Tudor Pelagos FXD การรอคอยที่สุดคุ้มค่า

0

ในปี 2021 Tudor เปิดตัวอีกเวอร์ชันของ Pelagos ที่แกร่งกว่า และเกิดมาเพื่อการใช้งานของกองทัพเรือ ตัวเรือนมากับขาสายแบบตายตัว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่นว่า Pelagos FXD พร้อมกลไกอัตโนมัติแบบ In-House ที่มีความเที่ยงตรงระดับ Chronometer และกำลังสำรอง 70 ชั่วโมง ซึ่งผมต้องใช้เวลานานกว่า 6 เดือนหลังจากลงชื่อจอง ถึงจะมีโอกาสได้ครอบครองนาฬิกาเรือนนี้

Tudor Pelagos FXD
Tudor Pelagos FXD

Tudor Pelagos FXD การรอคอยที่สุดคุ้มค่า

  • นาฬิกาที่ Tudor พัฒนาร่วมกับกองทัพเรือฝรั่งเศส เพื่อการใช้งานของทีมจู่โจมต้ำน้ำ

  • ตัวเรือนผลิตจากไทเทเนียม บางกว่ารุ่น Pelagos ธรรมดา ขอบที่มีอินเสิร์ตผลิตจากเซรามิกมาพร้อมกับสเกลสำหรับนับถอยหลัง

  • ราคา 147,900 บาท และต้องใช้เวลาในการรอคอยค่อนข้างนาน

- Advertisement -

จริงๆ ผมวางแผนกับตัวเองเอาไว้ว่า ในกรุของตัวเองจะต้องมีนาฬิกาดำน้ำตระกูล Pelagos ของ Tudor อย่างน้อย 1 เรือนและแน่นอนว่าจะต้องเป็นสีน้ำเงินด้วย แต่สุดท้ายจะบอกว่าเสียแผนก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากสักเท่าไร เพราะในที่สุดผมก็ได้ Pelagos Blue มาครอบครอง เพียงแต่เป็น Pelagos FXD ที่ผมไปลงชื่อจองเอาไว้ที่บูติก ก่อนใช้เวลารอนานร่วมครึ่งปีจึงสมหวัง และบอกได้เลยว่า ไม่ผิดหวังกับการเสียเวลาเฝ้ารอในครั้งนี้

Tudor Pelagos FXD
Tudor Pelagos FXD

ปกติผมเป็นคนชอบนาฬิกาดำน้ำเป็นพิเศษ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม Tudor Pelagos ถึงถูกผมจับตามองเป็นพิเศษ เพราะบนหน้าตาที่เรียบง่ายของนาฬิกาเรือนนี้ ผมพบว่านี่คือการออกแบบที่สวยและลงตัวอย่างมาก มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับการกำเนิดนาฬิกาดำน้ำของแบรนด์ในยุคทศวรรษที่ 1950 อีกทั้งหลังจากที่ได้มีโอกาสหยิบของเพื่อนมาลองขึ้นข้อ พบว่า ตัวเรือนหนาๆ ทรงป้อมๆ ขาสายไม่ยาวของมัน เมื่ออยู่บนข้อมือของผมแล้ว ถือว่าไม่ใหญ่หรือไม่เล็กจนเกินไป ทั้งที่ตามปกติแล้วนาฬิกาที่มีไซส์ 42 มิลลิเมตรเป็นขนาดตัวเรือนขั้นต่ำที่ผมจะชายตามอง

อย่างที่บอก Pelagos Blue คือ เป้า แต่หลังจากที่ Tudor เปิดตัว Pelagos FXD ในช่วงปลายปี 2021 เป้าหมายของผมเปลี่ยนไปทันทีเพราะความพิเศษและไม่เหมือนใครของนาฬิกาเรือนนี้

นั่นเป็นเพราะนี่คือนาฬิกาที่มีเรื่องราวความเป็นมาโดยเป็นการสานต่อความสัมพันธ์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1956 ที่ทางแบรนด์ได้ส่งมอบนาฬิการุ่น Oyster Prince Submariner Ref.7922 และ 7923 ที่มีความสามารถในการกันน้ำ 100 เมตรให้กับทีมนักวิจัย หรือ Groupe d’Étude et de Recherches Sous-Marines (G.E.R.S.) ในสังกัดของกองทัพเรือฝรั่งเศสได้นำไปใช้งานและทดสอบภายใต้การใช้งานจริง

