หลังจากหายไป 2 ปี Seiko Prospex Zimbe กลับมาอีกครั้งด้วยรุ่นที่ 16 ซึ่งมีการเลือกนาฬิกา Mini Tuna มาแต่งเติมสีสันให้ดูโดดเด่นและทำให้ตัวนาฬิกาที่มีขนาดตัวเรือน 43.2 มิลลิเมตรมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะเป็นนาฬิกาแบบ Unisex ที่รองรับทั้งผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้
Seiko Prospex Zimbe No.16 SRPJ55K การกลับมาที่ไม่ธรรมดา
-
การกลับมาในรอบ 2 ปีของคอลเล็กชั่น Zimbe จาก Seiko ที่เปิดตัวมาแล้ว 15 ก่อนหน้านี้
-
ใช้พื้นฐานของรุ่น Mini Tuna กับขนาดตัวเรือน 43.2 มิลลิเมตรและขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติ 4R35
-
ผลิตเพียง 1,000 เรือนและมีราคาป้ายในเมืองไทยอยู่ที่ 26,800 บาท
ในฐานะที่ปวารณาตัวเองเป็นแฟน Seiko Tuna Can มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก และมุ่งเน้นไปที่ตระกูล Marinemaster ที่มีขนาด 49-50 มิลลิเมตรเท่านั้น การเปิดตัว Seiko Prospex Zimbe No.16 กับตัวเรือนของนาฬิกาที่ถูกเรียกว่า Mini Tuna จึงถูกผมเมินในบัดดลที่ได้เห็นสเป็กของตัวนาฬิกาโดยเฉพาะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง
เพราะเมื่อมองจากขนาดตัวเรือนที่มีไซส์แค่ 43.2 มิลลิเมตรกับตัวเรือนทรงกลมแบบขาสายกุดๆ แล้ว บอกคำเดียวว่าไม่รอดในแง่ที่ผมเอารสนิยมส่วนตัวมาเป็นตัวตั้งในการตัดสินใจ แต่ประโยคที่ว่า ‘อย่าเพิ่งตัดสินใจ จนกว่าจะได้ลอง’ คือ คำกล่าวที่สุดแสนจะอัจฉริยะตลอดกาล เพราะหลังจากที่ลองทาบ และขึ้นข้อดูแล้ว ทำให้มุมมองของผมต่อนาฬิกาเรือนนี้เปลี่ยนไปทันที
ก่อนที่จะไปถึงตัวนาฬิกา ขอเล่าเกี่ยวกับคอลเล็กชั่น Zimbe ของ Seiko สักเล็กน้อย เพราะนี่คือคอลเล็กชั่นที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับที่เว็บไซต์ Ana-digi.com ถือกำเนิดขึ้น มันก็เลยทำให้นาฬิกาจากคอลเล็กชั่นนี้เป็นเหมือนกับเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและมีความพิเศษอยู่ในใจผมเสมอ Seiko เปิดตัว Zimbe ในเดือนกรกฎาคม 2016
พร้อมกับการเปิดตัวแบรนด์ แอมบาสเดอร์ที่เป็นคนไทยคนแรก นั่นคือ อนันดา เอเวอริ่งแฮม ช่วงแรกของการทำตลาด เจ้าฉลามวาฬเปิดตัวออกมาทั้งหมด 15 รุ่นก่อนที่จะเจอกับสภาวะ COVID-19 ระบาดจนทำให้การเดินทางของมันต้องหยุดลง และในตอนนั้น สารภาพเลยว่า ผมคิดว่า Seiko น่าจะหยุดกับโปรเจ็กต์นี้ละ เพราะเวอร์ชันหลังๆ เริ่มได้รับการตอบรับไม่มากเท่ากับเวอร์ชันแรกๆ
อย่างไรก็ตามหลังฟ้าเปิด และคนเริ่มเดินทางกันอีกครั้ง เจ้าฉลามวาฬก็เริ่มขยับตัวในการออกเดินทางอีกครั้ง ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการเปิดตัวภาคใหม่ของ Zimbe Collection ที่มาพร้อมกันทีเดียว 2 เรือน คือ No.16 ในรหัส SRPJ55K และ No.17 ในรหัส SRPJ29K ซึ่งรุ่นหลังเปิดตัวแล้วก็จริงแต่กว่าจะเริ่มวางขายต้องไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม ส่วน No.16 เปิดตัวก่อนและทำตลาดก่อน พร้อมกับปลุกกระแสของ Zimbe ให้กลับมาฮ็อตได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งการหายหน้าไปสักระยะ น่าจะมีผล แต่อีกเหตุผลคือ ตัวนาฬิกาเอง
