Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L ครบฟังก์ชั่นในราคาที่เข้าถึงได้

0

อีกครั้งที่เวอร์ชัน Blue Angles สามารถดึงดูดความสนใจของผมและนำมาสู่การเสียทรัพย์ในที่สุด คงต้องบอกว่า นี่คือ เวอร์ชันที่ผมทั้งชอบและไม่ชอบ แต่สุดท้ายแล้ว Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L มีข้อดีมากกว่าข้อด้อย และทำให้ผมลืมสิ่งที่กังวลใจจนสุดท้ายตัดสินใจเก็บเข้ากรุเลยดีกว่า

Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L
Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L

Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L ครบฟังก์ชั่นในราคาที่เข้าถึงได้

  • เจนเนอเรชั่นที่ 5 ของ Citizen Promaster Skyhawk กับเวอร์ชัน Blue Angles
  • ตัวเรือนดีไซน์ใหม่ พร้อมสีสันที่อ้างอิงจากสีของฝูงบิน Blue Angles ที่เป็นพันธมิตรกับ Citizen มานานถึง 25 ปี
  • ด้วยค่าตัวราวๆ 42,000 บาทสำหรับในเมืองไทย
- Advertisement -

ถ้าติดตามเว็บไซต์ Ana-Digi มานาน คงทราบดีว่า ผมเป็นแฟนตัวยงของนาฬิกานักบินในกลุ่ม Promaster ของ Citizen อย่างมาก เรียกว่าเป็นความฝังใจตั้งแต่สมัยวัยเด็ก ดังนั้น เมื่อนาฬิกาในกลุ่มนี้ที่มักจะใช้ชื่อว่า Hawk แบบต่างๆ ของพวกเขาเปิดตัวออกมา ผมมักจะตื่นเต้นกับสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ

โดยเฉพาะเมื่อนาฬิกาเรือนนั้นมากับเวอร์ชันพิเศษอย่าง Blue Angles ซึ่งเป็นที่มาในการดึงคอลเล็กชั่นล่าสุดอย่าง Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles รุ่นล่าสุดอย่าง JY8125-54L เข้ามาอยู่ในกรุของตัวเอง แม้ว่าผมจะมีอาการทั้งชอบและไม่ชอบ Skyhawk เวอร์ชันนี้ก็ตาม

Citizen เป็นพาร์ทเนอร์กับฝูงบินผาดโผนของอเมริกันอย่าง Blue Angles มานาน 25 ปีแล้วโดยการ Collaboration ครั้งแรกเกิดขึ้นกับ Navihawk รุ่น JN0040-58L และหลังจากนั้นในปี 2002 เมื่อ Citizen เปิดตัวคอลเล็กชั่น Skyhawk ที่มาพร้อมกับกลไก Eco-Drive รุ่นใหม่

การจับมือของทั้งคู่ก็เลยโฟกัสไปที่ Skyhawk เป็นหลักกับรุ่น JR3080-51L อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง นาฬิกาที่เป็น Blue Angles Version จะมีทำตลาดควบคู่กับนาฬิกาในกลุ่ม Sky ของ Promaster อยู่เสมอ  เช่น  Navihawk, Nighthawk รวมถึงนาฬิกาจับเวลารุ่นต่างๆ เรียกว่าไม่ได้ถูกตีกรอบเอาไว้เหมือนกับที่ผ่านมา

Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L

สำหรับรุ่นล่าสุดเป็นการทำงานร่วมกับ Skyhawk รุ่นที่ 5 ในรุ่นนี้ถ้าเป็นเวอร์ชัน Blue Angles จะมากับรหัส JY8125-54L จริงๆ แล้วในคอลเล็กชั่นหลักของ Skyhawk รุ่นนี้ผมไม่ค่อยโปรดเท่าไร เพราะด้วยการออกแบบตัวเรือนทรง Tonneau ไม่มีขายสาย และออกแบบสายให้ดูเหมือนกับนาฬิกาพวก Integrated Bracelet ก็เลยทำให้พวกที่ชอบเปลี่ยนสายเล่นอย่างผมมีอาการหงุดหงิดและเหมือนถูกขัดใจ เพราะการใส่สายเหล็กค่อนข้างหนักและเป็นภาระบนข้อมือ แถมยังต้องระมัดระวังเรื่องการเกิดรอยทั้งตัวสายและบานพับด้วย

นั่นเลยทำให้ผมไม่คิดจะซื้อนาฬิการุ่นนี้สักที จนกระทั่งมานั่งดูรีวิวตามช่อง Youtube ของฝรั่งที่ชมนักชมหนา และทาง Citizen Thailand โดยทาง LDI Enterprise Thailand นำเข้ามาขาย ก็เลยเริ่มมีใจให้นิดๆ ประกอบกับการที่ตัวเองได้เวอร์ชัน Evangelion ใน Skyhawk รุ่นที่ 4 มาอยู่ในกรุแล้ว ก็เลยทำให้เป้าหมายจำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะการที่จะซื้อนาฬิกาแบบเดียวกันแต่ต่างสีต่างเวอร์ชันกันในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่น่าจะดีแน่ๆ สุดท้ายก็เลยตัดสินใจเลือก Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles รหัส JY8125-54L แทน

เมืองมองจากลักษณะกายภาพภายนอก ต้องบอกว่าตัวเรือนให้ความรู้สีกที่ดูแล้วค่อนข้างใหญ่กว่ารุ่นที่มีขาสาย เพราะด้วยการออกแบบในสไตล์ Tonneau ให้มีการขยายตัวเรือนออกด้านข้างและด้านบนกับล่าง โดยเส้นผ่านศูนย์กลางจริงๆ อยู่ที่ 46 มิลลิเมตร (ประมาณ 45.9 มิลลิเมตร) แต่ด้วยตัวเรือนลักษณะนี้ ผมคิดว่าใครที่มีข้อมือต่ำกว่า 7 นิ้วอาจจะเจอปัญหาเรื่องใส่แล้วไม่สวยเพราะอาจจะกางหรือล้นได้ เพราะ Lug to Lug ค่อนข้างยาวในระดับ 50 มิลลิเมตร แถมไม่ได้เป็นการวัดที่ปลายขาสาย แต่มาจากขอบตัวเรือนเลย…อารมณ์เหมือนใส่นาฬิกาทรงสี่เหลี่ยมเลย

Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนสายนั้น จริงๆ สามารถทำได้ เพราะนาฬิกาไม่ได้ออกแบบให้เป็น Integrated Bracelet แต่มีช่องระหว่างตรงกลางตัวเรือนระดับ 23 มิลลิเมตรสำหรับสปริงบาร์ยึดสาย แต่ปัญหาที่เจอคือ อย่างแรก ต้องใช้สายหนังที่หัวสายบางมาก และข้อที่ 2 จะใช้สายไซส์ 23 มิลลิเมตรเลยไม่ได้ ต้องใช้สายที่มีความกว้าง 30 มิลลิเมตร แล้วบากร่องแทน ซึ่งหลังจากส่งไปให้ช่างทำสายเจ้าประจำดู คำตอบที่ได้มาคือ ‘พี่ใส่สายเดิมไปเถอะ’ หรือไม่ก็ไปซื้อสายของ Citizen แทน เพราะรุ่นนี้มีเวอร์ชันสายหนังขายด้วย ผมก็เลยเลือกทั้ง 2 ข้อ คือ ใส่สายเดิมไปก่อนในระหว่างที่รอสั่งสายของ Citizen

Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L
Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L

เหมือนกับนาฬิกานักบินของ Citizen Promaster รุ่นที่ผ่านๆ มา เราจะได้เห็นนาฬิกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานเฉพาะกลุ่มและการใช้กลไกที่เป็นควอตซ์ดิจิตอลเข้ามาทดแทนกลไกแบบจักรกลนั้น ถือว่าสามารถทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในเรื่องของฟังก์ชั่นทั้งในแง่ของความหลากหลายและความสะดวกในการใช้งาน ภายใต้ราคาที่สามารถเข้าถึงได้

สิ่งที่ผมชอบมาเสมอคือ การที่ Skyhawk เป็นนาฬิกาสปอร์ตที่สวยและเรียกความสนใจได้เสมอ ด้วยความที่หน้าปัดแบบรกๆ เพราะมีทั้งขอบ Slide Rule บวกกับค่าต่างๆ ที่เป็นสเกลสำหรับใช้ทำงานร่วมกันในการคำนวณ และการวางเลย์เอาท์หน้าปัดที่มีการแบ่งฝั่งของหน้าจอดิจิตอลอย่างชัดเจนและเป็นเอกลักษณ์ของนาฬิการุ่นนี้มาตั้งแต่เวอร์ชันแรก

Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L

ในรุ่น Gen 5 ก็เช่นกัน หน้าปัดยังถูกวางเลย์เอาท์เหมือนเดิม แต่ออกแบบให้มีความทันสมัย และแตกต่างจาก 4 รุ่นที่ผ่านมาอย่างชัดเจน อ้างอิงจากดีไซน์หน้าปัดบนค็อกพิทของเครื่องบิน

ส่วนครึ่งบนไล่จากตำแหน่ง 3-9 นาฬิกาขึ้นไปจะมีหน้าปัด 3 ส่วนวางเรียงต่อกันไล่จากซ้ายไปขวา คือ Power Reserve Indicator และการรับสัญญาณวิทยุเพื่อปรับเวลา ซึ่งหน้าปัดนี้แตกต่างจากเดิมนิดนึงตรงที่มีการกลับหัวกลับหาง เพราะตามปกติแล้ว ส่วนที่เป็นมาตรบอกระดับพลังงานจะอยู่ด้านบน และการรับคลื่นวิทยุจะอยู่ด้านล่าง แต่รุ่นนี้สลับกัน ตรงกลางเป็นหน้าปัดบอกเวลา UTC หรือเวลาที่กรีนิช ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากสำหรับนักบิน และมาตรวัดสุดท้ายคือ การบอก AM/PM ของหน้าปัดหลักในการบอกเวลา

Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L
Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L

ส่วนครึ่งล่างของหน้าปัดจะเป็นหน้าจอดิจิตอลฝั่งซ้ายบอกเวลาของเมือง และฝั่งขวาที่มีขนาดใหญ่กว่าจะบอกข้อมูลต่างๆ ตามฟังก์ชั่นที่เลือก เช่น เวลาที่ 2 บอกวันที่ และการจับเวลา ส่วนหน้าปัดย่อยตรงกลางคือ ชุดเข็มบอกว่า ณ ตอนนี้นาฬิกาอยู่ในโหมดอะไร ซึ่งการปรับโหมดก็ใช้วิธีหมุนผ่านเม็ดมะยมเพื่อเลือก

สำหรับ Gen 5 สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบมากตอนที่ได้เห็น ไม่เฉพาะเวอร์ชัน Blue Angles เท่านั้น คือ ชุดเข็มชั่วโมงและนาทีซึ่งเป็นทรงแท่งแบบเรียบๆ แต่ดูเข้ากันกับตัวนาฬิกาอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนเข็มวินาทีในเวอร์ชันนี้จะมากับสีเหลือง และปลายเข็มจะเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่านาฬิกาเรือนนั้นใช้กลไกแบบ Radio Controlled ซึ่งมีที่มาจากรูปทรงของเสาสัญญาณและคลื่นวิทยุ

นอกจากนั้น สีเหลืองและน้ำเงินที่เป็นสีประจำฝูงบิน Blue Angles ก็ถูกนำมาใช้ในการแต่งแต้มรายละเอียดที่อยู่บนหน้าปัด และผมคิดว่าคู่สีนี้คือ การจับคู่ที่ลงตัวอย่างมากในการดึงดูดสายตา เพราะเป็นสีเข้มและสีสดที่ตัดกันอย่างลงตัว ส่วนตัวผมว่าสวยกว่าแดง-ดำของฝูงบิน Red Arrows ฝั่งอังกฤษเสียอีก

Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L

การที่โลกของเรามีนาฬิกาควอตซ์ทั้งแบบเข็มและดิจิตอลเกิดขึ้นมา ช่วยเอื้อประโยชน์สำหรับนาฬิกาที่เป็น Tool Watch เหล่านี้ได้อย่างมาก โดยเฉพาะการเป็นเครื่องมือที่เที่ยงตรงในราคาที่เข้าถึงได้ เพราะด้วยค่าตัวเพียง 895 เหรียญสหรัฐฯ ต้องบอกว่า Citizen ออกแบบนาฬิการุ่นนี้มาเพื่อการใช้งานสำหรับนักบิน และอาจจะรวมถึงนักเดินทาง ด้วยฟังก์ชั่นที่ครบครันแบบเกินเบอร์เลย

Slide Rule ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการช่วยคำนวนของนักบินด้วยการหมุนขอบตัวเรือนเพื่อทาบกับสเกลอีกฝั่งที่ถูกยึดตายตัว คือ สิ่งที่พบเห็นได้เฉพาะนาฬิกาสวิสส์ระดับราคา 6 หลัก และแน่นอนว่านั่นคือ Breitling Navitimer ส่วนกลไกรหัส U680 เรียกว่าเป็นขุมพลังสหกรณ์ของ Citizen ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาและใช้กับนาฬิกาหลายต่อหลายรุ่น แต่ส่วนใหญ่จะเป็น Promaster Air และมาพร้อมกับฟังก์ชั่นมากมาย

ทั้งการเป็นนาฬิกาแบบ Perpetual Calendar ที่เซ็ตปฏิทินเอาไว้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2099 ไม่ต้องมานั่งห่วงเรื่องการปรับวันที่ การจับเวลาเดินหน้า 1/100 วินาทีได้สูงสุด 24 ชั่วโมง จับเวลาถอยหลังได้สูงสุด 99 นาที ตั้งปลุก 2 ครั้ง

การแสดงเวลาแบบ World Time ที่ครอบคลุมเมืองใหญ่ถึง 43 แห่งทั่วโลก และการสลับเวลาระหว่าง Local Time และ Home Time ในโหมด Dual Time Zone ทำได้สะดวกสุดๆ คือ เมื่ออยู่ในโหมด Calendar ดึงเม็ดมะยมขึ้น 1 สเต็ป แล้วกดปุ่มในตำแหน่ง 2 และ 4 นาฬิกาพร้อมกัน นาฬิกาจะสลับเวลาที่เลือกเอาไว้

รวมถึง Radio Controlled ที่ปรับเวลาตามเสาสัญญาณที่จะปล่อยคลื่นวิทยุที่มีการตั้งค่าเวลาตาม Atomic Clock ออกมา เพื่อปรับความเที่ยงตรงในหน่วยวินาที แต่ในบ้านเราใช้ฟังก์ชั่นนี้ไม่ได้ เพราะเสาวิทยุที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นจะอยู่ที่ญี่ปุ่น จีน ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น โดยตามปกติแล้ว นาฬิการุ่นนี้จะมีค่าความเที่ยงตรง +/-15 วินาทีต่อเดือน

Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L

นอกจากนั้น ยังมีระบบ Eco-Drive หรือการเปลี่ยนแสงทุกรูปแบบให้เป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งเข้ามาเก็บในตัวเก็บประจุ ซึ่งคนที่คุ้นเคยกับระบบนี้มาตั้งแต่หนุ่มๆ อย่างผม จะค่อนข้างชอบมาก เพราะไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องของการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพียงแต่สมัยนี้มีนาฬิกาหลายเรือน อาจจะต้องหมั่นเช็คอย่าให้ถังพลังงานเกลี้ยงเป็นพอ

