Glycine Airman Bronze : นักบินบรอนซ์ ไซส์ลงตัว ราคาจับต้องได้

0

หลังจากตามหาอยู่นาน ในที่สุดเราก็ได้พบกับ Glycine Airman Bronze กันสักทีแม้ว่าหน้าปัดที่ได้จะไม่ใช่สีที่ต้องการ แต่ทว่าเมื่อเจอตัวจริงแล้ว ต้องบอกว่านี่คือนาฬิกาที่คุ้มค่าและลงตัวที่สุดรุ่นหนึ่งเลยทั้งในแง่วัสดุ กลไก และราคาที่ได้มา

- Advertisement -

Glycine Airman Bronze

Glycine Airman Bronze : นักบินบรอนซ์ ไซส์ลงตัว ราคาจับต้องได้

  • เป็นครั้งแรกที่ Glycine นำวัสดุอย่าง Bronze มาใช้กับรุ่น Airman

  • เปิดตัว 2 รุ่นย่อยหน้าปัดน้ำตาลและหน้าปัดน้ำเงิน

  • ราคาป้าย 1,466 ฟรังก์สวิสส์ แต่ก่อนซื้อเช็คให้ดีเพราะค่ายนี้ส่วนลดเยอะ

ผมปวาราณาตัวเองเป็นแฟนของ Airman จากค่าย Glycine มาได้สัก 5-6 ปีละหลังจากที่ได้เห็นหน้าตาของเจ้า SST12 แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า ตอนนี้ในกรุกลับดันไม่มีตัวที่จุดประกายความชอบที่มีต่อ Airman เลย..น่าแปลกเหมือนกัน (และตัวเองก็ยังสงสัยมาจนถึงตอนนี้) เพราะอย่างตัวล่าสุดที่เข้ามาอยู่ในกรุก็ยังไม่ใช่ซะงั้น แต่เป็น Airman Bronze ที่ผมเล็งเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่เปิดตัวเมื่อสักต้นปี 2019

ปกติแล้วผมชอบนาฬิกา Bronze เป็นการส่วนตัว เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะเพราะตัวเองชอบเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลง (ไปในแง่ที่ดีนะ) และทั้งนาฬิกา Bronze กับสายหนังสามารถตอบสนองอารมณ์ส่วนนี้ได้อย่างตรงจุด เพียงแต่ที่ผ่านมา นาฬิกา Bronze ในกรุของผมถ้าไม่ใช่พวก Homage ก็มักจะเป็นพวก Micro Brand เนื่องจากพวกที่มีชื่อมีชั้นมักไม่ค่อยมีใครผลิตออกมา ส่วนที่ผลิตออกมามันก็เป็นแบรนด์ไฮโซที่ผมคงยากจะเอื้อมไปถึง ขณะที่แบรนด์กลางๆ ถ้าไม่นับ Oris Carl Brashear แล้วก็ยังไม่เห็นใครผลิตออกมาเลยจนกระทั่งการมาถึงของ Airman Bronze นี่แหละ

ถือว่าเป็นเรื่องชวนแปลกใจเหมือนกันที่ Glycine กลับเลือกผลิตตัวเรือน Bronze ออกมาขายทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทางแบรนด์ไม่เคยมีประวัติหรือแสดงทีท่าว่าจะให้ความสนใจกับการใช้วัสดุประเภทนี้เลย โดย Airman Bronze ที่ผลิตออกมานั้นเปิดตัวในระยะเวลาใกล้เคียงกับพวก Airman No.1 และ Airman The Chief ซึ่งมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 โดยมีขายเฉพาะรุ่น GMT เท่านั้น ก่อนที่เมืองไทยจะมีหลุดเข้ามาขายผ่านทางพ่อค้านำเข้าที่ผมเป็นลูกค้าอยู่ ซึ่งเรือนแรกที่มีการวางขายนั้นเป็นหน้าน้ำตาลในรหัส GL0166 ซึ่งตอนนั้นพิมพ์จองไม่ทัน แต่ก็ฝากข้อความเอาไว้ว่าถ้าของเข้ามาเมื่อไร รบกวนแจ้งด้วย ก่อนที่ในอีกนานจนเกือบจำไม่ได้ ข้อความถึงเด้งขึ้นมาว่าของที่ฝากมาถึงแล้ว แต่เป็นรุ่น GL0167 ที่เป็นหน้าฟ้านะ

ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงใจเท่าไร แต่ก็ถือว่าโอเค…เมื่อจับจองกันเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องอดใจรองบฯ อีกนิดเพราะข้อเสนอดันมาในช่วงปลายเดือน และสุดท้ายของก็เดินทางมาถึงมือในเวลาหลังจากที่เงินเดือนออกไม่นาน

