Ocean Bomber OB-3 อีกผลงานที่คนรัก Homage ไม่ควรพลาด

0

อีกหนึ่งผลงานของนาฬิกา Homage จากคนไทยที่น่าสนใจ ซึ่ง Ocean Bomber OB-3 มากับความลงตัวและสวยงามของดีไซน์ โดยที่สำคัญคือ มีการอัพเกรดสเป็กด้วยการเลือกใช้วัสดุและกลไกที่ดีขึ้น

- Advertisement -

Ocean Bomber OB-3

Ocean Bomber OB-3 อีกผลงานที่คนรัก Homage ไม่ควรพลาด

  • อีกผลงานของนาฬิกา Homage จาก พี่โหน่ง หรือคุณ Nirut Jeenyu ซึ่งคราวนี้เป็นคอลเล็กชั่น Ocean Bobmber

  • ตัวนาฬิกาผลิตจาก Stainless Steel มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 47 มิลลิเมตร และ Lug to Lug ที่ยาวถึง 53 มิลลิเมตร

  • กลไก Miyota Cal.9015 เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง และสามารถสำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ก่อนที่จะเดินลุยกับคอลเล็กชั่น Nomad อย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น ภาพที่ผมติดใจและหลงใหลนาฬิกาในสไตล์ Homage จากพี่โหน่ง หรือคุณ Nirut Jeenyu คือ นาฬิกาต้นแบบ 3 เรือนที่เขานำมายั่วใจบรรดาสมาชิกในกลุ่ม Homage Thai นั่นคือ Aquator, Strumento Macchinista และ Ocean Bomber เรือนแรกยังเฝ้ารออยู่ ส่วนเรือนที่ 2 ฝันเป็นจริงเพราะรับจองไปแล้วในชื่อรุ่น Scuba Star (และแน่นอนว่าผมไม่พลาด) ส่วนอีกเรือนมาถึงมือเรียบร้อยหลังจากที่รอสักระยะกับชื่อรุ่น Ocean Bomber

ถูกใจ สวยสะดุดตา และลงตัวทุกรายละเอียด’ คือ อาการแรกที่ผมรู้สึกหลังจากที่เปิดกล่องพัสดุ แน่นอนว่า ผมมีความประทับใจแรกอยู่กับเจ้า Ocean Bomber มาก่อนแล้ว จึงเกิดสัมผัสในลักษณะนี้ได้ไม่ยากเมื่อเจอเข้ากับของจริง

ตัวเรือนผลิตจาก Stainless Steel ขนาดถือว่าเอาเรื่อง เพราะแม้ว่าเส้นผ่านศูนย์กลางจะไม่ได้ใหญ่มาก (แต่ก็ถือว่าใหญ่สำหรับคนข้อมือเล็ก) โดยอยู่ในระดับ 47 มิลลิเมตร แต่ที่น่าห่วงคือ Lug to Lug ที่ยาวถึง 53 มิลลิเมตร ที่อาจจะทำให้คนข้อมือใหญ่แต่ไม่แบนอาจจะเกิดอาการล้นข้อได้ ส่วนตัวผมค่อนข้างโชคดีที่ข้อมือของตัวเองค่อนข้างแบน ไม่ได้อวบและโค้ง ขนาดก็เลยลงตัวพอดีกับข้อมือ

ขนาดความหนาอยู่ในระดับที่พอดีกับสไตล์นาฬิกาด้วยตัวเลข 14.6 มิลลิเมตร และตรงด้านข้างตัวเรือนในตำแหน่ง 9 นาฬิกามีการเจาะรูสำหรับ Helium Escape Valve เพื่อใช้ในการระบายก๊าซฮีเลี่ยมเวลาต้องลงไปดำน้ำในทะเลลึกและพักอยู่ในที่พักสำหรับการทำงานใต้น้ำแบบนานๆ หลายวัน ซึ่งเวลาที่ขึ้นจากใต้น้ำฮีเลี่ยมที่ถูกผสมในอากาศของพื้นที่ในการอยู่อาศัย อาจจะเล็ดรอดเข้าไปอยู่ในตัวเรือนนาฬิกาและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนดันให้นาฬิกาพังได้ ดังนั้น เจ้า HEV ก็มีความสำคัญด้วยประการฉะนี้ แต่ของ OB-3 ทำได้หรือไม่ ผมคงไม่มีโอกาสทดสอบอย่างแน่นอน เพราะดูแล้วหน้าที่การงานและไลฟ์สไตล์คงไม่ได้

สิ่งที่ผมชอบในนาฬิกาเรือนนี้มีอยู่ 3 จุดด้วยกัน อย่างแรก คือ ดีไซน์ของตัวเรือนแบบไม่มีขาสายซึ่งสารภาพเลยผมค่อนข้างถูกใจนาฬิกาลักษณะนี้ และมันสร้างความประทับใจให้กับผมได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ตามมาเสมอกับนาฬิกาประเภทนี้คือ เปลี่ยนสายยากชะมัด และมักจะต้องสั่งกำชับช่างตัดสายอยู่เสมอว่าพยายามทำให้หัวสายมีความบางหน่อย เพราะไม่อย่างนั้นจะยัดไม่ลง

