Seiko Prospex Zimbe No.13 SRPE14K การกลับมาของ Baby Tuna

0

การเดินทางของ Zimbe Collection ที่มาถึงหมายเลข 13 แล้ว แน่นอนว่าเรายังประทับใจกับเรื่องของการออกแบบและการเลือกนาฬิกามาใช้ในการผลิตเป็นรุ่นพิเศษในครั้งนี้ แต่ก็ยังอดที่จะเปรียบเทียบกับรุ่นพี่อย่างหมายเลข 8 ที่ใช้ Baby Tuna มาเป็นพื้นฐานในการผลิตไม่ได้

Seiko Prospex Zimbe No.13 SRPE14K
Seiko Prospex Zimbe No.13 SRPE14K

Seiko Prospex Zimbe No.13 SRPE14K การกลับมาของ Baby Tuna

  • หมายเลข 13 ของคอลเล็กชั่น Zimbe ซึ่งเปิดจองในเมืองไทยวันที่ 21 กุมภาพันธ์

  • ใช้พื้นฐานของนาฬิการุ่น Baby Tuna มาพร้อมกับสายเหล็ก และมีสายยางแถมมาให้ในชุด

  • จำหน่าย 26,000 บาท และมีการผลิตออกสู่ตลาด 999 เรือน

- Advertisement -

ไม่รู้ว่าเพราะอาถรรพ์ของเลข 13 หรือเปล่า งานนี้ Seiko Prospex Zimbe หมายเลข 13 รหัส SRPE14K เจอขวากหนามเข้าไปเต็มๆ เพราะหลังจากเปิดตัวขายได้เพียงไม่นาน ชนิดที่ยังทำยอดขายไต่ขึ้นไม่เต็มที่ก็ต้องมาเจอกับการระบาดของ COVID-19 ที่ทำเอาทุกอย่างหยุดชะงัก ห้างปิด และทุกเคาน์เตอร์จำเป็นต้องปิดตาม เช่นเดียวกับ Official Store ที่เซ็นทรัล พระราม 9 ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการได้เพียงไม่นาน

แต่เอาเข้าจริงๆ นะครับ กับ Seiko Thailand แล้ว ส่วนตัว…ผมคิดว่าผลกระทบมีแน่ๆ แต่คงไม่อ่วมเหมือนกับแบรนด์อื่นๆ เพราะด้วยวิธีคิดในแง่การขายของพวกเขาที่ไม่ได้มองแค่ช่องทางขายออฟไลน์เหมือนกับที่ผ่านมานั้น ทำให้ Seiko มีความได้เปรียบในเรื่องช่องทางการเข้าถึงลูกค้า

อย่างไรหน่ะหรือ ? ตัวอย่างที่เห็นก็คือ Seiko มีทั้งการเปิดตัว Online Flagship Store ใน Lazada การเปิดรับจองนาฬิกาบางรุ่นผ่านทาง Inbox ใน Facebook ของตัวเอง การใช้กลยุทธ์เชิงรุกแบบเข้าถึงตัวลูกค้าที่เป็น Exclusive ซึ่งพนักงานขายตามเคาน์เตอร์มี Lead Account อยู่แล้ว

ขณะที่ตัวแทนจำหน่ายของพวกเขาที่ใช้พวกหลากช่องทางหรือ Omni-channel ในการเข้าถึงลูกค้า ทั้งหน้าร้านของตัวเอง สื่อออนไลน์ และกลุ่มสมาชิกใน Facebook ที่มีคนอยู่ข้างในหลายหมื่นคน

ดังนั้น ถึงบางแผนกของบริษัทจะ WFH แต่งานขายไม่หยุดชะงักแน่ๆ และแน่นอนว่า ดีไม่ดีแนวทางเหล่านี้อาจจะเป็น New Normal สำหรับการขายของตลาดนาฬิกาเมืองไทยในยุคหน้าก็เป็นได้ หลังจากที่หลายแบรนด์พยายามจะปฏิเสธช่องทางออนไลน์มาโดยตลอด

บ่นมาเสียเยอะ กลับมาดูที่ตัวนาฬิกากัน สำหรับ Seiko Prospex Zimbe หมายเลข 13 รหัส SRPE14K ถือว่ามาในช่วงเวลาคาบเกี่ยวแห่งความเป็นความตายของประชนแห่งประเทศไทยอย่างแท้จริง เพราะจริงอยู่ที่ว่านาฬิการุ่นนี้เปิดตัวก่อนเกิดการระบาดหนักชนิดที่ต้องล็อกดาวน์ แต่ Seiko มีเวลาเพียง 1 เดือนเศษๆ เท่านั้นในการกวาดยอดขายผ่านช่องทางออฟไลน์ของพวกเขา

แต่ส่วนตัวผมก็เชื่อว่ากระแสไปได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะอานิสงส์ของรุ่นที่แล้ว คือ Zimbe No.8 หรือรหัส SRPC96K ทำเอาไว้ได้ดีเลยทีเดียว และกลายเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งมือหนึ่งและมือสอง ชนิดที่เรียกว่าตั้งร้านขายปุ๊บไปปั๊บ…และเมื่อ SRPE14K เปิดตัว หลายคนก็เลยเลือกเล็งเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะอาจจะเนื่องด้วยเหตุผลนี้

Seiko เปิดตัว Zimbe มาถึง 13 รุ่นนับจากปี 2017 ซึ่งส่วนตัวผมไม่คิดว่าจะมาไกลถึงขนาดนี้ แต่นี่ถือเป็น Thailand Limited Edition ยอดนิยมอีกรุ่นของบรรดา Seikomania โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ Seiko จับเอา Baby Tuna นาฬิกายอดฮิตที่สร้างกระแสนาฬิกาดำน้ำราคาหมื่นต้นๆ ได้เป็นอย่างดีในช่วงที่รุ่นธรรมดาเปิดตัวเมื่อปี 2015 เพื่อเข้ามาแทนที่รุ่น Sardine และบอกก่อนเลยว่า

ผมเป็นพวกติดกระป๋องของพวกเขา ดังนั้น อะไรก็ตามที่มีกลิ่นอายและสืบสานแนวคิดมาจากพี่ใหญ่อย่างพวก Tuna Can จะได้แต้มต่อในแง่ของความชื่นชมจากผมเป็นพิเศษ และ SRPE14K ก็เช่นกัน

ในแง่เชิงเทคนิคของตัวนาฬิกานั้น SRPE14K ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างไปจากเพื่อนร่วมเจนเนอเรชั่นที่ผมค่อนข้างสงสัยเหมือนกันว่า ทำไม Seiko ไม่ค่อยเน้นในการเพิ่มรุ่นย่อยออกสู่ตลาดของ Baby Tuna เหมือนกับพวก Turtle หรือ Samurai จนเหมือนกับลูกเมียน้อยยังไงก็ไม่รู้ ทั้งที่ในช่วงที่เปิดตัวใหม่ๆ เรียกว่าฮิตชนิดที่ของลงแป๊บเดียวหมดเกลี้ยง โดยเฉพาะตัวเข็มนาทีสีเหลือง SRP639

จะเป็นเพราะขนาดตัวเรือนที่ค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากตัวเลขของเส้นผ่านศูนย์กลาง 48 มิลลิเมตรก็ไม่น่าจะใช่ เพราะ Baby Tuna เป็นพวกนาฬิกาขาสั้น Lug to Lug ไม่ยาว และตัวเรือนก็ไม่ได้หนา (13.77 มิลลิเมตร) เหมือนกับพวกพี่ๆ อย่างตระกูล 1,000 เมตร ดังนั้น ความง่ายในการใส่กับทุกข้อมือในระดับ 6.5 นิ้วขึ้นไป ไม่น่าจะเป็นปัญหาใดๆ

แถมส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างชอบที่พวกเขาเปลี่ยนเกราะหรือ Shroud จากรุ่น Sardine ที่เป็นพลาสติกมาเป็นเหล็กในรุ่นนี้ ซึ่งให้ความรู้สึกในแง่ของความทนทานแม้ว่าน้ำหนักอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ก็แค่นิดหน่อยเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว ในมุมของผมนี่คือ ทางเลือกที่ทำให้พวก 300 เมตรควอตซ์ของ Tuna Can ต้องกระอักกระอ่วนใจ เพราะรูปทรงคล้ายกัน ขนาดตัวเรือนใส่ง่ายพอกัน แต่ใช้กลไกอัตโนมัติ (ที่คนนิยมกว่า) และไม่ต้องจ่ายแพงอย่างน้อยก็เกือบ 3 เท่า (เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นธรรมดา) เพื่อแลกกับคำว่า Marinemaster บนหน้าปัด และตัวเลขดำน้ำที่เพิ่มขึ้นอีกแค่ 100 เมตร

แต่อันนี้หมายถึงในแง่ของกายภาพเพียวๆ นะครับ ไม่เกี่ยวกับเรื่องของ Passion ของแต่ละบุคคล

สำหรับผมแล้วในประเด็นของภาพรวมและขนาดของตัวนาฬิกา สอบผ่านหมด แต่เมื่อ Baby Tuna รุ่นไหนเปิดตัวออกมาก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับ SRPE14K ที่มาพร้อมกับสตอรี่ที่ Seiko Thailand สร้างขึ้นมาในการเป็นคอนเซ็ปต์ของการออกแบบ

‘ฉลามวาฬลำดับที่ 13 จากแรงบันดาลใจแห่งจินตนาการของการเดินทางไกลสู่ท้องทะเลสีทองที่ไม่มีใครเคยได้พบ แหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรที่ตกกระทบกับพระอาทิตย์ยามเช้า สาดส่องลงมากระทบกับผิวท้องทะเลเป็นประกายสีทองระยิบระยับ จนเกิดเป็นความสวยงามดุจท้องทะเลในเทพนิยายที่จะมีเพียงนักเดินทางแห่งท้องทะเลเท่านั้นที่สามารถค้นพบมหาสมุทรอันสวยงามแห่งนี้’

นี่คือคำอธิบายของแนวทางการตกแต่งซึ่งเป็นที่มาของสีทองที่เป็นสีหลักในการตกแต่งครั้งนี้

ส่วนตัวแล้วผมว่าเป็นนาฬิกาที่สวยรุ่นหนึ่ง แต่ถ้าต้องเปรียบเทียบกับรุ่นพี่อย่าง SRPC96K แล้วต้องเลือกแล้ว ใจผมก็ยังเทไปที่เจ้าหมายเลข 8 เพราะว่าหมายเลข 13 จืดไปนิดในเรื่องของการใช้โทนสี เพราะด้วยความที่ทุกอย่างทองอร่ามไปหมดทั้งตัวเกราะ ขอบตัวเรือน และหน้าปัดที่ออกโทนสีแชมเปญ

เมื่อรวมถึงตัวเรือนและสายสีเงินแล้ว ผมว่ามันทำให้ความอร่ามของสีทองลดลงไปหน่อย แม้ว่าบนหน้าปัดจะมีเข็มวินาทีสีแดงที่สื่อถึงความโชคดีเข้ามาดึงดูดสายตา แต่ก็ยังมีพลังไม่มากพอ

