สำหรับคนที่ชอบนาฬิกา Bronze เชื่อว่าทางเลือกในปัจจุบันถูกบีบแคบลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มแบรนด์สวิสส์ระดับหรู และเรากำลังจะบอกว่าถ้าคุณกำลังมองหานาฬิกาประเภทนี้สักเรือน Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey Dial คืออีกทางเลือกที่น่าสนใจอย่างมาก
Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey Dial
-
ผลผลิตใหม่ของ Tudor ในการลุยตลาด Bronze ด้วยรุ่น Heritage Black Bay Bronze นับจากปี 2016
-
มากับหน้าปัดสีใหม่ที่เรียกว่า Slte-Grey ตัวเรือน 43 มิลลิเมตร และกลไก In-House
-
มีจำหน่าย 2 ทางเลือกคือ สายหนังและสายผ้าแจ็คการ์ดในราคาเท่ากัน 151,100 บาท
จู่ๆ ผมก็เกิดอาการอยากได้นาฬิกาบรอนซ์ขึ้นมาซะงั้น ซึ่งถ้ามองในตอนนี้โดยอ้างอิงจาก 3 ปัจจัยที่ผมตั้งเอาไว้ให้กับตัวเองคือ ต้องมีแบรนด์ ราคาโดนใจภายใต้งบที่มีบวกลบไม่เกิน 200,000 บาท และสเป็กดีโดยเฉพาะอยากลองกลไก In-House นั้น เท่าที่มองหาในตลาดเรียกว่าแบบครบๆ นี่หาค่อนข้างยากเลยทีเดียว เรียกว่า ถ้าสเป็กดีแบรนด์ดังราคาก็ต้องแรงตามไปด้วย จนในที่สุดก็มาถึงช่วงเวลาของการตัดสินใจแบบจริงจัง ก็เลยต้องบอกตัวเองว่า ‘ช่างมันโว้ย’ เอาที่โดนใจสักข้อหรือสองข้อก็ได้ไม่จำเป็นต้องทั้งหมด ก่อนที่จะเลือกเอาเจ้า Tudor Heritage Black Bay Bronze รุ่นใหม่ล่าสุดซึ่งหน้าปัดมากับโทนสีเทาที่เรียกว่า Slate-grey
เอาเข้าจริงๆ ในกลุ่มนาฬิกาดำน้ำของ Tudor ผมชื่นชม Pelagos มากถึงขนาดจับใส่เข้าใน Wish List ของตัวเอง (แต่ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งสักที) ส่วน Heritage Black Bay นั้น ต้องบอกว่าไม่เคยอยู่ในหัวเลย แม้ว่าจะเป็นนาฬิกายอดนิยมของแบรนด์ก็ตาม เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะขนาดตัวเรือนที่มากับไซส์ 41 มิลลิเมตร ซึ่งแม้ว่าขาสายจะยาวและทำให้ดูเต็มข้อได้ แต่ส่วนตัวผม กลับไม่ค่อยโดนเท่าไรกับตัวเรือนขนาดนี้ ผมชอบนาฬิกาที่ใส่แล้วดูเต็มข้อและทะมัดทะแมง ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่นาฬิกากลุ่มสปอร์ต โดยเฉพาะพวกดำน้ำจะต้องมี
แต่สุดท้ายก็เป็นอีกครั้งที่ไปไม่ถึง Pelagos และแวะข้างทางลองสัมผัสกับ Heritage Black Bay Bronze แทน ด้วยเหตุผลในเรื่องที่อยากได้นาฬิกา Bronze แบบมีชาติตระกูล ไม่ใช่พวก Homage และอยากรู้ด้วยว่าขนาดตัวเรือน 43 มิลลิเมตรของมันจะรับกับข้อมือไซส์ 7 นิ้วของผมได้ดีขนาดไหน
