Seiko V192 Calibre มาทำความรู้จักกับกลไกของ Sumo Chronograph กัน

0

สำหรับคนที่สนใจ Seiko Sumo Chronograph Solar คำถามแรกคือ กลไกกินแสง หรือ Solar V192 น่าสนใจหรือไม่ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ Sumo มากับกลไกประเภทนี้ และวันนี้เรามีคำตอบมาให้

Seiko V192
Seiko V192 Calibre

Seiko V192 Calibre มาทำความรู้จักกับกลไกของ Sumo Chronograph กัน

  • กลไก V192 เปิดตัวมากับ Seiko Sumo Chronograph คำถามคือ กลไกนี้น่าสนใจไหม

  • หากชาร์จจนเต็ม กลไกรุ่นนี้จะสามารถทำงานอย่างต่อเนื่องได้นานถึง 6 เดือน

  • น่าเสียดายที่กลไกนี้ไม่มีฟังก์ชั่น Power Saving มาให้ด้วย

- Advertisement -

ราคาของ Seiko Sumo Chronograph Solar ทั้ง 2 รุ่นคือ SSC757J (SBDL061 สำหรับญี่ปุ่น) และ SSC759J (SBDL063) สำหรับตลาดเมืองไทยเปิดเผยออกมาแล้ว และในตอนนี้เริ่มวางขายตามเคาน์เตอร์และช่องทางต่างๆ ของ Seiko แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าแฟนๆ อยากทราบคือ Seiko Sumo Chronograph Solar ใช้กลไกอะไร และแตกต่างจากรุ่น Diver Chronograph Solar ที่มีขายอยู่ก่อนหน้านั้นหรือไม่…เอาละวันนี้เรามาไขข้อข้องใจตรงนี้กัน

กลไกกินแสงของ ไซโก้ (Seiko) ที่ใช้ชื่อในการทำตลาดต่อท้ายว่า Solar นั้น น่าจะกลายเป็นที่จับจ้องและได้รับความสนใจจากบรรดาแฟนๆ อีกครั้งหลังจากที่ Seiko ฉีกกฎการพัฒนานาฬิกาดำน้ำในตระกูล Sumo จากที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยมานานเกือบ 20 ปี ด้วยการหันมาผลิตรุ่น Seiko Sumo Chronograph ที่เป็น Quartz Solar โดยที่มีกลไกรหัส V192 รับหน้าที่ในการขับเคลื่อนครั้งนี้

แน่นอนว่าคำถามที่ตามมาคือ V192 เป็นกลไกแบบไหนและอย่างไร ?

ถ้ามองแบบผ่านๆ แล้วเชื่อว่าหลายคน (รวมถึงตัวผมเอง) อาจจะคิดว่ามันคือกลไกเดียวกับที่ใช้อยู่ใน Diver Chronograph Solar ที่หลายคนคุ้นเคยกันมานาน แต่เอาเข้าจริงๆ พอเจาะลงไปที่รายละเอียดแล้วจะพบว่ามีความต่างกันอยู่พอสมควร อีกทั้งจากการที่ตำแหน่งทางการตลาดของ Seiko Sumo Chronograph ก็อยู่สูงกว่า ก็จำเป็นจะต้องขยับมาใช้กลไกที่มีอะไรมากกว่า

สำหรับกลไก V192 ที่อยู่ใน Seiko Sumo Chronograph Solar ทั้ง 2 รุ่น คือ SSC757J และ SSC759J ที่วางขายอยู่ในตอนนี้ จริงๆ แล้วมีพี่น้องอยู่ในสารบบด้วย โดยถ้าดูตามคู่มือที่ทาง Seiko V192 จะมีพี่น้องร่วมกัน นั่นคือ V194 ซึ่งต่างกันแค่หน้าต่างในการแสดงวันที่ โดยกลไก V194 จะเป็นแบบ Big Date ช่องแยกวางอยู่ในตำแหน่ง 12 นาฬิกา ส่วน V192 จะใช้แบบช่องปกติวางอยู่ในตำแหน่งระหว่างหลัก 4-5 น. (หรืออาจจะตำแหน่งอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการออกแบบหน้าปัด)