เรียกว่าด้วยค่าตัวเพียงแค่นี้ แต่ฟังก์ชั่นมาเพียบและถูกออกแบบมาเพื่อครอบคลุมการใช้งานทั้งสำหรับมืออาชีพและคนทั่วไปอย่างแท้จริงเลย

สำหรับบ้านเรา Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L นำเข้ามาจำหน่ายด้วยค่าตัวราวๆ 42,000 กว่าบาท ถือว่าอาจจะแรงไปนิดนึง และดูแล้วค่อนข้างเหนื่อยในการดึงดูดใจลูกค้า เพราะตัวเปรียบเทียบในตลาดบ้านเรามีเยอะ โดยเฉพาะพวกนำเข้าอิสระ แถมราคานี้ใกล้เคียงกับพวก New-Entry ของกลุ่มแบรนด์สวิสส์ แถมรสนิยมของคนรักนาฬิกาบ้านเรา เอะอะอะไรก็ไปกลไกอัตโนมัติ

แต่ผมมองว่าลูกค้าหลักของนาฬิการุ่นนี้คือ แฟนเดนตายของ Promaster ที่เชื่อว่ามีแม้ว่าจะไม่เยอะ ส่วนที่เหลือคือ ลูกค้าขาจรที่อาจจะชอบและโดนใจถ้าเล่าสตอรี่ดีๆ ซึ่งในกลุ่มแรก การจ่ายราคานี้แบบยังไม่นับส่วนลด ผมว่าพอรับได้ เพราะเป็นการจ่ายเพื่อได้นาฬิกาที่นำเข้ามาจากตัวแทนจำหน่ายในไทย และการได้รับการรับประกันในด้านต่างๆ โดยเฉพาะบริการหลังการขาย และยังไม่นับรวมเรื่องค่าการตลาดและภาษี ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้ต้นทุนสูงกว่าพวกตลาดเกรย์แล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Citizen ในประเทศไทยต้องทำให้ชัดเจนและสื่อสารออกมาให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ที่แฟนตัวจริงจะได้รับ จริงอยู่ที่นาฬิกากลุ่มนี้อาจจะดูแล้วกลุ่มเล็กมาก แต่อย่าลืมว่าพวกเขาคือแฟนที่พร้อมจะซื้อซ้ำเมื่อ Citizen มีนาฬิการุ่นที่ถูกใจ

นอกจากนั้นอีกสิ่งที่ไม่ควรลืมคือ แพ็คเกจของนาฬิกา ซึ่งอันนี้ผมถือว่าสำคัญมาก ที่ผ่านมาบ้านเราดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับแพ็คเกจ และไม่อลังการเหมือนกับตลาดอื่นๆ เลย เพราะบ้านเราคนซื้อนาฬิกาไม่ได้มองแค่ตัวนาฬิกา แต่มองถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาเรือนนั้น อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ไม่ควรมองข้าม

รายละเอียดทางเทคนิค : Citizen Promaster Skyhawk Blue Angles JY8125-54L

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 46 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 14.3 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 50 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือนและสาย : สแตนเลสสตีล
  • กระจก : Sapphire
  • กลไก : U680 แบบควอตซ์ดิจิตอล พร้อม Eco-Drive
  • ฟังก์ชั่น : Perpetual Calendar / Radio Controlled Wave / ตั้งปลุก / จับเวลาเดินหน้า / จับเวลาถอยหลัง / World Time
  • การกันน้ำ : 200 เมตร
  • ประทับใจ : ดีไซน์บนหน้าปัด ฟังก์ชั่นที่ครบครัน  สตอรี่ของคอลเล็กชั่น
  • ไม่ประทับใจ : ตัวเรือนออกแบบให้เปลี่ยนสายลำบาก