Glycine Airman ‘Vintage 1953’ DC-4 ย้อนระลึกจุดเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่

0

จุดเริ่มต้นจากเที่ยวบินของสายการบินไทย จนนำไปสู่การเปิดตัวนาฬิกาสำหรับนักบินที่ชื่อว่า Airman ของ Glycine ในปี 1953 ผ่านมา 60 กว่าปี แบรนด์ดังจากสวิตเซอร์แลนด์หวนระลึกถึงเรื่องนี้อีกครั้งกับการผลิตรุ่น Airman ‘Vintage 1953’ DC-4 ออกมา

Glycine Airman ‘Vintage 1953’ DC-4
จุดเริ่มต้นจากเที่ยวบินของสายการบินไทย จนนำไปสู่การเปิดตัวนาฬิกาสำหรับนักบินที่ชื่อว่า Airman

Glycine Airman ‘Vintage 1953’ DC-4 ย้อนระลึกจุดเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่

  • เปิดตัวในงาน BaselWorld 2015

  • ผลิตเพื่อระลึกถึงการเปิดตัวของ Glycine Airman รุ่นแรกในปี 1953

  • มีทั้งทางเลือกของรุ่น GMT และแบบ Purist เข็มชั่วโมงเดินวันละ 1 รอบ

- Advertisement -

จะว่าไปแล้วนาฬิกาก็เหมือนกับรถยนต์เหมือนกัน บางแบรนด์จะมีรุ่นหลักที่สร้างยอดให้อย่างเป็นกอบเป็นกำหลากหลายรุ่น แต่บางแบรนด์ก็คงอยู่ได้โดยที่มีเพียงรุ่นเดียวในการขับเคลื่อนบริษัท และถ้ามีการถามว่าผมนึกถึงนาฬิกาแบรนด์ไหนเมื่อพูดถึงเรื่องลักษณะนี้ แน่นอนว่าคำตอบคือ Glycine และรุ่นที่ช่วยทำให้บริษัทเดินหน้าอย่างต่อเนื่องได้จนถึงปัจจุบันคือ Airman นั่นเอง

ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตกหลุมรักเข้า Airman เข้าตั้งแต่เมื่อไร แต่ที่แน่ๆ น่าจะก่อนที่ Invicta จะเข้าซื้อกิจการเมื่อปี 2016 อย่างแน่นอน เพราะในตอนนั้น ตัวเองทำได้แค่ยืนมองและทำตาปริบๆ เนื่องจากราคาของ Airman ที่ขายในบ้านเราค่อนข้างหลุดโลกอย่างมาก ขณะที่ราคาของหิ้วที่ขายกันตามหน้าเว็บนั้น พอรับได้ แต่ก็เกินงบฯ ที่มีอยู่ไปเหมือนกัน จนกระทั่งมาได้รู้จักกับพ่อค้าคนหนึ่งที่ทำให้โลกของผมกับ Airman มาบรรจบกันในราคาที่สบายกระเป๋า

ถ้าได้ตามอ่าน Review ใน Ana-Digi.com มาตลอด คุณจะรับรู้ได้ถึงความชื่นชอบแบบเป็นส่วนตัวของผมกับ Airman ในแง่ของนาฬิกาที่มีดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ มีประวัติความเป็นมาที่เรียกว่าเอาไว้โม้ในกลุ่มเพื่อนๆ ได้ มีทางเลือกของหน้าปัดและกลไกที่หลากหลายทั้งแบบ 3 เข็มปกติ แบบ GMT ที่ดูได้ 3 โซนเวลา และแบบ Purist 24 ชั่วโมง ที่เข็มชั่วโมงเดินเพียง 1 รอบหน้าปัดต่อวัน ซึ่งถ้าดูราคาในเว็บเมืองนอกเปรียบเทียบกับสิ่งที่บอกไปบวกกับความเนียนของตัวงานที่ปรากฏอยู่นั้นถือว่าเป็นนาฬิกาที่ค่อนข้างคุ้มค่ารุ่นหนึ่งเลยทีเดียว

สำหรับรุ่นล่าสุดที่ผมกลั้นใจทุบกระปุกเก็บเข้ามาอยู่ในกรุแบบแวะลงข้างทางเพราะจริงๆ ตั้งใจเอาไว้ว่าจะต้องสอยเจ้า SST12 Pumpkin เข้ามาอยู่ในกรุให้ได้ในปีนี้นั้นก็คือ Airman ‘Vintage 1953’ DC-4 ซึ่งเป็นผลผลิตย้อนยุคที่ Glycine เปิดตัวออกมาเมื่องาน Basel World 2015

ถ้าคุณได้มีโอกาสอ่านประวัติของ Airman จะทราบว่านาฬิการุ่นนี้เกิดขึ้นในจังหวะที่ Samuel W. Glur สมาชิกคนสำคัญของบริษัท Altus Watch Company (ซึ่งในเวลาต่อมาบริษัทนี้ได้รวมกิจการกับ Glycine) กำลังเดินทางจากกรุงเทพไปที่กัลกัตตาประเทศอินเดียด้วยเครื่องบิน Douglas DC-4

Glur เล่าว่าได้มีโอกาสคุยกับกัปตันของเครื่องบินของสายการบินไทย ซึ่งบ่นออกมาถึงนาฬิกาสำหรับนักบินที่คนที่เป็นนักบินต้องการใช้งาน โดยเฉพาะในแง่ของฟังก์ชั่นสำคัญในการแสดง 2 เขตเวลา คือ เวลาของจุดหมายที่เดินทางออกมา และเวลาของที่หมาย ซึ่งในตลาดนาฬิกาตอนนั้นยังไม่มีนาฬิการุ่นใดที่มีคุณสมบัตินี้ตรงกับความต้องการของนักบินที่ขับเครื่องบินของสายการบินเลย

และในปี 1953 ทาง Glycine ก็เปิดตัว Airman รุ่นแรกออกมาสู่ตลาด และถือเป็นนาฬิกาที่ปฏิวัติวงการนาฬิกาสำหรับนักบินในตอนนั้นกันเลยทีเดียว จากนั้นอีก 62 ปีต่อมา Glycine จึงเปิดตัว AIrman DC-4 ออกมาเพื่อระลึกถึง Airman รุ่นแรก และเที่ยวบินประวัติศาสตร์นั้นโดยยกเอาชื่อเครื่องบิน DC-4 มาใช้เป็นชื่อรุ่น

Airman DC-4 มากับตัวเรือนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 42 มิลลิเมตร และตามสไตล์ของพวกเขาคือ มากับขาสายที่ค่อนข้างยาวและทำให้นาฬิกามี Lug to Lug ถึง 51 มิลลิเมตร โดยเมื่อดูจากตัวเรือนทั้งในรูปแบบและมิติของขนาดแล้วเชื่อว่าคือ ตัวเรือนมาตรฐานที่ยกมาจากนาฬิการุ่นมาตรฐานที่ขายในตอนนั้นอย่าง Base 22 ที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ และรุ่นนี้จะมีทั้งแบบขาสายตันและแบบเจาะรูด้านข้างเหมือนกับ Base 22 ซึ่งตัวที่ผมได้มานั้นเป็นแบบหูตัน และก็ต้องบอกเลยว่าชอบมากๆ หลังจากที่มีประสบการณ์เปลี่ยนสายแบบเหงื่อตกและมือสั่นกับ Base 22 มาแล้ว เพราะสปริงบาร์ของ Glycine Airman รุ่นนั้นไม่ธรรมดาจริงๆ

เอาเข้าจริงๆ นะครับ ตอนแรกก็ลังเลเหมือนกันว่าจะซื้อดีหรือไม่ เพราะด้วยขนาด 42 มิลลิเมตร ซึ่งส่วนตัวผมก็ว่ายังรู้สึกเล็กไปหน่อยสำหรับข้อมือตัวเอง แต่สุดท้ายหลังจากลองเอาเจ้า Base 22 ที่มีอยู่มาลองทาบๆ อยู่สักพัก ผมกลับมีความรู้สึกว่าก็โอเคนี่หว่า จนหลังจากที่ตัดสินใจสอยเข้ามา เจ้านี่ติดอยู่บนข้อมือของผมอย่างต่อเนื่องด้วยระยะเวลาที่นานที่สุดในรอบ 2 ปีเลย…ก็ไม่รู้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเริ่มเอียนกับเบื่อนาฬิกาเรือนใหญ่ๆ และพวก Oversize เข้าให้แล้วหรือเปล่า

Airman DC-4 คงเอกลักษณ์ของ Airman มาตั้งแต่รุ่นดั้งเดิมที่เปิดตัวในปี 1953 เอาไว้หลายจุดด้วยกัน แต่รุ่นที่ผมได้มาไม่ใช่ Purist แบบเดินวันละรอบไม่มีออกมา เหมือนกับตัวแรก แต่ส่วนตัวผมก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะชอบ GMT มากกว่า อย่างน้อยก็ดูได้ถึง 3 เขตเวลากันเลย

ที่ว่าเอกลักษณ์ของ Airman แบบดั้งเดิม เริ่มตั้งแต่เม็ดมะยมแบบขั้นเกลียวในตำแหน่ง 4 นาฬิกา ซึ่งจะเอาไว้ใช้ล็อกขอบ Bezel ที่เป็นสเกล 24H สำหรับปรับตั้งเวลาที่ 2 (หรือ 3 ในรุ่น GMT) ทรงเข็มชั่วโมงและนาทีแบบ Douphaine หรือทรงสามเหลี่ยมแหลมคล้ายๆ กับปลายหอก เข็มวินาทีแบบไม่มีปลายหางและพรายน้ำทรงกลมวางอยู่ด้านชี้บอกเวลาเหมือนกับอมยิ้มหรือ Lollipop Style หน้าปัดซึ่งมีการแบ่งโซนออกเป็น A.M. และ P.M. (ซึ่งจริงๆ แล้วเหมาะกับรุ่น Purist มากกว่านะ) ตัวเลขและหลักชั่วโทงทรงเหลี่ยม หรือแม้แต่คำว่า Glycine ก็ยังเป็นฟอนต์แบบดั้งเดิม ไม่มีโลโก้มงกุฎของแบรนด์ ให้รกรุงรัง

ส่วนด้านล่างตรงตำแหน่ง 6 นาฬิกามีคำว่า DC-4 เพียงโดดๆ ดูเรียบๆ ดี สำหรับกระจกเป็นแบบทรงโดมเคลือบสารกันการสะท้อนแสงที่ด้านใน และตรงตำแหน่ง 3 นาฬิกาจะมี Cyclop สำหรับขยายช่องวันที่ (แต่รุ่นดั้งเดิมไม่มี Cyclop) ซึ่งตัวเพลทยังเป็นพื้นขาวและใช้ตัวเลขสีแดงเหมือนกับรุ่นดั้งเดิม

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ค่อยโอเคเท่าไรสำหรับ Airman น่าจะมีเพียงเรื่องเดียว คือ ความสมดุลในเรื่องของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตัวเรือนกับความกว้างขาสาย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับภาพรวมของตัวนาฬิกา เพราะทำให้ดูเป็นแท่งตรงๆ ยังไงไม่รู้ ซึ่งปกติแล้วถ้าเป็นนาฬิกาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 42 มิลลิเมตรนั้น ส่วนตัวผมว่าความกว้างขาสาย 20 มิลลิเมตรจะดูลงตัวมากที่สุด และสามารถขับให้ตัวโค้งด้านข้างมีความเด่นขึ้นมา แถมตัวสายเมื่ออยู่บนตัวนาฬิกาก็ไม่ทำให้ดูหนาเป็นแท่ง

แต่สำหรับ Airman แม้ว่าจะไซส์ 42 มิลลิเมตร พวกเขาก็ยังเลือกออกแบบให้ขาสายมีความกว้าง 22 มิลลิเมตร ดังนั้นเมื่อจับคู่กับสาย NATO ที่มีความกว้างยาวเท่ากันตลอดทั้งเส้นด้วยแล้ว งานนี้ ผมมีความรู้สึกว่ามันทำให้ตัวนาฬิกายิ่งดูเล็กลงไปอีก ดังนั้น ทางออกส่วนตัวของผมคือ จับเปลี่ยนสาย 22/20 ที่มีความหนาของสายไม่มากนักแทน แม้จะช่วยได้ไม่มาก แต่ก็ดีกว่าสายเดิมอย่างชัดเจน…..อ้อ ต้องบอกก่อนนะครับว่าอันนี้รสนิยมกับความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ

ในแง่ของกลไกนั้น GL293 ที่เป็น In-House แต่พัฒนาอยู่บนพื้นฐานของ ETA2893-2 ยังคงรับหน้าที่หลักในการประจำการอยู่ใน Airman เกือบทุกรุ่นที่เป็น GMT โดยสิ่งที่มีการปรับเพิ่มเติมขึ้นมาคือ โรเตอร์ซึ่งมีการขัดแต่งในแบบ Geneva Stripe และสลักคำว่า Glycine Airman พร้อมกับรูปเครื่องบินใบพัดเอาไว้ ซึ่งคุณสามารถดูสิ่งเหล่านี้ได้ผ่านทางฝาหลังแบบใสที่ติดตั้งกระจก Sapphire

กลไกรุ่นนี้เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง และสำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน โดยชุด GMT สามารถปรับตั้งได้อย่างสะดวก เพราะแค่คลายเกลียวเม็ดมะยม และดึงเม็ดมะยมออกมาในตำแหน่งแรก จากนั้นหมุนได้เลย เพียงแต่ประเด็นหนึ่งที่ Airman DC-4 โดนตำหนิจนเหมือนกับเป็นตราบาปของรุ่นคือ เข็ม GMT เดินและปรับไม่สัมพันธ์กับเข็มชั่วโมง เรียกว่ามีอาการชี้ไม่ตรงจนลูกค้าหลายคนบ่นในเรื่องของ QC ว่าตกต่ำลงหลังจากที่ถูก Invicta ซื้อกิจการ ซึ่งจะว่าไปแล้วผมก็ค่อนข้างโชคดีที่เรือนนี้ไม่มีอาการตรงนี้โผล่มาให้เห็น

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของ Invicta ก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องน่ากังวล แต่มันคือโอกาสที่เราๆ ท่านๆ จะสามารถเป็นเจ้าของ Airman และนาฬิการุ่นอื่นๆ ของ Glycine ได้ง่ายขึ้น เพราะตามเว็บเมืองนอก มีการลดราคากระหน่ำชนิดที่ 50-70% กันเลยทีเดียว จากเดิมราคาเฉียดแสน ในตอนนี้ราคาแพงกว่า Seiko ที่ใช้กลไก 6R15 เพียงนิดเดียว  เรียกว่าถ้าไม่คิดที่จะซื้อตอนนี้แล้วจะซื้อตอนไหนกันละ

ข้อมูลทางเทคนิค : Glycine Airman ‘Vintage 1953’ DC-4      

  • ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  : 42 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 51 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 10.9 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กระจก : Sapphire พร้อม A/R
  • ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
  • กลไก  : GL293 GMT
  • สำรองพลังงาน : 42 ชั่วโมง
  • ความถี่ :  28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
  • ประทับใจ : ดีไซน์ที่อ้างอิงจากต้นกำเนิดและ ตำนานของ Airman
  • ไม่ประทับใจ : ความกว้างขาสาย