Casio G-shock MTG-G100D-1A2 : เมื่อฝัน 15 ปีที่แล้วกลายเป็นจริง

0

นอกจากกลุ่มนาฬิกาเรซิ่นที่มี Master of G เป็นตัวเด่นแล้ว ในกลุ่มนาฬิกาอีกประเภทที่มากับตัวเรือนเหล็ก Casio ก็ยังมีผลผลิตที่น่าสนใจอย่าง MTG ออกทำตลาด และ MTG-G1000D-1A2 ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่น GPS และตัวเรือนที่ผ่านการผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงถือว่าสร้างความประทับใจให้กับเราอย่างมาก

Casio G-shock MTG-G100D-1A2 : เมื่อฝัน 15 ปีที่แล้วกลายเป็นจริง
Casio G-shock MTG-G100D-1A2 : เมื่อฝัน 15 ปีที่แล้วกลายเป็นจริง

Casio G-shock MTG-G100D-1A2 : เมื่อฝัน 15 ปีที่แล้วกลายเป็นจริง

- Advertisement -

ย้อนกลับไปเมื่อสัก 15  ปีที่แล้วโดยประมาณ สมัยที่ผมยังไม่คลั่งนาฬิกาเหมือนกับตอนนี้ และไม่ได้สนใจอะไรมากมายว่าจะใช้นาฬิการุ่นไหนคาดบนข้อมือ มี Casio G-Shock หน้าตาธรรมดาเพียงเรือนเดียวที่เป็นขาประจำที่ติดตัวผมอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตาที่ถิ่นของพวกเขาและเดินอยู่แถวร้านแค่ในแถบ Ueno พลันสายตาเหลือบไปเจอเข้ากับนาฬิการุ่นหนึ่งของแบรนด์นี้เข้า และสารภาพเลยว่าผมหลงรักมันเข้าเต็มเปา แต่ด้วยตอนนั้นยังเป็นพนักงานกินเงินเดือนระดับปกติ บวกกับค่าตัวที่เอาเรื่องเหมือนกัน ทำให้ผมกับ MTG ยังเป็นอะไรที่ไม่มาบรรจบกันสักที จนกระทั่งถึงตอนนี้จึงได้มีโอกาสสัมผัสกับ MTG-G1000D-1A2

นาฬิกาตระกูล MTG ถือว่าเป็นรุ่นรองท็อปของ G-Shock เลยก็ว่าได้ เมื่อมองในแง่ของระดับตลาด และกลุ่มลูกค้าของพวกมัน เพราะด้วยความที่เป็นนาฬิกาเหล็กซึ่งแตกต่างจาก G-Shock เดิม ทำให้กลุ่มลูกค้าของ MTG และ MRG ที่เป็นรุ่นท็อปแตกต่างออกไป โดยจะเน้นลูกค้าในลักษณะที่สูง ซึ่งต้องการคุณสมบัติและภาพลักษณ์ของ G-Shock เอาไว้ แต่ก็ต้องมีรูปแบบที่เป็นทางการมากขึ้นกว่า  G-Shock รุ่นปกติ

เมื่อ 2 วันก่อนผมมีโอกาสได้เข้าเมืองไปร่วมงานแถลงนโยบายและแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Casio G-Shock และได้มีโอกาสคุยกับคุณ Shigenori Itoh ซึ่งเป็น Senior Executive Managing Officer ของ Casio Computer Japan ประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาคุยคือเรื่องการเข้ามาของ MRG และการก่อกำเนิดของ MTG ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า Metal Twisted G-Shock

MRG คือเป้าหมายสูงสุดของ Casio ในตอนนั้น (เมื่อสัก 20  ปีที่แล้ว) ในการผลิต G-Shock ที่เป็นเหล็ก หรือ Full Metal ทั้งเรือน ซึ่งเป็นความท้าทายทางด้านความสามารถของตัวเองในการผลิตนาฬิกาที่มีระดับสูงขึ้น แต่ทว่าด้วยแนวคิดของ G-Shock  ที่จะต้องมียางหรือชิ้นส่วนที่เป็นเรซินในการรองรับการกระแทกร่วมด้วยนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผลิต MRG ออกมาได้ และทีมวิศวกรก็ยกธงยอมแพ้ไป ยกเว้นคนเดียวคือคุณ Kikuo Ibe ที่รับเอาโจทย์นี้ไปนั่งทำคนเดียวโดยไม่บอกใคร ก่อนที่จะยื่นตัวต้นแบบของ MRG ที่เป็น Full Metal มาให้ และนั่นคือ จุดกำเนิดของ MRG ส่วนจุดกำเนิดของ MTG คือ ผลพอลยได้ทางด้านไอเดียที่มาจากความพยายามของบรรดาวิศวกรที่ไม่สามารถผลิต G-Shock แบบใช้โลหะทั้งเรือน พวกเขาจึงต้องใช้ชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกแข็งหรือเรซิ่นเข้ามาเป็นส่วนประกอบ นั่นจึงเป็นที่มาของ MTG คือ G-Shock ที่มีส่วนผสมทั้งโลหะและเรซิ่น

เมื่อเปรียบเทียบ MTG ในยุคที่ผมหลงใหลกับผลผลิตที่มีขายอยู่ในปัจจุบัน ต้องบอกว่าเป็นการเติบโตและอัพเสกลแบบก้าวกระโดดเลย เพราะกลุ่มตลาดที่ MTG ในปัจจุบันถูกวางเอาไว้คือการเป็นนาฬิกาที่มีระดับราคา 1,000 เหรียญสหรัฐ นั่นคือตัวธรรมดา แต่ถ้าคุณต้องการสัมผัสอะไรที่ไฮเทคกว่านั้นอย่าง  MTG-G1000D-1A2 เรือนนี้ ราคามันก็จะขยับขึ้นอีกในระดับเท่าตัวหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นราคาป้ายของ MTG-G1000D อยู่ในระดับครึ่งแสนบาท

ตอนที่ได้พบครั้งแรก สารภาพเลยว่านี่คือรักแรกที่ผมยังประทับใจอยู่ แม้ว่าหน้าตาของเธอจะเปลี่ยนไปตามวัย แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความรู้สึกที่ดีหายไป โดยเมื่อมองในแง่ของหน้าตาและอะไรหลายๆ อย่างแล้ว MTG ในรหัส 1000 ไม่ว่าจะรุ่นธรรมดา หรือตัว GPS มีรูปทรงที่คล้ายกัน ชุดสาย ชุดกรอบขอบ Bezel และตัวเรือนแบบมีคราวน์การ์ดป้องกันเม็ดมะยมที่เป็นระบบ Easy Access จะต่างออกไปก็ตรงรายละเอียดบนหน้าปัด

สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบบนนาฬิกาเรือนนี้คือ ความไม่เยอะในแง่ของการอัดดีเทลเข้าไปในตัวนาฬิกา เพราะถ้าคุณสัมผัสกับ G-Shock มาระดับหนึ่งจะพบว่าพวกเขาชอบใส่อะไรมาเยอะแยะ จนบางครั้งทำให้เลยจุดที่สมดุลไป โดยเฉพาะพวกตัวหนังสือทั้งหลาย แต่สำหรับ MTG-G1000D-1A2  มากับความเรียบง่าย สีฟ้าถูกวางให้ใช้ในส่วนของขอบ Bezel ที่เป็น World Time และสำหรับแสดง Day รวมถึงกับคำว่า G-Shock  การจัดวางหน้าปัดวงย่อยทำได้อย่างสมดุลเหมือนกับพวกนาฬิกา Chronograph แบบ 3  วง คืออยู่ในตำแหน่ง  3-6-9 และมีหน้าต่างสำหรับแสดงวันที่ หรือ Date ที่ตรงตำแหน่ง 4-5 นาฬิกา

ในส่วนของตัวเรือนแม้ว่าจะเป็นโลหะส่วนหนึ่งและมีชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกแทรกอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ทำให้เกิดสภาพที่ขัดหูขัดตา และต้องชมว่าทีมออกแบบของ Casio ทำให้มันกลมกลืนได้อย่างลงตัวระหว่างความแวววาวของโลหะที่ผ่านการขัดเงาด้วยกรรมวิธี Sallaz และสีดำด้านของพลาสติก ขณะที่ตัวสายด้านในมีการติดตั้งตัวซับสายด้านในที่เป็นพลาสติกสีฟ้าที่เรียกว่า Layered Composite Band เข้าไปด้วยเพื่อเป็นการลดน้ำหนักและลดอาการย้วยของสายเหล็กเมื่อใช้ไปนานๆ ส่วนชุดเข็มก็ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ และชิ้นส่วนของ  Bezel และฝาหลังก็ผลิตด้วยกรรมวิธีไฮเทคอย่าง Forge-Molded Parts ที่ให้ความทนทาน

อย่างไรก็ตาม สิ่งเดียวที่ผมกังวลเกี่ยวกับการเป็น G-Shock และมีโลหะเข้ามาเป็นส่วนผสมหลักคือ เรื่องของน้ำหนัก และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เพราะจากตัวเรือนที่หนักร่วมๆ 2 ขีด มันกลายเป็นสิ่งที่สร้างภาระบนข้อมือของผมไปในทันที และต้องใช้เวลานานเอาเรื่องกว่าที่จะปรับตัวกับน้ำหนักที่เกิดขึ้น เพราะในช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมา ผมไม่ใส่นาฬิกาสายเหล็กเลย ครั้นจะแหวกแนวด้วยการตัดสายหนังมาใส่แทน เอาไปให้ร้านที่ประจำดู ก็ได้คำตอบด้วยการส่ายหัวแทน  เพราะด้วยรูปทรงของตัวเรือนที่ไม่เหมือนกับนาฬิกาที่มีขาในแบบปกติ…ผลคือ ถ้ารักก็ต้องยอมแบกภาระนี้ต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ใช้งานคือ การกางของนาฬิกา เพราะด้วยตัวเรือนที่มีลักษณะยาว คือ Lug-to-Lug ในระดับ 58.8 มิลลิเมตร ขนาดข้อมือ 7 นิ้วของผมยังเกือบเอาไม่อยู่เลย และความรู้สึกที่ได้นั้นแตกต่างจากการใส่นาฬิกาที่มีไซส์ตรงนี้ใกล้เคียงกันแต่เป็นสายเรซิน อธิบายง่ายๆ คือ เมื่อใส่ MTG เข้าไปแล้ว ผมรู้สึกว่าสายมันจะสอบลงเป็นตัว V  ลงไปยังด้านล่างของข้อมือเพราะความที่ตัวนาฬิกามันใหญ่ล้นข้อออกมา ขณะที่ตอนสวม Frogman ตระกูล 1000 แม้ว่าจะมีความรู้สึกคล้ายแต่ด้วยการออกแบบตัวสายเรซินให่โค้งและมีข้ออ่อน ทำให้ตัวนาฬิกากับสายมีลักษณะเป็นแบบตัว O ดูแล้วลงตัวไม่รู้สึกว่ากางแต่อย่างใด ดังนั้น ใครที่มีข้อมือต่ำกว่า 7 นิ้ว MTG รุ่นใหม่อาจจะเริ่มไม่เหมาะกับข้อมือของคุณแล้ว

