เชื่อว่าคนที่เป็นเจ้าของนาฬิกา Seiko น่าจะมีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับไส้ในซึ่งเป็นกลไกอัตโนมัติที่วางอยู่ในนาฬิกาของตัวเอง และก็เชื่ออีกเช่นกันว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า 6R 4R หรือ 7S กันมาไม่มากก็น้อย
แน่นอนว่าหลายคนอาจจะรู้จักว่าแต่ละรหัสคือ อะไร แต่ก็เชื่อว่าอีกหลายคนที่ยังไม่ทราบ วันนี้เรามาดูกันว่ากลไก 6R และ 4R ที่เรียกว่าน่าจะเป็นกลไกหลักของนาฬิกาในช่วงราคาหลักครึ่งหมื่นไปจนถึงครึ่งแสนของ Seiko นั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง
Seiko Caliber ทำความรู้จักกลไก 6R-4R กัน
ในกลุ่มนาฬิกาอัตโนมัติที่จับต้องได้ของ Seiko ซึ่งมีราคาตามป้ายอยู่ระหว่างหลักพันไปจนถึงเฉียดๆ ครึ่งแสน เราจะพบว่านาฬิกาเหล่านี้ถูกติดตั้งกลไกที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็วนเวียนอยู่ใน 4 รหัสหลัก และนั่นทำให้บ่อยครั้งที่หลายคนมักจะสงสัยว่ากลไก 7S26, 4R15 หรือ 4R36 รวมถึง 6R15 มันแตกต่างกันอย่างไร ? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า นาฬิการุ่นนั้นรุ่นนี้ของ Seiko ติดตั้งกลไกรุ่นอะไร ? … เอาละวันนี้เรามาทำความเข้าใจกัน
ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับให้เห็นภาพ ผมคิดว่ากลไกรุ่นต่างๆ ของ Seiko ไม่ต่างจากเครื่องยนต์รุ่นต่างๆ ในรถยนต์ที่ขายอยู่ในตลาด เพราะสำหรับบริษัทรถยนต์ เครื่องยนต์ 1 บล็อกอาจจะวางอยู่ในรถยนต์ทั้งรุ่นราคาประหยัด หรือรุ่นราคาปานกลางได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ร่วมกันได้ในรถยนต์แบรนด์เดียวกันแต่ต่างโมเดล
เช่นเดียวกับกลไกของ Seiko ซึ่งนาฬิกาที่ใช้กลไกอัตโนมัติ 4 รหัสหลักอย่าง 7S26, 4R1X (เช่น 4R15 และ 4R16), 4R3X (เช่น 4R35, 4R36 และ 4R37) และ 6R จะมีความต่างในเรื่องของระดับกลุ่มตลาดและการวาง Position ของตัวนาฬิกานั้นๆ
ในสมัยเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว เราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อของกลไก 7S26 ซึ่งเรียกว่าแทบจะผูกขาดในการติดตั้งอยู่ในนาฬิการุ่นระดับหลักพันและหมื่นต้นๆ ของ Seiko เพราะว่ากลไกรุ่นนี้ถูกผลิตและวางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 1996 และเข้ามาแทนที่กลไกรุ่น 7002 ซึ่งกลไกในตระกูล 7S นี่แหละถือเป็นพื้นฐานที่ถูกนำมาต่อยอดเป็นกลไกสำหรับใช้กับนาฬิกาในกลุ่มหลักพันถึงหลักครึ่งแสนของ Seiko
เพราะต่อจากนั้นพวกเขาก็เปิดตัว 6R ออกมาในปี 2006 ตามด้วย 4R1X ที่เปิดตัวในปี 2008 และ 4R3X ที่เปิดตัวในปี 2011 ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของกลไก 7S
เรียกว่า 6R, 4R1X และ 4R3X เป็นกลไกที่ถูกปรับปรุงในแง่ของส่วนประกอบย่อยๆ และการติดตั้งฟังก์ชั่นอื่นๆ เช่น ระบบขึ้นลานมือ การแฮ็คเข็มวินาที และการเพิ่มกำลังสำรอง เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อรองรับกับกลุ่มตลาดของนาฬิกาที่มีความหลากหลายขึ้น
พื้นฐาน | ปีที่เริ่มผลิต | รหัสกลไก | ลาน | ขึ้นลานมือ-แฮคเข็มวินาที |
7S | 1996 | 7S25, 7S26, 7S35, 7S36, 7S55 | ธรรมดา | ไม่มี |
6R1x | 2006 | 6R15, 6R20, 6R21, 6R24 | Spron 510 | มี |
4R1x | 2008 | 4R15, 4R16 | Spron 510 | ไม่มี |
4R3x | 2011 | 4R35, 4R36, 4R37, 4R38, 4R39 | ธรรมดา | มี |
หมายเหตุ : ข้อมูลจาก watch-wiki.net
6R : กลไกรุ่นท็อปสำหรับนาฬิการะดับปานกลาง
ถ้าให้แบ่งระดับของนาฬิกาตามป้ายราคาแล้ว เราจะพบว่าในกลุ่มระดับนาฬิกาอัตโนมัติแบบ 3 เข็มที่มีราคาป้ายระหว่าง 20,000-50,000 บาทของ Seiko ล้วนแล้วแต่ใช้กลไกตระกูล 6R เป็นหลัก เช่น Sumo, Fieldmaster, Re-Interpretation, TransOcean, LandMonster รวมไปถึงกลุ่มนาฬิกาเดรสส์ที่เป็น JDM
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะรู้จักกับ 6R15 ซึ่งเป็นกลไกที่คุ้นเคยของบรรดาแฟนๆ Seiko Caliber ทำความรู้จักกลไก 6R-4R แต่ทว่ารุ่นย่อยของกลไก 6R ยังมีอีกมากมาย ซึ่งแบ่งได้ตามนี้
รหัส | ความถี่ | รูปแบบเข็ม | ช่องวันที่ | หน้าปัดย่อย | จำนวนทับทิม | สำรองพลังงาน |
6R15 | 21,600 | ชม. นาที วินาที | วันที่ | ไม่มี | 23 | 50 ชม. |
6R20 | 28,800 | ชม. นาที วินาที | วันที่/วันสัปดาห์ | หน้าปัดแสดงพลังงานสำรอง | 29 | 45 ชม. |
6R21 | ชม. นาที วินาที | หน้าปัดย่อยวันที่ และวันสัปดาห์แบบชี้ด้วยเข็ม | หน้าปัดแสดงพลังงานสำรอง | |||
6R24 | ชม. นาที วินาที | วันสัปดาห์แบบเข็มRetrograde และหน้าปัดย่อยสำหรับวันที่ | หน้าปัดแสดงพลังงานสำรอง | 31 | ||
6R27 | ชม. นาที | หน้าปัดย่อยวันที่ แบบชี้ด้วยเข็ม | หน้าปัดย่อยวันที่ แบบชี้ด้วยเข็ม และเข็มแสดงระดับกำลังสำรอง | 29 |
กลไกตระกูล 6R15 ถูกต่อยอดจากพื้นฐานเดียวกับ 7S26B เดินด้วยความถี่เท่ากันคือ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง แต่เพิ่มฟังก์ชั่นเข้าไป คือ การแฮ็คเข็มวินาที และการขึ้นลานมือ ลดช่องแสดงวันที่แบบ Day/Date ใน 7S26B มาเป็นแบบ Date เพียงอย่างเดียว มีการเปลี่ยนระบบลานแบบธรรมดามาเป็นแบบที่ใช้วัสดุที่ Seiko พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษอย่าง Spron 510 ซึ่งช่วยเพิ่มการสำรองพลังงานจาก 40 มาเป็น 50 ชั่วโมง
ส่วนกลไกในตระกูล 6R รหัสอื่น หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยหรือคุ้นชื่อเท่าไร แต่ก็มีขายอยู่ในตลาดบ้านเราเหมือนกัน เพียงแต่จะอยู่ในกลุ่ม Dress ที่มีหน้าหลายปัดย่อย เช่น SARW011 ซึ่งใช้กลไก 6R27 เป็นต้น
4R15-4R16 : รอยต่อระหว่าง 7S26 กับ 6R15
ขณะที่ Seiko เพิ่มทางเลือกของกลไกให้กับนาฬิกาในระดับปานกลางค่อนไปทางสูง รวมถึงนาฬิกาในกลุ่ม Prospex รุ่นแรกๆ ที่เป็น JDM ด้วยกลไกตระกูล 6R ในอีก 2 ปีต่อมาพวกเขาเปิดตัวกลไกใหม่เพื่อเข้ามาแทรกกลางระหว่าง 7S26 กับ 6R15 ที่มีช่องว่างมากจนเกินไป พร้อมกับปรับลดบทบาทของกลไกตระกูล 7S ไปในตัว
กลไกที่ว่าคือ 4R15 และ 4R16 ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เหมือนกับเป็นการลดสเป็กของ 6R15 คือ ลดจำนวนทับทิมเหลือ 22 เม็ด เดินด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมงเท่าเดิม แต่ยังใช้ลานที่ผลิตจาก Sprong 510 เช่นเดียวกับ 6R15 ทำให้มีการสำรองพลังงานในระดับ 50 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ขาดหายไปการแฮ็คเข็มวินาทีและการขึ้นลานมือ แต่มีความเที่ยงตรงในระดับที่ใกล้เคียงกันคือ -15/+25 วินาทีต่อวัน
กลไกรุ่นนี้วางอยู่ในนาฬิกาหลายรุ่นที่ทำตลาดตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นไป โดยส่วนใหญ่รหัสของนาฬิกาจะขึ้นต้นด้วย SRP เมื่อมีกลไกชุดนี้ติดตั้งอยู่ภายในตัวเรือน และรวมถึงนาฬิกาในตระกูล Superior ซึ่งในปัจจุบัน เราไม่ค่อยเห็นนาฬิการุ่นใหม่ๆ จากคอลเล็กชั่นนี้อยู่ในตลาดแล้ว เช่นเดียวกับที่บทบาทของกลไก 4R15/16 ที่ลดลงเพราะถูกแทนที่ด้วยรุ่นใหม่
รหัส | จำนวนเข็ม | วันที่ | จำนวนทับทิม | สำรองพลังงาน |
4R15 | ชม. นาที วินาที | วันที่ | 22 | 50 ชั่วโมง |
4R16 | วันที่ และวันในสัปดาห์ | |||
4R35 / 4R36 / 4R37/4R38/4R39 : ทางเลือกใหม่สำหรับนาฬิกาพื้นฐาน
ถ้าในช่วงทศวรรษที่ 1990-2000 กลไกรหัส 7S คือ เกิดมาสำหรับนาฬิการุ่นพื้นฐานของ Seiko ในตอนนี้หน้าที่นี้ตกเป็นของกลไกในตระกูล 4R35 / 4R36 / 4R37 / 4R38 / 4R39 แล้ว ซึ่งถูกวางอยู่ในนาฬิกาที่มีระดับราคาหลักพันไปจนถึง 20,000 บาทกลางๆ ทั้งในกลุ่มนาฬิกา Seiko 5Sport ส่วนใหญ่ รุ่นมาตรฐานปกติ และพวก Prospex ทั้ง Samurai, Baby Tuna, Monster, Turtle ฯลฯ
Seiko นำกลไกรุ่นนี้มาใช้ในตลาดเมื่อปี 2011 และค่อยๆ แพร่หลายในการนำมาติดตั้งในนาฬิกาของ Seiko หลายต่อหลายรุ่น และน่าจะกลายเป็นกลไกหลักของนาฬิกาที่ช่วงราคาตามที่กล่าวถึวข้างบน รวมถึงยังมีการผลิตออกขายเพื่อให้แบรนด์อื่นๆ นำไปใช้ โดยจะใช้รหัสว่า NH แล้วตามด้วยเลขต่อท้ายเหมือนกับกลไก 4R
รหัส | จำนวนเข็ม | วันที่ | หน้าปัดย่อย | จำนวนทับทิม | สำรองพลังงาน |
4R35A | ชม. นาที วินาที | วันที่ | ไม่มี | 23 | 41 ชั่วโมง |
4R35B | 24 | ||||
4R36 | วันที่ และวันในสัปดาห์ | ||||
4R37 | วันที่ | แสดง 24 ชม. | |||
4R38 | ไม่มี | ไม่มี | |||
4R39 | แสดง 24 ชม. |
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่านาฬิกาของเราใช้กลไกแบบไหน ?
เรื่องนี้ไม่ยาก และคุณสามารถทราบได้ว่านาฬิกาที่ซื้อใช้กลไกแบบไหนได้จาก 3 ทาง
ที่แรกคือ เว็บไซต์ สามารถเสิร์ชและหาข้อมูลจาก Google ประกอบการตัดสินใจได้เลย
จุดที่ 2 ถ้านาฬิกาอยู่กับตัว พลิกดูฝาหลังได้เลย จะมีอยู่จุดหนึ่งที่ระบุกลไกที่ใช้กับนาฬิกาเรือนนั้นๆ คล้ายกับนฺฬกาของ Casio G-Shock ที่จะมีการระบุหมายเลขเครื่องหรือ Module เอาไว้ที่ฝาหลัง
จุดที่ 3 ดึงเอาใบรับประกันมา ถ้าคุณซื้อจากตัวแทนจำหน่ายตามเคาน์เตอร์ ส่วนใหญ่พนักงานขายจะกรอกตัวเลขนี้นี้ลงไปที่ช่อง Case No. ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาก็ดูจากตัวเลขที่ระบุอยู่บนฝาหลังนั่นแหละ ยกเว้นในกรณีที่คุณซื้อนาฬิกาแบบใบเปล่าๆ ติดมา อันนี้ก็ไม่มีการลงเอาไว้ให้ ต้องไปดูแล้วลงเอาเอง
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/