และได้รับผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจในเรื่องของความเที่ยงตรงและความสามารถในการกันน้ำจนนำไปสู่การผู้ผลิตนาฬิกาสำหรับกองทัพเรือของฝรั่งเศส หรือ M.N. หรือ Marine Nationale ในปี 1961 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์ในเวลาต่อมา

Tudor Pelagos FXD Tudor Pelagos FXD

นับจากปีนั้นกองทัพเรือฝรั่งเศสได้เลือกนาฬิกาของ Tudor หลายต่อหลายรุ่นให้เป็นนาฬิกาคู่กายของทหารในกองทัพ และนาฬิกานักดำน้ำของ Tudor ซึ่งเป็นรุ่นที่โด่งดังและประจำการอยู่ในกองทัพของฝรั่งเศส คือ Ref.9401 ที่ผลิตออกมาในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยฝาหลังของนาฬิกาเรือนนี้มีการสลักคำว่า M.N. และตามด้วยปีที่มีการผลิตจำหน่าย ซึ่งนาฬิการุ่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพจนถึงช่วงทศวรรษที่ 1980 และถือว่ามีความเกี่ยวพันกับ Pelagos FXD

ดังนั้น ในปี 2021 ที่นาฬิกาเรือนนี้เปิดตัวจึงถือเป็นช่วงเวลาพิเศษของการครบรอบ 60 ปีแห่งเรืองราว และ Pelagos FXD เองก็ถูกพัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาที่เกิดขึ้นกับคอลเล็กชั่นต่างๆ ของ Tudor แน่นอนว่านาฬิกาเรือนนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างแบรนด์กับกองทัพฝรั่งเศส

โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความสวยงามของนาฬิกาของนักดำน้ำ Tudor ที่กองทัพเรือฝรั่งเศสใช้ในอดีต โดยยังคงรักษาข้อกำหนดเฉพาะของ “การนำทางใต้น้ำ” ซึ่งเป็นหนึ่งในความเชี่ยวชาญพิเศษของนักจู่โจมใต้น้ำ หรือ Commando Hubert ของกองทัพ

Tudor Pelagos FXD
Tudor Pelagos FXD

ตัวนาฬิกาผลิตจากไทเทเนียมและมีอยู่ 2 เรื่องที่ต้องออกแบบนาฬิกาเรือนนี้ตามข้อกำหนดข้างต้น

อย่างแรกคือ ขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ 2 ทาง Bi-Directional ไม่ใช่แบบทางเดียว หรือ Unidirectional เหมือนกับนาฬิกาดำน้ำทั่วไป เหตุผลที่ต้องหมุนได้ 2 ทาง ก็เพื่อจะได้ใช้ขอบตัวเรือนเป็นเข็มทิศใต้น้ำในการนำทาง ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดที่เฉพาะเจาะจงตามวิธีที่เรียกว่า การนำทางใต้น้ำ  ของหน่วยจู่โจมใต้น้ำ

ใครที่สงสัยว่าใต้น้ำจะมองเห็นได้อย่างไร ก็ไม่ต้องสงสัยอะไรมาก เพราะสเกลตัวเลขบนอินเสิร์ตที่ผลิตจากเซรามิกของนาฬิกาเรือนนี้มีการเคลือบสารเรืองแสงเอาไว้ด้วย ทำให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และสเกลที่อยู่ก็เป็นแบบนับถอยหลังไม่ใช่แบบนับเดินหน้าเหมือนกับสเกลของนาฬิกาดำน้ำตามปกติ

Tudor Pelagos FXD

ส่วนอีกเรื่องคือ การเป็นนาฬิกาที่มีขาสายแบบตายตัวหรือเป็นชิ้นเดียวกับขาสายตัวเรือน เพื่อความทนทานในการใช้งานภายใต้สภาพสุดโหด ซึ่งเรื่องของขาสายแบบตายตัว หรือ Fixed Strap Bar ที่ถูกย่อด้วยชื่อ FXD คือเอกลักษณ์สำคัญของนาฬิกาเรือนนี้ และส่วนตัวผมชอบนะกับความแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใคร แต่สำหรับบางคน ตรงนี้อาจจะเป็นข้อด้อยที่สร้างความผิดหวังให้ก็ได้

Tudor Pelagos FXD

เรื่องของเรื่องคือ การที่ใช้ขาสายแบบตายตัว ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนสายได้หลากหลาย คนชอบเปลี่ยนสายเล่นต้องทำใจ ต้องพึ่งสายนาโตเพียงอย่างเดียว และข้อที่ 2 คือ การที่มีรูปแบบของขาสายตาตัว แกนที่ทำหน้าที่เหมือนกับสปริงบาร์จะถูกเลื่อนไปจนอยู่ที่ปลายของขาสายก่อนที่จะหักโค้ง ตรงนี้เหมือนกับทำให้นาฬิกามี Lug to Lug ที่ยาวขึ้นกว่าเดิม เพราะตามปกติแล้ว รูปริงบาร์บนขาสายจะอยู่ลึกเข้าไปข้างในไม่ใช่อยู่บนปลายขาสาย ดังนั้น กับรูปแบบนี้ ใครที่มีข้อมือเล็กประเภทต่ำกว่า 6.5 นิ้ว อาจจะรู้สึกว่ากางเมื่อเจ้า Pelagos FXD

Tudor Pelagos FXD Tudor Pelagos FXD

ตามปกติแล้วผมเป็นคนที่ไม่ชอบใส่นาฬิกาที่มากับสายนาโต ยกเว้นสายที่มีรูปแบบเฉพาะของ Tudor อันนี้บอกเลยว่าชอบ เพราะใส่สบายมาก ซึ่งใน Pelagos FXD จะมีสายให้เลือก 2 แบบคือ สายสายผ้าแบบชิ้นเดียวซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ เพราะในปี 2010 Tudor ได้กลายเป็นหนึ่งในนาฬิกาแบรนด์แรกๆ ที่มอบสายผ้ามาให้พร้อมกับนาฬิกา ผ้าดังกล่าวทอขึ้นในฝรั่งเศสด้วยเครื่องทอผ้าแจ็กการ์ดสมัยศตวรรษที่ 19 โดยบริษัท Julien Faure ในแคว้นแซงต์ เอเตียนมีความโดดเด่นด้านคุณภาพและความรู้สึกสบายยามสวมใส่บนข้อมือที่ไม่เหมือนใคร

สำหรับสายผ้าของ Pelagos FXD ได้มีการพัฒนาเทคนิคขั้นสูงแบบใหม่ในการผลิตสายนาฬิกาเพื่อให้สอดคล้องกับความเรียบง่ายในการทำงานของนักดำน้ำกองทัพเรือฝรั่งเศส รังสรรค์ขึ้นจากริบบิ้นโพลีเอทิลีนถักสีน้ำเงินกรมท่าขนาด 22 มม. ที่มีแถบกลางสีเงิน หัวเข็มขัดไทเทเนียมรูปตัว “D” และระบบยึดรัดได้เอง

โดยสามารถปรับให้พอดีกับข้อมือขนาดต่างๆ และให้ความรู้สึกสบายขณะสวมใส่ แต่ส่วนตัวผมเฉยๆ นะกับสายเส้นนี้ แต่กลับชอบสายอีกเส้นในเซ็ตซึ่งก็คือ สายสีน้ำเงินที่ผลิตจากยางแบบชิ้นเดียวพร้อมกับหัวเข็มขัดที่ผลิตจากไทเทเนียม ดูเข้ากับสีของหน้าปัด และปลายสายไม่ยาวยื่นจนถึงขนาดต้องม้วนพับเหมือนกับสายนาโตทั่วไป ใส่สบาย และไม่ต้องกังวลเรื่องลุยน้ำ

เรียกว่าถ้าต้องรัดแน่นเพื่อให้กระชับข้อมือ ตัวเรือนที่ผลิตจากไทเทเนียมของนาฬิกาก็ถือว่าเบาและไม่เกิดการถ่วงจนสายย้วยหรือห้อยลง ทำให้ไม่ต้องรัดแน่นกับข้อมือจนทำให้สวมใส่ไม่สบาย

Tudor Pelagos FXD
Tudor Pelagos FXD

Pelagos FXD มีขายแบบเดียวคือ สีน้ำเงินและตัดกับสีขาวอย่างลงตัว โดยทีมออกแบบ Tudor พยายามคุมโทนด้วย 2 สีนี้ซึ่งทำให้นาฬิกาดูดีและมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการเคลือบด้วยสารเรืองแสงที่เป็นสีขาว แต่เมื่ออยู่ในที่มืดจะเรืองแสงเป็นสีฟ้า หน้าปัดเป็นแบบชิ้นเดียวไม่ได้มีขอบอินเนอร์ริงเหมือนกับ Pelagos รุ่นธรรมดา เมื่อจับคู่กับชุดเข็มที่เข็มชั่วโมงมีปลายเป็นทรง Snowflake อันเป็นเอกลักษณ์ของนาฬิกาดำน้ำจาก Tudor นับจากปี 1969 เรียกว่าดูสวยและโดดเด่นอย่างมากเวลาอยู่บนข้อมือ

Tudor Pelagos FXD

แม้ว่าจะใช้ชื่อ Pelagos เหมือนกัน แต่ด้วยเป้าประสงค์ของการพัฒนาที่เน้นการใช้งานแบบต่างรูปแบบกัน ส่งผลต่อขนาดตัวของ Pelagos FXD ด้วย ซึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความหนาของตัวเรือนที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะใน Pelagos FXD ไม่ต้องติดตั้งฮีเลียมวาล์ว เพราะเน้นรูปแบบของการใช้งานด้วยการดำน้ำในแบบ Scuba มากกว่า Saturation ชิ้นส่วนนี้จึงไม่จำเป็น ทำให้ตัวเรือนมีความหนาลดลง 1.55 มิลลิเมตรมาอยู่ที่ 12.75 มิลลิเมตร และตรงนี้ทำให้ความสามารถในการกันน้ำลดลงด้วย จาก 500 เมตรในรุ่นธรรมดาเหลือแค่ 200 เมตรในรุ่นนี้ ทำให้พวกบ้าตัวเลขอย่างผม รู้สึกแอบผิดหวังนิดๆ

อย่างที่บอกว่าการใช้ Fixed Strap Bar ทำให้ Lug to Lug ของนาฬิกาขยับจาก 50 มิลลิเมตรมาเป็นประมาณ 52 มิลลิเมตรในรุ่นนี้ ใครที่ชอบนาฬิกาดำน้ำที่มีความบางถูกใจอย่างแน่นอน แต่ถ้าข้อมือเล็ก อาจจะมีปัญหาได้ในเรื่องความรู้สึกกางของขาสายที่มีชิ้นส่วนนี้เป็นตัวช่วยทำให้กางออก แม้ว่าการออกแบบขาสายจะถูกทำให้งุ้มลงแล้วก็ตาม

Tudor Pelagos FXD

นอกเหนือจากรูปแบบที่มีเอกลักษณ์แล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ Pelagos FXD และนาฬิกาในตระกูล Pelagos น่าสนใจคือ การใช้กลไก In-House ในรหัส MT5602 ซึ่งต่างจาก Pelagos รุ่นปกติที่ใช้กลไก MT5612 ตรงนี้ไม่มีอะไรต่างกันมากนัก ใช้พื้นฐานคล้ายกัน แต่มีจำนวนเม็ดมะยมต่างกัน คือ 25 และ 26 เม็ดสำหรับรุ่น MT5602 และ MT5612 ตามลำดับ ทั้งคู่เปิดตัวในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ 2015 (ซึ่งเป็นปีที่ Pelagos ไมเนอร์เชนจ์เปลี่ยนหน้าปัดแบบตัวหนังสือ 2 แถวและใช้กลไกที่ปรับแต่งจาก ETA2824 ในรุ่น 25500TN มาเป็นแบบตัวหนังสือ 3 แถวและใช้กลไก in-House ในรุ่น 25600TN) และกลไก MT5602 เป็นแบบไม่มีวันที่ หรือ No Date

Tudor Pelagos FXD

กำลังสำรอง 70 ชั่วโมง และความเที่ยงตรงในระดับ Chronometer คือ ความเด่นที่กลไกรุ่นนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ซึ่งส่วนตัวผมแฮปปี้มาก โดยเฉพาะกำลังสำรองในระดับนี้ ซึ่งถ้าคุณถอดนาฬิกาในเย็นวันศุกร์ และไม่ได้สวมมันอีกเลย พอถึงเช้าวันจันทร์ที่จะต้องเดินทางไปทำงาน ก็หยิบขึ้นมาแล้วคาดบนข้อมือได้เลย ไม่ต้องมานั่งตั้งเวลาใหม่

ตอนที่ผมสั่งจองไปค่าตัวยังเป็นของปี 2022 อยู่ แต่เมื่อมาถึงมือในปี 2023 (ดูจากตัวเลขฝาหลังซึ่งเป็น N.M.23) ราคาของมันได้ถูกขยับขึ้นไปถึง 147,900 บาท หรือแพงขึ้นจากเดิมร่วมๆ 15,000 บาทบวกลบ ถามว่าคุ้มไหม กับค่าตัวในระดับนี้ซึ่งมีส่วนต่างจากราคาเดิมค่อนข้างเยอะและใช้เวลาในการรอค่อนข้างนาน

คำตอบคือ แฮปปี้และชอบมาก ทั้งขนาด รูปลักษณ์ สเป็ก แถมด้วยการคว้ารางวัลนาฬิกาดำน้ำยอดเยี่ยมจากเวที GPHG 2022 คือองค์ประกอบโดยรวมและเหตุผลที่ทำให้นาฬิกาเรือนนี้คุ้มค่าในมุมของผม และจำได้ว่าตัวเองใส่ติดข้อนานตลอดสัปดาห์เลย ทั้งผมเป็นคนที่ใส่นาฬิกาแบบสลับวันละเรือนมาโดยตลอด ซึ่งนี่คือนาฬิกาเรือนแรกในรอบ 5 ปีที่ผมใส่นานขนาดนี้ (ถ้าไม่นับการที่จะต้องออกทริปนานๆ และไม่ได้แบกนาฬิกาเรือนอื่นไป)

รายละเอียดทางเทคนิค : Tudor Pelagos FXD

  • หมายเลขอ้างอิง: Ref.25707B/21
  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 42 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 12.75 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 52 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : ไทเทเนียม. ผิวสัมผัสซาติน บาร์สำหรับใส่สายนาฬิกาแบบยึดติด ฝาหลังตัวเรือนทำจากเหล็กกล้า
  • ขอบตัวเรือน : หมุนได้สองทิศทางทำจากไทเทเนียม พร้อมดิสก์เซรามิกที่มีช่องแสดงเวลา 60 นาทีแบบเรโทรเกรดสำหรับการนำทางแต่ละช่วงได้อย่างต่อเนื่อง
  • สาย : สายผ้าที่เป็นระบบยึดรัดได้เองสีน้ำเงินกรมท่า พร้อมแถบกลางสีเทา / สายอีกหนึ่งเส้นทำจากยางสีน้ำเงินกรมท่าปั๊มด้วยลายผ้าทอ พร้อมหัวเข็มขัดไทเทเนียมรวมมาให้ในกล่องด้วย
  • กลไก : MT5602 In-House แบบอัตโนมัติ COSC
  • กำลังสำรอง : 70 ชั่วโมง
  • ความถี่: 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง (4Hz)
  • การกันน้ำ : 200 ม. (660 ฟุต)
  • ประทับใจ : ขนาด เรื่องราว การออกแบบ กลไก In-House ที่เที่ยงตรง และวัสดุของตัวเรือน
  • ไม่ประทับใจ : ใช้เวลาในการรอนานไปหน่อย