Oris ทิ้งระยะในการเปิดตัวรุ่นใหม่ของนาฬิกา Oris Big Crown Pro Pilot Altimeter ห่างจากรุ่นแรกนานถึง 10 ปีและไม่ผิดหวังเลยที่ครั้งนี้มากับความยอดเยี่ยมทั้งฟังก์ชั่น Altimeter ที่มีความสามารถมากขึ้นในเชิงตัวเลขการวัดความสูง การปรับปรุงในส่วนของกลไกที่เปลี่ยนใหม่มีกำลังสำรองมากขึ้น และที่เหนือชั้นสุดๆ คือ วัสดุศาสตร์ ที่นำตัวเรือนซึ่งผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ในนาฬิกานักบินรุ่นนี้
Oris Big Crown Pro Pilot Altimeter Carbon วิวัฒน์สู่ความยอดเยี่ยมอย่างครบเครื่อง
-
การพัฒนาจากปี 2014 ด้วยวัสดุชั้นเทพอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ที่นำมาใช้ในการผลิตตัวเรือน
-
แม้ตัวเรือนจะเท่าเดิม 47 มิลลิเมตรแต่ความหนาลดลงและเบาขึ้น ขณะที่กลไกเปลี่ยนใหม่ สำรองกำลังงานมากขึ้น
-
ฟังก์ชั่น Altimeter เพิ่มความสามารถในการวัดความสูงเป็น 19,700 ฟุต
การเปิดตัวนาฬิการุ่น Coulson ของ Oris เมื่อปลายปี 2022 น่าจะเรียกว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของแฟนๆ กับการได้พบกับวัสดุแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งถูกขึ้นรูปให้เป็นตัวเรือนนาฬิกาผ่านทางเครื่องพิมพ์ 3D และเมื่อจับคู่กับ Calibre 400 เข้าไปด้วยแล้ว ทำให้นาฬิกาเรือนนี้ถูกจับตามอง แต่ก็เพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นอีก 6 เดือน Oris นำนาฬิกานักบินมาผนวกกับตัวเรือนคาร์บอนไฟเบอร์อีกครั้ง และคราวนี้มีการยกระดับให้เหนือชั้นขึ้นกับการติดตั้งฟังก์ชั่นวัดระดับความสูงหรือ Altimeter ซึ่งนั่นทำให้ Oris Big Crown Pro Pilot Altimeter Carbon ถือเป็นนาฬิกานักบินที่ครบเครื่องและน่าสนใจอย่างมาก
Oris เปิดตัวฟังก์ชั่น Altimeter หรือการวัดความสูงโดยอาศัยความกดอากาศเป็นตัวระบุระดับความสูงเป็นครั้งแรกในปี 2014 และก็มากับนาฬิการุ่น Big Crown Pro Pilot Altimeter ซึ่งเป็นตัวเรือนที่ผลิตจากสแตนเลสสตีล และใช้กลไกอัตโนมัติในรหัส Oris 733 ที่เราเคย Review ไปก่อนหน้านี้ไม่นาน นี่คือนาฬิกาที่ผมชอบมาก และใช้เวลาหยอดกระปุกนานเอาเรื่องจนกระทั่งสานฝันให้เป็นจริง
อย่างไรก็ตาม Big Crown Pro Pilot Altimeter รุ่นแรกปี 2014 กลายเป็นของธรรมดาไปเลย เพราะในงาน Watches and Wonders 2023 เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Oris ได้เปิดตัวอีกระดับของความล้ำสมัยในด้านวัสดุศาสตร์ที่ถูกผสมผสานเข้ากับฟังก์ชั่นเทพสำหรับใช้ในการวัดความสูงผ่านทางกลไก และมาพร้อมกับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดลายจุดจนทำให้ Oris Big Crown Pro Pilot Altimeter Carbon กลายเป็นนาฬิกาเรือนหนึ่งที่ถูกจับตามองในงานปีนี้
แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้กระเป๋าเงินของผมถึงกับสั่นระริกก็คือ การนำคาร์บอนไฟเบอร์มาผสมกับฟังก์ชั่น Altimeter ซึ่งทำให้ Big Crown Pro Pilot Altimeter เรือนนี้มีความเหนือขั้นขึ้นไปอีก และเป็นจุดเด่นที่ทำให้คนที่ชอบเสียเงินไปกับการชูจุดเด่นในด้านเทคนิคและเทคโนโลยีของแบรนด์นาฬิกาอย่างผมถึงกับเอ่ยกับตัวเองว่า ‘งานนี้เราไม่ควรพลาดเลยนะ’
ทำไมคาร์บอนไฟเบอร์ถึงมีแรงยั่วยวนใจและช่วยในการตัดสินใจของผมได้มากถึงขนาดนี้ ?
คำตอบในมุมของผม คงอธิบายลักษณะนี้ว่า ถ้าเป็นนาฬิการะดับหรู หลายคนอาจจะคิดว่าวัสดุที่มีค่าอย่างทองคำประเภทต่างๆ เช่นเดียวกับแพล็ทตินัม คือ สิ่งที่เป็นความเหนือกว่าวัสดุบ้านๆ ที่เราคุ้นเคยกันอย่างสแตนเลสสตีล ในมุมของนาฬิกาสปอร์ตก็เช่นเดียวกับ คาร์บอนไฟเบอร์ เซรามิก เหล็กดามัสกัส หรือแทนทาลัม คือ อะไรที่เหนือชั้นขึ้นไปจากสแตนเลสตีล และไทเทเนียมที่เราพบเห็นได้ทั่วไป เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินว่านาฬิกาอะไรสักเรือนที่ถูกใจและมาพร้อมกับวัสดุเหล่านี้ พวกมันมักจะดึงดูดใจผมได้อยู่เสมอ
นอกจากนั้น มีอยู่ 2 สิ่งที่ผมคิดว่าการเข้ามาของคาร์บอนไฟเบอร์ช่วยทำให้ตัวนาฬิกาสามารถลดข้อจำกัดจากรุ่นเดิมลงไปได้เยอะ อย่างแรกคือ น้ำหนักของตัวเรือนที่หายไปน่าจะเกือบ 50% เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นตัวเรือนสแตนเลสสตีล โดยในรุ่นนี้ตัวเลขน้ำหนักคร่าวๆ อยู่ที่ 97 กรัม ผลที่ตามมาคือ ความสะดวกสบายในการสวมใส่ เอาเป็นว่าเหมือนไม่ได้สวมอะไรบนข้อมือเลย ซึ่งสำหรับคนที่ชอบอารมณ์เหมือนกับมีอะไรมาถ่วงข้อมือซ้ายอาจจะหงุดหงิดนิดๆ กับความเบาที่เกิดขึ้น ส่วนตัวผม บอกเลยว่า ‘แจ่มมาก’
ตัวเรือนคาร์บอนไฟเบอร์ของ Big Crown Pro Pilot Altimeter ได้รับการผลิตโดย 9T Labs ซึ่งเป็นพันธมิตรของOris ที่แยกออกมาจากมหาวิทยาลัย ETH Zurich อันทรงเกียรติ (Swiss Federal Institute of Technology – สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส) แน่นอนว่าด้วยความยุ่งยากและค่อนข้างวุ่นวายในการผลิตปริมาณการผลิตต่อเดือนจริงมีค่อนข้างน้อยตามไปด้วย และนั่นก็มีส่วนช่วยทำให้ Big Crown Pro Pilot Altimeter มีความพิเศษตรงที่ ถึงไม่ใช่รุ่น Limited Edition หรือ Special Edition แต่ก็มีข้อจำกัดด้วยกำลังการผลิตตัวเรือนที่มีไม่เยอะนัก ผมจำตัวเลขแบบเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่น่าจะอยู่ราวๆ หลักร้อยเรือนต่อเดือนเท่านั้น เรียกว่าถ้าของมีแต่ไม่รีบตัดสินใจสอย พอของที่มีหายไป อาจจะต้องรอกันสักระยะเลยทีเดียว
ตัวเรือนคาร์บอนไฟเบอร์ของ Big Crown Pro Pilot Altimeter ได้รับการผลิตโดย 9T Labs ซึ่งเป็นพันธมิตรของOris ที่แยกออกมาจากมหาวิทยาลัย ETH Zurich อันทรงเกียรติ (Swiss Federal Institute of Technology – สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส)
แน่นอนว่าด้วยความยุ่งยากและค่อนข้างวุ่นวายในการผลิตปริมาณการผลิตต่อเดือนจริงมีค่อนข้างน้อยตามไปด้วย และนั่นก็มีส่วนช่วยทำให้ Big Crown Pro Pilot Altimeter มีความพิเศษตรงที่ ถึงไม่ใช่รุ่น Limited Edition หรือ Special Edition แต่ก็มีข้อจำกัดด้วยกำลังการผลิตตัวเรือนที่มีไม่เยอะนัก ผมจำตัวเลขแบบเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่น่าจะอยู่ราวๆ หลักร้อยเรือนต่อเดือนเท่านั้น เรียกว่าถ้าของมีแต่ไม่รีบตัดสินใจสอย พอของที่มีหายไป อาจจะต้องรอกันสักระยะเลยทีเดียว
สิ่งต่อมาอาจจะไม่ถึงกับเกี่ยวพันโดยตรงกับเรื่องการใช้คาร์บอนไฟเบอร์ในการผลิต คือ ขนาดตัวเรือนที่ดูแล้วใส่ง่ายกว่ารุ่นแรก ความหนาลดลง แม้จะแค่ 1 มิลลิเมตรก็ตาม อันนี้ผมค่อนข้างชอบนะ และส่วนหนึ่งมาจากการที่พวกเขาใช้กลไกใหม่ในรหัส Oris 793 ซึ่งมีความหนาลดลงจาก Oris 733 ที่เป็นกลไกของรุ่นแรก
1 มิลลิเมตรที่หายไปช่วยอะไรได้บ้าง ?