จริงๆ แล้วเท่าที่ลองสำรวจตลาด เรายังไม่เคยเห็นนาฬิการุ่นไหนของ Seiko ใช้กลไก V192 แต่ V194 มีแล้วและเป็นกลุ่ม Prospex Sky เช่น SSC599 หรือ SSC601 ซึ่งก็รวมถึงนาฬิการุ่น Contura ที่เป็นคอลเล็กชั่นที่ขายในแถบอเมริกาเหนือ

Seiko V192 Calibre

การใช้งานไม่ถือว่ายุ่งยากอะไร เหมือนกับนาฬิกาควอตซ์ปกติที่เราคุ้นเคยนั่นแหละ ซึ่งในกรณี V192 สะดวกกว่า เพราะมีมาตรวัดบอกระดับกระแสไฟฟ้าในตัวเก็บประจุ หรือ Power Reserve Indicator อยู่ตรงที่ตำแหน่งหน้าปัดย่อย 6 นาฬิกา ดังนั้น เมื่ออยู่ในโหมดบอกเวลา เข็มตรงมาตรวัดนี้จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งรีเซ็ตตรงที่ 0 หรือเลข 60 เหมือนกับนาฬิกา Chronograph ทั่วไป เพราะอยู่ใน Power Reserve Mode จนกว่าจะมีการคลายเกลียวปุ่มกดจับเวลา หรือ Start เพื่อเข้าสู่ Stopwatch Mode แล้วกดเริ่มจับเวลา เข็มถึงจะดีดขึ้นมาอยู่ที่ตำแหน่ง 0

คำถามคือ แล้วมันจะเที่ยงตรงการจับเวลาหรือ เพราะกว่าที่เข็มตรงหน้าปัดย่อยจะดีดกลับมาก็ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ?

คำตอบ คือ เที่ยงตรง เพราะตำแหน่งหน้าปัด 6 นาฬิกา คือหน้าปัดย่อยสำหรับจับเวลาในหน่วยนาที ดังนั้นเมื่อกดจับเวลาแล้ว เข็มแรกที่จะทำงานคือเข็มวินาทีหลักที่เป็นเข็มใหญ่อยู่ตรงเข็มนาทีและชั่วโมง จึงยังมีเวลาเหลือเฟือในการเคลื่อนที่ของเข็มในหน้าปัดนี้กลับไปอยู่ในตำแหน่งปกติ

สิ่งที่หลายคนสนใจและมักจะเกิดคำถามคือ เมื่อชาร์จจนเต็มแล้วกลไกนี้จะทำงานต่อเนื่องนานเท่าไร และจะต้องใช้เวลาเท่าไรในการชาร์จ ?

เอาคำถามแรกก่อน ตามคู่มือที่ระบุมานั้น เมื่อถูกชาร์จจนเต็ม นาฬิกาจะทำงานต่อเนื่องนาน 6 เดือน ในกรณีที่มีการกดใช้ระบบจับเวลา หรือ Chronograph ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งตามการใช้งานจริงเราไม่ได้ใช้ระบบจับเวลากันนานขนาดนั้นอย่างแน่นอน และตัวเลขนี้เป็นการใช้งานในแบบที่ไม่มีการชาร์จเพิ่มเติมเข้าในแบตเตอรี่ คือ มีเท่าไรก็ใช้ไปเรื่อยๆ และก็เช่นกันไม่มีทางเป็นเช่นนั้นได้ เพราะปกติเมื่อเราใช้งานก็ต้องมีโดนแสงบ้างไม่ว่าจะแสงอาทิตย์ หรือแสงไฟ ที่จะคอยชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในระบบมากบ้างน้อยบ้าง

Seiko V192 Calibre

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับกลไก Solar รุ่นอื่นๆ อย่างเช่น H851 ของ Arnie ในรุ่นนี้จะไม่มี Power Reserve Mode ที่จะหยุดการทำงานของหน้าจอดิจิตอลและเข็มไม่มีการเดินเมื่ออยู่ในที่มืดเพื่อให้มีการใช้กระแสไฟฟ้าน้อยที่สุด แต่ก็ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะถ้าใช้ค่อนข้างบ่อย หรือนำออกมาโดนแสงโดนแดดสักอาทิตย์ละครั้ง 2 ครั้งๆ ละ 1-2 ชั่วโมงก็ถือว่าโอเคแล้ว

สำหรับคำถามที่ 2 ในเรื่องระยะเวลาในการชาร์จนั้น เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามเสมอว่าจะต้องเท่าไรและนานแค่ไหน เรากำลังจะบอกอย่างนี้ว่า นาฬิกา Solar หรือพวกกินแสงทั้งหลายนั้นมีปัจจัยในการชาร์จกระแสไฟฟ้านานขนาดไหนอยู่แค่ 2 ปัจจัยคือ

-ระดับพลังงานที่เหลืออยู่ เพราะส่วนใหญ่จะไม่แสดงตัวเลขสเกลของพลังงานที่ละเอียดเหมือนกับมือถือ มีแค่ L-M-H หรือ E-F

-ประเภทของแสงที่ใช้ในการชาร์จ เพราะการจะชาร์จเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับเรื่องนี้ เป็นหลัก เช่น แสงอาทิตย์ หรือแสงไฟ

ถ้าพลิกดูคู่มือ เราจะเห็นตัวเลขของเวลาที่ใช้กับประเภทของแสงที่ใช้ว่าจะต้องใช้เวลานานขนาดไหนในการชาร์จจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งในกรณีของ Power Reserve Indicator ของกลไก V192 จะแบ่งเป็น A B และ C ซึ่งก็คือ L-M-H นั่นแหละ

Seiko V192 Calibre

จะเห็นได้ว่าแสงที่ดีที่สุดในการชาร์จคือ แสงอาทิตย์กลางแจ้ง เพราะมีค่าความเข้มข้นของแสง หรือ Lux ดีที่สุด และไล่เรียงตามลำดับลงมาถึงแสงที่ประสิทธิภาพด้อยสุดในการชาร์จคือแสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ดังนั้น หลายคนที่เข็มพลังงานบ่งชี้ไปที่ระดับ L แล้วชาร์จยังไงก็ไม่ขึ้นมาที่ M สักที ก็ดูจากตารางอ้างอิงนี้ได้เลย เพราะถ้าชาร์จผ่านการส่องด้วยหลอดอย่างที่ทำกันอย่างน้อยก็มี 13 ชั่วโมงเลยทีเดียว

นอกจากนั้นยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและถูกระบุอยู่ใน troubleshooting ของคู่มือ คือ การที่ชาร์จแล้วชาร์จอีกชนิดที่ใช้เวลานานกว่าที่ระบุไว้ในคู่มือเสียอีก แต่ทำไมเข็มวินาทียังเดินแบบ 2 วินาทีต่อครั้งเหมือนกับมีพลังงานไม่พอสักที

คำตอบนี้มี 2 เรื่องคือ เพราะแสงที่ชาร์จอาจจะอ่อนหรือมีค่า Lux น้อยกว่าที่คู่มือระบุ และอีกอย่างคือความบกพร่องของโหมดการทำงานของ IC ในระบบซึ่งมันตัดโหมดการทำงานมาที่ Unstable Condition หรือมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในระดับ Low ซึ่งทางออกเรื่องนี้คือ การรีเซ็ตระบบใหม่ ด้วยการดึงเม็ดมะยมออกมาในตำแหน่งตั้งเวลา หรือ 2 คลิ๊กหลังจากขันออกมา แล้งกดปุ่มจับเวลาทั้ง 2 คือ Start/Stop  และ Reset พร้อมกันและค้างเอาไว้ 3 วินาทีหรือนานกว่านั้น จากนั้นค่อยกดเม็ดมะยมลงไปในตำแหน่งปกติ…นี่คือการแก้ปัญหาตามที่คู่มือระบุ แต่ถ้าไม่หายก็อาจจะต้องถึงมือช่าง

อีกประเด็นคือ การใช้งานกลไกรุ่นนี้น่าสนใจไหม ?

คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับความชอบของคุณเอง ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องตอบให้ได้ก่อน บางคนชอบนาฬิกาจักรกล เช่น ไขลาน หรืออัตโนมัติ และไม่สนใจกลุ่มนาฬิกาควอตซ์อยู่แล้ว งานนี้ยังไงก็ต้องมองผ่าน แต่ถ้าคุณไม่ซีเรียสเรื่องที่ว่าจะใช้กลไกแบบไหน แน่นอนเราคงต้องตอบว่า ‘น่าสนใจ’

เพราะแม้ว่าจะเป็นนาฬิกาแบบ Solar แต่พื้นฐานมันคือ ระบบควอตซ์นั่นแหละ เพียงแต่ต่างกันตรงที่ภายในจะมีถ่านแบบชาร์จได้ หรือตัวเก็บประจุในการทำหน้าที่รับกระแสไฟฟ้าที่ถูกชาร์จเข้ามาจากแผงโซลาร์ที่อยู่บนหน้าปัดทุกครั้งที่โดนแสงอาทิตย์ หรือแสงสังเคราะห์ในรูปแบบต่างๆ เช่น แสงไฟ เพื่อชดเชยกระแสไฟฟ้าที่ถูกใช้ไปในการขับเคลื่อนชุดเข็ม

Seiko V192
Seiko V192 Caliber

สำหรับข้อดีของนาฬิกา Solar เท่าที่มองเห็นนะครับ คือ

-ไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อย (ถ้าแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุไม่พังก่อนเวลา)

-มีความเที่ยงตรง ซึ่งตามปกติแล้วนาฬิกาควอตซ์ส่วนใหญ่ก็มีความเที่ยงตรงระดับหนึ่ง แต่อาจจะมองในแง่ของความเที่ยงตรงแบบต่อเนื่องในช่วงที่บางครั้งนาฬิกาควอตซ์ที่เป็นแบบแบตเตอรี่ใช้แล้วทิ้ง อาจจะมีความคลาดเคลื่อนในการเดินช่วงแบตเตอรี่อ่อน

-มีความทนทาน เพราะเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดแต่มีมานานแล้ว อย่างของ Seiko ก็พัฒนามาตั้งแต่ปี 1977

-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อยเหมือนกับนาฬิกาควอตซ์ทั่วไป ว่ากันว่า แบตเตอรี่แบบชาร์จได้ หรือตัวเก็บประจุของนาฬิกากินแสงมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 8-10 ปี หรืออาจจะมากกว่านี้ในกรณีที่ใช้อย่างถูกต้อง และมีการชาร์จกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ปล่อยให้ดับคากล่อง แล้วค่อยหยิบมาชาร์จใหม่ ตรงนี้จะช่วยลดปริมาณขยะแบตเตอรี่ลงได้เยอะมาก ซึ่งในบางรายงานเคยระบุว่า แบตเตอรี่ในนาฬิกา Solar สามารถคงความสามารถในการเก็บไฟฟ้าได้ในระดับ 80% แม้ว่าจะมีอายุการใช้งานเกิน 20 ปีแล้วก็ตาม

-ใช้งานง่ายเหมือนกับนาฬิกาควอตซ์ทั่วไป ไม่ต้องมาเสียเวลาตั้งเวลาเหมือนกับนาฬิกาจักรกล

เท่านี้ก็น่าจะทำให้นาฬิกา Solar เป็นทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม