หลังจากที่ลังเลอยู่นาน ในที่สุดผมก็ได้มีโอกาสสอย Tissot PRX Powermatic 80 เข้ากรุจนได้หลังจากที่พวกเขาเพิ่งเปิดตัวรุ่นสายหนังออกสู่ตลาดไม่นาน และนี่ถือเป็นนาฬิกาที่คุ้มค่าตัวที่สุดรุ่นหนึ่งเลย
Tissot PRX Powermatic 80 ความคุ้มค่าที่มีมากกว่าดีไซน์
-
รุ่นใหม่ของ PRX Powermatic 80 ตัวเรือนทรง Tonneau ขนาด 40 มิลลิเมตรที่มาพร้อมกับสายหนัง
-
มาพร้อมดีไซน์ของนาฬิกาย้อนยุค พร้อมกลไกที่มีกำลังสำรอง 80 ชั่วโมง
-
รุ่นสายหนังมีราคาป้ายอยู่ที่ 22,400 บาท
หลังจากเปิดตัวออกมาได้ครบปีจนถึงตอนนี้มีหลายสีของหน้าปัดและวัสดุวางขายอยู่ในตลาด แต่ผมเพิ่งจะมาตัดสินใจอย่างจริงจังกับ Tissot PRX Powermatic 80 เอาก็ตอนนี้ ซึ่งการที่ปล่อยให้คาราคาซังมานาน ก็มาจากเหตุผลเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ Hamilton PSR นั่นคือ ความกังวลใจที่มีต่อตัวเลข 40 มิลลิเมตร และก็ยังไม่มีโอกาสไปลองขึ้นข้อจริงๆ สักที จนท้ายที่สุดหลังจากที่พวกเขาเปิดตัวรุ่นสายหนังออกมาเมื่อต้นปีนี้ ผมก็ตัดสินใจไปลองทาบตัวจริง และพบว่าเป็นอีกครั้งที่ตัวเองตัดสินใจไม่ผิดพลาด
ผมติดใจรุ่นนี้มานานตั้งแต่ที่พวกเขาเปิดตัวรุ่นควอตซ์เมื่อต้นปี 2021 แต่ ณ ตอนนั้น ยังไม่มีกลไกอัตโนมัติออกมาจนกระทั่งถึงปลายปีเดียวกัน สิ่งที่ทำให้ผมชอบก็น่าจะไม่ต่างจากบรรดาแฟนๆ ทั่วโลกที่อุดหนุนนาฬิกาเรือนนี้มีอยู่ 2 เรื่อง คือ ดีไซน์ และความคุ้มค่า
บอกก่อนว่าผมไม่ใช่แฟนตัวยงของ Tissot และที่ผ่านมามีโอกาสสัมผัสนาฬิกาของพวกเขาเพียงแค่รุ่นสองรุ่นเท่านั้น แต่กับ PRX ทันทีที่ได้เห็นรุ่นควอตซ์ ผมตั้งเป้าในใจว่า ถ้ามีรุ่นกลไกอัตโนมัติเมื่อไร เราคงได้เจอกัน แต่จนแล้วจนรอด เมื่อ Tissot จะเปิดตัวรุ่น Powermatic 80 ตามมาในปลายปี 2021 ผมก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปลองสักที จนกระทั่งในการประชุม Media Online ของ Tissot เมื่อต้นปี 2022 ผมได้มีโอกาสเห็นภาพรุ่นสายหนังในระหว่างการประชุม พร้อมกับความคิดในหัวผุดขึ้นมาว่า ‘นี่คงถึงเวลาที่เราจะต้องไปลองอย่างจริงจังสักทีแล้ว’
ผมเลือกซื้อรุ่นสายหนัง แทนที่จะเป็นสายสตีล และคำถามที่เกิดขึ้นตามมาทันทีจากเพื่อนๆ หลังจากได้เห็นนาฬิกาเรือนนี้บนข้อมือผมคือ ‘คิดยังไง’ เพราะ ‘มันโคตรจะไม่คุ้มเลย’