สิ่งที่ผมสัมผัสได้เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นแรกคือ ความง่ายต่อการสวมใส่ จริงอยู่ที่นาฬิกาเรือนนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่าเดิมคือ 47 มิลลิเมตร แต่การลดความหนาของตัวเรือนลงไป ซึ่งส่วนตัวผมมองว่านี่คือ 1 ใน 2 จุดที่ผมคิดว่ามีผลต่อการสวมใส่ เช่นเดียวกับการปรับมิติตัวเรือนให้กะทัดรัดลง
โดยเฉพาะอีกปัจจัยหนึ่งคือ ตัวเลข Lug to Lug ที่ไม่ยาวเวอร์เมื่อคิดดูจากความสมดุลกับเส้นผ่านศูนย์กลางตัวเรือน โดยประมาณซึ่งจากการวัดของผม ในรุ่นใหม่จะอยู่ที่ 52.9 มิลลิเมตรกว่าๆ และรุ่นเก่าอยู่ที่ 52 มิลลิเมตรนิดๆ พร้อมกับการดีไซน์ให้ขาสายสั้นและงุ้มลงด้วย
ทั้งหมดเมื่อรวมกันแล้วผมคิดว่านี่คือปัจจัยหลักที่ทำให้นาฬิกาเรือนนี้ใส่ง่ายขึ้น และไม่ได้กางอย่างที่คิดเมื่อดูจากตัวเลขที่เป็นข้อมูลทางเทคนิคของตัวนาฬิกา
ในแง่ของกลไกนั้น มีอยู่คำถามหนึ่งที่ผมไม่ได้ถาม คือ ไหนๆ จะทำให้นาฬิกาเรือนนี้เทพขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่จับเอา Calibre 400 ลงไปเลย เพราะผมเชื่อว่าถ้าจะทำ Oris ทำได้อยู่แล้ว…แต่ปัญหาคืออะไรละ ?
ถ้าให้เดาผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการจะทำอย่างไรถึงจะตั้งราคาให้เหมาะสมกับสภาพของตลาดในตอนนั้น เรียกว่าลูกค้าเห็นแล้วตัดสินใจไม่ยาก เงินพร้อมปลิวออกจากกระเป๋า
ถ้าใช้ Calibre 400 ราคาป้ายที่น่าจะขยับสูงกว่านี้อย่างแน่นอน และอาจจะขึ้นต้นด้วยเลข 3 ด้วยซ้ำ แน่นอน Oris ได้รับเสียงฮือฮา แต่เรื่องตัวเลขยอดขายอาจจะไม่ฮือฮาอย่างที่คิดก็ได้ เพราะเท่าที่ดูจากหลายๆ อย่าง ตอนที่นาฬิกาเปิดตัวออกมากับราคา 235,900 บาทพร้อมกลไกธรรมดาของ Oris ที่ไม่ใช่ In-House ผมก็ยังมีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นเลยว่า แล้วจะขายใคร ?
เพราะตัวเรือน 47 มิลลิเมตรในยุคที่เทรนด์เริ่มเปลี่ยน คนเริ่มเมินนาฬิกา Oversize และหันมาหาไซส์ 40 มิลลิเมตรบวกลบกันมากขึ้น แถมราคาระดับนี้กับการแลกด้วยฟังก์ชั่นที่คนรักนาฬิกามีโอกาสได้ใช้น้อยมาก ยิ่งทำให้ยากที่ Big Crown Pro Pilot Altimeter จะเป็นนาฬิกาที่ทำยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ…มันคือนาฬิกาเฉพาะกลุ่มจริงๆ
ผมคิดว่าการใช้ Calibre400 น่าจะอยู่ในความคิดของทีมบริหารโปรเจ็กต์ และเมื่อเดินทางมาถึงทางแยก พวกเขาต้องตัดสินใจแล้วว่าจะใช้กลไกธรรมดาพร้อมกับคงราคานี้เอาไว้ หรือจะใช้กลไก In-House อย่าง Calibre 400 และราคาขยับขึ้นไปไกล ซึ่งผมคิดว่าน่าจะแตะ 300,000 บาทเลย
แต่ก็แอบดีใจนะที่พวกเขาเลือกข้อแรก แม้ว่าจะแอบเสียใจนิดๆ ที่หวังว่าจะให้นาฬิกาเรือนนี้น่าจะมาพร้อมกับความเทพไปเลย แต่ถ้าเลือกใช้ Calibre400 กับราคาที่ขยับไปมากกว่ากว่านี้ ผมก็เชื่ออีกเช่นกันว่า การตัดสินใจของลูกค้าคงยาก โดยเฉพาะพวกขาจรนี่ลืมไปเลย ส่วนพวก Watch Nerd บ้าฟังก์ชั่นก็คงจะมีถอดใจกันไปบ้างละ แม้ว่าจะชอบขนาดไหนก็ตาม เพราะไฮไลท์ของนาฬิกาเรือนนี้อยู่ที่ 2 เรื่องหลักคือ ตัวเรือน และฟังก์ชั่น ส่วนกลไก ส่วนตัวผมมองว่าเป็นประเด็นที่รองลงไป
Big Crown Pro Pilot Altimeter มากับกลไกอัตโนมัติ Oris 793 ซึ่งมีขนาดที่บางลงและขยายกำลังสำรองจากรุ่นแรกซึ่งมีตัวเลขแค่ 38 ชั่วโมงจากกลไก Oris 733 มาเป็น 56 ชั่วโมง ส่วนผมถือว่าโอเคนะครับ
ในส่วนของระบบ Altimeter นั้น มีการปรับปรุงในแง่ความสามารถในการวัดความสูงจากเดิมอยู่ที่ 15,000 ฟุต หรือ 4,500 เมตร มาเป็น 19,700 ฟุต หรือ 6,000 เมตร ส่วนการใช้งานอาจจะต้องอ่านกันนิดนึงแต่ไม่ถึงกับวุ่นจนคนทั่วไปไม่สามารถทำความเข้าใจได้
อันแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ บนหน้าปัดจะมีสเกลอยู่ 2 ส่วนคือ วงด้านในติดกับขอบหน้าปัดในการแสดงเวลา คือ สเกลสำหรับระบุความกดอากาศที่มีหน่วยเป็นเฮกโตพาสคาล (Hecto Pascal เขียนย่อว่า hPa) ซึ่งเป็นหน่วยสเกลเดียวกับมิลลิบาร์ และมีตัวเลขเริ่มต้นที่ FL หรือระดับพื้นซึ่งโดยประมาณแล้วอยู่ที่บวกลบ 1,000 hPa แต่ทาง Oris ให้สเกลเผื่อมา 1,040 hPa
เผื่อมีความเปลี่ยนแปลง และไล่ระดับลดลงไปจนถึง 660 hPa (ยิ่งสูงอากาศยิ่งบาง แรงกดอากาศยิ่งน้อย) ส่วนอีกสเกลคือแสดงความสูง หรือ Altitude ซึ่งตั้งแต่รุ่นที่แล้ว มีหน่วยเป็นฟุต และเมตร แต่สำหรับบ้านเราที่นำเข้ามาจำหน่าย ใช้หน่วยฟุต โดยจะเป็นส่วนที่อยู่ขอบนอกติดกับขอบตัวเรือน ซึ่งวัดได้สูงสุด 19,700 ฟุต
ขั้นแรกคลายเม็ดมะยมในตำแหน่ง 4 นาฬิกา จากนั้นดึงออกมา 1 สเต็ปเพื่อคาลิเบตความกดอากาศให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ใช้ในการอ้างอิง เช่น จากหอการบิน โดยจะมีสามเหลี่ยมสีแดงในตำแหน่ง 6 นาฬิกาเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อหมุนตัวเลขที่ได้รับให้ตรงกับสามเหลี่ยมสีแดงแล้ว การแสดงผลจะมี 2 ส่วนคือ แถบที่เป็นสีเหลืองจะระบุความสูง (Altitude) ในตอนนั้นโดยอ่านค่าคู่กับสเกลความสูงที่อยู่ขอบนอก ขณะที่เข็มสีแดงผอมๆ ก็จะแสดงความกดอากาศ (Air Pressure)
หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้แล้วก็ดันเม็ดมะยมลงไป แต่ไม่ต้องขันเกลียว ให้ตรงเม็ดมะยมแสดงขอบสีแดงเอาไว้ เพื่อให้ความกดอากาศไหลเข้าไปเพื่อดันชุดเข็มให้ทำงาน ส่วนใครที่กังวลว่าการปล่อยเอาไว้อย่างนี้และไม่ขันเกลียวลงไปจะทำให้มีความชื้นเข้าไป ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเม็ดมะยมสำหรับปรับมาตรวัดความสูงและระบายอากาศได้รับการจดสิทธิบัตรของOris มาพร้อมกับแผงกั้นไอน้ำ PTFE จะป้องกันไม่ให้ความชื้นเข้าสู่ภายในตัวเรือนนาฬิกา
ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้นสำหรับผม คือ การที่ตัวเรือนมีสีดำและยังใช้ขอบวงสีแดงแทนที่จะเป็นสีที่สดๆ กว่าอย่างส้ม ทำให้การมองผ่านๆ สามารถสังเกตได้ยากมากเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเดิมที่เป็นตัวเรือนสตีลสีเงิน แต่ก็เข้าใจนะว่ามันเป็นการสร้างรูปแบบความเข้าใจและการรับรู้มาตั้งแต่รุ่นเดิม ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจากสีแดงเป็นสีอื่นอาจจะต้องทำใช้การสร้างความเข้าใจกันใหม่ แต่ส่วนตัวมันค่อนข้างกลืนกันจนบางทีมองยากนิดนึง โดยเฉพาะเวลาที่แสงน้อยๆ
ราคาป้ายในบ้านเราของ Big Crown Pro Pilot Altimeter คือ 235,900 บาท แพงหรือไม่แพงขึ้นอยู่กับว่าคุณมองในมุมไหน ถ้ามี Passion และรัก แน่นอนว่าเรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นอะไรแล้ว เพราะแม้จะไม่ใช่ซื้อมาใช้งาน แต่อย่างน้อยก็รักและชอบเป็นตัวขับเคลื่อนในการปิดดีลอยู่แล้ว
ส่วนคนที่ได้ใช้งานฟังก์ชั่นนี้ บอกเลยว่า คุ้มที่สุดๆ แล้ว เพราะนาฬิกาจักรกลที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นนี้ แถมด้วยนวัตกรรมตัวเรือนที่ล้ำสมัย อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและสตอรี่มานานกว่าร้อยปี ทางเลือกนี้หายากมากในตลาด และต้องบอกว่าคุณคือคนที่โชคดีสุดๆ
รายละเอียดทางเทคนิค : Oris Big Crown ProPilot Altimeter Carbon
- เส้นผ่านศูนย์กลาง: 47 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 52.9 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 23 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน :คาร์บอนไฟเบอร์ชิ้นเดียว วงแหวนขอบหน้าปัดและฝาหลังไทเทเนียมเคลือบ PVD สีเทา
- หน้าปัด: สีดำ พร้อมสเกลวัดระดับความสูงบนวงแหวนหน้าปัด หน่วยเป็นฟุต หรือเมตร
- วัสดุเรืองแสง: ขีดบอกเวลา ตัวเลขบอกเวลา และเข็มนาฬิกา เคลือบด้วยสารเรืองแสง Super-LumiNova®
- กระจกหน้าปัด: แซฟไฟร์ โค้งรูปโดมทั้งสองด้าน เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้งสองด้าน
- ฝาหลัง: ฝาหลังไทเทเนียมเคลือบ PVD สีเทา ขันสกรู สลักชาร์ตแปลงมาตรวัดจากฟุตเป็นเมตร
- ปุ่มปรับตั้งเวลา: เม็ดมะยมนิรภัยไทเทเนียมเคลือบ PVD สีเทาแบบขันเกลียว ณ ตำแหน่ง 2 นาฬิกา เม็ดมะยมวัดระดับความสูงไทเทเนียมเคลือบ PVD สีเทาแบบขันเกลียว ณ ตำแหน่ง 4 นาฬิกา
- สายนาฬิกา: สายถักสีเขียวบุหนังสีน้ำตาล เฟืองล็อคสายแบบบานพับไทเทเนียมเคลือบ PVD สีเทา พร้อมระบบ fine adjustment system ในการปรับเลื่อนเพื่อเพิ่มหรือลดความยาวของสาย
- กลไก : อัตโนมัติ Oris 793 พร้อมฟังก์ชั่น Altimeter
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- กำลังสำรอง : 56 ชั่วโมง
- การกันน้ำ10 บาร์ (100 เมตร)
- ประทับใจ : ฟังก์ชั่น ความล้ำสมัยของการผลิตตัวเรือนคาร์บอน
- ไม่ประทับใจ : ไม่มี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline