ถ้าคุณต้องการนาฬิกาแบบ Retro สักเรือนที่ผลิตขึ้นมาใหม่โดยอ้างอิงดีไซน์จากรุ่นคลาสสิค แต่ได้กลไกที่ใหม่ ใช้งานสะดวกไม่ต้องวุ่นวายเหมือนกับพวกวินเทจ เราคิดว่า Mido Commader Shade คือ อีกรุ่นที่น่าสนใจกับราคาที่สบายกระเป๋า พร้อมกับมีเรื่องราวที่อัดแน่นตลอด 60 ปีของคอลเล็กชั่น Commander รวมเอาไว้อยู่ภายใน
Mido Commander Shade ความคลาสสิคที่คุ้มค่า
- ตัวเรือนของ Mido Commander Shade อยู่ที่ 37 มิลลิเมตรและเป็นแบบ Monocase
- ผลิตหน้าตาย้อนยุคโดยยึดเอาคอลเล็กชั่นในปี 1979
- ราคา 25,500 บาทสำหรับรุ่นสีเงิน และ 32,000 บาทสำหรับรุ่นสีทอง PVD
นาฬิกายุคเก่าๆ โดยเฉพาะพวกที่ขายในช่วงยุค 1960-1970 ผมว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะตรงช่วงเวลาในยุคนั้น เริ่มมีการแตกไลน์ของการพัฒนานาฬิกาเพื่อรองรับกับการใช้งานเฉพาะด้านมากขึ้น เช่น นาฬิกาดำน้ำ หรือพวกจับเวลา Chronograph รวมถึงการที่ผลิตเริ่มพัฒนานาฬิกาให้มีลูกเล่นมากขึ้นในแง่ของนวัตกรรม ไม่ได้ขายกันแค่ดีไซน์เท่านั้น โดยหนึ่งในนั้นคือคอลเล็กชั่น Commander ของ Mido ซึ่งนาฬิการุ่นนี้ดังแค่ไหน คงต้องวัดจากสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เพราะในช่วง 100 ปีของการก่อตั้งแบรนด์ Mido พวกเขาผลิตคอลเล็กชั่นพิเศษที่ชื่อว่า Commander Shade ซึ่งอ้างอิงดีไซน์และหน้าตาแบบย้อนยุคมาจากยุคเริ่มต้นของ Commander
ถ้าอ่านงาน Review ของผมมาก่อนหน้านี้จะทราบว่าผมกับ Mido โดยเฉพาะ Commander นั้นมีประสบการณ์ร่วมกันมาก่อน ในยุคที่วัยรุ่นนิยมตบนาฬิกาพ่อมาใส่ ซึ่ง Commander คือ Swiss Watch เรือนแรกของผม และเป็นประสบการณ์ร่วมที่ทำให้ผมมักจะตื่นเต้นเสมอเวลาได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากคอลเล็กชั่นนี้ ซึ่งก็รวมถึง Commander Shade ที่เปิดตัวในงาน Basel World 2018 และเข้ามาขายในบ้านเราแล้วกับตัวเรือน 2 สี คือ เงิน-หน้าเทาดำ และสีทอง-หน้าเทาดำที่ดูแล้วไม่ถึงกับป๋ามากเหมือนนาฬิกาเรือนทองทั่วไป
แม้ว่าชื่อหรือ Nameplate ของ Commander จะถูกเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ปี 1959 แต่นาฬิการุ่นนี้ก็ยังทำตลาดอย่างต่อเนื่องและมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ออกมาขายจนถึงปัจจุบัน โดยที่น่าสนใจตรงที่รุ่นคลาสสิค Commander ก็ยังมีผลิตขายควบคู่ด้วย และนั่นเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงเรื่องความสำเร็จที่ Commander มีต่อตลาดนาฬิกา
กลับมาที่รุ่น Commander Shade นาฬิการุ่นนี้ถูกผลิตออกมาในวาระของการฉลองครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งแบรนด์ซึ่งมีขึ้นในปี 1918 และถ้าตามข่าวของ Mido มาตลอดตั้งแต่ต้นปี 2018 เราจะเห็นพวกเขาทยอยเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ทั้งแบบธรรมดา และตัว Limited Edition ที่เกี่ยวข้องกับวาระพิเศษตรงนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง Commander Shade คือหนึ่งในนั้น พร้อมกับการผลิตภายใต้กรอบของการยึดความคลาสสิคจากตัวต้นฉบับ
Commander Shade ยึดรูปแบบและสไตล์ของการออกแบบมาจาก Commander รุ่นปี 1979 ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ตัวเรือนแบบ Monocase หรือเป็นแบบชิ้นเดียวทรงกลมไม่มีขาสายให้ดูรกตา โดยขนาดหน้าปัดมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 37 มิลลิเมตร (ซึ่งในสมัยนั้นขนาดนี้ถือว่าใหญ่แล้ว) และด้วยความเป็นทรงกลมไม่มีขายสาย Lug-to-Lug ก็เลยมีตัวเลขเท่ากัน
ว่ากันว่าเมื่ออายุเพิ่มขึ้น มุมมองและวิธีคิดอะไรหลายๆ อย่างในตัวเราเริ่มเปลี่ยนไปตาม….มีคนเคยพูดกับผมอย่างนี้ ซึ่งตอนแรกก็ไม่เชื่อหรอก แต่หลังๆ เริ่มคิดละ และตัวอย่างรอบๆ ตัวผมก็มีให้เห็น โดยเฉพาะก๊วนฟังเพลงเมทัลที่เมินอุดมการณ์สมัยวัยรุ่นและหันไปปีนกะไดฟังเพลงคลาสสิคกันหมดแล้ว ซึ่งกับนาฬิกาก็เช่นเดียวกัน เมื่อก่อนอะไรที่เป็นสีทอง มันคือคำเหมือนของคำว่า ‘ป๋า’ แต่พักหลังๆ ผมกลับไม่คิดอย่างนั้นละ และเริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไปกับนาฬิกาสีทอง
Commander Shade มากับตัวเรือนสีทองที่ว่าไปแล้วไม่ถึงกับทองในโทนสีแบบบลิ๊งค์ๆ แถมเมื่อมีหน้าปัดสีรมควันถูกขัดซาตินเป็นลายซันเรย์ มาช่วยเบรก เวลาอยู่บนข้อมือก็เลยทำให้ดูลงตัว ไม่ถึงกับป๋า ส่วนประเด็นเรื่องของขนาดที่อยู่ในระดับค่อนข้างเล็ก ตอนแรกผมก็ตะขิดตะขวงใจนะกับไซส์ขนาดนี้ แต่หลังจากที่ได้ลองทาบข้อและสวมอยู่สัก 3-4 วัน อารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อขนาดตัวเรือนก็เริ่มเปลี่ยน เหมือนกับความรู้สึกและการรับรู้ถึงขนาดเริ่มมีการปรับและคุ้นชินกับสิ่งที่เห็น
และที่สำคัญกับไซส์ขนาดนี้ ผมว่าเหมือนกับซื้อ 1 ได้ 2 คุณสามารถสลับใส่กับผบ.ที่บ้านได้ด้วย เพราะถือว่าไม่ใหญ่จนเกินไปกับข้อมือสาวๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบมากคือ สายเหล็กถัก หรือ Milanese ที่เริ่มเป็นเทรนด์ให้เห็นจากแบรนด์นาฬิกาต่างๆ ที่เปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ออกมาในปีนี้ แม้ว่าส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบใส่นาฬิกาสายเหล็ก แต่ผมก็พบว่าสายสแตนเลสถักมากับความสะดวกสบายในการใส่ คือ ไม่หนักจนเป็นภาระข้อมือเหมือนกับสายสแตนเลสทั่วไป ค่อนข้างเบาและบาง แถมตัวบัคเคิลมากับฟังก์ชันที่สามารถปรับได้ละเอียด ทำให้คุณสามารถรัดนาฬิกาบนข้อมือได้อย่างกระชับและพอดีกับข้อมือ ไม่เจออาการแบบแน่นไป หรือหลวมไปเหมือนกับเวลาสวมสายเหล็กปกติ หรือพวกสายหนัง
รายละเอียดของนาฬิกายึดความดั้งเดิมเอาไว้ในจุดหลักๆ อย่างครบถ้วน ทั้งกระจกแบบ Acrylic หรือพลาสติกทรงโดม ซึ่งมีการปั๊มโลโก้ของ Mido เอาไว้ตรงกลาง ตามด้วยรายละเอียดอื่นๆ บนหน้าปัด เช่น ลักษณะฟอนต์ของคำว่า Commander และ Mido ตรงตำแหน่ง 6 และ 12 นาฬิกาที่มากับตัวเขียน โดยที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกาจะมีตัวหนังสือของคำว่า Automatic Datoday ส่วนทางฝั่ง 3 นาฬิกาจะเป็นช่องหน้าต่างแบบ Day Date ที่แยกจากกัน ซึ่งในรุ่นสีทองแบบ PVD จะเล่นโทนสีทองสลับดำบนชุดเข็ม ฟอนต์บนหน้าปัด และหลักชั่วโมง ซึ่งทำได้อย่างลงตัว
สำหรับกลไกของ Commander Shade เป็น ETA 2836-2 ขัดแต่งในเกรด Elabore ซึ่งน่าเสียดายด้วยรูปแบบของตัวเรือนแบบ Monocase และฝาหลังทึบทำให้เราไม่สามารถมองเห็นความงามของชิ้นส่วนในกลไกที่โรเตอร์มีการขัดลาย Geneva-Stripe และแกะสลักเป็นโลโก้ของ Mido ตัวกลไกเดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง และสำรองพลังงานได้ 38 ชั่วโมง
เท่าที่ได้สัมผัสมา และในตอนแรกคิดว่าประเด็นในเรื่องของขนาดน่าจะทำให้ผมเกิดอาการไม่ถูกใจกับตัวเรือนแบบ Man Size ยุค 40 ปีที่แล้ว แต่พอเอาจริงๆ เรื่องขนาดไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่มันก็ส่งผลทางอ้อมตามมากับสิ่งที่ไม่ค่อยถูกใจมากสักเท่าไร นั่นคือความสะดวกในการดึงเม็ดมะยมเพื่อปรับเวลา
แม้เม็ดยมจะไม่ได้แนบชิดกับตัวเรือนมาก ยื่นออกมาในระดับหนึ่ง แต่ผมกลับมีความรู้สึกว่าเล็กไปหน่อย และนิ้วมือที่ไม่อวบมากเท่าไรของผมมีปัญหากับการจัดการดึงเม็ดมะยมเพื่อปรับเวลาอยู่เสมอ แถมตัวเองยังไม่ไว้เล็บยาวด้วย คราวนี้ยิ่งทำให้ลำบากมากขึ้นอีก เพราะเกิดอาการเกร็ง ไม่กล้าออกแรงดึงแรง เนื่องจากกลัวเม็ดมะยมหลุดติดมือออกมา เช่นเดียวกับการหมุนเพื่อปรับตั้งเวลาก็ทำได้ไม่ค่อยสะดวกเท่าไร แต่สำหรับคนที่คุ้นเคยกับนาฬิกาวินเทจ ปัญหาตรงนี้คงไม่ค่อยมีเท่าไร และนี่คือปัญหาเดียวที่ผมเจอกับ Mido Commander Shade
สำหรับป้ายราคา 25,200 บาทสำหรับรุ่นตัวเรือนสีเงิน และ 32,000 บาทสำหรับรุ่นสีทอง PVD ตอนที่เจอถือว่าค่อนข้างทำให้เซอร์ไพรส์เหมือนกัน ถือว่าคุ้มค่าเอาเรื่องเลยทีเดียวเมื่อมองไปที่แบรนด์สวิสส์ซึ่งมีอายุอานามครบ 1 ศตวรรษในปีนี้ เรื่องราวและความคลาสสิคที่มีมากถึง 60 ปีของ Commander รวมถึงสเป็กและความพิถีพิถันของเนื้องานที่ปรากฏอยู่บนตัวนาฬิการุ่นนี้
เพียงแต่คราวนี้คุณแค่ต้องเลือกเอาว่าจะไปรุ่นไหนเท่านั้นเอง
รายละเอียดทางเทคนิค : Mido Commander Shade
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 37 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 37 มิลลิเมตร
- ความหนา : 10.45 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก : 85 กรัม
- ตัวเรือน : แบบ Monocase ผลิตจากสแตนเลส สตีล 316L เคลือบ PVD สีทอง
- สาย : สแตนเลสสตีลถักแบบ Milanese
- กลไก : ETA 2836-2 ขัดแต่งในเกรด Elabore
- ทับทิม : 21 เม็ด
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- สำรองพลังงาน : 38 ชั่วโมง
- ระดับการกันน้ำ : 5 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ ความคลาสสิค ราคาเมื่อเปรียบเทียบกับสเป็ก
- ไม่ประทับใจ : เม็ดมะยมกับการดึงออกเพื่อปรับเวลา
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/