Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton ก้าวข้ามยุคด้วยดีไซน์สุดล้ำ

0

จากเดิมที่มองข้ามมาตลอด แต่หลังจากได้ลองสัมผัส และลองใช้งานบนข้อมือ ไม่น่าเชื่อว่า Hamilton Ventura จะสามารถเปลี่ยนทัศนคติของผมในการมองการออกแบบนาฬิกา และนาฬิกาไม่จำเป็นจะต้องเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมเสมอไป

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton ก้าวข้ามยุคด้วยดีไซน์สุดล้ำ
Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton ก้าวข้ามยุคด้วยดีไซน์สุดล้ำ

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton ก้าวข้ามยุคด้วยดีไซน์สุดล้ำ

  • Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton ตำนานที่ยังมีชีวิตกับงานออกแบบที่ไม่ตกยุค

  • มากับกลไก H-10 ที่สามารถสำรองพลังงานได้ถึง 80 ชั่วโมง

  • ราคาหลากหลายเริ่มต้นที่ 38,000 บาท ไปจนถึงรุ่นท็อป 63,500 บาท

- Advertisement -

อาจจะมองว่าผมเองเป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยมก็ได้ผมไม่ว่าอะไรหรอก เพราะนาฬิกาในมุมของผมคือ ถ้าไม่ตัวเรือนกลม ก็ต้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นแทบจะไม่อยู่ในสายตาเลย แต่พอหลังจากที่ได้สัมผัสกับเจ้า Hamilton Ventura อย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว สารภาพเลยว่าความคิดนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และเข้าใจเลยว่าทำไม ‘The King’ Elvis Presley ราชาผู้ล่วงลับถึงชื่นชอบนาฬิกาเรือนนี้มากถึงขนาดกลายเป็นขาประจำบนข้อมือของเขามาโดยตลอด

ในโลกของนาฬิกา แต่ละแบรนด์จะมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่บ่งบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะเป็นแบรนด์อื่นไม่ได้ ต้องแบรนด์นี้เท่านั้น ซึ่งในกรณีของ Hamilton หลายคนอาจจะบอกว่าจะต้องเป็น Khaki Field สิ แต่ผมกลับไม่เชื่ออย่างนั้น และคิดว่านาฬิกาที่น่าจะเป็น Iconic ที่แท้จริงของพวกเขาคือ Ventura

เพราะอะไรหรือ…ก็เพราะ Hamilton เอาจริงเอาจังกับการทำตลาดอย่างต่อเนื่องให้กับนาฬิการุ่นนี้นับจากเปิดตัวเมื่อปี 1957 และรวมแล้วก็ 60 ปีแล้ว ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ Ventura น่าจะเหมือนกับเครื่องยนต์ Rotary ที่ใช้ลูกสูบสามเหลี่ยม หรือที่บางคนรู้จักกันในชื่อ Wankel Engine ซึ่งถ้าพูดถึงเครื่องยนต์นี้หลายคนอาจจะบอกชื่อ NSU หรือแม้แต่ Citroen ซึ่งนั่นเป็นส่วนที่น้อยนิดมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนที่เอ่ยชื่อ Mazda ออกมา ซึ่ง Hamilton กับ Ventura ก็เป็นเช่นนั้นในมุมมองของผม

สารภาพเลยว่าตอนแรกผมแทบไม่ได้มองนาฬิการุ่นนี้อยู่ในสายสักเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับคอลเล็กชั่นอื่นๆ ของพวกเขา เพราะอะไรก็ตามที่มีตัวเรือนแปลกจากสี่เหลี่ยมและวงกลมแบบมีขา ผมถือว่าเป็นนาฬิกาแฟชั่นหมด และผมก็ไม่ค่อยใส่ใจกับนาฬิกาประเภทนี้สักเท่าไร จนกระทั่งได้มีโอกาสยืนดูที่หน้าตาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว (ด้วยเป้าหมายที่ต้องการสอยเรือนอื่น) และได้มีโอกาสเอามาขึ้นและทาบข้อมือ รวมถึงดูรายละเอียดโดยรวมแล้วพบว่านาฬิการุ่นนี้มีอะไรที่น่าสนใจหลายอย่างเลยทีเดียว

อย่างที่บอกว่าจุดเริ่มต้นของ Ventura นั้นเกิดขึ้นในปี 1957 และถูกออกแบบโดย Richard Arbib ซึ่งเอ่อ…เขาไม่ใช่นักออกแบบนาฬิกามาก่อน แต่เป็นคนที่ทำงานในแวดวงออกแบบ และ Hamilton ดึงเข้ามาร่วมงานด้วยเหตุผลด้วยความต้องการสร้างความแตกต่างและก็ทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่ง Arbib ก็ไม่ทำให้ผิดหวังในการออกแบบนาฬิกาทรงสามเหลี่ยมที่ชื่อ Ventura ออกมา ซึ่งเป็นการพลิกดีไซน์ที่ทำให้หลายต่อหลายคนเริ่มหันมามอง Hamilton รวมถึง Elvis Presley ที่แทบจะเป็นสัญลักษณ์ร่วมกับ Ventura เลยก็ว่าได้ หลังจากที่เขาสวมใส่เข้าฉากในภาพยนตร์ Blue Hawaii ที่ออกฉายในปี 1961

60 ปีผ่านมากับดีไซน์หลักที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ต้องบอกว่านี่คือนาฬิกาที่เป็น Timeless ในแง่ของการออกแบบอย่างแท้จริง และเรียกว่ามีแค่ไม่กี่เรือนเท่านั้นที่สามารถทำได้เช่นนี้ ซึ่งตัว Ventura เองก็เป็น 1 ใน 7 คอลเล็กชั่นหลักของนาฬิกาที่ Hamilton มีทำตลาด

Hamilton Ventura Elvis80 SkeletonHamilton Ventura Elvis80 SkeletonHamilton Ventura Elvis80 Skeleton

สำหรับเรือนที่ผมได้มาลองสวมใส่นั้น เป็นคอลเล็กชั่นใหม่ที่ Hamilton เพิ่งเปิดตัวและฉลองในวาระครบรอบ 60 ปีไปเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งในคอลเล็กชั่น Elvis80 นี้มีด้วยกัน 3 รุ่นย่อย คือ Skeleton และหน้าดำตัวเรือนดำ ที่ใช้กลไกอัตโนมัติ ส่วนอีกรุ่นคือ Quartz มากับตัวเรือนเงิน

ผมหยิบ Elvis80 Skeleton Auto สายยางมาแทนแทนที่จะเลือกสายเหล็กด้วยเหตุผลที่ผมไม่ชอบใส่สายเหล็กแล้ว และอีกข้อคือ นาฬิกาลักษณะนี้ควรจะมากับสายหนัง หรือไม่ก็สายยางมากกว่า

ส่วนใครที่สงสัยชื่อ 80 นั่นมาจากไหน ก็ต้องบอกว่าเป็นอายุของ Elvis ซี่ง The King มีอายุครบ 80 ปี (ถ้าเข้ายังมีชีวิตอยู่) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2015 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ Hamilton เปิดคอลเล็กชั่นนี้ออกมา และพวกเขาก็ได้นำมาใช้กับชื่อรุ่น และอาจจะสอดคล้องกับระดับพลังงานสำรองของกลไก H-10 ของ Ventura ที่มีจำนวนมากถึง 80 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ตอนแรกที่นั่งดูสเป็กนาฬิกาที่มากับไซส์แปลกๆ และตัวเรือนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 42.5 มิลลิเมตร และยังไม่มีขา โดยที่มีความยาวหรือ Lug-to-Lug อยู่ที่ 44.6 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง จะเพียงพอกับความยุ่งยากในการเลือกนาฬิกาให้พอเหมาะกับข้อมือของผมหรือเปล่า

เอาจริงๆ นะ ดูจากตรงนี้ยังไงก็ไม่ผ่าน แต่พอลองทาบแล้วความรู้สึกกลับเปลี่ยนไป เพราะตัวนาฬิกาเมื่ออยู่บนข้อมือในระดับ 7 นิ้วและยังค่อนข้างแบนของผม กลับไม่รู้สึกว่าเล็ก และลงตัวอย่างมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความหนาของตัวเรือนที่เข้ามาช่วยเสริมทำให้ตัวเรือนดูลงตัวมากขึ้นเวลาอยู่บนข้อมือ

ในแง่ของการขัดแต่งรายละเอียดบนตัวเรือนถือว่าทำได้สวยและมีลูกเล่นที่โอเคทั้งส่วนที่ขัดเงาบน Bezel และขัดด้านตรงขอบด้านข้างของตัวเรือน แต่ที่ชอบที่สุดและไม่ชอบที่สุดคือ กระจก Sapphire ที่มาพร้อมกับการเคลือบสารกันแสงสะท้อน เหตุผลที่บอกว่าชอบก็เพราะความพิเศษของมันตรงที่มีการออกแบบให้ตัวกระจกมีลักษณะโค้งและยาวต่อเนื่องมาจนถึงด้านข้างของตัวเรือนตรงส่วนเม็ดมะยม

แต่ตรงนี้แหละที่ผมก็มองว่าเป็นจุดที่ไม่ชอบใจเท่าไรในแง่ของการใช้งาน เพราะกลัวว่าจะไปกระแทกเข้ากับอะไรสักอย่างจนเกิดรอย แม้ว่าจะค่อนข้างมั่นใจกับความแข็งของ Sapphire ก็ตาม แต่ของอย่างนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ และถ้าเกิดเป็นรอยขึ้นมาแล้ว ด้วยคุณลักษณ์พิเศษของการออกแบบ ค่ากระจกก็คงไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton

ในรุ่นที่ใช้กลไกอัตโนมัติจะมากับฝาหลังเปลือย แสดงให้เห็นกลไก H-10 ของ Hamilton อย่างชัดเจน ส่วนรุ่นควอตซ์จะเป็นฝาหลังทึบ ส่วนการผลึกฝาหลังก็เป็นหน้าที่ของน็อตทั้ง 4 ตัวเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นกลไกไหนก็ตาม โดยกลไก H-10 ของพวกเขาสามารถสำรองพลังงานได้ 80 ชั่วโมง และเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทในเครือ Swatch Group อย่าง ETA โดยมีการขัดแต่งพิเศษเพื่อแบรนด์ Hamilton และเริ่มใช้กลไกชุดนี้ในนาฬิการุ่นต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2014

ประเด็นในแง่ขความเที่ยงตรงและแม่นยำคงไม่ต้องกังวลกันมาก เพราะเป็นชุดกลไกที่มีพื้นฐานมาจาก ETA แต่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งานของแบรนด์ มีกำลังลานสำรอง (Power Reserve) ที่ยาวนานสูงสุดถึง 80 ชั่วโมง อีกทั้งการเพิ่มสกรูบนจักรกรอก (Balance Wheel) ยังเพิ่มความแม่นยำของกลไกให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดนิดหน่อย และทำให้ตัวเองรู้แล้วว่าไม่เหมาะกับนาฬิกาแบบ Skeleton เพราะหลังจากที่ได้ลองใช้งานกับ Elvis80 Skeleton อยู่สักพัก กลายเป็นว่าหน้าปัดแบบลายทางที่มีการเจาะร่องเป็นเส้นในแนวนอนเพื่อให้สามารถมองเห็นชิ้นส่วนของกลไกที่อยู่ภายในได้ ซึ่งอาจจะมีวัตถุประสงค์ในการทำเพื่อความสวยงามนั้น กลับกลายเป็นปัญหาในเรื่องของการรบกวนสายตาค่อนข้างมาก และต้องพลิกข้อมือขึ้นหลายทีเพื่อดูเวลา แถมยังทำให้แถบแดงในตำแหน่ง 0-15 นาทีที่ผมค่อนข้างชอบมากบนหน้าปัดของ Ventura ก็ถูกกลืนไปและมองแทบไม่เห็นด้วยเช่นกัน…อาจจะดูสวย แต่คงไม่เหมาะกับผมเท่าไร

อย่างที่บอกว่า ในคอลเล็กชั่น Ventura มีด้วยกัน 3 รุ่นย่อย แต่เมื่อมองลึกลงไปก็จะมีอีก 7 รุ่นย่อยสำหรับให้ลูกค้าได้เลือกสัมผัส แบ่งเป็นควอตซ์ 3 รุ่น และอัตโนมัติ 4 รุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะต่างกันที่สาย โดยมีรุ่นเริ่มต้นที่ควอตซ์สายยาง-หนังในราคาตามป้าย 38,000 บาท และรุ่นท็อปที่เป็น Elvis80 Skeleton Auto สายเหล็กในราคา 63,500 บาท ส่วนรุ่นที่ผมมีโอกาสได้ลองใส่ อยู่ที่ 61,000 บาท

แต่ถ้าต้องตัดสินใจซื้อ ผมไม่ลังเลเลยที่จะเลือกรุ่น Elvis80 Auto ตัวเรือนสีดำ จะสายหนังหรือยางก็ได้ เพราะยังไงก็จ่ายถูกกว่ารุ่น Skeleton ถึง 7,000 บาท และที่สำคัญไม่ต้องมาปวดตากับการเพ่งเวลาบนหน้าปัดด้วย

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton

คุณสมบัติของ : Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 42.5 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 44.6 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 10 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กระจกหน้าปัด : Sapphire พร้อมเคลือบกันแสงสะท้อน
  • กลไก : Hamilton Caliber H-10
  • จำนวนทับทิม : 25 เม็ด
  • สำรองพลังงาน : 80 ชั่วโมง
  • ระดับการกันน้ำ : 50 เมตร
  • จุดที่ประทับใจ : ดีไซน์ล้ำสมัย กระจกทรงโค้ง ขนาดกำลังดีกับข้อมือ มี Story และเรื่องราวให้ชวนคุย
  • จุดที่ไม่ประทับใจ : กระจกทรงโค้ง หน้าปัดแบบ Skeleton และราคา