิดอยู่เสมอว่าคือ พะยูนโผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ

แต่สุดท้าย ความหวังก็เป็นจริง พะยูนค่อยๆ ปรากฏตัวเป็นเงาสีเทารางๆ ตัดกับผื้นน้ำสีเขียวรอบๆ เกาะลิบงท่ามกลางเสียงดีใจของทุกคน พะยูนค่อยๆ มาทีละครั้งสองครั้งก่อนหายไปสักระยะแล้วกลับโผล่ขึ้นมาใหม่ ตลอดเวลาครึ่งชั่วโมงสุดท้ายเราได้เห็นพะยูนเป็นเงารางๆ บนผิวน้ำผ่านการชี้และบอกของสมาชิกกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงที่มีความชำนาญในการมองหาหลายต่อหลายครั้ง พร้อมกับคำแนะนำว่า ‘ครั้งหน้าถ้าพี่จะมาอีก อย่าลืมแว่นกันแดด จะช่วยให้มองเห็นง่ายขึ้นกว่านี้ครับ’

ได้…รอบหน้าผมจะพกแว่นมาด้วย แม้ว่าจะไม่ชอบใส่แว่นก็ตาม

Oris Payoon Limited Edition
ภาพของพะยูนที่โผล่ขึ้นมาจากผิวน้ำ

เดินวิจัยแหล่งหญ้าทะเลหลังน้ำลด

พะยูนที่มีอยู่ในธรรมชาติเหลือเพียง 250 ตัว และท้องทะเลมีความกว้างใหญ่มาก ดังนั้น การที่คุณจะได้เห็นตัวเป็น ๆ ของพะยูนนั้น ตามหลักการแล้วถือว่ายากถึงยากมาก นอกเสียจากว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความพิเศษจริงๆ  ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม

เกาะลิบงได้เปรียบกว่าที่อื่น เพราะเป็นแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นอาหารของพะยูนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีพื้นที่กว้างใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจที่นี่จะเป็นโรงอาหารและแหล่งพำนักของพะยูนตามธรรมชาติหลายตัว ซึ่งการที่เราได้เห็นพะยูนโผล่ขึ้นมาจากจุดชมพะยูนหลายต่อหลายครั้งทั้งที่ช่วงเวลาที่มาถึงถือว่าไม่ค่อยดีเท่าไรนั้น คือ สิ่งที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

เราได้ฟังหน้าที่และบทบาทของกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง ซึ่งในตอนแรกผมคิดว่าจะเน้นไปที่เรื่องการดูแลและจัดการเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับพะยูนอย่างเช่นการล่าเท่านั้น แต่ที่ไหนได้ เมื่อเราพูดถึงธรรมชาติแล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ทุกเรื่องถูกร้อยผ่านและมีความเกี่ยวพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ชื่อจะเกี่ยวข้องกับพะยูน แต่พวกเขาทำหน้าที่ทั้งการสำรวจระบบนิเวศน์รอบเกาะๆ เพื่อดูตรวจตราดูความสมบูรณ์ รวมถึงเก็บข้อมูลส่งให้กับนักวิจัย การเก็บขยะโดยเฉพาะพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล การเก็บเครื่องมือประมงพื้นบ้านบางอย่าง เช่น ไซดักปู ที่อาจจะหลุดลอยออกจากจุดยึดของมันและถูกพัดเข้าฝั่ง จนทำให้สามารถก่ออันตรายกับพะยูนที่เข้ามากินหญ้าทะเลตามแนวรอบๆ เกาะ ฯลฯ

เพราะทุกอย่างมีความเกี่ยวพันกัน เมื่อจุดหนึ่งมีปัญหา ไม่ช้าก็เร็วอีกหลายจุดจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งทฤษฎีโดมิโน่สามารถใช้กับปัญหาของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

ทีมงานและผมได้มีโอกาสเดินสำรวจพื้นที่รอบๆ เกาะหลังน้ำลด ซึ่งที่น่าแปลกใจคือ รอบๆ เกาะลิบงในช่วงแรกจะเป็นลักษณะคล้ายๆ กับดินโคลนเหมือนกับป่าชายเลน ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพื้นทรายเมื่อเดินออกไปจากฝั่งไกลขึ้นๆ เราต้องเดินร่วมๆ ครึ่งกิโลจากชายหาดดว่าจะได้เห็นแนวหญ้าทะเลแบบดกดำสุดลูกหูลูกตา บอกตามตรงว่าผิดคาดอย่างมาก เพราะตอนแรกคิดว่าจะเป็นแหล่งหญ้าที่ดูคล้ายกับหญ้าบนสนามฟุตบอล แต่ภาพที่เห็นคือ หญ้าซึ่งขึ้นเป็นหย่อมๆ กระจายตัวอยู่รอบๆ เหมือนเวลาเราเห็นแนวผักบุ้งทะเลบนายหาด

สมาชิกในกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงบอกว่ามันก็เป็นอย่างนี้แหละ อาจจะดูไม่เต็มพื้นที่ แต่หญ้าทะเลเหล่านี้จะกระจายเต็มพื้นที่และมีอาณาเขตกว้างขวางมาก  ซึ่งเพียงพอสำหรับการกินถ้าสภาพของแนวหญ้าทะเลที่เห็นไม่ถูกรบกวนไปมากกว่านี้ ซึ่งใน 1 วันพะยูนจะกินหญ้าทะเลประมาณ 5-10% ของน้ำหนักตัวที่มีอยู่ราวๆ 250-300 กิโลกรัม นั่นเท่ากับว่าปริมาณหญ้าทะเลที่กินสูงสุดต่อวันก็น่าจะเฉียด 50 กิโลกรัมเลยทีเดียว

สมาชิกของกลุ่มรวมถึงอาสาสมัครที่มีทั้งเยาวชนจากโรงเรียนบนเกาะ มาเดินสำรวจเก็บขยะ และทำการเก็บข้อมูลด้วยการวางแปลงสำรวจติดตามสถานภาพและประเมินเปอร์เซนต์การปกคลุมความหนาแน่นของหญ้าทะเล ซึ่งนี่คือ กิจกรรมหลังน้ำลดที่พวกเขาทำกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยดูแลระบบนิเวศน์รอบเกาะที่ถ้ามีปัญหาขึ้นมาแล้ว ผลกระทบคงำไม่ใช่แค่พะยูนอย่างเดียว แต่รวมถึงทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนเกาะด้วย

ผมถามว่าตามปกติแล้วพะยูนจะเข้ามาลึกจนเกือบถึงชายฝั่งในการกินหญ้าทะเลหรือ ? ทีมงานของกลุ่มตอบว่า เข้ามาลึกกว่าแนวที่กำลังเดินอยู่นี้อีก และบางครั้งพวกเขาต้องออกแรงในการดันพะยูนที่เข้ามากินหญ้าแล้วเผลอหลับพักผ่อนจนลืมดูเวลาน้ำลด สุดท้ายก็เกยตื้น แต่เท่าที่ฟังพวกเขาเล่า ถือเป็นเรื่องธรรมดามากในชีวิตประจำวันของพวกเขา และการมีกลุ่มนี้ในการทำงานจะสามารถช่วยลดปัญหาการสูญเสียของพะยูนแบบไม่คาดคิดได้มาก

ไม่รู้ว่าระหว่างที่คุยกัน ไม่รู้ว่าหน้าตาของผมแสดงออกมาว่าเหมือนกับไม่ค่อยเชื่อข้อมูลเหล่านี้เท่าไรหรือเปล่า พวกเขาก็เลยพาไปเดินดูร่องรอยของการเข้ามากินหญ้าทะเลของพะยูนซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนมากตอนน้ำลด เพราะปกติพะยูนมีนิสัยในการกินหญ้าทะเลด้วยการใช้ปากไถและดูดหญ้าทะเลที่อยู่บนพื้นทราย ดังนั้น เมื่อน้ำลดเราจึงได้เห็นแนวเป็นเส้นคดเคี้ยวของหญ้าทะเลที่แหว่งหายไปที่ชัดเจนมาก และในวันนั้น มีอยู่ 2-3 แนวที่เราได้เห็นกัน

Oris Payoon Limited Edition
หญ้าทะเล อาหารสำคัญของพะยูน

Oris Payoon Limited Edition
หญ้าใบมะกรูด อาหารทะเลสำคัญของพะยูน

Oris Payoon Limited Edition
แนวการเข้ากินหญ้าทะเลของพะยูนที่เราสามารถมองเห็นได้หลังน้ำลด

แน่นอนว่าก่อนเดินทางมาทริปนี้ ผมจอง Oris Payoon Limited Edition ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะชอบเรื่องราวและจุดเริ่มต้นของตัวนาฬิกาเรือนนี้ ซึ่งถือเป็นอะไรที่ดีงามมาก อย่างไรก็ตาม การได้เป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางมาครั้งนี้ ยิ่งช่วยเติมเต็มและทำให้การครอบครองนาฬิกาเรือนนี้มีความสมบูรณ์ด้วยประสบการณ์ร่วมกับโปรเจ็กต์ที่มีโอกาสยากมากถ้าคุณคิดที่จะหิ้วเป้และเดินทางมาแบบเดี่ยวๆ

ที่แน่ๆ หลังจบทริปนี้ทำให้ผมรักนาฬิกาเรือนนี้มากขึ้นกว่าเดิม

ขอขอบคุณ : คุณเต็ม มหาดำรงค์กุล และทีมงาน Trocadero Time สำหรับการเดินทางครั้งนี้ครับ

Oris Payoon Limited Edition
คุณเต็มจาก Oris Thailand และ Trocadero Time ได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท สำหรับช่วยเหลือกิจกรรมและการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงในเกาะลิบง ในการจัดซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จำเป็นในการทำงาน
Oris Payoon Limited Edition Oris Payoon Limited Edition Oris Payoon Limited Edition
ไซดักปูที่หลุดออกจากจุดยึดและถูกพัดเข้าชายฝั่งคือ สิ่งที่เป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตในทะเล พื้นที่ชายฝั่งของเกาะลิบงหลังน้ำลดจะมีลักษณะคล้ายกับหินผสมกับโคลน พื้นที่ชายฝั่งของเกาะลิบงหลังน้ำลดจะมีลักษณะคล้ายกับหินผสมกับโคลน
Oris Payoon Limited Edition Oris Payoon Limited Edition Oris Payoon Limited Edition
การวางแปลงลงบนพื้นที่หลังน้ำลดเพื่อดูความหนาแน่นของสิ่งมีชีวิตบริเวณนั้นๆ ก่อนเก็บข้อมูลและส่งให้กับนักวิจัย บ้านพักของทีมดูแลมาเรียมในช่วงที่พะยูนน้อยยังมีชีวิตอยู่ พี่ฉัตร-ทิพย์อุสา จันทกุล ผู้ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง ขณะให้ข้อมูล
Oris Payoon Limited Edition Oris Payoon Limited Edition Oris Payoon Limited Edition
บ้านพักของทีมดูแลมาเรียมในช่วงที่พะยูนน้อยยังมีชีวิตอยู่ ทางขึ้นเขาบาตูปูเต๊ะไปยังจุดชมพะยูนถือว่าหินเอาเรื่องเหมือนกัน ถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงในเกาะลิบงบนจุดชมพะยูน
Oris Payoon Limited Edition Oris Payoon Limited Edition Oris Payoon Limited Edition
พี่ฉัตร-ทิพย์อุสา จันทกุล ผู้ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง ขณะให้ข้อมูล คุณเต็มและทีมงานของ Trocadero Time ที่ร่วมเดินทางไปในทริปนี้ (จากซ้ายไปขวา) ผม คุณเต็ม มหาดำรงกุล และคุณชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและช่างภาพใต้น้ำ