ในส่วนของตัวนาฬิกานั้น ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะชอบนาฬิกาทรงกระป๋องอย่าง Tuna Can แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาเมินคือ ตัวเลขของเส้นผ่านศูนย์กลางและความหนา ที่ทำให้เวลาอยู่บนข้อมือแล้วอาจจะไม่ถูกจริตคนส่วนใหญ่ ดังนั้น มันก็เลยมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงด้วยการเพิ่มรุ่นใหม่ๆ ที่อ้างอิงงานดีไซน์สุดคลาสสิคจากปี 1975 ของ Seiko เอาไว้
และเป็นที่มาของนาฬิกาอย่าง Baby Tuna, Digital Tuna, Solar Tuna และอีกสารพัด ก่อนที่จะมาถึง Mini Tuna ที่น่าจะเรียกว่าเป็นนาฬิกาทรง Tuna Can ซึ่งใช้กลไกอัตโนมัติที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยที่สุดเท่าที่มีอยู่ในตลาด ณ ตอนนี้ นั่นคือ 43.2 มิลลิเมตร เพราะอีกรุ่นแม้ว่าจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40.4 มิลลิเมตรแต่ก็เป็นควอตซ์แบบ Solar
43.2 มิลลิเมตร ถ้าดูแค่ตัวเลขไม่นึกถึงรูปทรง บอกเลยใครก็ว่าใหญ่ แต่สำหรับนาฬิกาทรงกลมแบบแทบไม่มีขาสายอย่าง Tuna Can นั้น ตัวเลขขนาดนี้ไม่ถือว่าใหญ่อะไรมากมาย เพราะเมื่อวางอยู่บนข้อมือ ในแนวขวางที่อาศัยเส้นผ่านศูนย์กลางเป็นตัวชี้วัดนั้น อาจจะพอได้ แต่เมื่อดูในแง่ของ Lug to Lug ที่วัดจากบนลงล่างในตำแหน่ง 12 ไปยัง 6 นาฬิกาของตัวนาฬิกา ตัวเลขแค่นี้ถือว่าค่อนข้างน้อยมากสำหรับข้อมือของผู้ชายปกติที่มีขนาดราวๆ 6.5-7 นิ้ว
อันนี้คือ การบอกเล่าตามจินตนาการและประสบการณ์ของผมเอง ที่เคยสัมผัสกับทั้ง Emperor Tuna, Darth Tuna ไล่มาจนถึง Tuna Can Quartz 300m และคิดว่านาฬิกา 2 รุ่นแรกนั่นแหละเหมาะกับข้อมือผมสุดๆ
เอาละถ้าตัดเรื่องที่ผมบ่นข้างบนออกไป ผมกำลังจะบอกว่านาฬิกาทรง Tuna Can มันให้อารมณ์ในการใส่คล้ายกับนาฬิกาทรงสี่เหลี่ยมอย่าง Bell&Ross นั่นละครับ แต่เป็นในด้านตรงกันข้ามกัน สำหรับนาฬิกาทรงเหลี่ยมอารมณ์ที่ได้จะเป็นเรื่องของขนาดที่ดูใหญ่ขึ้นจากตัวเลขที่ผู้ผลิตบอกมา เช่น นาฬิกาไซส์ 39 มิลลิเมตรของตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยม แต่เอาเข้าจริงเวลาขึ้นข้อให้ความรู้สึกเหมือนกับนาฬิกาไซส์ 42-43 มิลลิเมตรเลย
แต่สำหรับทรงกลมแบบไม่มีขาสายหรือขาสายสั้นมากๆ ด้วยพื้นที่ตัวเรือนไม่ได้มีเยอะและบานออกทางด้านข้าง ดังนั้น ตัวเลข 43.2 มิลลิเมตรของนาฬิกาเรือนนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเล็กลงเวลาขึ้นข้อ ผมว่าเหมือนตัวเองใส่นาฬิกาไซส์ต่ำกว่า 40 มิลลิเมตร
ที่สำคัญคือ นาฬิการุ่นนี้ไม่หนา มีตัวเลขแค่ 12.7 มิลลิเมตร ดังนั้น ความหนาของตัวเรือนที่เป็นข้อด้อยอีกจุดซึ่งทำให้คนไม่ชอบตัวเรือนทรงกระป๋องอย่าง Tuna Can ก็เลยหายไป สรุปคือ นาฬิกาเรือนนี้ใส่ได้ทั้งคนข้อมือเล็กและใหญ่แบบขัดเขิน เรียกว่าเป็น Tuna Can ในแบบ Unisex ที่เหมาะกับทั้งผู้ชายและผู้หญิงอย่างแท้จริง