อย่างที่ 2 คือ ขอบ Bezel แบบ Sapphire หมุนได้ 120 คลิ๊กแบบทางเดียว ที่ดูเงาและสวยลงตัวมาก ชนิดเรียกว่าเกินราคาและเกินจากคำว่า Homage ไปอย่างมาก โดยเฉพาะในการออกแบบช่วงสเกลย่อยในการจับเวลาช่วง 0-10 ซึ่งมีการใช้โทนสีที่ตัดกับสีหลักของ Bezel อย่างลงตัว เมื่อบวกกับการแต้มพรายน้ำบนตัวเลขหลัก หรือแม้แต่แถบขาวบน Bezel ลงไปด้วยแล้ว เวลาดูในตอนกลางคืนหลังจากอัดแสงลงไปนั้น เรียกว่าสวยและสะดุดตาอย่างมาก แถมยังใส่ใจในการสร้างความแตกต่างด้วยสีของหลักชั่วโมง เข็ม และบน Bezel ที่แตกต่างกัน

แต่สิ่งที่ติดอย่างเดียวสำหรับผมในจุดนี้คือ การพยายามใส่ตัวเลขในช่วงแถบขาวบน Bezel มากจนเกินไป ทำให้รู้สึกอึดอัดไปหน่อย โดยเฉพาะในช่วงการเบียดกันของเลข 9 และ 10

Ocean Bomber OB-3

สำหรับ Sapphire Bezel นั้นมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับ Ceramic Bezel ซึ่งในแง่ของต้นทุนผมคิดว่าน่าจะถูกกว่า แต่มีความเงางามกว่า และพรายน้ำที่ถูกใส่ลงไปนั้นส่วนใหญ่จะถูกเพนท์บนพื้นผิวที่ถูกหุ้มด้วย Sapphire อีกที ไม่ได้ถูกเพนท์ลงไปบนพื้นผิวที่ผ่านการเคลือบไว้เหมือนอย่างของ Ceramic

อย่างที่ 3 คือ ดีไซน์ของหน้าปัดที่มีลูกเล่นในการแบ่งหน้าปัดออกเป็น 2 ส่วนคือ วงกลมที่อยู่ด้านใน ซึ่งจะมีพื้นของสีน้ำเงินและแอบ Gradient เล่นแสงนิดๆ ขณะที่สวนที่ 2 เป็นพื้นเทาแบบ Matte พร้อมกับหลักชั่วโมงแบบแท่งยาว และตรงนี้มีการเล่นสีสันที่ผมว่าเป็นการจับคู่โทนสีที่ถูกใจมากคือ ส้ม-เทา-ขาว เมื่อบวกกับเข็มในสไตล์ทูโทน คือ เข็มนาทีและเข็มวินาทีสีส้ม และเข็มชั่วโมงสีขาว จุดตรงนี้ถือว่าลงตัวและสวยสะดุดตาอย่างมาก


กลไกที่ใช้ใน Ocean Bomber OB-3 เปลี่ยนจากกลุ่มของ Nomad ที่ปกติแล้วจะใช้ NH ของ Seiko โดยในของ Ocean Bomber เปลี่ยนมาเป็น Miyota ของ Citizen และเป็นคาลิเบอร์รหัส Cal.9015 ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Premium Caliber สามารถแฮ็คเข็มวินาที และขึ้นลานมือได้ เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมงหรือ 4Hz สำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง และมีความเที่ยงตรงในระดับ -10 ถึง +30 วินาทีต่อวัน ซึ่งปกติแล้วในกลไกรุ่นนี้จะมีช่องวันที่หรือ Date มาด้วย แต่สำหรับ Ocean Bomber OB-3ไม่ได้มีการเจาะช่องแสดงบนหน้าปัดซึ่งผมว่าโอเคสำหรับพวกที่ชอบสลับนาฬิกาไปมาอย่างผมมากมาย และส่วนตัวไม่ได้ติดใจอะไรมากมายกับกลไกเท่าไรเมื่อพูดถึงนาฬิกาในกลุ่ม Homage

สำหรับสายหนังที่ติดมากับตัวเรือนนั้น มีความพิเศษหน่อย เพราะเท่าที่ดูจากข้อมูลในโพสต์ของพี่โหน่งนั้น ระบุว่า ‘Buttero “Burro” – Veg Tanned Leather Grain with White Wax น่าจะเป็นชื่อเรียกแบบเต็มยศ พื้นฐานหนังอิตาลีมีความแน่นแต่เมื่อใช้งานไประยะจะเกิดความนุ่ม จากความพิเศษจึงได้จัดเป็นสายพิเศษที่มอบไปกับช่วงเปิดจอง OCEAN BOMBER no.3 สายส่วนตัวเส้นนี้ผมใช้น้ำเปล่าและผ้านุ่มๆ เช็ดแว็กซ์ออกบางส่วนให้เห็นสีหนังดำกึ่งเทา ด้ายเส้นนี้เป็นสีส้มอ่อนๆ ภาพรวมเมื่อใช้งานจริง รู้สึกถึงความมั่นคงของสายที่จะรับกับตัวเรือนนาฬิกาขนาดใหญ่และมีน้ำหนักพอควรของ OB-3 ได้อย่างสบาย’


รู้สึกว่าผมจะได้หนังรุ่นนี้มา เพราะก่อนหน้าการส่งมอบจะมีการแจ้งว่าผมได้หนังพิเศษ และมีการสอบถามเรื่องขนาด แต่ก็ไม่รู้ว่าในอีกหลายเรือนที่เหลือนั้นจะเป็นสายหนังุร่นไหน แต่สุดท้ายก็จัดการเปลี่ยนซะตามที่เห็นในภาพรีวิว เพราะส่วนตัวไม่ชอบสายสีเข้มเท่าไร

สำหรับประเด็นในเรื่องของสิ่งที่ไม่ค่อยถูกใจเท่าไรกับ Ocean Bomber OB-3 ก็มีเหมือนกัน อย่างแรกคือ ขนาดความกว้างขาสายในระดับ 26 มิลลิเมตร ซึ่งส่วนตัว ผมว่ามันกว้างไปหน่อย และเวลาคาดนาฬิกาอยู่บนข้อมือรู้สึกว่าใหญ่และทำให้ทรงนาฬิกาดูเป็นแท่ง ก็เลยต้องแก้ไขด้วยการสั่งตัดสายขนาด 26/24 มาแก้ความคาใจตรงนี้ ขณะที่ความกว้างไซส์นี้ ทำให้พวกมีสายหนังอยู่ในสต็อคอย่างผมต้องปวดใจ เพราะใช้ร่วมกับนาฬิกาในบ้านไม่ได้เลย เพราะจะมีสาย 20/22/24 เสียเป็นส่วนใหญ่

ประการต่อมา ผมเข้าใจเรื่องประโยชน์ของกระจกแบบทรงโดมเวลาอยู่ใต้น้ำ แต่พอเอามาใช้ในชีวิตประจำวันแล้วกลับรู้สึกแปลกๆ โดยเฉพาะเวลามองเวลาแบบเฉียงไม่ได้พลิกข้อมือขึ้นมาดูตรงๆ โดยกระจกใน Ocean Bomber OB-3เป็นทรง Low Dome แบบ Sapphire ที่มีการเคลือบสารกันการสะท้อนแสง หรือ A/R เอาไว้ด้านใน

Ocean Bomber OB-3

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมแล้ว Ocean Bomber OB-3 ถือเป็นอีกผลงานที่ถูกใจและโดนใจ เรียกว่าเท่าที่มีโอกาสสัมผัสงานของพี่โหน่ง Nirut Jeenyu มาโดยตลอด แม้จะไม่ทุกรุ่น แต่ก็รู้สึกถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแง่ของการการออกแบบที่ลงตัว การใส่ใจในรายละเอียด และไม่ใส่อะไรที่เยอะจนเกินไปในตัวนาฬิกา เรียกว่าเรียบๆ ก็ดูดีได้ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุและส่วนประกอบที่อยู่ภายในตัวนาฬิกาชนิดที่รู้สึกว่าคุ้มเกินคุ้มกับเงินค่าตัวที่จ่ายไป ส่วนการผลิตมีเพียง 100 เรือนเท่านั้นโดยเรียงจาก 0-99 เรือน

และแน่นอนว่า ผมยังมีออร์เดอร์คาอยู่กับโปรเจ็กต์ของพี่โหน่งอีก 2 เรือน และเมื่อมาถึงมือ คงจับมารีวิวเหมือนกับ 3 เรือนก่อนหน้านี้ และเฝ้ารอว่าเจ้า OB-2 จะขึ้นไลน์ผลิตในเร็วๆ นี้

รายละเอียดทางเทคนิค : Ocean Bomber OB-3.

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 47 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 53 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 14.6 มิลลิเมตร
  • ระดับการกันน้ำ : 500 เมตร พร้อม Helium Escape Valve
  • Bezel : Sapphire Bezel พร้อมเคลือบสารสะท้อนแสง และหมุนทางเดียว 120 คลิ๊ก
  • กระจก : Low Sapphire พร้อมเคลือบสารกันการสะท้อนแสงด้านใน
  • กลไก : Miyota Cal.9105
  • จำนวนทับทิม : 24 เม็ด
  • ความถี่ : 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง
  • สำรองพลังงาน : 42 ชั่วโมง
  • ความเที่ยงตรง : -10 ถึง +30 วินาทีต่อวัน
  • ประทับใจ : ความสวยงามในการออกแบบ สเป็กนาฬิกา ขอบ Bezel
  • ไม่ประทับใจ : ความกว้างขาสาย ทำให้ใช้ร่วมกับสายอื่นลำบาก