Seiko Prospex Sumo นาฬิกาดำน้ำที่สุดคุ้มค่า

0

อารมณ์เหมือนตอนกับเล่น DVD ที่บรรดาคนที่รักการดูภาพยนตร์จะต้องมีแผ่นที่เป็นยาสามัญประจำบ้านติดเอาไว้ ซึ่งสำหรับแฟนๆ Seiko ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งตำแหน่งนี้คงต้องยกให้กับนาฬิกาดำน้ำสุดคุ้มค่าอย่าง Seiko Prospex Scuba Dive Watch ที่มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า Sumo

Seiko Prospex Sumo นาฬิกาดำน้ำที่สุดคุ้มค่า

Seiko Prospex Sumo นาฬิกาดำน้ำที่สุดคุ้มค่า

- Advertisement -

นาฬิกาดำน้ำกับราคาหลังหักส่วนลดแล้วอยู่ในระดับหมื่นกลางๆ ที่มีความคุ้มค่าที่สุดในการใช้งาน ณ วินาทีนี้ผมยังมองไม่เห็นเรือนไหน นอกจาก Seiko Sumo ที่แม้ว่าราคาตามป้ายจะอยู่ที่ 24,000 บาท แต่เราสามารถหาทั้งแบบประกันไทยจากร้านค้าข้างนอก หรือของหิ้วในราคาที่สบายกระเป๋าในราคา 13,000-15,000 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวะการหายากหรือง่ายของสินค้าที่วนเวียนอยู่ในตลาด

และไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า เมื่อประกาศขายเป็นของมือสอง ราคาแทบจะไม่หล่นเลย เรียกว่าในระดับ 11,000-12,000 บาทคือ ราคากลางของมือสองที่เราเห็นวนเวียนอยู่ในตลาด…จะมีนาฬิกาแบบไหนที่เป็นอย่างนี้บ้างละเนี่ย

ในเมื่อฮ็อต และกลายเป็นยาสามัญประจำกรุของบรรดานักสะสมไม่ว่าจะพวก Seiko Mania หรือคนทั่วไปที่หลงใหลในโลกของเวลา วันนี้เรามาทำความรู้จักกัน Seiko Prospex Scuba Dive Watch หรือที่คนทั่วไปเรียกสั้นๆ ว่า Sumo กันครับ

Seiko Sumo SBDC001

ชื่อเล่นนี้มีที่มาอย่างไร ?

ชื่อของ Sumo เป็นที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการในช่วงราวๆ ปี 2006-2007 เมื่อ Seiko เปิดตัวนาฬิกาดำน้ำที่ผ่านมาตรฐาน ISO6425 มีความสามารถในการกันน้ำระดับ 200 เมตร และใช้กลไกแบบใหม่ที่เรียกว่า 6R15 โดยมีระดับตลาดอยู่สูงกว่าพวก Monster หรือ Sardine ที่มีอยู่ในตลาดตอนนั้น พร้อมกับเป็นการเริ่มประเดิมการใช้ซับ-แบรนด์อย่าง Prospex อย่างเป็นทางการ

นาฬิการุ่นนี้ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า Seiko Prospex Scuba Dive Watch โดยในช่วงแรกมีทำตลาดด้วยกัน 3 รุ่นย่อยจาก 3 สีของหน้าปัด และ 2 แบบของสายที่ติดมาจากโรงงาน แต่คนส่วนใหญ่มักจะเรียกนาฬิการุ่นนี้ด้วยชื่อเล่นอย่างเป็นทางการว่า Sumo มากกว่าการใช้ชื่ออันยาวเหยียด