Seiko Prospex Zimbe No.13 SRPE14K

Seiko Prospex Zimbe No.13 SRPE14K

Seiko Prospex Zimbe No.13 SRPE14K

แต่ถ้าคุณไม่ต้องเปรียบเทียบ…คุณก็ไม่ผิดหวังในการเลือก

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมยังชื่นชอบ Baby Tuna และเข้าหมายเลข 13 คือ การใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยๆ ที่อยู่บนหน้าปัด การคงตัวเลขวินาทีบนหลักชั่วโมงยังเป็นอะไรที่ผมชอบมาก (และรู้สึกเสียดายมากกับเจ้า Butterfly Fish ที่เป็น LE ของ Baby Tuna ซึ่งเปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ ดันไม่มีตรงนี้บนหน้าปัด) และอีกสิ่งคือ การใส่แพทเทิร์นหกเหลี่ยมบนหน้าปัด ซึ่งตอนแรกบอกเลยว่าค่อนข้างขัดใจ แต่พอดูไปนานๆ ลวดลายตรงนี้ทำให้ลดทอนความไม่ชอบ (ส่วนตัว) เรื่องการเล่นแสงเพราะลาย Sunray บนหน้าปัดลงไปได้เยอะ และไม่ทำให้ดูโล่งจนเกินไป

เหมือนกับหลายรุ่นที่ผ่านมา การตั้งราคาเอาไว้ถึง 26,000 บาทซึ่งแพงกว่า Baby Tuna รุ่นธรรมดาร่วมหมื่นบาท โดยที่หน้าตาและกลไกยังเป็น 4R36 เหมือนเดิมนั้น ทาง Seiko ต้องมีคำตอบให้กับลูกค้าว่า ส่วนต่างนี้ไปลงที่อะไรบ้าง

อย่างแรกนอกจากเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มันเป็นรุ่นพิเศษสำหรับตลาดเมืองไทย และอย่างที่ 2 คือ การปรับเปลี่ยนสีสันบนเกราะ ขอบตัวเรือน หน้าปัด และชุดเข็มแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การอัพสเป็กของกระจกจากแบบ Hardlex ในรุ่นธรรมดามาเป็น Sapphire พร้อมกับเลนส์ขยายที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกาสำหรับช่อง Day/Date ฝาหลังมีการยิงเลเซอร์ลวดลายเจ้าฉลามวาฬ และหมายเลขประจำเรือนจากจำนวนการผลิตทั้งหมด 999 เรือน สายยางสำรองในเซ็ตที่มากับตัวรัดสายและบัคเคิลสีทองเข้ากับตัวนาฬิกา และแพ็คเกจที่สุดอลังการ

Seiko Prospex Zimbe No.13 SRPE14K

ถามว่าคุ้มไหม แน่นอนว่าถ้าคุณเดินทางตามเจ้าฉลามวาฬตัวนี้มาตั้งรุ่นเต่าอนันดา หรือรุ่นแรก ยังไงมันก็เป็นไฟท์บังคับที่จะต้องเดินตามต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดทางเดิน แต่ถ้าเป็นขาจรที่เพียงแต่อยากได้ Baby Tuna สักเรือน ยังไงผมก็ว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะอย่างที่บอกถ้าไม่เปรียบเทียบกับรุ่นพี่หมายเลข 8 แล้ว เจ้าหมายเลข 13 ก็มีเอกลักษณ์และความสวยในแบบของตัวมันเอง

เพียงแต่ส่วนลดที่ Seiko มอบให้ตอนช่วงที่เปิดตัวนั้น ผมว่ามันไม่ค่อยช่วยในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

ขอบคุณ : Excel-Watch.com

ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Prospex Zimbe No.13 SRPE14K

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 48 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 51 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 13.77 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : Stainless Steel
  • สาย : Satinless Steel / ซิลิโคน
  • กระจก : Sapphire พร้อมเลนส์นูน
  • กลไก : อัตโนมัติรหัส 4R36 Day/Date
  • ความถี่ในการเดิน : 21,600 ครั้ง/ชั่วโมง หรือ 6 ครั้งต่อวินาที
  • ความเที่ยงตรง : +45 ถึง -35 วินาทีต่อวัน
  • สำรองพลังงาน : 41 ชั่วโมง
  • กันสนามแม่เหล็ก : 4,800 A/m
  • ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
  • ประทับใจ : รูปทรงโดยรวมของนาฬิกาในสไตล์ Tuna Can / ขนาดที่ลงตัวบนข้อมือ
  • ไม่ประทับใจ : การให้สีสันที่เป็นโทนอ่อนจนดูกลืนกัน