นั่นคือเหตุผลข้อแรกที่ผมคิดว่ามีส่วนช่วยในการสร้างกระแสให้กับ Zimbe No.16 และ Seiko Thailand ฉลาดมากที่เลือกใช้นาฬิกาเรือนนี้เป็นตัวเปิดเกมภาค 2 ของ Zimbe เพราะสามารถเจาะลูกค้าได้ 2 กลุ่ม และขนาดตัวเรือนที่เล็กลงยังเหมาะกับบริบทของตลาดนาฬิกาที่เทรนด์คนส่วนใหญ่เริ่มมองหานาฬิกาที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ซึ่งตัวผมเองก็คิดเช่นนั่นด้วย จึงค่อนข้างโอเคกับ Zimbe No.16
และตรงนี้พิสูจน์มาแล้วระดับหนึ่งกับการนำนาฬิการุ่น Mini Tuna มาใช้กับ Save the ocean รุ่น Antarctica ทั้งเพนกวินกลางวัน และกลางคืน ซึ่งตัวนาฬิกาได้รับการตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี
อีกเรื่องคือ การจับชุดคู่สีที่เน้นความสวยและสะดุดตา เรียกว่าถูกใจทั้งชายและหญิง การเลือกสีเทากับส้มเข้มๆ ออกแดง ในฐานะคู่สีนั้น คือ การตัดกันอย่างลงตัวและทำให้นาฬิกาเรือนนี้ดูสะดุดตาเวลาอยู่บนข้อมือ องค์ประกอบที่ถูกจัดวางอยู่ทั้งสาย สเกลบนขอบตัวเรือน และหน้าปัด คือ การรวมกันที่ลงตัวและดูดีอย่างไม่น่าเชื่อ
แน่นอนว่าตรงนี้ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็คิดแล้วเอามาทำโดยปราศจากสารตั้งต้นหรือคอนเซ็ปต์ของตัวนาฬิกา โดยทาง Seiko Thailand ให้เหตุผลว่า สีเทาที่ถูกนำมาใช้นั้นก็คือ โดยผิวของฉลามวาฬที่มีความเหนียวกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ โดยผิวชั้นนอกถูกปกคลุมทับซ้อนกันระหว่างเกล็ดแข็ง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายสารเคลือบฟัน มีหน้าที่เป็นเสมือนชุดเกราะ
โดยเกล็ดแต่ละอันมีขนาดกว้าง 0.5 มิลลิเมตร ยาว 0.75 มิลลิเมตร หนังชั้นในถัดลงไปจะเป็นเนื้อเยื่อ เกี่ยวพันซึ่งมีความหนาถึง 14 เซนติเมตร คล้ายกันกับโครงสร้างของตัวเรือน Seiko Prospex Zimbe No.16 ที่มาในทรงของตัวเรือนที่แฟนๆ เรียกกันว่า Mini Tuna ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความทนทาน แข็งแกร่ง พร้อมประสิทธิภาพในการกันน้ำที่เป็นเลิศ
อีกจุดที่ผมค่อนข้างชอบสำหรับ Zimbe No.16 คือ ขอบตัวเรือนที่แม้ว่าจะใช้อินเสิร์ตที่ผลิตจากอะลูมิเนียม แต่การเซาะร่องลงบนพื้นผิวเพื่อทำให้สเกลดูมีมิติเหมือนกับที่ใช้ใน Save the ocean Antarctica นั้น ผมว่าเป็นไอเดียที่ดีมากกว่าการเลือกใช้อินเสิร์ตที่เป็นวงเรียบๆ เหมือนกับนาฬิกาทั่วไป และแตกต่างจาก Mini Tuna ที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ทั้งในเวอร์ชัน Street Series และรุ่นปกติอย่างชัดเจน
เอาเป็นว่าในแง่ของการสวมใส่ และอารมณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่านาฬิกาดูลงตัวที่สุด ผมว่าข้อมือระดับ 5-6.5 นิ้วจะดูดีที่สุด เพราะอย่างที่บอกนาฬิการุ่นนี้ขาสายสั้น Lug to Lug ที่ได้ก็เลยต่างจากเส้นผ่านศูนย์กลางไม่มากนัก ซึ่งตามสเป็กของ Seiko ก็อยู่ที่ 44 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง
นาฬิการุ่นนี้มากับกลไกอัตโนมัติที่คุ้นเคยกันดีในรหัส 4R35 ซึ่งมีเพื่อนร่วมตระกูลอย่าง 4R36 แต่เป็นแบบรุ่นที่มีแค่ Date หรือวันที่ ส่วนในเรื่องการใช้งานก็ไม่ยุ่งยากอะไร มีความทนทาน เชื่อใจได้ และมีระดับกำลังสำรองที่รับได้กับช่วงราคาบวกลบ 20,000 บาท นั่นคือ 41 ชั่วโมง
นอกจากเรื่องการออกแบบตัวนาฬิกาให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์กการเดินทางของเจ้าฉลามวาฬแล้ว ทาง Seiko เองยังมองเห็นความสำคัญในเรื่องการใช้วัสดุที่มีส่วนช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก ด้วยการใช้วัสดุที่มาจากการนำขยะพลาสติก กลับมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก และฉีดขึ้นรูปเป็นกล่อง Zimbe โดยใช้เทคนิคการฉีดพลาสติกที่ทำให้เกิดลวดลายแบบคลื่นทะเลและมีความสวยงามที่แตกต่างกันออกไปไม่เหมือนกันในแต่ละกล่องด้วยความตั้งใจที่อยากช่วยลดขยะพลาสติกทางทะเลและนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์
อีกทั้งรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนาฬิกา Seiko Prospex Zimbe Limited Edition จะถูกนำไปต่อยอดโครงการ Save the oceanเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ท้องทะเลไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ต่อไป
บทสรุปของนาฬิกาเรือนนี้ คงต้องบอกว่าถ้าคุณตามเก็บคอลเล็กชั่น Zimbe มาตั้งแต่รุ่นแรก ยังไงก็ต้องเสียเงินเพื่อไปต่อและเก็บให้ครบ แต่สำหรับขาจร อย่างผมเป็นต้น กับค่าตัว 26,800 บาทของ Seiko Prospex Zimbe No.16 ถือว่าคุ้มค่าไหม ส่วนตัวผมถือว่ารับได้นะครับ เพราะเมื่อลองเปรียบเทียบกับนาฬิกาในกลุ่ม Prospex ที่ใช้กลไกอัตโนมัติในตระกูล 4R เราจะเห็นได้ว่ามีตั้งแต่หมื่นปลายๆ ไปจนถึงระดับเกือบ 30,000 บาทก็ยังมีขึ้นอยู่กับรุ่น
ดังนั้น กับราคานี้และสิ่งที่ได้มาทั้งในเรื่องของความสวย ความพิเศษในแบบ Limited Edition ที่มี 1,000 เรือน แพ็คเกจที่สวยงาม และที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือโครงการดีๆ ในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ส่วนต่างในระดับ 4,000 บาทนิดๆ เมื่อเปรียบเทียบกับ Save the ocean Antarctica ทั้ง 2 รุ่น ไม่ถือว่าเป็นประเด็นให้ต้องกังวลอะไร ถ้าชอบก็จัดได้เลยครับ
ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Prospex Zimbe No.16 SRPJ55K
- เส้นผ่านศูนย์กลาง: 43.2 มิลลิเมตร
- หนา: 12.6 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน: ผลิตจากสเตนเลสสตีลประกอบกับเคสป้องกันตัวเรือนแบบสองชั้น
- วัสดุสาย: สายซิลิโคน
- กระจก : ฮาร์ดเล็กซ์ / ฝาหลังแบบขันเกลียว
- กลไก: 4R35 อัตโนมัติ
- ความถี่: 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
- กำลังงานสำรอง: 41 ชั่วโมง
- การกันน้ำ: 200 เมตร
- จำนวนการผลิต: 1,000 เรือน
- ประทับใจ : รูปลักษณ์และขนาด การเลือกใช้สีสันบนหน้าปัด ขอบตัวเรือนและสาย แพ็คเกจของนาฬิกา
- ไม่ประทับใจ : ไม่มี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline