สารภาพตามตรงเลยว่าผมไม่ค่อยเห็นด้วยตอนที่ Seiko เปิดตัวนาฬิการุ่นนี้ พร้อมกับการใช้คำว่า Baby Tuna ออกมาสื่อเป็นชื่อเล่นของนาฬิการุ่นนี้ มันคือกลยุทธ์ในเชิงการตลาดที่ (อาจจะ) สร้างความเข้าใจผิด เพราะผมคิดว่าเจ้า SRP ที่มีทั้งรุ่น 641K1 ในแบบดำทอง 637K1 ในแบบเกราะเงินทั้งเรือน และ 639K1 แบบเข็มเหลือง คือ การเข้ามาแทนที่ของ Sardine ไม่ใช่ Tuna
จะ Tuna หรือ Sardine ดีละเนี๊ย
เอาละ… จะ Tuna หรือ Sardine ดีละเนี๊ย ถ้าตามไม่ทันเดี๋ยวเล่าย้อนหลังสักนิดนึง ก่อนหน้าที่ตลาด Seiko จะบูมเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นาฬิกาในกลุ่มที่เป็น Diver Watches แบบจริงจังของพวกเขามีค่อนข้างเยอะเหมือนกัน แต่ก็ไม่ดังเท่ากับพวกมีเกราะ หรือ Shroud ซึ่งก็มีการแบ่ง Level ออกเป็น Tuna (Can) สำหรับพวกท็อปๆ ที่เป็นกลุ่ม Prospex ในสมัยนั้น กับพวกใช้เครื่อง 4R อย่าง Sardines (Can) เช่น SRP229K1 ซึ่งเป็นนาฬิการะดับ 200 เมตรที่มีขายกันอยู่ในบ้านเรา
การใช้ชื่อ Tuna กับ Sardine ก็เหมือนกับการแบ่งเกรดกับระดับตลาดไปในตัว เพราะถ้าคุณเดินตามชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต ยังไงทูนากระป๋องก็มีราคาแพงกว่าพวกปลาซาร์ดีนกระป๋องอยู่แล้ว
ดังนั้นผมเห็นแวบแรกของการเปิดตัวพวก SRP รุ่นใหม่ก็ทราบได้ทันทีว่ามันมาแทนพวก Sardine อย่างแน่นอน แต่สุดท้าย Seiko และแฟนๆ ก็เลือกที่จะใช้ชื่อ Baby Tuna สื่อเข้าไปแทนเพื่อให้ดูดี หรืออัพเกรดขึ้นมา อาจจะด้วยเหตุผลทางการตลาดที่สามารถช่วยกระตุ้นยอดขาย ว่าเป็นเจนเนอเรชั่นที่สืบทอดมาจาก Tuna อะไรทำนองนั้น
อาจจะฟังดูแล้วผมจุกจิกกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง…ซึ่งก็คงจะจริง
เอาละ…แม้จะบ่น แต่ผมก็ชอบกับนาฬิกาตระกูล Sardine เอ๊ย Baby Tuna นะ ด้วยเหตุผลก็คือ มันใช้กลไกที่โอเค (เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยนั้นที่เครื่อง Base ของ Seiko คือ 7S36) หน้าตาที่ดูดี บวกกับราคาที่เราสามารถหาตามอินเตอร์เนตได้ในระดับบวกลบหมื่น
ตรงนี้ผมว่าน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้นาฬิการุ่นนี้ขายดีชนิดที่ช่วงหนึ่งถึงขั้นขาดตลาดกันเลยทีเดียว
จริงๆ แล้วผมกับเจ้า Baby Tuna เคยซื้อเข้าซื้อออกอยู่หลายรอบ แต่วนเวียนอยู่แค่ 2 รุ่นเท่านั้นคือ SRP637K1 และ SRP639K1 สุดท้ายก็เหลือแค่ตัวเดียวติดกรุ นั่นคือ เกราะเงิน 637 ด้วยเหตุผลเดียวคือ เข้ากับสายหนังแล้วดูดีที่สุด
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมค่อนข้างพอใจกับนาฬิกาตระกูลนี้คือ เนื้องานที่ออกมาในระดับที่สมราคา พรายน้ำที่สว่างตามแบบฉบับของ Seiko และหน้าปัดที่มีตัวเลขแสดงวินาทีตรงหลักชั่วโมง ซึ่งกลายคนอาจจะมองว่า ‘บ้าเหรอ’ กับเหตุผลนี้ แต่สำหรับผม มันทำให้รู้สึกว่าหน้าปัดของนาฬิกามีความพิเศษเพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะมีแค่พรายน้ำของหลักชั่วโมง
ส่วนสิ่งที่ขัดใจก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ถึงเป็นประเด็นใหญ่ เช่น เม็ดมะยมที่เวลาดึงแล้วไม่ค่อยนุ่มมือเท่าไร เช่นเดียวกับตอนที่ดันเข้าไปแล้วพยายามจะขันเกลียว ผมมีความรู้สึกเหมือนกับเกลียวมันฝืนๆ ขัดๆ เหมือนไม่ค่อยเข้าเกลียวสักเท่าไร ส่วนอีกเรื่องเห็นจะเป็นเข็มวินาทีที่ไม่มากับอมยิ้มหรือ Lollipop เหมือนกับไลน์ดำน้ำอื่นๆ เช่น Tuna ตัวแพงๆ หรือ เจ้าเต่า Turtle Re-Edition ซึ่งผมมองว่ามันคือเอกลักษณ์ของนาฬิกาในกลุ่มดำน้ำของ Seiko เลย
กับขาสายขนาด 22 มิลลิเมตร งานนี้คุณได้เปลี่ยนสายสนุกกันอย่าวแน่นอนเพราะถือเป็นขาสายมาตรฐานที่ใช้กับนาฬิกาหลายต่อหลายรุ่นในตลาดไม่เว้นแต่ Seiko เพียงแต่บางคนอาจจะไม่ชอบขาสายตรงกับตัวเรือนแต่เน้นสายใหญ่แล้วบากเอา…งานนี้ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
สำหรับบางคนที่ดูตัวเรือนแล้วอาจจะตกใจกับตัวเลข 47 มิลลิเมตรแบบไม่รวมเม็ดมะยมซึ่งเป็นตัวเลขของ Diameter ของหน้าปัดนาฬิกา แต่บอกเลยว่ามันไม่ใหญ่อย่างที่คิด และด้วยตัวเรือนที่ถูกออกแบบมาให้ขาสั้น หรือ Short Lug ทำให้คุณจะหมดปัญหากับขาที่กางจนทำให้เวลาใส่แล้วมันล้นข้อ เรียกว่าผู้หญิงที่ข้อเล็กและไม่ติดกับนาฬิกาที่ตรงกับเพศตัวเอง ก็สามารถใส่ได้แบบไม่เคอะเขิน อาจจะติดตรงที่มีความหนาเล็กน้อย ด้วยตัวเลข 14 มิลลิเมตร
ในแง่ของกลไก กับเครื่องอัตโนมัติในตระกูล 4R36 จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากมาย และน่าจะเป็นกลไกมาตรฐานสำหรับนาฬิการะดับปกติของ Seiko ไปแล้ว และถือว่าครบเครื่องกับความต้องการทั้งในเรื่องของการสำรองพลังงาน 41 ชั่วโมง เดินด้วยความถี่ 21,600 bph และความสามารถในการ Hack เข็มวินาทีที่เครื่องในตระกูล 7S ทำไม่ได้
โดยรวมกับค่าตัวในระดับหมื่นต้นๆ หลังหักส่วนลด ที่คุณสามารถหาตามเว็บไซต์ขายนาฬิกาทั่วไป ถือว่าเป็นราคามาตรฐานสำหรับกลุ่มนาฬิกาดำน้ำของ Seiko ซึ่งเมื่อดูในเรื่องของภาพรวมทั้งวัสดุ ดีไซน์ และกลไก ถือว่ารับได้กับเงินที่จ่ายไป
แต่ถ้าคุณเป็นขาจรของ Seiko ที่ไม่ได้ติดใจกับหน้าตาอะไรมากมาย และต้องการกลไกที่ดี ค่าตัวของ Baby Tuna อาจจะแรงไปสักนิดเมื่อเปรียบเทียบกับ Sumo ที่มีระดับตลาดสูงกว่า และมีค่าตัวหลังหักส่วนลดแพงกว่ากันไม่มากเท่าไร
คุณสมบัติของ : จะ Tuna หรือ Sardine
- กลไก : 4R36
- สำรองพลังงาน : 41 ชั่วโมง
- กันน้ำ : 200 เมตร
- เส้นผ่าศูนย์กลางไม่รวมเม็ดมะยม : 47 มิลลิเมตร
- Lug-Lug : 50 มิลลิเมตร
- หนา : 14 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก : 184 กรัม
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- จุดเด่น : หน้าตาสวยดูสปอร์ต และอัพเกรดสเปกจากรุ่นเดิมที่เป็น Sardine โดยเฉพาะตัวเกราะที่เปลี่ยนเป็นโลหะ ไม่ใช่พลาสติก
- จุดด้อย : ราคาตั้งที่อาจจะแพงไปเมื่อเปรียบเทียบกับกลไกพื้นฐานที่เป็นรหัส 4R36 และราคาใกล้กับ Sumo ไปหน่อย
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/