การขึ้นลานมือใน Automatic Watch กับหลากคำถามน่ารู้

0

การขึ้นลาน มือดูเหมือนเป็นเรื่องที่หลายคนคิดว่า ใครๆ ก็รู้ แต่เชื่อเถอะว่าบางคนอาจจะยังไม่รู้เลย และในวันนี้เราพยายามเก็บรวบรวมคำถามคาใจเกี่ยวกับการขึ้น ลานมือในนาฬิกาอัตโนมัติพร้อมกับคำตอบเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มานำเสนอกัน

Hamilton Pan Europ Chronograph
Hamilton-Pan-Europ-Chronograph

การขึ้นลานมือใน Automatic Watch กับหลากคำถามน่ารู้

- Advertisement -

สำหรับคนที่ใช้นาฬิกาซึ่งมีกลไกอัตโนมัติ อาจจะเคยคุ้นหูกับระบบขึ้นลานมือมาไม่มากก็น้อย แต่เรากำลังจะบอกว่า ไม่ใช่นาฬิกากลไกทุกรุ่นจะมีระบบนี้ติดมาให้ด้วย เพราะเรื่องที่จะมีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิตว่าจะมีการติดตั้งมาให้ด้วยหรือเปล่า เพราะฉะนั้นถือเป็นสิ่งที่เราๆ ท่านๆ ในฐานะคนซื้อจำเป็นจะต้องหาข้อมูลคร่าวๆ มาก่อน  เราก็เลยขอนำเสนอบทความ การขึ้นลานมือใน Automatic Watch กับหลากคำถามน่ารู้ เผื่อสำหรับบางคนที่อาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

1. ขึ้นลานมือมีประโยชน์อย่างไร ?

ประโยชน์ของการขึ้นลานมือคือ การทำให้นาฬิกามีกำลังลานเพียงพอที่จะขับเคลื่อนกลไกได้อย่างมีเสถียรภาพ (ในความหมายคือ มีกำลังมากพอที่จะทำให้นาฬิกาสามารถเดินได้อย่างใกล้เคียงตามสเป็กของความเที่ยงตรงที่ระบุอยู่) เพราะในจังหวะที่เราหยิบนาฬิกาออกมาจากกล่องจากเดิมที่ไม่มีกำลังอยู่ในลานเลยนั้น แม้ว่าคุณจะเขย่าเล็กน้อยเพื่อให้นาฬิกาเดิน แต่ความเที่ยงตรงและแม่นยำก็จะเกี่ยวข้องกับกำลังที่สะสมอยู่ในลานด้วย และด้วยลานที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดในกรณีที่ไม่มีการขึ้นลานก่อน ก็อาจจะทำให้ขาดความเที่ยงตรงได้

ดังนั้น ถ้าคุณคิดที่จะใส่นาฬิกาเรือนนั้นติดข้อเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน และคิดว่าจะใส่หลายๆ วัน ก็ควรจะขึ้นลานสักหน่อยเพื่อให้กลไกมีกำลังสะสมอยู่ในระดับที่เหมาะสม แล้วจากนั้นก็ค่อยให้การเคลื่อนที่ของตัวเองทำการสะสมพลังงานเข้าไป

2. ขึ้นลานอย่างไรให้เหมาะสม ?

คำถามหนึ่งที่มีให้เห็นเป็นประจำคือ ควรขึ้นลานมืออย่างไรให้เหมาะสม แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลานเต็มแล้ว ซึ่งถ้าเราดูจากแมนนวลที่ผู้ผลิตแนบมาให้กับกล่องเวลาคุณซื้อนาฬิกา ในนั้นก็จะมีบอกเอาไว้ อย่างในกลไก 4R36 หรือ 6R15 ของ Seiko เขาจะระบุจำนวนรอบของการหมุนเพื่อขึ้นลาน ซึ่งทำได้ประมาณสัก 20 รอบ ซึ่งก็เพียงพอจะทำให้นาฬิกาเดินได้โดยที่ในระบบกลไกมีกำลังสำรองอยู่ในระดับหนึ่งและมากพอที่จะเดินทางเที่ยงตรงตามสเปก จากนั้น เมื่อเราขยับแขนหรือทำกิจกรรมก็จะค่อยๆ เป็นการเติมพลังงานเข้าไปในกระปุกลานทีละนิดๆ จนเต็ม

นอกจากนั้นการ ขึ้นลานมือก็คล้ายกับการหมุนขึ้นลานของนาฬิกาไขลาน คือ ควรถอดออกมาไม่ควรหมุนในขณะที่นาฬิกากำลังขึ้นข้อมือ เพราะตรงนี้อาจจะทำให้เกิดแรงกดกับแกนของเม็ดมะยมจนนำไปสู่ความเสียหายได้

3. นาฬิกาแต่ละเรือนมีระบบขึ้นลานมือรูปแบบเดียวกันไหม ?

ก่อนอื่น เช็คดูก่อนว่านาฬิกาของคุณมีระบบนี้มาให้ด้วยหรือไม่ ซึ่งนาฬิกาอัตโนมัติส่วนใหญ่ในปัจจุบัน น่าจะมีมาให้กันหมดแล้ว เพราะไม่ใช่ระบบที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบอะไรในแง่ของการสร้างจุดขายอีกต่อไปแล้ว สำหรับนาฬิกาที่ใช้ระบบเม็ดมะยมขันเกลียว ทันทีที่คุณหมุนคลายเกลียวออกมาจนสุดโดยที่ยังไม่ดึงเม็ดมะยม นั่นแหละคือ จังหวะที่คุณสามารถหมุนขึ้นลานได้ ส่วนนาฬิกาที่ไม่ได้มีระบบเม็ดมะยมขันเกลียวก็สามารถหมุนจากตำแหน่งปกตินั้นได้เลย

ปกติแล้วการ ขึ้นลานมือจะเป็นการหมุนเม็ดมะยมขึ้นไปทางด้านบน ซึ่งคุณจะสามารถรู้สึกได้ถึงความหนืดและตึงมือเล็กน้อย แต่ไม่ต้องห่วงอะไร ยกเว้นในกรณีที่รู้สึกว่าฝืดกว่าปกติอย่างชัดเจน หรือหมุนไปแล้วสัก 10 รอบหรือมากกว่านั้นอีกเล็กน้อย แต่เข็มวินาทียังไม่เดินสักที ตรงนั้นอาจจะเกิดความผิดปกติในตัวกลไกของนาฬิกาได้

Seiko Prospex SRPA79K1

4.ถ้าไม่ขึ้นลานมือแล้ว จะสำรองพลังงานด้วยวิธีอื่นได้หรือไม่

ได้ ถ้ามีงบก็ใช้กล่องหมุน แต่ถ้าไม่มีงบก็ใช้แรงมือนี่แหละ ด้วยการจับตัวเรือนนาฬิกาอยู่ในอุ้งมือ ถือในแนวที่ขนานกับพื้นแล้วค่อยๆ ขยับข้อมือเป็นวงกลมในแนวนอนไปในทิศทางเดียวกัน หรือสลับทิศบ้าง เพราะนาฬิกาบางรุ่นโรเตอร์อาจจะขึ้นลานแบบทางเดียว (Unidirectionally Winding Watch) โดยหมุนสัก 1-2 นาทีเพื่อให้เกิดการสะสมพลังงานในลาน ที่สำคัญไม่ควรเขย่าหรือนำนาฬิกามาทุบกับฝ่ามือ ซึ่งแม้ว่าจะทำเพียงเบาๆ แต่ด้วยความละเอียดอ่อนของชิ้นส่วนภายในกลไก อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้

5.จำเป็นต้องขึ้นลานมือบ่อยๆ หรือไม่

ไม่จำเป็น เพราะตามปกติสำหรับคนที่สวมนาฬิกาอยู่บนข้อมือนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน การเคลื่อนไหวของแขนหรือมือน่าจะมีจำนวนมากพอจนทำให้กลไกสามารถขึ้นลานจนเต็ม และมีกำลังสำรองตามที่นาฬิกาเรือนนั้นระบุอยู่ในสเปก ยกเว้นในกรณีที่คุณสวมในวันศุกร์ และไม่ได้สวมอีกเลยในวันหยุดสุดสัปดาห์ แถมนาฬิกาเรือนนั้นมีกำลังสำรองไม่มากพอที่จะข้ามวันเสาร์-อาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุด (ซึ่งปกตินาฬิกาบางรุ่นมีกำลังสำรอง 38-42 ชั่วโมงเท่านั้น) ก็อาจจะนำออกมาใส่ติดข้อสักหน่อยเพื่อเติมพลัง หรือไม่ก็ขึ้นลานมือในช่วงวันอาทิตย์ก็ได้ เพื่อให้นาฬิกากลับมามีกำลังมากพอที่จะผ่านมาจนถึงวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันทำงานและคุณจะต้องสวมนาฬิกาเรือนนั้นไปทำงาน

เหตุผลที่เราไม่แนะนำให้ขึ้นลานมือบ่อยครั้งก็เพราะว่าในขณะที่เราขึ้นลานมือนั้น กำลังจากการไขลานส่วนหนึ่งจะไปทำให้ระบบอัตโนมัติหมุนฟรีด้วยความเร็วรอบที่สูงกว่าการทำงานโดยปกติหลายเท่า และถ้าเราขึ้นลานด้วยมือบ่อยๆ อาจจะมีผลทำให้กลไกมีการสึกหรอกเร็วกว่าปกติ