แน่นอนว่าตรงนี้คือข้อสงสัยที่หลายๆ คนคิดอยู่ในหัวว่า Sumo นั้นมีที่มาอย่างไร เราพยายามหาคำตอบที่วนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์สเปซ และจากความเหมือนของสมมุติฐานที่เกิดขึ้นนั้น ต่างคล้ายกันและเหมือนกันคือ เรียกตามมาร์คเกอร์หลักชั่วโมงในตำแหน่ง 12 นาฬิกาที่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมตัดปลายคว่ำและมีขีดตรงกลาง ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับเครื่องห่อหุ้มร่างกายของนักซูโม่ที่เรียกว่า Mawashi ในระหว่างการแข่งขัน และบวกกับตัวเรือนที่กลมอ้วน และมีเส้นผ่านศูนย์กลางระดับ 45 มิลลิเมตร แต่ดันมีขาสายที่กว้างเพียง 20 มิลลิเมตร จึงดูแล้วเหมือนกับคนอ้วนขาลีบ นั่นก็เลยเป็นที่มาของการใช้ชื่อ Sumo เรียกแทนนาฬิการุ่นนี้

Seiko Sumo SBDC005

เหตุผลของการก่อกำเนิด

อย่างที่บอกตั้งแต่แรก Sumo เป็นกลุ่มนาฬิกาใหม่ที่ทาง Seiko ผลิตขึ้นมาสำหรับคนที่มองหานาฬิกาดำน้ำที่มีคุณภาพแต่ราคาไม่แพงจนเกินไป และมีราคาอยู่ในช่วง 500-1,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยในตอนนั้น ไลน์อัพของนาฬิกาดำน้ำของ Seiko มีช่องว่างมากเกินไป คือ รุ่นธรรมดาอย่าง Monster ที่ในตอนนั้นยังใช้กลไก 7S และ Sardine ที่ใช้กลไก 4R15  แล้ว ขยับไปเป็น MM300 ซึ่งใช้กลไก 8L35 ที่มีค่าตัวในระดับ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น Sumo ก็เลยเข้ามาแทรกกลาง และเติมเต็มตรงนี้

และหลังจากการเปิดตลาดของ Sumo แล้ว เราจะพบว่า Seiko ทยอยเปิดตัวนาฬิกาดำน้ำที่ใช้กลไก 6R  ที่มีช่วงราคาป้วนเปี้ยนระหว่าง Sumo กับ MM300 ออกมายั่วน้ำลายบรรดาแฟนๆ อยู่เสมอ เช่น Transocean Shogun หรือแม้แต่ 62MAS Re-Interpretation

รุ่นพื้นฐานยังไงก็มี 3 แบบ

ถ้าให้แบ่งทางเลือกของรุ่นย่อยที่มีอยู่ในคอลเล็กชั่นของ Sumo แล้ว เราจะพบว่า มันมีอยู่ 2แบบ คือ รุ่นพื้นฐาน และตัวลิมิเต็ด ซึ่งรุ่นพื้นฐานของ Sumo มักจะอยู่ 3 ทางเลือกอยู่เสมอ เช่น ในช่วงแรกของการทำตลาด ก็จะเป็นรหัส SBDC001 สีดำ SBDC003 สีน้ำเงิน และ SBDC005 สีส้มสายยาง โดยทั้งหมดใช้บอดี้เดียวกัน ต่างกันที่สีของหน้าปัด และสาย ซึ่งในรุ่น SBDC005  นั้นเป็นหน้าส้มและใช้สายยางสีดำ แต่ทั้งหมดต่างก็ใช้กลไก 6R15 ในการขับเคลื่อน

Seiko Sumo SBDC033

จากนั้นเมื่อเข้าสู่การปรับโฉมเมื่อปี 2014 หรือเกือบๆ 10  ปีนับจากเริ่มทำตลาด Seiko จัดการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในเชิงรูปลักษณ์ให้กับ Sumo ใหม่ และแรกเริ่มทำตลาดแค่ 2  รุ่นคือ SBDC031  หน้าดำ และ SBDC033 หน้าน้ำเงิน ด้วยความเปลี่ยนแปลงในแง่ของรายละเอียดบนหน้าปัด ซึ่งมีการเพิ่มตัว X  ที่เป็นโลโก้ของซับแบรนด์อย่าง Prospex และถอดเอาคำว่า Automatic ที่เป็นตัวอักษรเขียนออกไป รวมถึงการเพิ่มความสดใหม่ด้วยการใช้กรรมวิธี  DiaShield ในการเคลือบตัวเรือนเพื่อความทนทานต่อการขีดข่วน และเพิ่มความสว่างให้กับพรายน้ำเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเดิม

Seiko ทำตลาดในแบบมีแค่ 2  รุ่นพื้นฐานอยู่นานระดับหนึ่ง สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็เปิดตัวทางเลือกที่ 3 ของ Sumo ตัวปรับโฉมออกมา นั่นคือ SBDC057 หรือที่บ้านเราเรียกว่า Pepsi ตรงนี้ต่างจาก Sumo ส้มอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นเวอร์ชันที่มีขายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้นในตอนนี้ ยังไม่มีส่งออกมาขายนอกแดนปลาดิบ โดยไม่ว่าจะเป็นรุ่นย่อยแบบไหน ก็ใช้กลไก 6R15 เหมือนเดิม

นาฬิกาที่สุดคุ้มค่า

อย่างที่เกริ่นในตอนแรก Sumo ถือเป็นนาฬิกาที่คุ้มค่ามากทั้งในแง่หน้าตา กลไก ความเนียนของตัวนาฬิกาที่แม้ว่าจะเกิดปัญหาในเรื่องของมาร์คเกอร์ของเลข 30 ไม่ตรงกับหลัก 6 นาฬิกาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำรุ่นไปแล้ว

ราคาในตลาดญี่ปุ่นถูกตั้งเอาไว้ที่ 60,000 เยน หรือราวๆ 18,000 บาท แต่บ้านเราราคาขยับอยู่ในช่วง 24,000 บาท คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับส่วนลดของแต่ละร้านแล้วว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่แล้วเท่าที่เห็นในอินเตอร์เนต ถ้าเป็นของประกันศูนย์จะอยู่ในช่วง 16,000-17,000 บาท และของหิ้วจะอยู่ราวๆ 13,000-14,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นมีของอยู่ในตลาดเยอะมากแค่ไหน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ราคาขายต่อของ Sumo  ถือว่าค่อนข้างดีมาก เรียกว่าบางครั้งของใหม่กับของเก่าราคาห่างกันแค่ 10-20% ก็ยังมี ถือว่ากำไรใส่แบบสุดๆ และยิ่งมีการปรับหน้าปัดที่เอาตัว X  มาแปะบนหน้าปัด ส่งผลต่อจิตใจของบรรดาแฟนๆ และมีผลทำให้พวกรุ่นแรกๆ อย่าง SBDC001 และ SBDC003 ซึ่งไม่มีโลโก้ X และมีตัวเขียนของคำว่า Automatic ถูกขยับราคาขาย จนบางดีลพุ่งสูงถึงเกือบ 20,000 บาทเลยก็มี

เช่นเดียวกับรุ่นหน้าส้ม ซึ่งเมื่อก่อนถือว่ายิ่งกว่าเป็นลูกเมียน้อยคนที่ 4  เสียอีก เพราะไม่มีใครสนใจ แถมขายต่อราคาก็ไม่ดี เรียกว่า ตั้งเอาไว้ 9,000 บาทก็ยังไม่อยากจะไปเลย  แต่เดี๋ยวนี้ราคาพุ่งเอาพุ่งเอาจนเกินหลัก 20,000บาทไปแล้ว

เรื่องของ Seiko Sumo ยังไม่จบครับ เดี๋ยวตอนหน้าจะมาเล่าถึงพวกบรรดารุ่นพิเศษ และตัว Limited  ที่มีขายอยู่ในตลาดกันครับ

รายละเอียดทางเทคนิค : Seiko Prospex Sumo

SBDC001 SBDC003 SBDC005 SBDC031 SBDC033 SBDC057
หน้าปัด ดำ น้ำเงิน ส้ม ดำ น้ำเงิน น้ำเงิน
Bezel ดำ น้ำเงิน ดำ ดำ น้ำเงิน น้ำเงิน-แดง
สาย เหล็ก สายยาง เหล็ก