ในตระกูล Airman Bronze นั้นเท่าที่มีขาย ณ ตอนนี้มีแค่ 2 รุ่นอย่างที่บอก ส่วนรุ่น GL0178 ที่เป็นรุ่น Airman Double Twelve นั้นเป็นตัวเรือนเคลือบ PVD สีทอง ไม่ใช่ Bronze และที่สำคัญไม่ใช่เป็นรุ่น GMT เหมือนกับ Airman Bronze

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมชอบนาฬิการุ่นนี้นอกเหนือจากเรื่องของวัสดุที่ใช้ในการผลิตตัวเรือน คือ Glycine ไม่ได้ยกบล็อกของ Airman ตัวใหม่มาทั้งดุ้นเพื่อผลิตเวอร์ชันนี้ ซึ่งสารภาพตามตรงเลยว่า เป็น Airman ที่ขี้เหร่รุ่นหนึ่งในมุมของผม โดยเฉพาะเรื่องของชุดเข็ม ทั้งเข็มหลักซึ่งเป็นทรงไซริงค์หรือเข็มฉีดยา และเข็ม GMT ที่เป็นแบบเจาะโปร่งแบบแท่ง ซึ่งส่วนตัวแล้ว สารภาพเลยว่าผมค่อนข้างอคติกับเข็ม GMT ค่อนข้างมาก

สำหรับรุ่น Bronze ที่แชร์พื้นฐานเดียวกับ Airman ใหม่นั้น มีการเปลี่ยนชุดเข็ม GMT ใหม่จากรุ่นมาตรฐาน โดยเป็นแบบเข็มเพรียวๆ เหมือนกับรุ่นทั่วไป ซึ่งข้อดีคือ สวยและลงตัว แต่ข้อด้อยที่บางคนซึ่งไม่ใช่ผมอาจจะไม่ชอบ คือ มันไม่มีการแต้มพรายน้ำเอาไว้เหมือนกับรุ่นปกติ

ตอนแรกที่ดูผ่านๆ อาจจะคิดว่าคล้ายกันเกือบหมด แต่หลังจากที่ลองมานั่งเพ่งและเปรียบเทียบดู จะเห็นได้ว่าตัว Bronze นั้นมีความแตกต่างจากรุ่นธรรมดาค่อนข้างเยอะมาก ซึ่งนอกจากเข็มตัว GMT แล้ว ก็เห็นจะมีหน้าปัด ซึ่งในรุ่น Bronze มีการวาดเส้นกากบาทคาดกลางหน้าปัดเอาไว้ด้วย และล้อมรอบเบ้าหลักชั่วโมงทรงกลมด้วยขอบสีทอง ส่วนหลักสำคัญบนหน้าปัด เช่น 6-9-12 (ส่วน 3 ไม่มีเพราะเจาะช่องสำหรับ Date) จะเปลี่ยนจากแบบทรงเหลี่ยมหัวแหลมเหมือนกับหลักกิโลเมตรในรุ่นธรรมดามาเป็นแบบแท่งเหลี่ยม และสเกล 24 ชั่วโมงในหน้าปัดจะแสดงทุกตัวเลขชั่วโมงตั้งแต่ 1-24 ส่วนอีกจุดคือ สเกลบนขอบ Bezel ใช้ฟอนต์และรูปแบบของเส้นแบ่งแบบเดียวกับพวก Airman ตัวคลาสสิค และแต้มด้วยสีดำเพื่อให้ดูสะดุดตาขึ้นมาอย่างชัดเจน นั่นก็เลยทำให้ในรุ่น Bronze ดูสวยไปอีกแบบ

อีกสิ่งที่ผมค่อนข้างชอบใน Airman Bronze คือ ขนาดตัวเรือนที่หาจุดลงตัวกับข้อมือของผมได้สักที เพราะในรุ่นก่อนๆ ของ Airman มันเป็นอะไรที่ไม่เล็กก็มักจะใหญ่เกินไป เพราะพวกเขามีขายเฉพาะรุ่นขนาดตัวเรือน 42 และ 46 มิลลิเมตร จนมาถึงรุ่นใหม่นี่แหละที่มีขนาด 44 มิลลิเมตรเข้ามาแทรกกลางด้วย และรุ่น Bronze ก็เลือกเอาตัวเรือนไซส์นี้มาทำถือว่าเข้าทางผมเป็นอย่างยิ่งเลย

ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของนาฬิกาก็เป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็เป็นเรื่องของมิติตัวเรือนของ Airman เรียกว่าใหญ่ถึง 51 มิลลิเมตรก็ไม่หวั่น แต่เผอิญ Airman เป็นนาฬิกานักบินที่มีขาสายค่อนข้างยาว และตัวเรือนถูกออกแบบให้ค่อนข้างเพรียว หนาไม่เกิน 13 มิลลิเมตร มันก็เลยดูไม่ค่อยสมดุลในเรื่องของมิติตัวเรือนสักเท่าไร เรียกว่ารุ่น 46 มิลลิเมตร ขนาดหน้าปัดโอเคเลยนะครับ แต่ดันขายาวกับตัวเรือนบางไปหน่อย ส่วนรุ่น 42 ขนาดกำลังดี ขายาวพอเหมาะ แต่ขาสาย 22 มิลลิเมตร ผมว่ามันไม่ค่อยเข้ากันสักเท่าไร มันเหมือนกับขาดๆ เกินๆ ในบางจุด

แต่พอมาเป็น Airman Bronze ถือว่าอยู่ในจุดลงตัวที่ผมคิดว่าคนที่มีข้อมือมาตรฐานอย่าง 7 นิ้วจะมีความพอใจกับสัมผัสที่ได้เวลาคาดอยู่บนข้อมือแบบไม่คาใจ

จริงอยู่ที่มีการปรับปรุงรายละเอียดในเชิงรูปลักษณ์บางจุดเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากรุ่นธรรมดา แต่ต้องบอกว่า Airman Bronze คัดลอกเอกลักษณ์ของความเป็น Airman มาเกือบทุกประการ โดยเฉพาะการมีเม็ดมะยม 2 จุดในตำแหน่ง 3 และ 4 นาฬิกาโดยเป็นแบบขันเกลียวทั้ง 2 เม็ด ซึ่งอันแรกจะเป็นการใช้สำหรับตั้งเวลา วันที่ และเข็ม GMT ส่วนเม็ดที่ 2 สำหรับคลายล็อกเพื่อหมุนขอบ Bezel ในการตั้งเวลาที่ 2 หรือ 3 ตามความต้องการของผู้ใช้ และเมื่อตั้งเสร็จก็หมุนเกลียวกลับคืนเพื่อล็อก Bezel เอาไว้

แม้ว่าด้านหน้าจะเป็นกระจก Sapphire ทรงโดมแบบเคลือบสารกันการสะท้อนแสงเอาไว้ถึง 3 ชั้นสำหรับด้านใน แต่ที่ฝาหลังซึ่งเป็นแบบใสนั้นยังเป็นกระจกแบบ Mineral และตัวฝาหลังแบบขันเกลียวก็ผลิตจาก Stainless Steel ไม่ใช่ Bronze เหมือนกับตัวเรือน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะนาฬิกา Bronze เกือบทั้งหมดก็เป็นเช่นนั้น ขืนฝาหลังเป็น Bronze ด้วยงานนี้มีสิทธิ์แขนเขียวกันตลอดเวลาอย่างแน่นอน

ตัวกลไกของ Airman Bronze

ไม่ได้มีความแตกต่างจากเพื่อนร่วมสายพันธุ์แต่อย่างใด โดยสเป็กที่ขายเฉพาะในตัว Bronze จะเป็น GMT ไม่มีแบบ Double Twelve หรือแบบ 3 เข็ม และแบบ Purist หรือแบบเดินรอบเดียว 24 ชั่วโมงออกมาวางขายเหมือนกับ Airman รุ่นอื่นๆ ซึ่งอันนี้ก็ตรงใจผมเช่นกันเพราะส่วนตัวค่อนข้างชอบนาฬิกา GMT อยู่แล้ว ดังนั้น กลไกที่อยู่ใน Airman Bronze ก็ยังเป็นรหัส GL293 เหมือนกับรุ่นอื่นๆ

Cal. NO GL293 ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของ ETA 2893-2 ที่มั่นใจในความทนทานและการใช้งานของระบบ GMT ที่สะดวกซึ่งอยู่ในตลาดมานานนับจากทศวรรษที่ 1990 เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมงและมีเม็ดมะยมในระบบจำนวน 21 เม็ด ส่วนความสามารถในการสำรองพลังงานนั้นอยู่ที่ 42 ชั่วโมง ซึ่งผมถือว่าโอเคกับการใช้งานปกติ โดยงานนี้บนตัวโรเตอร์ของกลไกแบบ Rhodium มีการขัดแต่งและด้วยลวดลาย Côtes de Genève พร้อมกับสลักลายเครื่องบินตามแบบฉบับของ Glycine

ในเรื่องการใช้งานและการตั้งระบบ GMT ถือว่าง่ายและสะดวกเพราะเป็นแบบ GMT แยกอิสระ คือ เมื่อดึงเม็ดมะยมไปที่แก๊กแรก คุณสามารถเลือกหมุนเข็มเพื่อชี้ไปที่เวลาที่ 2 ที่คุณต้องการได้เลยทันทีไม่ต้องมานั่งปรับให้วุ่นวายเหมือนกับระบบของ Seiko หรือ Omega แต่ก็คงแนะนำให้ตั้งเวลาหลักให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นค่อยหันมาปรับเข็ม GMT ให้อยู่ในเวลาที่คุณต้องการเท่านั้นก็จบ

สำหรับ Airman ที่เป็น GMT นั้นสามารถแสดงเวลาได้ถึง 3 โซนด้วยกัน ซึ่งตรงนี้แหละคืออีกสิ่งที่ผมชอบมาก แม้ว่าเดี๋ยวนี้จะไม่ได้เดินทางอย่างเป็นล่ำเป็นสันเหมือนในอดีตก็ตาม เพราะดูแล้วเทพดีแม้ว่าจะไม่ได้เทพในด้านเทคโนโลยี เพราะมันเป็นเรื่องของการออกแบบล้วนๆ ก็ตาม โดยเวลาแรกคือ ดูจากเข็มหลัก เวลาที่ 2 ดูจากเข็ม GMT ที่ชี้ไปยังสเกลเวลา GMT ในหน้าปัด และเวลาที่ 3 ดูจากเข็ม GMT ที่ชี้ไปที่ขอบสเกลบน Bezel

สิ่งหนึ่งที่อาจจะถูกใจคนซื้อแต่ไม่ถูกใจคนที่หวังเก็งกำไรในอนาคต คือ หลังจากที่ Glycine โดนแบรนด์อย่าง Invictar เทคโอเวอร์กิจการเมื่อปี 2016 ดูเหมือนว่านโยบายในด้านราคาและการควบคุมส่วนลดของพวกเขามีปัญหาอย่างมาก ถ้าคุณเป็นนักท่องเน็ตตัวยงน่าจะได้เห็นดีลดีๆ แบบส่วนลดระดับเกิน 50% ของนาฬิกาแบรนด์นี้อยู่เป็นประจำ ซึ่งแน่นอนในแง่ของคนซื้อมาใช้งาน นี่คือ สวรรค์ชัดๆ

อย่าง Airman Bronze เรือนนี้ ราคาตั้งตามป้ายอยู่ในระดับ 1,466 ฟรังก์สวิสส์ หรือ 46,000 บาท และถ้าเข้าเมืองไทยสมัยก่อนน่าจะมีเฉียดแสน อย่างน้อยต้องมี 80,000-90,000 บาท ซึ่งในเว็บมือหนึ่งเมืองนอกที่ขายทั่วไป เราสามารถเจอราคาในระดับ 28,000-30,000 บาทได้ง่ายๆ ดังนั้น เวลาเจอเป้าหมายก่อนจะตัดสินใจซื้อ ยังไงต้องเช็คราคากันให้ดีๆ นะครับ ถ้าไม่อยากยืนหนาวคนเดียวอยู่บนดอย

ถ้าคิดเรื่องราคาขายต่อและอนาคตซึ่งเป็นคำถามที่คนซื้อนาฬิกาเดี๋ยวนี้ชอบถามกันจัง ผมว่านี่คือนาฬิกาที่สุดคุ้มที่สุดเรือนหนึ่ง ตัวเรือนบรอนซ์ แบรนด์เก่าแก่ คอลเล็กชั่นที่เป็นตำนานและมีเรื่องเล่า กลไกทนทานและมั่นใจได้ บวกกับฟังก์ชั่น GMT ที่ใช้งานง่ายในราคาไม่ถึง 30,000 บาท…ถูกกว่า Seiko มือสองบางรุ่นด้วยซ้ำ

รายละเอียดทางเทคนิค : Glycine Airman Bronze GL0167

  • ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug :
  • ความหนา : 12.2 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • ประเภทของสาย : หนังวัว
  • กระจก : Sapphire ทรงโดม เคลือบสารกันการสะท้อนแสงด้านใน 3 ชั้น
  • กลไก : GL923 แบบ GMT
  • จำนวนทับทิม : 21 เม็ด
  • ความถี่ในการเดิน : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
  • การสำรองพลังงาน : 42 ชั่วโมง
  • การกันน้ำ : 100 เมตร
  • ประทับใจ : วัสดุ ขนาด การออกแบบที่ผสมผสานกับรุ่นเก่า ฟังก์ชั่น GMT ใช้งานง่าย
  • ไม่ประทับใจ : ไม่มี