สำหรับ Module ของ MTG-G1000D-1A2 เป็นรหัส 5445 ที่มีจุดเด่นในเรื่องของฟังก์ชั่นการปรับเวลาตามสัญญาณ GPS ซึ่งใช้งานง่ายและสะดวกเพียงปลายนิ้วสัมผัส และเหมาะอย่างมากสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ซึ่งถ้าเป็นเมือสัก 10 ปีที่แล้ว นี่คือนาฬิกาในฝันของผมเลย แต่กับปัจจุบันที่อยู่เป็นที่เป็นทางมากขึ้น ฟังก์ชั่น GPS ก็เลยแทบไม่ได้ขยับในการทำงานเลย ดังนั้น หน้าที่หลักของมันคือ แค่การบอกเวลาเพียงแห่งเดียว นั่นคือ กรุงเทพฯ

ส่วนในเรื่องความทนทาน งานนี้ไม่ต้องห่วง เพราะมีทั้งมาตรฐาน Triple G ในการรองรับกับแรง  G ทั้ง 3 ด้านทั้งแรงกระแทก แรงเหวี่ยงหนีศูนย์ และแรงสั่นสะเทือน แถมภายในตัวเรือนยังมีการติดตั้ง Core Guard Structure ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการดูดซับแรงกระแทกและป้องกันการกระแทกที่จะส่งผลต่อตัว Module  ของนาฬิกา

ถ้ามองในแง่ของความพึงพอใจในด้านภาพรวมที่ได้รับจาก MTG-G1000D-1A2 ในครั้งนี้ สารภาพเลยว่ามีมาก และแฮปปี้มากที่ฝันเมื่อ 20 ปีที่แล้วได้กลายเป็นจริงสักที และตรงนี้ทำให้สามารถลืมข้อด้อยบางอย่างทั้งในเรื่องของน้ำหนัก และความใหญ่ลงไปได้ในบัดดล

แต่นั่นคือจากมุมมองของผมที่มีความประทับใจในอดีตเป็นปัจจัยบวกช่วยส่งเสริมอยู่แล้ว ส่วนในมุมของคนทั่วไปที่ไม่ได้มีปัจจัยตรงนี้ อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่ากับค่าตัวในระดับครึ่งแสนเพื่อแลกกับนาฬิกาสักเรือนที่ตัวเลือกในช่วงราคานี้มีมากมายเหลือเกิน และ Casio G-Shock MTG-G1000D-1A2 จะสามารถเบียดขึ้นมาเป็นตัวเลือกแรกของคุณได้หรือไม่

คุณสมบัติของ : Casio G-shock MTG-G100D-1A2

  • เส้นผ่าศูนย์กลาง : 54.7 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug :  58.8 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 16.9 มิลลิเมตร
  • น้ำหนัก : 198 กรัม
  • กระจก : Sapphire เคลือบสารกันสะท้อน
  • ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
  • โมดุล : 5455 ปรับเวลาตามสัญญาณ GPS และ Multiband 6
  • ฟังก์ชั่น : จับเวลาละเอียด 1 วินาที จับเวลาต่อเนื่องสูงสุด: 23:59’59 รูปแบบการจับเวลา: การจับเวลาตั้งแต่เริ่มต้นถึงตำแหน่งปัจจุบัน (Elapsed time) และจับเวลาถอยหลัง หน่วยการนับ: 1 วินาที ช่วงเวลาการนับถอยหลัง: 24 ชั่วโมง ระยะเวลาที่เริ่มต้นนับถอยหลังที่ตั้งได้: 1 นาทีถึง 24 ชั่วโมง (เพิ่มครั้งละ 1 นาที และเพิ่มครั้งละ 1 ชั่วโมง)
  • ความแม่นยำ : ±15 วินาทีต่อเดือน (โดยไม่มีสัญญาณเทียบเวลา)
  • จุดเด่น : ความประณีตในการผลิต ฟังก์ชั่น GPS การออกแบบที่สวยและลงตัว
  • จุดด้อย  : น้ำหนัก ขนาด และราคา