Tudor เปิดตัวนาฬิกาบรอนซ์ของ Heritage Black Bay มาแล้ว 3 รุ่นด้วยกันนับจากปี 2016 ซึ่งรุ่นแรกที่เปิดตัวออกมาเป็นหน้าปัดสีน้ำตาล ก่อนที่จะมีรุ่นพิเศษสำหรับ Only Watch แบบขับซ้ายในปี 2017 จากนั้นก็เป็นรุ่นหน้าปัดสีน้ำเงินตามออกมาในปีเดียวกันด้วยเวอร์ชัน Bucherer และปี 2019 เป็นรุ่นล่าสุดคือสีเทาที่เรียกว่า Slate-grey ซึ่งจะมีขายด้วยกัน 2 รุ่นย่อยคือ สายหนัง และสายผ้าแบบแจ็คการ์ดอันเป็นเอกลักษณ์ของ Tudor นับจากปี 2010 เป็นต้นมา
จริงๆ ผมชอบหน้าปัดสีน้ำเงินนะ แต่ของหมดและในตลาด Re-Sale ก็แทบจะไม่เจอ เรียกว่าหายากสุดๆ อาจจะเป็นเพราะมันคือ Bucherer Version จนสุดท้ายก็ตัดสินใจ เลือกหน้าปัด Slate-grey แทน ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าน่าจะเข้ากับสีตัวเรือนที่เปลี่ยนไปเพราะ Patina ได้มากกว่าหน้าปัดสีน้ำตาล ซึ่งในปัจจุบันไม่มีขายในบูติกแล้ว
ผมคลุกคลีกับนาฬิกาบรอนซ์มาสักระยะหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่เชี่ยวขนาดที่ทำ Forced Patina เอง แต่ก็ชอบที่จะค่อยๆ ปั้นมันให้มีสีสันที่สวยเด่นด้วยการสวมใส่ทำกิจกรรมอยู่บ่อยๆ เพื่อให้เหงื่อของตัวเองเข้าไปมีส่วนในการทำปฏิกิริยากับตัวเรือน Bronze และต้องบอกว่านาฬิกา Bronze คือ นาฬิกาที่ผมใส่บ่อยที่สุด เพราะไม่ต้องมานั่งกังวลว่ามันจะเก่าเหมือนพวกนาฬิกาสตีลหรือไทเทเนียม เพราะยิ่งเก่าจะยิ่งดี และคราวนี้ก็เลยมีความคิดว่าในเมื่อชอบนาฬิกา Bronze ก็น่าจะหันมาลองกับนาฬิกา Bronze แบบมีชาติตระกูลดูบ้าง
Heritage Black Bay Bronze Slate-grey Dial มาพร้อมกับตัวเรือนที่ใหญ่ถึง 43 มิลลิเมตร ซึ่งในปัจจุบัน ในยุคที่เทรนด์หรือกระแสนาฬิกาไซส์เล็กหรือพวกที่มี Diameter ต่ำกว่า 40 มิลลิเมตรกำลังมาแรง ถือว่าตัวผมเองทำอะไรสวนกระแสเหมือนกันนะเนี่ย แต่อย่างว่าครับ ผมเลือกเอานาฬิกาที่ตัวเองใส่แล้วชอบดีกว่า จะต้องมานั่งใส่อะไรที่ขัดใจตัวเอง เพราะต้องหมุนตามทิศทางโลก
43 มิลลิเมตร กับ Lug to Lug ระดับ 50 มิลลิเมตรนิดๆ สารภาพเลยว่าในตอนแรกทำเอาหวั่นเหมือนกันว่าเวลาขึ้นข้อแล้วจะสวยหรือไม่ แต่สุดท้ายเมื่อได้ลองของจริง ต้องบอกเลยว่า เข้ากับข้อมือ 7 นิ้วของผมสุดๆ ทุกมิติของตัวเรือนถือว่าจัดมาได้อย่างลงตัว ทั้งในแง่ของเส้นผ่านศูนย์กลาง ความหนา และ Lug to Lug ซึ่งทำให้นาฬิกาเรือนนี้เกิดมาเพื่อคนข้อมือ 6.5 นิ้วขึ้นไป แต่ถ้าจะให้แล้วสวยต้องประมาณ 7 นิ้ว
Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey Dial ผลิตจากอัลลอยอลูมิเนียมคอปเปอร์ประสิทธิภาพสูง ทนทานต่อการกัดกร่อนเป็นอย่างยิ่ง และเป็น Bronze เกรดเดียวกับที่ใช้ในการผลิตวัสดุสำหรับการใช้งานทางทะเล ซึ่งจะต้องมีความทนทานที่สูงมาก
ผมเลือกเอารุ่นสายหนังที่มาพร้อมกับบัคเคิล Bronze ซึ่งตอนแรกด้วยเหตุผลที่อยู่ในใจ ผมคิดว่าตัวเองเลือกไม่ผิด แต่หลังจากที่ลองขึ้นข้ออีกทีหลังจากได้นาฬิกามาอยู่ในครอบครองแล้ว ในใจกลับลังเลและคิดว่านาฬิกาบรอนซ์ มันน่าจะเหมาะกับสายผ้าที่ทอด้วยเครื่องแจ็คการ์ดมากกว่าเพราะดูดีกว่าเยอะ
แต่สุดท้ายก็เลยต้องหาเหตุผลอื่นๆ มาสนับสนุนความคิดตัวเอง และเถียงกับเสียงในหัวดังๆ ว่า ที่เลือกสายหนังก็เพราะผมไม่ชอบสายเรื่องเดียวคือ ผมไม่ชอบตัวรัดสายในลักษณะ Single-Pass ของ Tudor ที่ใส่ยากสุดๆ สุดท้ายคิดถูกแล้วที่ผมก็เลือกสายหนังกลับบ้าน และถ้าไม่ชอบสายเดิม ก็สามารถสั่งตัดสายใหม่ได้ ซึ่งผมก็ทำจริงๆ เพราะส่วนตัวไม่ค่อยชอบโทนสีของสายเดิมจากโรงงานเท่าไร
และนั่นทำให้ผมได้ทราบว่า Heritage Black Bay Bronze Slate-grey มากับความกว้างขาสาย 23 มิลลิเมตร…
’จะทำไซส์นี้มาทำไม ?’ นี่คือ คำในเวอร์ชันสุภาพของคำถามที่อยู่ในความคิดของตัวเอง และหลายต่อหลายครั้งที่ซื้อนาฬิกาในยุคนี้ ผมต้องเจอกับตัวเลขความกว้างขาสายแปลกๆ ในลักษณะนี้อยู่เสมอ ทั้ง 19-21-23 มิลลิเมตร ซึ่งมันน่าจะหายไปจากตลาดแล้ว เพราะมันโคตรจะไม่เมคเซนส์เลย เนื่องจากในโลกของการผลิตนาฬิกาคุณควรที่คงความกว้างขาสายแบบมาตรฐานเอาไว้ที่ 18-20-22 มิลลิเมตรเหมือนชาวบ้านเค้า ซึ่งจะง่ายต่อการสลับสายเปลี่ยนใหม่ สำหรับให้คนเล่นนาฬิกาได้สนุกกับมัน
อารมณ์เหมือนกับผมมีรถหลายคันและล้อแม็กอีกเพียบ ซึ่งผมเลือกรุ่นที่ใช้ล้อ 5 รู 114.3 อยู่เสมอ แต่ดันซื้อคันหนึ่งมาด้วยความหวังจะสลับล้อที่มีอยู่เพื่อแต่งเพิ่มเติมจะได้ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่สุดท้ายมาพบว่าคันที่เพิ่งซื้อมานั้น ดันมีดุมล้อแบบ 5 รู 100
แต่อย่างว่าละครับ สุดท้ายเราก็ยังได้เห็นความกว้างขาสายแปลกๆ จากนาฬิกาแบรนด์สวิสส์อยู่เสมอ และแน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่ทราบว่าคุณสามารถเดินหน้าสายจากร้านตัดสายทั่วไปในตลาดได้ เมื่อสายเกิดพัง (ซึ่งก็คงอีกนานแสนนาน) ก็คงเดินเข้าไปสอยสายเส้นใหม่ในบูติก ซึ่งถ้าแบรนด์จะหวังรายได้อีกทางจากการขายพาร์ทด้วยวิธีนี้ ผมว่าไปหาวิธีอื่นที่ได้เงินเร็วและมากกว่านี้น่าจะดีกว่า
เอาละกลับมาที่ตัวนาฬิกากันต่อ ไม่ใช่ว่าจะมีแต่สิ่งที่ขัดใจ สิ่งที่ถูกใจก็ยังมีอยู่ และสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบจาก Heritage Black Bay Bronze Slate-grey คือ Tudor ทำให้นาฬิกาเรือนนี้มันดูออกสีทองทั้งหมดจริงๆ ซึ่งก็รวมถึงฝาหลังด้วย จะต่างจากนาฬิกา Bronze ส่วนใหญ่ที่มักจะใช้ฝาหลังที่ผลิตจากสตีลหรือไทเทเนียม และตอนแรกที่ได้มา และเห็นว่าฝาหลังเป็นสีทอง ในใจก็คิดว่างานนี้แขนเขียวกันแน่ๆ ถ้าเกิดมันเป็น Bronze จริงๆ แต่สุดท้ายฝาหลังสีทองที่เห็นอยู่นั้นคือ ฝาหลังสตีลแต่เคลือบ PVD ให้เป็นสีทองเพื่อจะได้ดูเข้ากัน และมั่นทำให้นาฬิกาดูกลมกลืนทั้งเรือน แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป ฝาหลังนั้นจะยังสีแจ่มไม่หม่นหมองเพราะ Patina เหมือนกับตัวเรือนที่อยู่รอบๆ มัน
ในแง่ของภาพรวมของการออกแบบ งานนี้เหมือนกับเอา Black Bay รุ่นธรรมดามาขยายขนาด เพราะรูปทรงของตัวนาฬิกาแทบไม่ต่างกันมาก เป็นนาฬิกาที่มีขาสายยาวและรูยึดสปริงบาร์อยู่ต่ำ ดังนั้น ถ้าคิดจะสั่งตัดสายแจ้งช่างประจำตัวสักนิดให้ทำสายที่มีหัวสายหนาหน่อย เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดช่องว่างระหว่างหัวสายกับตัวเรือนอย่างแน่นอน
หน้าปัดสี Slate Grey ซึ่งในตอนแรกผมไม่ค่อยถูกใจเท่าไรนะ แต่พอลองเพ่งดูดีๆ และลองจับสัมผัสกับแสงแดด จะพบกับความลงตัวและความสวยอีกแบบ ไม่เข้มเหมือนกับสีดำ แต่ให้ความสวยที่เข้ากับกับสีทองที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ บนหน้าปัด เช่น ชุดเข็ม กรอบบนหลักชั่วโมง และตัวหนังสือ ซึ่งหน้าปัดของรุ่น Bronze จะต่างกับรุ่นสตีลตรงที่บนหลักชั่วโมง 3-6-9 จะใช้ตัวเลข ไม่ใช่เป็นขีดสี่เหลี่ยมผืนผ้า และเป็นนาฬิกาแบบ No Date ซึ่งตรงนี้ถูกใจผมมาก
ตัวเรือน เม็ดมะยม และขอบตัวเรือนผลิตจาก Bronze แต่สิ่งที่อาจจะขัดใจคนทั่วไปที่ต้องจ่ายเงินกับนาฬิการะดับนี้ แต่ต้องมาเจอขอบตัวเรือนที่มี Insert Ring แบบ Anodised Aluminium สีเดียวกับหน้าปัดและเป็นแบบด้าน แทนที่จะเป็นเซรามิก แต่ส่วนตัวแล้วผมเฉยๆ นะ เพราะตามปกติแล้วนาฬิกา Bronze ก็มักจะมาในแนวนี้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้คาดหวังอะไร
ที่ผมชอบอีกจุดในนาฬิกาเรือนนี้คือ การเลือกใช้กระจก Domed แบบขอบสูง ทำให้ดูผสมผสานระหว่างความทันสมัยกับความวินเทจได้อย่างลงตัว แม้ว่าจะมีความเสี่ยงกระจกแตกหากเดินแกว่งแขนแบบไม่ระวังแล้วไปกระแทกเข้ากับอะไร เพราะด้วยความที่กระจกนูนขึ้นเหนือจากขอบตัวเรือนทำให้ส่วนนี้มีความเสี่ยงในเรื่องนี้มากขึ้น
MT5601 คือ หัวใจในการขับเคลื่อนของ Heritage Black Bay Bronze Slate-grey นี่คือกลไก In-House อาจจะดูเก่าหน่อยเพราะเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2016 แต่ก็ถือเป็นกลไกที่มั่นใจได้ในความเที่ยงตรงและแม่นยำ และเป็นกลไกที่ถูกพัฒนามาเพื่อ Heritage Black Bay Bronze โดยเฉพาะ โดยคำว่า MT ย่อมาจาก Manufacture Tudor หรือมีความหมายถึง In-House นั่นเอง
เมื่อดูจากสเปกเช่นจำนวนกำลังสำรองที่อยู่ในระดับ 70 ชั่วโมง รวมถึงการใช้ซิลิคอนในการผลิตใยนาฬิกาเพื่อลดผลกระทบจากสนามแม่เหล็กที่ส่งผลต่อความเที่ยงตรงของตัวนาฬิกา และมาตรฐานความเที่ยงที่ได้รับการรับรองโดย COSC ในระดับ Chronometer ถือว่าค่อนข้างโอเคและรับได้นะแม้ว่าจะเป็นกลไกรุ่นเก่า และในตอนนี้ Tudor เปิดตัวรุ่น MT5602 ออกมาแล้ว และรุ่นปรับปรุงใหม่ MT5602-1U วางอยู่ในรุ่น Black Bay Ceramic แล้วก็ตาม ส่วนตัวผมไม่ได้ติดใจอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะถ้าเป็นกลไกที่ดี ต่อให้เปิดตัวมานานแล้วสักระยะก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากมาย ตราบใดที่มันไม่สร้างปัญหาในเรื่องการใช้งานให้กับผมเหมือนกับที่ได้ยินข่าวบ่อยๆ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในกลไก In-House รุ่นใหม่ๆ จากกลุ่ม FB
กับราคาป้าย 151,00 บาทของ Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey ไม่ว่าจะเป็นรุ่นสายหนัง หรือสายแจ็คการ์ด ผมว่านี่คือนาฬิกา Bronze ที่น่าสนใจรุ่นหนึ่งถ้าคุณคำนึงถึง 3 ปัจจัยในด้านความต้องการที่ผมบอกตั้งแต่เริ่มต้น และสารภาพเลยว่า แม้ตอนแรกจะหงุดหงิดกับเรื่องจุกจิกที่เพิ่งมาค้นพบตอนจ่ายเงินซื้อมาแล้วอย่างความกว้างขาสายที่มีตัวเลขแปลกๆ แต่โดยรวมแล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งดีลที่ผมค่อนข้างพึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับกลับมา
ที่สำคัญ นาฬิการุ่นใหม่ๆ ของ Tudor ขยายการรับประกันออกไปเป็น 5 ปีแล้ว ถือว่าสร้างความมั่นใจในการเป็นเจ้าของได้อย่างเต็มที่เลย
ข้อมูลทางเทคนิค : Tudor Heritage Black Bay Bronze Slate-grey
Ref. M79250BA-0001
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 43 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 52 มิลลิเมตร
- ความหนา : 14.5 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 23 มิลลิเมตร
- กระจก : Sapphire ทรงโดม
- กลไก : MT5601 อัตโนมัติ In-House No Date และ Chronometer
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- จำนวนทับทิม : 25 เม็ด
- กำลังสำรอง : 70 ชั่วโมง
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : แบรนด์ ไซส์และคุณภาพของเนื้องาน และกลไก In-House ที่มีกำลังสำรองสูง และมีความเที่ยงตรง
- ไม่ประทับใจ : ความกว้างขาสายที่มีขนาดแปลกๆ
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
You Tube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline