ขึ้นชื่อว่านาฬิกา GMT หลายคนอาจจะคิดว่าก็แค่นาฬิกาที่มีเข็มพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก 1 อันเพื่อทำหน้าที่ในการบอกเวลาที่ 2 แต่จริงๆ แล้ว GMT มี 2 แบบในเรื่องของรูปแบบความต่างในการตั้งเวลาที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกัน
นาฬิกา GMT หน้าตาเหมือนแต่ฟังก์ชั่นต่าง
-
นาฬิกา GMT ที่มีอยู่ในตลาดจริงๆ แล้วมีรูปแบบการตั้งเวลา 2 แบบด้วยกัน คือ Office GMT กับ Traveler’s GMT ซึ่งจะมีการตั้งและการแสดงเวลาที่แตกต่างกันออกไป
-
ประมาณ 80-90% ของนาฬิกา GMT ที่อยู่ในตลาด จะเป็นแบบ Office GMT ซึ่งมีการตั้งเข็ม GMT แบบอิสระ และใช้งานสะดวก
-
สำหรับคนที่ชอบเดินทางแบบข้ามโซนเวลาบ่อยๆ การเลือกใช้นาฬิกาแบบ Traveler’s GMT คือ ตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะระบบถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานลักษณะนั้น
ผมเชื่อว่าเราพอจะทราบนิยามของนาฬิกา GMT กันมาบ้างแล้วว่าคือ นาฬิกาที่มีความสามารถในการบอกเวลาที่ 2 (หรืออาจจะ 3 ในบางรุ่น) ผ่านทางเข็มพิเศษที่เราเรียกว่า GMT Hand แต่หลังจากที่มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมกำลังตามหาเป้าหมายใหม่อยู่และนั่ง Search รีวิวในเว็บต่างประเทศ ทันใดนั้นก็มาพบกับเนื้อหาตอนหนึ่งที่แทรกอยู่ในรีวิวของเว็บ Watchtime.com ที่มีการพูดถึงประเภทของนาฬิกา GMT เรียกว่าเป็นการเปิดโลกความรู้ใหม่ให้กับผมเลยก็ว่าได้จนนำมาสู่บทความนี้ในที่สุด
จริงๆ แล้วผมพอจะทราบเรื่องของความต่างในการตั้งเวลาของนาฬิกา GMT ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด เพราะตัวเองดันมีนาฬิกา GMT อยู่ในกรุระดับหนึ่ง และดันมี 2 เรือนที่มีฟังก์ชั่นในการปรับตั้งเวลาต่างจากเรือนอื่นๆ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร และเดาว่าน่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบกลไกซะมากกว่า แต่เอาเข้าจริงๆ หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้ ทำให้ทราบเลยว่ามันมีอะไรที่มากกว่านั้น
ตามบทความใน Watchtime มีการระบุว่าจริงๆ แล้วนาฬิกา GMT ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดนั้นสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ Office GMT กับ Traveler’s GMT ซึ่งบอกเลยว่าเมื่อมองจากภายนอก ทั้งแบบ 2 นี้เหมือนกันหมด เรียกว่าคุณไม่มีทางรู้เลยจนกว่าจะหมุนเม็ดมะยมเพื่อปรับเวลาใหม่
ก่อนอื่น ทำความเข้าใจกันก่อนว่า นาฬิกา GMT ที่ผมหมายถึงนี้คือ GMT แท้ๆ นะครับ ที่ไม่ใช่ GMT แบบหลอกๆ ซึ่งเข็มที่ 4 จะทำหน้าที่บอกแค่ AM/PM ไม่สามารถหมุนปรับเวลาได้ต่างหาก ในขณะที่นาฬิกา GMT แท้ๆ เข็ม GMT นอกจากจะบอก AM/PM ได้แล้วยังสามารถปรับเปลี่ยนอีกบทบาทได้ในการบอกเวลาที่ 2
ตามปกติแล้ว เวลาใส่นาฬิกา GMT ผมเชื่อว่าคนทั่วไป (ซึ่งในชีวิตประจำวันก็ไม่ค่อยเดินทางไปไหนข้ามโซนเวลา) มักจะปรับอย่างนี้ คือ เข็มหลัก (ชั่วโมงนาที) จะทำหน้าที่แสดง Home Time ซึ่งก็คือ เวลาของเมืองที่คุณอาศัยอยู่ (หรือเมืองที่คุณเดินทางจากมา ในกรณีที่มองในแง่ของการเดินทาง) ส่วนเข็ม GMT จะถูกตั้งเอาไว้ในการช่วยระบุว่าเวลานั้นคือ AM/PM มากกว่าที่จะแสดงเวลาที่ 2
เพราะตามปกติแล้ว เวลาที่นาฬิกาหมดลาน แล้วคุณจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้งานพร้อมกับปรับเวลาและวันที่ใหม่ การที่เข็ม GMT ทำหน้าที่นี้จะช่วยในเรื่องของการระบุว่าเวลาที่หยุดเดินคือช่วงไหนของวัน เช่น ถ้าเวลาหลักระบุเป็น 9.00 น. คุณไม่มีทางรู้เลยว่ามันคือ 9 โมงเช้าหรือ 3 ทุ่ม แต่ถ้าเข็ม GMT ถูกเซ็ตให้เป็นการบอก AM/PM คุณจะทราบได้ทันที
แล้วมีประโยชน์ตรงไหน ?
ข้อแรก ช่วยในเรื่องการตั้งเวลาทั้ง Home Time และ Local Time (เมืองที่คุณเดินทางไป) ให้มีความสอดคล้องกัน เพราะถ้าคุณไม่ทราบ การตั้งเวลาก็จะผิดเพี้ยนไปหมดในแง่ของเช้าหรือบ่าย และข้อต่อมาคือ เมื่อต้องตั้งวันที่ หรือ Date การรู้ว่าเวลาที่หยุดเดินคือ เช้าหรือค่ำ โดยเฉพาะในช่วงเลข 8-3 จะมีส่วนช่วยลดความเสียหายอย่างมาก เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ช่วงเวลา 2 ทุ่มถึงตี 3 ไม่เหมาะกับการหมุนปรับวันที่เพราะอาจจะทำให้กลไกที่ทำหน้าการเปลี่ยนวันที่มีความเสียหายได้ ดังนั้น ถ้านาฬิกาหยุดเดินที่เลข 9 และเข็ม GMT ชี้ไปที่ 9 ไม่ใช่ 21 คุณก็จะสามารถปรับวันที่ได้อย่างสบายใจ
เอาละ…กลับมาที่เรื่องของ Office GMT กับ Traveler’s GMT กันต่อ
Office GMT
สำหรับประเภทแรกคือ Office GMT นั้น ถือเป็นนาฬิกา GMT ที่มีขายอยู่ในตลาดมากที่สุด ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเกือบ 90% ของรุ่นที่มีอยู่ในตลาดเลยก็ว่าได้ ในการใช้งานปกติ เข็มชั่วโมงและนาทีจะทำหน้าที่ในการแสดงเวลาของเมืองที่คุณอาศัยอยู่ หรือ Home Time และจับพลัดจับผลู เกิดมีคนเชิญไปต่างแดน คุณสามารถหมุนเม็ดมะยมและสั่งปรับเวลาที่ 2 ซึ่งก็คือ Local Time (เมืองที่คุณกำลังจะเดินทางไป) ผ่านทางเข็ม GMT ในการแสดงเวลาร่วมกับขอบสเกลแบบ 24 ชั่วโมงบนหน้าปัดได้เลย โดยการแสดงเวลาบนเข็มหลักยังเป็นเวลา Home Time
ข้อดีของ GMT แบบนี้คือ ปรับง่าย และสามารถทำได้ทันทีเมื่อถึงที่หมาย แต่ข้อเสียเท่าที่ผมมองเห็นคือ การดูเวลาที่ 2 หรือ Local Time จะค่อนข้างลำบากและวุ่นวายกว่า เพราะข้อแรกเข็ม GMT เดินแบบ 24 ชั่วโมง (1 รอบหน้าปัดต่อวัน) ทำให้การดูเวลาแบบเร็วๆ แบบชำเลืองสายตาผ่านอาจจะทำได้ยาก โดยเฉพาะบรรดาผู้สูงอายุทั้งหลาย เพราะในแง่ของความเป็นจริงแล้ว ถ้าคุณต้องเดินทางและต้องการให้นาฬิกาสามารถแสดงเวลาได้ทั้ง 2 จุด เวลาที่เป็น Local Time (เมืองที่คุณเดินทางไป) น่าจะมีความสำคัญกว่า เพราะคุณต้องใช้เวลาของเมืองนี้ตลอดในช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น ดังนั้นการดูผ่านเข็ม GMT น่าจะยุ่งยากและวุ่นวายกว่าผ่านทางเข็มชั่วโมงปกติ
อ้าว…แล้วอย่างนั้นจะออกแบบมาให้เป็นอย่างนี้ทำไม ?
ผมคิดว่าเหตุผลที่ปรับเวลาที่ 2 ผ่านทางเข็ม GMT น่าจะเป็นเรื่องของการใช้อ้างอิงเวลาที่ 2 มากกว่าโดยที่ตัวคุณเองไม่ได้เดินทางไปไหนมาไหน เช่น คุณเล่นหุ้นอยู่ในเมืองไทย และต้องการรู้เวลาของตลาดหุ้นอื่นๆ ที่มีความสำคัญ หรือเวลาที่คุณต้องทำงานโดยดีลกับหน่วยงานอื่นที่อยู่ต่างประเทศในเขตโซนเวลาอื่น เป็นต้น ดังนั้น นาฬิกาแบบนี้ก็เลยถูกเรียกว่าเป็น Office GMT เพราะความสำคัญในการดูเวลาบนหน้าปัดคือ Home Time ผ่านทางเข็มปกติมากกว่า Local Time
สำหรับการตั้งเวลาของ Office GMT คือ คุณจะสามารถหมุนเวลาได้เหมือนนาฬิกาปกติได้เลย แล้วถ้าต้องการตั้งเวลาที่ 2 ผ่านทางเข็ม GMT ค่อยดึงเม็ดมะยมขึ้นมา 1 ครั้งในตำแหน่งเดียวกับตั้งวันที่ แล้วค่อยหมุนเลือกเวลาที่ต้องการ
Traveler’s GMT
อีกแบบคือ Traveler’ s GMT อันนี้จะเป็นอีกแบบ คือ GMT ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการเดินทาง เพราะการปรับเวลาที่คุณจะเดินทางไป หรือ Local Time ผ่านทางเข็มชั่วโมงหลัก ไม่ใช่เข็ม GMT ยกตัวอย่างเช่น คุณที่อยู่ที่กรุงเทพ และต้องเดินทางไปญี่ปุ่นที่มีความต่างของของเวลา +2 ชั่วโมง เวลา ณ ตอนนั้นคือ 9.00 น. และเข็ม GMT ชี้ไปที่เลข 9
Traveler’s GMT จะให้ความสำคัญของการแสดงเวลาของเมืองที่คุณจะเดินทางไป (Local Time) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่อย่างนั้นจะตั้งชื่อว่าเป็น Traveler’s GMT ทำไม ดังนั้น การแสดงเวลาของ Local Time ควรจะถูกทำผ่านทางเข็มหลักของนาฬิกา ไม่ใช่เข็ม GMT
เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่แรก คุณต้องเดินทางและใช้เวลาของเมืองที่คุณเดินทางไป (Local Time) มากกว่าเมืองที่คุณเดินทางมา (Home Time) การดูเวลาผ่านทางเข็มหลักจะดีที่สุด เนื่องจากเข็ม GMT เดินในแบบ 1 รอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งดูยากกว่า
ดังนั้นจากตัวอย่างข้างต้น เมื่อเท้าคุณแตะพื้นดินของประเทศญี่ปุ่น แค่ดึงเม็ดมะยมออกมาแล้วหมุนเข็มชั่วโมงไปที่เลข 11 เท่านี้นก็จบ คุณจะได้เวลา Local Time 11.00 น. บนหน้าปัดหลัก ขณะที่เข็ม GMT ก็ยังชี้ไปที่เลข 9 ของ Home Time เหมือนเดิม
ถ้าถามว่าแล้ว Office GMT จะทำแบบ Traveler’s GMT ได้ไหม ? คำตอบคือ ทำได้ แต่จะยุ่งยากกว่าเท่านั้นเอง ขั้นแรกคุณต้องปรับเวลาของเข็มหลักให้เป็น Local Time จากนั้นก็จำด้วยว่า Home Time ของคุณคือ กี่โมง จากนั้นค่อยหมุนเข็ม GMT ไปอยู่ในตำแหน่งนั้น
สำหรับการตั้งเวลาอาจจะยุ่งนิดหน่อย ถ้าในกรณีที่เข็ม GMT ถูกตั้งให้ทำหน้าที่แสดงเวลาที่ 2 ไม่ใช่เป็นการแสดง AM/PM คุณควรหมุนตั้งเวลายังไงก็ได้ให้เข็ม GMT มาตกลงตัวเลขของเวลา Home Time ปกติก่อน จากนั้น ค่อยกดเม็ดมะยมลง 1 สเต็ปแล้วค่อยหมุนเข็มชั่วโมงให้ไปอยู่ในเวลาที่ต้องการ เช่น ตอนที่นาฬิกาหยุดเดิน เข็มปกติอยู่ที่ 10.00 น. แต่เข็ม GMT ตกอยู่ที่เลข 12 คุณก็ควรหมุนเข็มชั่วโมงและนาทีให้เข็ม GMT เดินไปตกที่เลข 10 ก่อน (ส่วนเข็มชั่วโมงจะไปตกที่เลขอะไรก็ไม่ต้องสนใจ) จากนั้นค่อยกดเม็ดมะยมลง 1 สเต็ป และหมุนเข็มชั่วโมงกลับมาอยู่ที่เลข 10 เท่านี้ก็จบ
สำหรับคนที่ชอบนาฬิกา GMT ยังไงก่อนซื้อก็ศึกษาและดูก่อนนะครับว่า นาฬิกาที่ชอบนั้นมีรูปแบบของ GMT แบบไหน จะได้ใช้งานกันอย่างสะดวกและถูกใจ แต่ถ้าชอบแบรนด์กับหน้าตาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น GMT แบบไหน งานนี้ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนใจได้อย่างแน่นอน
Office GMT | Traveler’s GMT | |
การปรับเวลา GMT | ผ่านทางเข็ม GMT | ผ่านทางเข็มชั่วโมง |
การแสดง Home Time | ผ่านทางเข็มชั่วโมง | ผ่านทางเข็ม GMT |
การแสดง Local Time | ผ่านทางเข็ม GMT | ผ่านทางเข็มชั่วโมง |
การให้ความสำคัญของเวลาบนหน้าปัดหลัก | Home Time | Local Time |
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/