Suunto Traverse เป็นนาฬิกาที่ไฮเทคและฟังก์ชั่นเพียบ แต่กับไลฟ์สไตล์ และชีวิตในแบบที่ผมเป็น ดูเหมือนว่า มันจะไม่ได้เกิดมาเพื่อคนอย่างผมสักเท่าไรเลย
Suunto Traverse : ไม่หวั่นแม้ Outdoor หรือ Exercise
ถ้าพูดถึงนาฬิกาสำหรับการใช้งานกลางแจ้ง เชื่อเถอะว่าชื่อแรกที่คนส่วนใหญ่มักจะบอกออกมาคือ Protrek จากค่าย Casio แต่ทว่าในตลาดกลุ่มนี้ยังมีทางเลือกใหม่ๆ ที่น่าสนใจอีกเยอะ โดยเฉพาะแบรนด์จากฟินแลนด์อย่าง Suunto เพียงแต่ด้วยราคาที่แรงเอาเรื่อง อาจจะทำให้พวกขาจรในนาฬิกากลุ่มนี้อย่างผมมักจะออกอาการทำเมินๆ ใส่ (ทั้งที่ใจจริงหนะชอบมาก) แต่สุดท้ายในเมื่อตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะต้องลองให้ได้สักครั้ง ในที่สุดผมกับ Suunto Traverse ก็มาเจอกันจนได้ เรียว่า Suunto Traverse ไม่หวั่นแม้ Outdoor หรือ Exercise
สารภาพเลยว่า เหตุผลที่ผมเลือก Traverse ก็เพราะภาพที่เจอครั้งแรกในอินเตอร์เนตกับตัวเรือนสีดำและสายสีเหลือง ซึ่งบอกได้เลยว่า ‘โคตรโดน’ ส่วนสเป็กว่ามันทำอะไรได้นั้นแทบจะไม่ได้สนใจเลย เพราะเวลาผมซื้อนาฬิกาอะไรสักเรือน First Impression โดยเฉพาะหน้าตาของมันในมุมของผมสำคัญที่สุด
เพียงแต่ตอนนั้นในกรุผมมี Casio G-Shock Mudmaster สายเหลืองอยู่ บวกกับราคาที่ยังแรงแบสะท้านใจ (ในมุมมองของตัวเอง) มันก็เลยออกกระอักกระอ่วนใจว่า จะดีหรือที่จ่ายเงินเกือบๆ 2 หมื่น (ในตอนนั้น) เพื่อซื้อนาฬิกาโทนสีเดียวกันมาอยู่ในครอบครอง แต่ในเมื่อ ณ ปัจจุบัน มีการลดราคาลงเหลือแบ๊งค์พัน 8 ใบยังมีทอน งานนี้มีหรือที่จะทำเมินไม่สนใจ
เหตุผลคงไม่ต้องอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับการลดราคาสุดกระหน่ำครั้งนี้ แต่เอาเป็นว่าพอเสิร์ชเจอราคานี้ ผมรีบไลน์หาทางร้านและปิดดีลอย่างรวดเร็วทันใจ และหิ้วกลับบ้านอย่างสบายใจ
จะว่าไปแล้ว Traverse มีความแตกต่างจากบรรดานาฬิการุ่นอื่นๆ ของ Suunto และในมุมมองของผมมันเป็นลูกผสมของนาฬิกา Outdoor กับ Exercise คือ เรียกว่ามีฟังก์ชั่นสำคัญสำหรับการใช้งานในชีวิตกลางแจ้งเหมือนกับรุ่นอื่นๆ ของค่ายนี้ เช่น วัดความสูง ความกดอากาศ เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์ พระอาทิตย์ขึ้น-ตก แจ้งเตือนพายุ แต่ก็มีการติดตั้งระบบการเชื่อมต่อ GPS เพื่อใช้ในการนำทาง และระบุพิกัด (เช่นเดียวผลพลอยได้ในการ Sync เรื่องเวลา) รวมถึงการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านทาง Bluetooth ในการเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ และสามารถเซ็ตการใช้งานในแบบ Customize ผ่านทาง Application ของ Suunto ที่ชื่อว่า Suunto Movescount ได้