ก็จริงนะครับถ้ามองในแง่ของตัวเลขราคากับการเปรียบเทียบส่วนต่างถ้าต้องซื้อสายใดสายหนึ่งเพิ่มในภายหลัง เพราะราคาป้ายของทั้ง 2 รุ่นต่างกันแค่ 1,200 บาท (22,400 กับ 23,600 บาท) และถ้าวันหนึ่ง เกิดอยากได้สายเหล็กขึ้นมา ผมจะต้องซื้อเพิ่มในราคาที่แพงจากส่วนต่างตรงนี้อีกมาก ซึ่งสายเหล็กที่เบิกศูนย์ในฐานะอะไหล่จะมีราคาป้าย 7-8 พันบาทเลยทีเดียว ขณะที่ราคาของสายหนัง ถ้าขายแยกน่าจะประมาณ 1,000 บาทกลางๆ เพียงแต่ว่าช่วงนี้ยังไม่มีอะไหล่เข้ามาให้ซื้อเท่านั้นเอง
สุดท้ายผมตัดสินใจซื้อรุ่นสายหนังด้วยเหตุผลคือ ผมไม่ชอบสายเหล็ก และถึงซื้อมาคิดว่าคงไม่ได้ใส่แน่ๆ เพราะหลังจากที่ลองขึ้นข้อทั้งคู่แล้ว ผมมีความรู้สึกว่ารุ่นที่เป็นสายสตีลเวลาขึ้นข้อแล้วสายมันจะพองๆ เหมือนกับเบ่งออกทางด้านข้างมากกว่ารุ่นสายหนังที่ตัวสายด้านบนค่อนข้างแนบไปกับข้อมือมากกว่า สวมแล้วกระชับข้อ แถมยังเบามากกว่า นอกจากนั้น สิ่งที่ผมพบจากรุ่นสายเหล็กคือ อาการเดียวกับที่เจอ Hamilton PSR คือ ตัวบานพับแบบปีกผีเสื้อไม่มีการปรับละเอียด และถ้าคุณไม่ใช่เนื้อคู่จริงๆ สิ่งที่จะต้องเจอหลังการตัดสายคือ ไม่หลวมก็แน่นเกินไป
ดังนั้น จงเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบดีที่สุด จะไปจ่ายเพิ่มเติมทำไมถ้าสุดท้าย ยังไงก็ไม่ได้ใช้แน่ๆ และอีกข้อคือ ผมอยากได้รุ่นหน้าปัดสีน้ำเงิน ซึ่งในตอนนี้ รุ่นสายหนังที่มีขายอยู่ในตลาดมีแค่หน้าปัดดำ และน้ำเงินเท่านั้น…ทุกอย่างก็เลยลงตัว
Tissot PRX Powermatic 80 เป็นนาฬิกาที่ถูกออกแบบใหม่โดยอ้างอิงดีไซน์ของนาฬิกาในยุคปลาย 1970 ต่อ 1980 พร้อมกลิ่นอายของ Modern Vintage แม้ว่าหลายคนจะบอกว่างาน Re-Issue ของ PRX Powermatic 80 จะดูคล้ายกับ Rolerx Oysterquartz 1700 และ Audemars Piguet Royal Oak Jumbo 15202 ที่เปิดตัวในยุคนั้น แต่เอาจริงๆ PRX Powermatic ได้รับอิทธิพลมาจากนาฬิการุ่นหนึ่งของพวกเขาเอง ซึ่ง Tissot ได้เปิดตัวนาฬิกาที่มีหน้าปัดกลมบนตัวเรือนทรงเหลี่ยมออกมาและได้รับการตอบรับที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือ Seastar Quartz Ref.40205 เมื่อปี 1978
Tissot ดึงเอาดีไซน์ของ Seastar Quartz Ref.40205 มาประยุกต์อย่างเต็มๆ เรียกว่าแทบจะถอดแบบมาเลย เป็นนาฬิกาตัวเรือนเหลี่ยมแบบด้านข้างโค้งตามหน้าปัดที่เป็นทรงกลมไร้ขาสายหรือที่เรียกว่า Tonneau เม็ดมะยมเป็นแท่งยาวยื่น ขอบตัวเรือนแบบยึดตายตัวและมีการขัดเงาสอดรับกับพื้นผิวตัวเรือนที่เป็นแบบขัดด้าน สายเป็นแบบ Integrated กับตัวเรือนสำหรับรุ่นสายสตีล และรุ่นสายหนังจะมีข้อกลางตรงสายเป็นตัวยึดเข้ากับตัวเรือน
ตัวเรือนของ Tissot PRX Powermatic 80 ถูกออกแบบได้อย่างสวยสะดุดตาและมีเอกลักษณ์ ไม่มีขายสายให้กวนใจ ตัวเรือนเป็นทรงแท่งทำให้มีพื้นที่ของตัวเรือนกว้างและดูใหญ่ขึ้นเหมือนกับพวกนาฬิกาทรงเหลี่ยมที่มักจะดูใหญ่กว่านาฬิกาแบบทรงกลมที่มีขา หรือ Lug ยาวยื่นออกมา ซึ่งสิ่งเดียวที่ค่อนข้างเซ็งสำหรับนาฬิกาสไตล์นี้คือ ถ้าจะเปลี่ยนสายหนังเส้นใหม่ ต้องสั่งทำพิเศษเพื่อให้สอดรับกับตัวนาฬิกา หรือไม่ก็ต้องซื้อสายตรงรุ่น
ในรุ่นนี้ สายหนังเป็นหนังวัวแบบปั๊มลายจระเข้ และมีการเดินด้านด้านข้างสีเดียวกับสาย นั่นคือ ถ้ารุ่นหน้าปัดดำสายดำ ด้านก็จะเป็นสีดำ ส่วนรุ่นหน้าปัดน้ำเงินก็เป็นตามนั้นเหมือนกัน และสายทั้ง 2 แบบจะมาพร้อมกับระบบ Quick Release ที่ช่วยให้คุณสามารถถอดสายออกมาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ แต่อดงงๆ ไม่ได้ว่าจะให้มาทำไม ในเมื่อสายทดแทนมันแทบจะไม่มีขายอยู่ในตลาดอยู่แล้ว และเราคงไม่ได้เปลี่ยนสายไปมาบ่อยๆ เหมือนกับพวกนาฬิกาแบบมีขาสาย
สายมาพร้อมกับความกว้างบนหัวสาย 27 มิลลิเมตร และค่อยๆ เพรียวลงจนมามาสอบที่ปลายด้วยตัวเลข 18 มิลลิเมตรพร้อมตัวรัดสายแบบสตีลที่ออกแบบได้เข้ากับดีไซน์โดยรวมของตัวนาฬิกา และแม้ว่าหลายคนบอกว่าน่าจะให้บานพับมา แต่ส่วนตัวผมว่าเป็นตัวรัดสายแบบหัวเข็มขัดอย่างนี้แหละดีแล้ว ขนาดความหนาของสายสอดรับกับตัวเรือนที่มีความหนา 10.2 มิลลิเมตร และการมีข้อกลางที่เป็นตัวเชื่อมบนหัวสายเปรียบเสมือนกับการเป็นตัวดันสายให้กางและโค้งออกไม่ลีบเข้ามา
อีกสิ่งที่ถือว่าเป็นจุดสวยของ Tissot PRX Powermatic 80 คือ ลายหน้าปัดที่เป็นตารางนูน หรือ Petite Tapisserie ซึ่งเป็นลายในสไตล์เดียวกับบนหน้าปัดของ Audemars Piguet Royal Oak และเป็นลายหน้าปัดที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพรมของฝรั่งเศส ตัวลายหน้าปัดเป็นแบบซันเรย์ที่เล่นกับแสงได้อย่างสวยงาม และลวดลายสอดรับกับหลักชั่วโมงทรงแท่งสี่เหลี่ยมบางเฉียบและชุดเข็มทรงแท่งเหลี่ยมยาวที่มีการแต้มพรายน้ำเอาไว้ ซึ่งบอกเอาไว้ก่อนว่าใครที่ชอบพรายน้ำแจ่มๆ ก็อย่าเพิ่งไปคาดหวังอะไรกับนาฬิกาสไตล์นี้
นอกจากนั้นบนหน้าปัดถือเป็นอีกสิ่งที่ Tissot ทำได้ดีจากการที่ไม่ทำอะไรเยอะจนเกินไป เรียกว่าการใส่ข้อความไม่มากจนล้น มีแค่ชื่อแบรนด์ในตำแหน่ง 12 นาฬิกา และชื่อรุ่นในตำแหน่ง 6 นาฬิกาเท่านี้ก็ทำให้หน้าปัดดูสมดุลในแง่ของการจัดวางและโดดเด่นขึ้นมาได้
