คำถามที่เจอบ่อยคือ นาฬิกา Solar น่าใช้ไหม แน่นอนว่าเราสรุปข้อดีข้อเสียมาให้คุณได้พิจารณากันว่า สุดท้ายแล้วคุณจะเลือกคบกับนาฬิกาประเภทนี้หรือไม่
นาฬิกา Solar น่าใช้ไหม
คำถามนี้มีให้เห็นอยู่เสมอ และเราก็ต้องตอบกันเป็นประจำทาง LINE@ กับเรื่องที่ว่า ‘นาฬิกา Solar น่าใช้ไหม’ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าตลาดของนาฬิกาประเภทนี้น่าจะมีการขยับตัวอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นคงจะไม่มีใครให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากอย่างแน่นอน แต่บทสรุปคือ ยังไม่มีให้ใครให้คำตอบที่ชัดเจนในแง่ของบทความ วันนี้ทาง ANA-Digi เลยขออาสาไขความกระจ่างให้
ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้นเรามาทำความรู้จักกับนาฬิกา Solar กันก่อนว่ามันคืออะไร ?
นาฬิกา Solar หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อว่า นาฬิกากินแสง นั้น คือ รูปแบบหนึ่งของนาฬิกาควอตซ์ทั้งในรูปแบบเข็มหรือดิจิตอล ซึ่งอาศัยการเปลี่ยนพลังงานแสงไม่ว่าจะแสงแดด แสงจากหลอดไฟ ให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่แบบ Rechargable หรือตัวเก็บประจุ ซึ่งในตลาดปัจจุบันมีอยู่ 3 ค่ายใหญ่ที่ทำ นั่นคือ Casio กับระบบ Tough Solar ตามด้วย Citizen ในชื่อ Eco-Drive และ Seiko กับชื่อ Solar
ตามหลักการแล้ว นาฬิกาทั่วไปที่ใช้ถ่าน จะต้องมีการเปลี่ยนถ่านเมื่อหมดไฟ แต่สำหรับนาฬิกากินแสงพวกนี้ (เราขอเรียนตามนี้หลังจากนี้นะครับ) จะไม่ต้องเปลี่ยนถ่านหรือตัวเก็บประจุ เพราะตลอดเวลาที่มีการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปเลี้ยงระบบกลไกนาฬิกา ตัวระบบกลไกรับแสงอาทิตย์ก็จะเปลี่ยนพลังงานแสงให้กลายมาเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วส่งเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุเหมือนเดิมเพื่อชดเชยกับสิ่งที่ถูกใช้ไป ดังนั้น พวกผู้ผลิตก็มักจะใช้คำว่า ‘ไม่ต้องเปลี่ยนถ่าน’ ชูเป็นจุดเด่นทางการตลาดอยู่เสมอ ทั้งที่ความจริงแล้ว มันก็ต้องเปลี่ยน หากแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุเสื่อมสภาพ หรือหมดอายุการใช้งาน ซึ่งบางค่ายจะมีการระบุอยู่ในคู่มือเลยว่าควรเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกๆ 10 ปีเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด
สำหรับแสงที่จะใช้ในการชาร์จกระแสไฟฟ้าให้กับนาฬิกานั้น ไม่ได้มีการจำกัดแค่แสงอาทิตย์ แต่ยังรวมถึงแสงอื่นด้วย เช่น แสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือแสงสว่างในตอนกลางวัน (แต่ไม่จำเป็นต้องตากแดด) ก็ยังสามารถใช้ชาร์จได้ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการสะสมพลังสักหน่อย เพราะค่าความสว่างของแสง (Illumination) หรือ Lux ต่ำกว่าแสงอาทิตย์ ซึ่งแสงแต่ละแบบก็มีค่า Lux แตกต่างกันออกไป หรือแม้แต่แสงแดดเอง ระหว่างอยู่กลางแจ้งกับส่องผ่านทางหน้าต่างก็มีค่า Lux ไม่เท่ากัน ตรงนี้คุณสามารถดูได้จากคู่มือได้เลย ทุกแบรนด์จะมีบอกเอาไว้
ดังนั้น ในกรณีที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในระบบ เราจึงมักจะแนะนำให้นำเอานาฬิกาออกมาผึ่งแดดดีกว่า เพราะมีค่า Lux สูง ขณะที่ความร้อนสะสมที่เกิดขึ้นบนตัวนาฬิกา อาจจะมีบ้าง แต่ไม่มากเท่ากับการที่คุณเอาสปอตไลท์ หรือหลอดอะไรสักอย่างจ่อเข้ามาที่ตัวนาฬิกา
ตามคู่มือของ Citizen ที่ใช้ระบบ Eco-Drive พวกเขาแนะนำให้คุณนำนาฬิกาออกมาโดดแดดเพื่อชาร์จอย่างน้อยเดือนละ 5-6 ชั่วโมง แต่คุณก็ไม่ควรทิ้งนาฬิกาเอาไว้กลางแดดนานเกินไป แม้ว่าแสงแดดจะฟรีและช่วยทำให้ชาร์จเร็ว ซึ่งระดับอุณหภูมิที่พวกเขาแนะนำคือ ไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส เพราะถ้าร้อนมากๆ อาจจะทำให้ชิ้นส่วนที่เป็นยางภายในตัวนาฬิกาเสื่อมสภาพ หรือกลไกข้างในเกิดความร้อนสะสมจนมีปัญหาได้ ส่วนถ้าใช้พวกหลอดไฟชาร์จ ก็ควรทิ้งระยะห่างระหว่างตัวนาฬิกากับหลอดไฟประมาณ 50 เซ็นติเมตรเพื่อป้องกันความร้อนสะสมบนตัวเรือน
มาถึงคำถามสำคัญกับคำว่า ‘น่าใช้ไหม ?’ … เราขอตอบอย่างนี้ และข้อเน้นไปที่พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ของคนที่จะใช้งานก็แล้วกัน
อันดับแรกคุณต้องดูก่อนว่าตัวเองมีการใช้ชีวิตอย่างไร เพราะถ้าคุณเป็นคนกลางคืน เราคงต้องบอกว่าไม่ควรใช้ เนื่องจากการใช้ชีวิตจะเจอแต่แสงไฟไม่เจอแสงแดด ทำให้พลังงานถูกใช้ไปเยอะ แต่ชาร์จกลับเข้ามาน้อยนิด แต่ไม่ได้ห้ามใช้นะครับ ยกเว้นคุณจะตื่นเอานาฬิกาออกมาตากแดดและรับแสงบ้าง ถ้าคิดว่าตรงนี้ไม่ใช่เรื่องลำบาก ก็ใช้งานได้เลย
อันดับต่อมา คือ จำนวนนาฬิกาในกรุ หลายคนไม่ได้มีแค่เรือนเดียว แต่มีเป็นสิบหรือเป็นร้อย เราก็ไม่ค่อยแนะนำ เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณจะต้องมีเวลาดูแลมันพอสมควร ซึ่งถ้ามีเยอะขนาดนี้ นาฬิกาแต่ละเรือนมีโอกาสมาเจอแสงได้เพียงไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์ ยกเว้นมันจะเป็นเรือนโปรดของคุณ และบางเรือนอาจจะถูกวางนอนกล่องจนลืมไปเลยกระทั่งไฟเกลี้ยงแบตเตอรี่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตัวเก็บประจุ หรือแบตเตอรี่ที่อาจจะเสื่อมก่อนเวลาอันสมควรด้วย แต่คุณมีสลับใส่แค่ 3-4 เรือน งานนี้จะลุยก็ไม่มีใครว่าอะไรแล้ว
ส่วนในเรื่องความทนทานที่หลายคนกังวลา เราขอตอบเช่นนี้ก็แล้วกันว่า นาฬิกาในกรุของแอดบางเรือนอยู่มานานร่วม 15-20 ปีแล้ว (Casio เอาระบบ Tough Solar มาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1998) ก็ยังไหม่เห็นข้อบกพร่องหรือเสียหายเลย ตัวระบบชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ยุคใหม่ได้รับการพัฒนามานาน และมีความทนทานในการทำงาน เช่นเดียวกับประสิทธิภาพที่ดีขึ้น สิ่งที่น่าห่วงมีเพียงอย่างเดียว คุณจะมีเวลามากพอที่พามันออกมาเดินเล่นรับแสงแดดดบ้างไหมเท่านั้นเอง และควรทำเป็นประจำ ไม่ใช่มาทำเอาตอนที่นึกได้แล้วไม่เหลือกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่แล้ว
สรุปคือ ไม่ต้องกังวลกับการใช้งานจนเกินไป และฟันธงเลยว่านาฬิกา Solar น่าใช้มาก
4 เทคนิคใช้นาฬิกา Solar อย่างสบายใจ
1.อย่าลืมเปิดโหมด PS หรือ Power Saving เอาไว้ เพื่อที่ว่าเวลาเก็บเข้ากล่องและอยู่ในที่มืดสนิท นาฬิกาจะเข้าสู่โหมดจำศีล มีการใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย และนั่นเท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาในการชาร์จกระแสออกไป แต่โดยสรุปแล้ว แม้ว่าจะมีโหมด PS ซึ่งบางเรือนถ้าชาร์จเต็มอยู่ได้เป็นปีเลย ฃ
2.ควรหยิบนาฬิกาพวกนี้ออกมาใส่บ้างเป็นบางครั้ง อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง และมีนำออกมาตากแดด 2 สัปดาห์ต่อครั้งๆ ละ 1-2 ชั่วโมงแล้วแต่เวลาจะเอื้ออำนวย เพื่อให้มีการชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในระบบและชดเชยส่วนที่ถูกใช้งานไป ที่สำคัญไม่เคยปล่อยให้นาฬิกาในกลุ่มนี้ตกอยู่ในสภาพ ‘ถูกลืม’ จนถึงขั้นไฟเกลี้ยงแบตฯ เพราะถ้าทำบ่อยๆ แบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุของระบบอาจจะเสื่อมหรือเสียก็ได้
3.การชาร์จที่มีประสิทธิภาพคือ คุณต้องหันเอาหน้าปัด (ซึ่งปกติแล้วจะมีส่วนประกอบของแผงโซลาร์เซลล์) กันเข้าหาแหล่งของแสงไฟ ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์ หรือแสงจากหลอดไฟ โดยตรง ไม่ใช่เอียงตะแคงเข้าด้านข้างของตัวเรือนเข้าหาแหล่งแสงไฟ
4.ถ้าทิ้งไว้นานจนลืมและไม่มีไฟหลงเหลือในแบตเตอรี่ ไม่ต้องตกใจ ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกันก่อน ด้วยการนำออกไปตากแดดแรงๆ ทิ้งไว้สัก 1-2 ชั่วโมงแล้วดูผลว่าสามารถปลุกนาฬิกาให้ตื่นขึ้นมาได้หรือไม่ ถ้าตื่นก็ปล่อยให้ชาร์จทิ้งไว้ยาวๆ เลย เพราะบางครั้งการชาร์จจากจุดที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่เลยจะใช้เวลานานมาก
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/