แต่เอาจริงๆ นะ หลังจากได้มา ถ้าประสิทธิภาพของ Traverse มี 100% ผมยังใช้มันได้ไม่ถึง 5% เลยด้วยซ้ำ แต่เพราะเหตุผลที่ซื้อ คือ หน้าตาที่สวย ส่วนการใช้งานตามฟังก์ชั่น บอกเลยว่าแทบไม่มีโอกาสได้ใช้ จะมีก็พวกนับก้าวเพื่อคำนวนเรื่องการเผาผลาญแคลอรี่เท่านั้นที่ดูเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับตัวผม ส่วนฟังก์ชั่นเอาท์ดอร์นั้นเป็นได้แค่ฝันที่รอให้เป็นจริงของคุณพ่อบ้านซึ่งมีชีวิตประจำวันอยู่แต่ในเมือง
อีกสิ่งที่ผมค่อนข้างไม่ชอบ แต่ทำเป็นมองข้ามไป คือ การที่ตัวนาฬิกามีความก้ำกึ่งในการใช้งานเหมือนกับพวกสมาร์ทวอชท์ คือ ต้องเชื่อม Bluetooth กับสมาร์ทโฟน และที่ขัดใจที่สุดคือ การมีสาย USB สำหรับใช้ในการชาร์จผ่านทางคอมพิวเตอร์มาด้วย อันนี้มันเริ่มทำให้ชีวิตผมเริ่มลำบากกับการมีและใช้งานนาฬิกาสักเรือนละ เพราะก่อนหน้านี้ผมพยายามทำตัวให้เป็นมนุษย์ไฮเทค ด้วยการสั่งทั้ง Cookoo Watch, Sony Smartwatch 2, Pebble Classic ไล่มาจนถึง Moto 360 แต่สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่า ชีวิตการใช้นาฬิกาของผมจะไม่เหมาะกับพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ ที่มีข้อจำกัดมากมายและเริ่มมีความวุ่นวายตั้งแต่เริ่มใส่ รวมถึงปัญหาใหญ่ในเรื่องแบตเตอรี่ และความจุกจิกในการใช้งานที่ต้องเชื่อมโน่นเชื่อมนี่
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งด่ากันสำหรับแฟน Suunto ผมไม่ได้ตัดสินว่านาฬิกาเรือนนี้ไม่ดี แต่มันอาจจะไม่เหมาะกับคนที่มีไลฟ์สไตล์ (และมีความเรื่องมาก)แบบผมเท่านั้นเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการชาร์จถ่านที่ทำให้ดูเป็นภาระในการดูแลสำหรับคนที่ชอบสลับนาฬิกาใส่แทบทุกวัน เรียกว่ามีบ่อยครั้งที่ต้องจับเอามันมาเสียบกับโน๊ตบุ๊คที่บ้านในระหว่างนั่งทำงาน เพื่อให้แบตเตอรี่ถูกชาร์จเข้าไปแม้ว่าในวันรุ่งขึ้นผมจะไม่ได้ใช้งานมันก็ตาม
แต่ถ้าไม่สนใจเรื่องพวกนี้ และมองในแง่ของการเป็นนาฬิกาเพื่อบอกเวลา หรือความอเนกประสงค์ในการใช้งาน ตรงนี้บอกได้เลยว่า Suunto Traverse แจ่มและเท่สุดๆ เวลาคาดอยู่บนข้อมือ ขนาดที่ดูเหมือนจะหนาและใหญ่เมื่อมองจากตัวเลขบนแผ่นกระดาษ แต่เมื่ออยู่บนข้อมือแล้วกลับลงตัวไม่มีอาการกางแต่อย่างใด ส่วนความหนานั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรเวลาที่คาดพวก Tuna Can กลไกอัตโนมัติบนข้อมือ ที่สำคัญ ตัวเลขแสดงเวลาบนหน้าจอนั้นใหญ่สะใจ มองสะดวกมาก
Sunnto Traverse มากับตัวเรือนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 มิลลิเมตร โดยตัวเรือนหลักผลิตจากวัสดุที่เป็น Composite และมีขอบ Bezel และปุ่มที่ผลิตจาก Stainless Steel ดังนั้น ตัวเรือนเลยไม่หนักเท่าไร แค่ 80 กรัมเท่านั้น ถือว่าสบายไม่เป็นภารระให้กับข้อมือ แต่สิ่งที่ผมค่อนข้างขัดใจในมุมของคนที่ไม่ค่อยพอใจอะไรกับของเดิมจากโรงงานก็คือ การเลือกใช้สปริงบาร์แบบไม่สนใจเรื่องการเปลี่ยนสายหรือการเซอร์วิสในภายหลัง เพราะมันเป็นเรื่องที่ยากถึงยากมากที่คุณจะงัดเอาสปริงบาร์ประเภทนี้ออกมาจากตัวเรือนโดยที่ไม่สร้างความบอบช้ำให้กับรูบนขาสายซึ่งอยู่บนตัวเรือนแบบ Composite ที่จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับพลาสติกเนื้อแข็งๆ นี่แหละ
หลังจากที่ใช้ความพยายามอยู่นาน ในที่สุดก็งัดออกมาได้ และผมก็จัดการหาสปริงบาร์ที่เหมือนกับนาฬิกาทั่วไปมาเปลี่ยนใส่ทดแทนซะ คราวหน้าเวลาเปลี่ยนสายจะได้ไม่ต้องใช้พลังกันขนาดนี้
ในแง่ของการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ บนตัวนาฬิกานั้น ถ้าไม่นับเจ้า Gravitymaster GPS แล้ว นี่คือนาฬิกาอีกเรือนที่ทำให้ผมต้องนั่งอ่านแมนนวลอย่างจริงจัง เพราะดีเทลในการใช้งานเยอะมาก ปุ่มต่างๆ ที่มีอยู่บนตัวเรือนทั้งหมด 5 ปุ่ม คือสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้การใช้งานมันในการเลือกฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในตัวนาฬิกา เอาเป็นว่าคุณจะเสียเวลาแค่ชั่วโมงแรกในการเรียนรู้การใช้งาน หลังจากนั้นเมื่อคุ้นเคย คุณก็จะรู้แบบทันทีเหมือนกับอยู่ในสัญชาตญาณเลยว่าจะต้องกดปุ่มไหน เหมือนกับคนที่เล่น Casio G-Shock จะรู้ดีกว่า 4 ปุ่มบนตัวเรือนไม่ว่าจะอยู่บนนาฬิการุ่นไหน รูปแบบการใช้งานของมันก็มักจะเหมือนกัน
สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบ Traverse คือ ความเป็นนาฬิกาที่ค่อนข้างครบเครื่อง เรียกว่าถ้าคุณออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ฟังก์ชั่นที่มีก็ครอบคลุม หรือจะใช้เป็นนาฬิกาสำหรับตอบสนองการใช้ในด้านการออกกำลังกายก็ดี ทั้ง Hiking Running Cycling หรือ Training (ซึ่งผมไม่ได้มีกิจกรรมทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย) ยกเว้นเรื่องการวัด Heart Rate ซึ่งต้องมีสายรัดเป็นอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมเข้ามา
ส่วนการเชื่อมต่อ Bluetooth กับสมาร์ทโฟนของผม (Motorola Nexus 6) กลับไม่ประทับใจเท่าที่ควร เพราะกว่าจะเชื่อมต่อกันได้รอกันนานมาก บางครั้งมากกว่า 2 นาทีเลย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสมาร์ทวอทช์รุ่นอื่นๆ ที่เคยใช้มา ตัวเลขระดับนี้ถือว่านานเกินไป
ขณะที่การกดปุ่มเพื่อระบุพิกัดของตัวเองด้วยสัญญาณ GPS ทำงานได้ในระดับที่ค่อนข้างเร็วในการรับสัญญาณ และถือเป็นอะไรที่แจ่มมาก โดยเฉพาะถ้าคุณหลงอยู่ในป่า นี่คือ เครื่องมือสำคัญในการบอกพิกัดออกไปสู่โลกภายในเพื่อขอความช่วยเหลือได้แบบไม่ต้องมานั่งอธิบายว่ารอบด้านมีอะไร เพียงแต่คุณจะต้องมีอุปกรณ์สื่อสารส่งออกไปได้ด้วยนะ
อย่างไรก็ตาม แม้ประเด็นในเรื่องของระดับแบตเตอรี่ที่ผมกังวลในช่วงแรกๆ ของการใช้งานนั้น กลับไม่ใช่ปัญหาอย่างจริงจังในการใช้งานส่วนตัว เพราะเมื่อลองชาร์จจนเต็ม และใช้งานติดต่อกัน 2 วัน เมื่อเช็คดูระดับพลังงานแล้ว ถือว่าทำได้ดีในโหมดการเป็นนาฬิกาแบบแทบไม่ได้เล่นอะไรเลย เพราะลดลงเหลือแค่ 80% เท่านั้น ซึ่งตามสเป็กของ Suunto นั้นบอกว่าจะสามารถใช้งานได้ถึง 14 วัน แต่ถ้ามีการเชื่อมต่อพวก GPS หรืออะไรต่างๆ บ่อยครั้ง จำนวนวันก็ลดลงเรื่อยๆ
แต่ก็อย่างว่าแม้จะบอกว่า 2 สัปดาห์ แต่นั่นคือในกรณีที่แบตเตอรี่ Lithium-Ion ในตัวนาฬิกายังมีประสิทธิภาพเต็มร้อย แต่ถ้าใช้งานไปเรื่อยๆ ระดับความสามารถก็น่าจะลดลง และนั่นคือสิ่งที่ผมค่อยข้างกังวลมากเวลาต้องสวมนาฬิกาพวกนี้ออกไปไหนมาไหน โดยเฉพาะต้องออกเดินทางต่างประเทศหลายๆ วัน เพราะมันเหมือนกับการขับรถไฟฟ้าแบบ EV ที่พอแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง คุณทำอะไรกับมันไม่ได้เลย นอกจากลากไปมองหาปลั๊กเพื่อเสียบชาร์จ
บทสรุปกับราคาที่ได้มาแบบรับได้ นี่คือ ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อ Suunto Traverse มาอยู่ในมือ เพราะราคาระดับนี้กับการใช้งานตามรูปแบบชีวิตที่ผมเป็น ผมถือว่ารับได้ แต่ถ้ายังเป็นค่าตัวปกติที่มีส่วนต่างกันอยู่ราวๆ 5,000 บาท อันนี้เริ่มไม่ใช่ละ และจะกลายเป็นว่าผมจ่ายแพงเพื่อใช้งานงานแค่ 5% เท่านั้น
ที่สำคัญ นี่เป็นอีกครั้งที่ทำให้ผมรู้ตัวเองมากขึ้นว่า ไม่เหมาะกับนาฬิกาที่ทันสมัยเหล่านี้ และแทบจะไม่ได้มี Passion ให้เลย
คุณสมบัติของ : Suunto Traverse
- เส้นผ่าศูนย์กลาง : 50 มิลลิเมตร
- หนา : 16.5 มิลลิเมตร
- กระจก : Mineral
- ตัวเรือน : Composite
- ขอบ Bezel : สแตนเลสสตีล
- แบตเตอรี่ : Lithium-Ion
- หน้าจอ : Matrix 128X128 Pixel
- ระดับการกันน้ำ : 100 เมตร
- ระยะเวลาใช้งาน : สูงสุด 14 วัน
- ฟังก์ชั่น : GPS ระบุพิกัด นำทาง / วัดระดับความสูง / อุณหภูมิ / ความกดอากาศ / แจ้งเตือนพายุ / พระอาทิตย์ขึ้น-ตก / นับก้าว / HR (ต้องใช้เครื่องมือเพิ่ม) / เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่าน Bluetooth
- จุดเด่น : สวย ฟังก์ชั่นเพียบ ใช้งานได้สารพัดทั้งในชีวิตปกติ เอาท์ดอร์ และการออกกำลังกาย
- จุดด้อย : เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนยาก การเปลี่ยนสาย การต้องชาร์จแบตเตอรี่
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/