Tissot PRX Powermatic 80 มากับฝาหลังแบบใส และผมค่อนข้างดีใจที่ ในเมื่อมีฝาหลังแบบใสแล้ว Tissot ยังทำอะไรกับชิ้นส่วนของกลไกที่สามารถมองผ่านทางฝาหลังแบบใส เช่น การใช้สีสันบนชิ้นส่วนอย่างพวกเฟืองหรือจักรกรอก รวมถึงการสลักลายบนโรเตอร์ขึ้นลาน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สวยเด่นแบบนาฬิการะดับไฮเอนด์ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ทำอะไรกับตรงนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
อีกจุดที่ถือว่าเป็นความคุ้มค่าที่ลูกค้าจะได้รับจากนาฬิกาเรือนนี้คือ การใช้กลไก Powermatic 80.111 ที่เป็นกลไกสหกรณ์ของเครือ The SWATCH Group เพราะถูกปรับปรุงใช้ในนาฬิกาหลายแบรนด์ตั้งแต่ Mido Hamilton ไปจนถึง Longines และ Rado โดยกลไกนี้มีพื้นฐานมาจากกลไก C07.111 ของ ETA ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือของ The SWATCH Group ด้วยเช่นกัน
จุดเด่นก็คงไม่ต้องสงสัยและอธิบายให้มากความ นั่นคือ กำลังสำรองที่นานถึง 80 ชั่วโมง เรียกว่ามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับนาฬิกาที่มีราคาอยู่ในช่วงระดับเดียวกัน เช่นเดียวกับการใช้ใยนาฬิกาแบบ Nivachron ทำให้มีความทนทานต่อสนามแม่เหล็กและแรงกระแทกกว่าใยนาฬิกาที่ผลิตจากสแตนเลสสตีล
เช่นเดียวกับ Hamilton PSR ในการเป็นนาฬิกาทรงเหลี่ยมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 มิลลิเมตร ดังนั้น เราไม่ควรกังวลกับตัวเลขมากจนมองข้ามส่วนประกอบอื่นๆ ที่จะมีผลต่อความลงตัวเวลาที่นาฬิกาอยู่บนข้อมือ อย่าเพิ่งคิดหรือตีความไปเอง ควรทดลองขึ้นข้อและดูว่านาฬิกาเรือนนั้น ยิ้มให้คุณหรูไม่เวลาที่มันอยู่บนข้อมือ และเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 มิลลิเมตรของตัวเรือนก็ไม่ได้ทำให้ผมค้างคาใจอะไร
และต้องบอกว่านี่คือ นาฬิกาอีกรุ่นที่คุ้มค่าตัวกับราคาป้าย 22,400 บาทอย่างแท้จริง
รายละเอียดทางเทคนิค :
- ขนาดตัวเรือน : 40 มิลลิเมตร
- หนา : 10.93 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 43 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน : สแตนเลสสตีล
- กระจก : Sapphire
- กลไก : อัตโนมัติ Powermatic 80
- ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
- กำลังสำรอง : 80 ชั่วโมง
- การกันน้ำ : 100 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ สเป็กของตัวนาฬิกา และราคาที่จับต้องได้
- ไม่ประทับใจ : NA
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline