ถ่ายภาพนาฬิกาอย่างไรให้ดูดี

0

ไม่ว่าจะเพื่อแชร์ลงโซเชียล ถ่ายเอาไว้ชื่นชม เพื่อการค้า หรือเพื่ออะไรก็ตามแต่ การถ่ายภาพนาฬิกาต้องมีเทคนิค และนี่คือสิ่งที่เราคิดว่าคือเทคนิคการถ่ายภาพอย่างไรให้ดูดี

- Advertisement -

ถ่ายภาพนาฬิกาอย่างไรให้ดูดี

เชื่อว่าหลายท่านที่สะสมหรือมีนาฬิการุ่นหายากอยู่ในครอบครองอาจมีความคิดที่อยากจะอวดนาฬิกาของตนผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ หรืออาจเคยทำแล้ว แต่พบว่าเมื่อถ่ายภาพออกมาแล้วกลับดูไม่ดีอย่างที่คิด แทนที่นาฬิกาจะดูเลอค่ากลับดูธรรมดาไป ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากวิธีการถ่ายภาพที่ไม่ทำให้นาฬิกาดูโดดเด่นหรือสวยงาม ซึ่งเรามีคำแนะสำหรับถ่ายภาพนาฬิกาเพื่อที่จะช่วยให้ภาพนาฬิกาของคุณดูดี แม้ว่าจะมีขั้นตอนการถ่ายภาพที่มากกว่าการยกกล้องหรือสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายภาพ แต่สามารถช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจขึ้นสำหรับเจ้าของและน่าสนใจขึ้นสำหรับผู้ดูภาพ

เตรียมนาฬิกา

ก่อนที่จะถ่ายภาพสิ่งสำคัญคือการเตรียมนาฬิกาให้พร้อม ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การหยิบนาฬิกามาวางเพื่อถ่ายภาพเท่า แต่ควรมีการทำความสะอาดนาฬิกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของนาฬิกาที่จะเห็นในภาพ โดยควรเช็ดเอาคราบ รอยนิ้วมือ และฝุ่นต่างๆ ออกไปจนหมด เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อถ่ายภาพออกมาจนน่าพอใจแล้วอาจต้องเสียดายที่มีฝุ่นหรือรอยนิ้วมืออยู่บนหน้าปัดหรือตัวเรือน และที่สำคัญคืออย่าคิดว่าฝุ่นหรือรอยนิ้วมือเล็กๆ จะมองไม่เห็นเพราะแม้จะดูด้วยตาแล้วรู้สึกว่าเล็ก แต่เมื่อขยายภาพขึ้นมาดูทั้งในจอ LCD ของกล้องและโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วจะเห็นความสกปรกบนนาฬิกาอย่างชัดเจน

นอกจากนี้หากเป็นนาฬิกาที่ใช้เข็มบอกเวลาควรปรับให้เข็มสั้นอยู่ที่ 10 นาฬิกาหรือเลยมาเล็กน้อย เข็มสั้นอยู่ที่ 14 นาฬิกาหรือก่อนและหลังเวลานี้เล็กน้อย ขณะที่เข็มวินาทีควรอยู่ที่ตำแหน่ง 7 นาฬิกาหรือใกล้เคียง แล้วถอดถ่านออกหรือทำให้หยุดเดินเพื่อให้เข็มนาฬิกาค้างอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งไว้ซึ่งจะทำให้เห็นเข็มต่างๆ ชัดเจน และไม่ต้องกังวลว่าเข็มนาฬิกาจะซ้อนกันขณะถ่ายภาพ

 

เลือกแสงและฉากหลัง

ในการถ่ายภาพแสงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะสามารถทำให้สิ่งที่ถูกถ่ายภาพดูน่าสนใจหรือดูดีได้ซึ่งรวมไปถึงนาฬิกาด้วย แสงที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพวัตถุนิ่งๆ อย่างนาฬิกาโดยไม่ต้องลงทุนและสามารถหาได้ง่ายก็คือ แสงธรรมชาติที่มีลักษณะนุ่มกระจายเพราะจะทำให้ภาพดูเคลียร์มีเงาและคอนทราสต์ในภาพน้อยช่วยให้สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่งแสงในลักษณะนี้ในธรรมชาติคือแสงที่ผ่านหน้าต่างเข้ามาในห้องหรือในบริเวณบ้าน ซึ่งสามารถหาได้ง่ายๆ เช่นบริเวณที่ใกล้กับหน้าต่างหรือบริเวณระเบียง แต่ไม่ใช่แสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง หรือเรียกง่ายๆ ก็คือบริเวณหรือพื้นที่ที่มีความสว่างจากแสงอาทิตย์แต่ไม่ใด้ใช้แสงจากดวงอาทิตย์โดยตรงเพื่อถ่ายภาพ นอกจากว่าจะต้องการให้ภาพนาฬิกาที่ถ่ายมีเงาที่เข้มและชัดเจนในภาพรวมทั้งมีคอนทราสต์สูง

นอกจากการเลือกพื้นที่ที่มีแสงที่เหมาะสมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งควรให้ความสำคัญคือฉากหลังหรือพื้นสำหรับวางนาฬิกาเพื่อถ่ายภาพ สิ่งที่ควรมองหาเพื่อเป็นฉากหลังหรือพื้นสำหรับวางนาฬิกาควรมีลักษณะที่ค่อนข้างเรียบหรือไม่มีลวดลายมากซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะลักษณะของพื้นผิวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสีสันของพื้นผิวด้วยที่ไม่ควรมีหลากหลายสีสันมากเกินไป เพราะโดยทั่วไปแล้วพื้นที่มีสีสันเรียบๆ จะทำให้ภาพนาฬิกาออกมาดูดีกว่าพื้นที่เต็มไปด้วยสีสัน โดยหากบริเวณที่มีแสงที่เหมาะสำหรับถ่ายภาพไม่มีฉากหลังที่ดีสำหรับวางนาฬิกาอาจต้องใช้วิธีหาวัตถุเช่นผ้าหรือพื้นต่างๆ ที่เหมาะสมมาวางในบริเวณนั้นเพื่อเป็นฉากหลังแทน

หากเลือกที่จะถ่ายภาพโดยวางด้านข้างของตัวเรือนที่พื้น หรือถ่ายภาพในกล้องหรือสมาร์ทโฟนขนานกับพื้นไม่ได้ถ่ายในมุมบนเหนือนาฬิกา อาจเลือกให้ส่วนของห้องที่มืดเป็นฉากหลังเพื่อให้ตัวนาฬิกาดูเด่นขึ้นได้

ใช้ขาตั้งกล้อง

นอกจากกล้อง เลนส์ หรือสมาร์ทโฟนที่ใช้เพื่อถ่ายภาพแล้ว อีกอุปกรณ์สำคัญที่ควรมีคือ ขาตั้งกล้องหรือสิ่งที่จะใช้เพื่อรองรับกล้องให้มีความนิ่งในขณะที่ถ่ายภาพเพื่อให้ภาพมีความคมชัดและหลีกเลี่ยงการใช้ความไวแสง ISO สูงถ่ายภาพเพื่อไม่ให้มีสัญญาณรบกวนหรือ Noise ปรากฏในภาพ เนื่องจากลักษณะของแสงที่นุ่มกระจายจากหน้าต่างหรือแสงในบริเวณระเบียงมักจะมีความสว่างน้อยทำให้หากไม่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำซึ่งอาจทำให้เกิดการเบลอเมื่อถือกล้องหรือสมาร์ทโฟนถ่ายภาพ ก็จะทำให้ต้องใช้ความไวแสงสูงซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสัญญาณรบกวนในภาพ โดยสำหรับสมาร์ทโฟนมีผู้ผลิตขาตั้งกล้องบางรายที่ผลิตขาตั้งกล้องขนาดเล็กพร้อมกับหัวขาตั้งที่สามารถยึดสมาร์ทโฟนได้ออกมาให้เลือกใช้เป็นอุปกรณ์เสริม

หากถ่ายภาพในลักษณะที่วางด้านข้างของตัวเรือนนาฬิกาลงกับพื้น หรือกล้องและสมาร์ทโฟนอยู่ในตำแหน่งขนานกับพื้น จะสามารถใช้วิธีวางกล้องหรือสมาร์ทโฟนกับพื้นที่วางนาฬิกาเพื่อช่วยให้ความนิ่งแก่กล้องได้ถ้าไม่มีขาตั้งกล้อง

 

ปิดการทำงานของแฟลช

สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อถ่ายภาพนาฬิกาไม่ว่าจะเป็นกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้หรือกล้องคอมแพกต์ดิจิตอล รวมไปถึงสมาร์ทโฟนด้วยควรปิดการทำงานของแฟลชในตัวกล้อง เพราะแสงแฟลชที่ยิงออกไปจากกล้องโดยตรงอาจทำให้เกิดแสงสะท้อนที่ตัวนาฬิกาได้

ปรับความคมชัดและความอิ่มของสี

กล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ไม่ว่าจะเป็นกล้อง DSLR หรือ Mirrorless รวมไปถึงกล้อมคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงหลายรุ่นผู้ใช้จะสามารถปรับตั้งค่าความคมชัดหรือ Sharpness และความอิ่มของสีหรือ Saturation ได้ใน Picture Style ที่อยู่ในเมนู ซึ่งด้วยการปรับตั้งค่านี้จะทำให้สามารถกำหนดความคมชัดและความอิ่มของสีภาพเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากค่ามาตรฐานที่ผู้ผลิตปรับมาให้ได้เพื่อให้ได้ภาพที่มีลักษณะตามต้องการ โดยทั่วไปแล้วการปรับความคมชัดและความอิ่มของสีจะเป็นการปรับในลักษณะเพิ่มขึ้นมากกว่าลดลงเพื่อให้ภาพที่ออกมามีความคมชัดและความอิ่มของสีเพิ่มขึ้น แต่ไม่ควรปรับเพิ่มขึ้นมากเกินไป

การปรับ Picture Style ในกล้องจากผู้ผลิตแต่ละรายจะเรียกไม่เหมือนกันโดยบางรายอาจจะเรียก Picture Style, Picture Control หรือ Photo Style

ปรับไวต์บาลานช์

โดยปกติการทำงานปรับไวต์บาลานช์ในกล้องดิจิตอลปัจจุบันมักจะทำหน้าที่ได้ดีในการปรับสีของภาพให้ถูกต้องอยู่แล้ว จึงสามารถเลือกใช้การทำงานนี้ได้ แต่หากพบว่าสีของภาพไม่ถูกต้องก็อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้ไวต์บาลานช์แบบ Preset ที่กล้องมีมาให้แทนโดยควรเริ่มต้นที่การปรับไวต์บาลานช์ไปที่ Daylight ก่อนหากภาพที่ออกมามีโทนอมสีฟ้าให้ลองเลือกปรับไวต์บาลานช์ที่ Cloudy แต่หากภาพยังคงมีโทนสีฟ้าอยู่ให้ปรับไวต์บาลานช์ไปที่ Shade

ถ้าปรับไวต์บาลานช์ที่ Daylight แล้วภาพที่ออกมาอมโทนสีเหลืองควรปรับตั้งค่าไวต์บาลานช์ไปที่ Tunsten หรือ Incandescent เพื่อแก้ไขสีภาพ แต่หากการปรับไวต์บาลานช์แบบ Preset แล้วยังไม่สามารถให้สีของภาพที่ถูกต้องได้ก็ยังมีทางออกด้วยการปรับไวต์บาลานช์แมนนวล หรือปรับเป็นค่าไวต์บาลานช์เป็น K โดยหากภาพอมโทนสีฟ้าให้ปรับค่า K สูงเพื่อลดการอมสีฟ้าในภาพ หากภาพอมโทนสีเหลืองให้ปรับค่า K น้อยเพื่อลดการอมโทนสีเหลืองในภาพ

ปรับความไวแสง โหมดบันทึกภาพ และค่าบันทึกภาพ

การปรับความไวแสงของกล้องควรเลือกที่จะใช้ความไวแสงต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงสัญญาณรบกวน นอกจากว่าไม่มีขาตั้งกล้องก็ควรค่อยๆ ปรับความไวแสงให้สูงขึ้นทีละน้อยเพื่อดูความเร็วชัตเตอร์ที่ได้ว่าอยู่ในระดับที่สามารถใช้มือถือกล้องถ่ายภาพให้คมชัดได้ เพื่อป้องกันการใช้ความไวแสงสูงเกินไป โดยมีหลักการว่าความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ไม่ควรต่ำกว่า 1/ทางยาวโฟกัสของเลนส์ เช่น หากถ่ายภาพด้วยเลนส์ที่ช่วง 50 มม. ก็ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์อย่างน้อยสุด 1/50 วินาที

โหมดบันทึกภาพที่ควรเลือกใช้สำหรับภ่ายภาพนาฬิกาโดยที่ให้ทั้งความสะดวกและยังสามารถควบคุมค่าบันทึกภาพที่จำเป็นได้คือ โหมดปรับรูรับแสงล่วงหน้าหรือ Aperture Priority ที่มีตัวย่อบนแป้นปรับโหมดว่า AV หรือ A เพราะเมื่อใช้โหมดนี้จะสามารถปรับตั้งรูรับแสงของเลนส์ได้เองขณะที่กล้องปรับความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมให้ ซึ่งด้วยการปรับควบคุมรูรับแสงจะทำให้สามารถควบคุมระยะชัดของภาพหรือระดับความเบลอของฉากหลังได้โดยหากปรับตั้งที่รูรับแสงกว้างหรือค่ารูรับแสงน้อยเช่น F2.8 จะให้ฉากหลังที่เบลอ แต่เมื่อปรับที่รูรับแสงแคบหรือค่ารูรับแสงมากอย่าง F11 จะทำให้ฉากหลังชัดเจนขึ้น และจะสามารถปรับเพิ่มหรือลดความสว่างของภาพได้ด้วยการทำงานชดเชยแสง

 

ใช้ Self Timer

เพื่อให้ภาพมีความคมชัดที่สุดหากใช้ขาตั้งกล้องเมื่อถ่ายภาพควรใช้การทำงาน Self Timer หรือหน่วงเวลาถ่ายภาพร่วมด้วย เพราะด้วยการทำงานนี้กล้องจะหน่วงเวลาถ่ายภาพหลังจากกดชัตเตอร์ลงไปแล้ว 10 วินาทีหรือช่วงระยะเวลาอื่นที่ผู้ถ่ายภาพเลือก ทำให้การสั่นที่ตัวกล้องจากการกดปุ่มชัตเตอร์หายไปก่อนที่กล้องจะบันทึกภาพ

ตรวจสอบภาพ

การดูภาพที่ถ่ายไปแล้วบนจอ LCD ของกล้องจะช่วยให้ตรวจสอบภาพในด้านต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมืด-สว่างของภาพ สีสัน ความคมชัด จุดโฟกัสที่ถูกต้อง เพื่อที่หากภาพไม่ออกมาอย่างที่ต้องการก็จะสามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ใหม่แล้วถ่ายภาพอีกครั้ง โดยหากพบว่าส่วนของนาฬิกาในทิศทางตรงกันข้ามกับแสงที่เข้ามามีเงาทำให้เห็นรายละเอียดไม่ชัด เช่นขอบของตัวเรือนที่ได้รับแสงน้อยกว่าส่วนอื่นจะสามารถแก้ไขได้โดยใช้กระดาษแข็งหรือโฟมสีขาววางไว้ในตำแหน่งใกล้ๆ เพื่อช่วยสะท้อนแสงเข้าไปที่ส่วนนั้นของนาฬิกา แต่ควรระวังอย่าให้เข้าไปในอยู่ในเฟรมภาพ