10 ปีผ่านไปหลังจากที่ Rolex ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Deepsea ในการลงสู่ใต้ท้องทะเลที่ลึกที่สุดของโลก ในตอนนี้นาฬิกาต้นแบบได้ถูกพัฒนาและปรับปรุงเพื่อการใช้งานจริงแล้ว และ Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge RLX Titanium ได้ถูกเปิดตัวออกมาแล้ว
Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge RLX Titanium 10 ปีแห่งการรอคอยสู่ความเป็นจริง
-
นาฬิกาที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อจำหน่ายจากรุ่นต้นแบบที่มาจากโปรเจ็กต์ Deepsea Challenge ในปี 2012
-
ตัวเรือนขนาด 50 มิลลิเมตรผลิตจากวัสดุอย่าง RLX Titanium พร้อมกลไก 3230 จาก Submariner ใหม่
-
มีความสามารถในการกันน้ำสูงสุด 11,000 เมตร
จากการสำรวจครั้งยิ่งใหญ่ ณ จุดที่ลึกที่สุดใต้ท้องทะเลซึ่งเกิดขึ้นในปี 2012 Rolex ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับทีมสำรวจในการผลิตและพัฒนานาฬิการุ่นพิเศษเพื่อส่งมอบความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นในการทำงานให้กับ James Cameron ในฐานะหัวหน้าโปรเจ็กต์ นาฬิกาเรือนนี้ไม่ได้มีการผลิตเป็นรุ่นสำหรับวางขายในตลาด จนกระทั่งต้องรอกันนานถึง 10 ปี จึงมีผลผลิตที่เกี่ยวพันกับความสำเร็จในครั้งนั้นออกมา นั่นคือ Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge RLX Titanium
เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสำเร็จในการสำรวจโลกของบรรดานักผจญภัยชื่อดังนั้น Rolex เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่เสมอ นับตั้งแต่การพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ถือว่าเป็นจุดสูงสุดของโลก ไปจนถึงการผจญภัยใต้ท้องทะเลที่มีจุดเริ่มต้นในทศวรรษที่ 1950
ก่อนที่จะมาสร้างสถิติใหม่ในตอนนั้นกับโปรเจ็กต์ Deepsea Challenge ที่มีผู้กำกับชื่อดัง James Cameron เป็นผู้นำทีม และในวันที่ 26 มีนาคม ปี 2012 พวกเขาลงไปสู่จุดที่ลึกที่สุดใต้ท้องทะเลของโลกอย่าง Mariana Trench ก่อนที่จะทำสถิติด้วยตัวเลขความลึก 10,980 เมตร ซึ่งในโปรเจ็กต์นี้ Rolex ผลิตนาฬิกาต้นแบบเพื่อการใช้งานออกมาด้วย
ในวาระของการครบรอบ 10 ปีแห่งการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ได้นำมาสู่การผลิตนาฬิกาเรือนพิเศษที่มีกลิ่นอายและแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่แล้ว นั่นคือ Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge RLX Titanium Ref.126067 พร้อมความสามารถในการกันน้ำถึง 11,000 เมตร ที่สำคัญคือ มากับตัวเรือนไทเทเนียม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ Rolex ผลิตนาฬิกาแบบ Full Titanium ทั้งตัวเรือนและสายออกมาจำหน่ายในตลาด
นี่คือ The Ultimate watch of the deep ซึ่งก็คงเคลมได้อย่างเต็มที่ เพราะ ณ ปัจจุบัน แม้แต่คู่แข่งที่ผลิตออกมาอย่าง OMEGA Seamaster Planet Ocean Ultra Deep ซึ่งมีจุดกำเนิดที่คล้ายกันนั้นก็ยังมีความสามารถในการกันน้ำของรุ่นผลิตขายจริงเพียงแค่ 6,000 เมตรเท่านั้น ขณะที่แม้ว่าตัวเลขจะถูกระบุอยู่เท่านี้ แต่ทว่าในแง่ของการทดสอบกับทาง Comex (Compagnie Maritime d’Expertises)
ซึ่งเป็นพันธมิตรในการทำงานกับ Rolex นั้น ตัวเลขในการกันน้ำจะมีมากกว่า ด้วยมีความสามารถในการกันน้ำมากถึง 13,750 เมตร หรือ 45,112 ฟุต ซึ่งเป็นตามการทดสอบในด้านความปลอดภัยในแง่ความสามารถในการกันน้ำที่จะต้องมีความสามารถเพิ่มขึ้นอีก 25% จากตัวเลขที่อ้างอิงอยู่บนตัวนาฬิกา
สำหรับตัวเรือนผลิตจาก RLX Titanium เป็นไทเทเนียมเกรด 5 ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาด้วยเทคนิคเฉพาะของ Rolex รังสรรค์ขึ้นเพื่อให้มีน้ำหนักที่เบาและมีความทนทานต่อการเปลี่ยนรูปทรงและการขึ้นสนิม ต่างจากรุ่นที่ Cameron ใช้ ซึ่งเป็นสแตนเลสสตีล 914L
ตัวเรือนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 มิลลิเมตร และความหนาในระดับ 23 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับรุ่นต้นแบบที่ผลิตออกมาในปี 2012 แต่ทว่าในรุ่นผลิตจริงมีน้ำหนักเบากว่าถึง 30% พร้อมกับมีการอัพเดทรายละเอียดหลายจุดเพื่อให้สอดรับกับยุคสมันที่เปลี่ยนไป
เช่น กระจก Sapphire ที่มีความหนาลดลง เพียง 9.5 มิลลิเมตรเท่านั้นแต่ทว่ามีความสามารถในการทนต่อแรงกดของน้ำที่เกิดขึ้นใต้ความลึกในระดับ 11 กิโลเมตร ขณะที่ระบบปรับสายหรือ Glidelock และ Fliplock ก็สามารถรองรับกับการใช้งานกับชุดดำน้ำลึกในปัจจุบันที่มีความหนาถึง 7.5 มิลลิเมตร ขณะที่ระบบป้องกันและการควบคุมแรงดันในตัวเรือนนาฬิกาหรือ Ringlock ก็ให้ความมั่นใจในการป้องกันแม้ว่าจะใช้งานใต้น้ำในระดับที่ลึก
ขอบหน้าปัด Deepsea Challenge แบบหมุนได้ทิศทางเดียวและมาพร้อมกับขอบหน้าปัด Cerachrom ที่มีขั้นบอกเวลา 60 นาที ช่วยให้การอ่านเวลาขณะอยู่ใต้น้ำทำได้สะดวก สำหรับขอบหน้าปัดนั้นจะหมุนไปในทิศทางเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการหมุนโดยไม่ตั้งใจซึ่งอาจทำให้เวลาในการดำน้ำคลาดเคลื่อนได้ ขอบหน้าปัดนี้ทำจากเซรามิกสีดำที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งผ่านการพัฒนาและจดสิทธิบัตรโดย Rolex สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังคงสีสันที่งดงามตลอดเวลาและไม่เปลี่ยนสภาพแม้เผชิญกับแสงแดด
เมื่อพลิกฝาหลังเราจะมาแบบเรียบๆ แต่มีข้อความที่ระลึกถึงการทำงานของพวกเขาที่มีส่วนร่วมกับ Deepsea Challenge ในปี 2012 โดยจะมีคำว่า “Mariana Trench” และวันในการทำงาน “23-01-1960” และ “26-03-2012” ถูกสลักลงไปตรงขอบรอบนอกของฝาหลัง
ขณะที่บนตัวเรือนฝั่ง 9 นาฬิกาจะมี Helium Escapement Valve สำหรับใช้ในการระบายก๊าซ Helium ที่อาจจะแทรกเข้าไปอยู่ข้างในของตัวนาฬิกาได้ในขณะที่นักดำน้ำใช้ชีวิตใน Chamber หรือที่พักใต้น้ำในระหว่างปฏิบัติงานหลายๆ วัน ซึ่งระบบนี้เป็นสิ่งที่ Rolex คิดค้น พัฒนา และจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี 1967
กลไกที่ใช้ในการขับเคลื่อนสามารถตอบสนองความเชื่อมั่นทั้งในเรื่องความทนทานและเที่ยงตรง เป็นกลไกอัตโนมัติ In-House 3230 ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีกับการเปิดตัวกับรุ่น Submariner ใหม่ที่เปิดตัวในปี 2020 เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง มีความเที่ยงตรงที่เรียกว่า Superlative Chronometer (ผ่านการทดสอบและรับรองทั้งจากของ COSC และ Rolex ) มีความคลาดเคลื่อน -2/+2 วินาทีต่อวัน และสามารถสำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมง
ซึ่งเป็นผลมาจากคุณสมบัติสองประการ ประการแรกคือความหนาของผนังกระปุกลานที่บางลงเพื่อการใส่สปริงที่ยาวขึ้นจึงสามารถเพิ่มปริมาณการเก็บพลังงานให้มากขึ้นได้ และอีกประการคือการทำงานของชุดกลไกปล่อยจักร Chronergy
โดยชุดกลไกปล่อยจักร Chronergy ผลิตขึ้นจากนิกเกิล-ฟอสฟอรัสที่ผ่านการจดสิทธิบัตรแล้ว และเป็นการผนวกรวมกันของประสิทธิภาพด้านพลังงานอันยอดเยี่ยมและน่าเชื่อถือ และไม่เกิดผลกระทบใดๆ เมื่อต้องเผชิญกับการรบกวนจากสนามแม่เหล็ก
ราคาของ Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge RLX Titanium อยู่ที่ 26,000 เหรียญสหรัฐฯ และจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป
รายละเอียดทางเทคนิค : Rolex Oyster Perpetual Deepsea Challenge RLX Titanium
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 50 มิลลิเมตร
- ความหนา : 23 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือนและสาย : RLX Titanium
- กลไก : อัตโนมัติรหัส 3230 มีความเที่ยงตรงในระดับ Superlative Chronometer
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- ความเที่ยงตรง : 2/+2 วินาทีต่อวัน
- กำลังสำรอง : 70 ชั่วโมง\
- การกันน้ำ : 11,000 เมตร
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline