หลังจากที่เปิดตัวใน Watches and Wonder 2022 ผมได้มีโอกาสสัมผัสและใช้เวลาอยู่กับ Tudor Black Bay Pro อยู่ช่วงหนึ่งและต้องยอมรับว่านี่คือนาฬิกาที่น่าสนใจเรือนหนึ่งของปีนี้เลยทีเดียว
Tudor Black Bay Pro ความลงตัวที่ยากจะปฏิเสธ
-
นาฬิการุ่นใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในคอลเล็กชั่น Black Bay
-
แม้จะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 39 มิลลิเมตรและตัวนาฬิกามีความหนาค่อนข้างมาก
-
ขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติ In-House แบบ GMT และมีสายให้เลือก 3 แบบ
ตอนช่วงที่ Tudor จัดงาน New Watches Presentation 2022 ในเมืองไทย ผมได้มีโอกาสลองและสัมผัสกับนาฬิการุ่นฮ็อตของแบรนด์สำหรับปี 2022 อย่าง Black Bay Pro และต้องบอกเลยว่า นี่คือ อีก Wish List ของตัวเองในปีนี้ ขนาด 39 มิลลิเมตรไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกขัดเขินในการสวมใส่แต่อย่างใด ขณะเดียวกันรูปลักษณ์และหน้าตาของนาฬิกา ที่ถูกมองว่าได้รับอิทธิพลมาจาก Rolex Explorer II Ref.1655 นั้น ผมว่ามันก็แค่ความรู้สึก เพราะเอาเข้าจริงๆ ผมกลับชอบเจ้า Tudor Black Bay Pro มากกว่านะ
นับจากการเปิดตัวของ Black Bay GMT ในปี 2018 เป็นต้นมา เราแทบไม่เห็น Tudor ทำอะไรอีกเลยเกี่ยวกับ Line-Up ของนาฬิกาในกลุ่มนี้ จนกระทั่งมาถึงปีนี้ ในรุ่นปกติมีการเพิ่มทางเลือกใหม่ออกมาเป็นครั้งแรกกับ GMT S&G ที่มากับสีใหม่ ขณะที่อีกทางเลือกต่อมาคือการย่อไซส์ของนาฬิกาเรือนนี้จาก 41 มิลลิเมตรมาเป็น 39 มิลลิเมตรและจำหน่ายในชื่อ Black Bay Pro
การแตกไลน์ออกมาด้วยการใช้คำว่า Pro นั้นย่อมต้องมีอย่างแน่นอน และดูเหมือนว่า Black Bay Pro จะถูกออกแบบให้เป็นเหมือนกับนาฬิกาสำหรับนักผจญภัย เหมือนกับเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของนาฬิกาที่ Discontinued ไปแล้วอย่าง North Flag โดยที่ยังคงคุณสมบัติของการเป็นนาฬิกาที่มีความสามารถในการกันน้ำ 200 เมตรเหมือนกับรุ่น Black Bay ปกติ ขอบตัวเรือนแบบสตีลและเป็นแบบยึดตายตัวไม่สามารถหมุนได้ ทำให้การบอกเวลาทำได้แค่ 2 เขตเวลาเท่านั้น เพราะสเกล 24 ชั่วโมงบนขอบตัวเรือนจะต้องทำงานร่วมกับเข็มที่ 4 คือ GMT
ตัวเรือนสตีล ขอบตัวเรือนสตีล และเข็ม GMT ที่มีปลายขนาดใหญ่ รวมถึงการใช้โทนสีเหลือง-ดำนั้น ทำให้ดูเหมือนกับว่า Tudor จงใจออกแบบให้นาฬิกาเรือนนี้เหมือนกับนาฬิการุ่นพี่ที่ที่ขึ้นแท่นความคลาสสิคอย่าง Rolex Explorer II Ref.1655 ซึ่งผมว่ามันก็ไม่ผิดนะที่ Tudor จะทำเช่นนั้น เพราะนี่คือแบรนด์พี่น้องกัน การได้รับอิทธิพลบางอย่างมาไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกอะไร
แต่สิ่งที่ผมชอบคือ แทนที่จะยกดีไซน์มาทั้งดุ้น ทาง Tudor กลับเลือกใช้และเลือกปรับให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับกลิ่นอายและเอกลักษณ์ของตัวเองมากกว่า เรียกว่าถ้าไม่นับแค่เรื่องขอบตัวเรือนแบบยึดตายตัวพร้อมเป็นแบบสตีล และเข็ม GMT ที่มีสีเหลืองแล้ว ทางทีมออกแบบของ Tudor ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการสร้างสรรค์นาฬิกาเรือนนี้ขึ้นมาให้มีกลิ่นอายของตัวเอง แถมการให้สีระหว่างดำของหน้าปัดกับเข็ม GMT สีเหลือง กลับเป็นอะไรที่ตัดกัน และทำให้นาฬิกาเรือนนี้มีความเด่น
ในแง่ของทางเลือกในการทำตลาด Tudor วางจำหน่ายด้วยกัน 3 ทางเลือกที่ต่างกันในแง่ของสาย คือ
- สายแบบ Hybrid ที่มีส่วนผสมของยางและหนัง M79470-0003
- สายผ้าแจ็คการ์ด M79470-0002
- สายสตีล M79470-0001
2 แบบแรกมีราคาเท่ากันที่ 130,600 บาท ขณะที่รุ่นสายเหล็กจะแพงกว่า 11,000 บาทขยับขึ้นมาอยู่ที่ 141,700 บาท แน่นอนว่า ผมเลือกหยิบทั้ง 3 รุ่นมาทดลองสวมและขึ้นข้อบนข้อมือตัวเองทันที เพื่อ Touch&Feel เปรียบเทียบกับอารมณ์ที่แตกต่างกันของสายประเภทต่างๆ ที่ผมได้รับจากตัวเรือนแบบเดียวกัน
ขนาดตัวเรือน 39 มิลลิเมตรของ Black Bay Pro ทำเอาพวกที่ชอบใส่นาฬิกาเรือนใหญ่อย่างผมมีอารมณ์แบบก้ำกึ่งว่ามันจะลงตัวไหมเมื่ออยู่บนข้อมือของตัวเอง และก็จริงๆ ด้วยแหละในทันทีที่ได้เห็นตัวเรือนจริง เพราะจากการที่เป็นนาฬิกาแบบมีขอบตัวเรือนหนาเพราะต้องเป็นสเกล 24 ชั่วโมงในการทำงานร่วมกับเข็ม GMT มันก็เลยทำให้พื้นที่ของหน้าปัดถูกบีบลง ตอนแรกที่ยังไม่ได้ขึ้นข้อ แวบแรกของความคิดที่เกิดขึ้นคือ ‘มันค่อนข้างเล็กนะเนี่ย’
แต่สุดท้ายอย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปโดยที่ยังไม่ได้ลอง
ผมคิดว่ารุ่นสายสตีลน่าจะดูดีที่สุดบนข้อมือไซส์ 7 นิ้วของผมและไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่านาฬิกานี้เรือนเล็ก ซึ่งก็จริงด้วย เพราะความกลมกลืนที่ดูเป็นชิ้นเดียวกันของโลหะจากตัวเรือนไล่มาที่สายนั้น มีส่วนช่วยหลอกสายตาอย่างมากในแง่ของขนาดตัวเรือนเมื่อเวลาถูกสวมอยู่บนข้อมือ เหมือนกับช่วยเพิ่มขนาดในแง่ของการมองไปในตัว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้รับจากสาย Hybrid และสายผ้าแจ็คการ์ด
อย่างไรก็ตาม ถ้าให้ผมเลือกซื้อ ผมกลับเลือกสายแจ็คการ์ดด้วยความสวยที่เข้ากับภาพรวมของตัวนาฬิกา แม้ว่าจะไม่ได้มีนวัตกรรมที่เป็นสิทธิบัตรของ Tudor ติดมาด้วยอย่างการใช้ลูกปืนที่ผลิตจากเซรามิกเป็นตัวล็อกสายในชั้นแรก ซึ่งมีให้ในรุ่นสายสตีลและสายแบบ Hybrid ที่มาพร้อมกับบานพับสาย เช่นเดียวกับระบบ T-Fit ที่เป็นการออกแบบให้บานพับสายสามารถปรับละเอียดได้ เพื่อให้สอดรับกับขนาดข้อมือได้พอดีที่สุด ซึ่งตรงนี้มีเฉพาะในรุ่นสายสตีล
นอกจากนั้นอีกสิ่งที่ช่วยทำให้ตัวนาฬิกาดูลงตัวมากขึ้น คือ มิติของตัวเรือน ซึ่ง Black Bay Pro ยังคงรูปแบบในเชิงมิติตัวเรือนเหมือนกับ Black Bay รุ่นอื่นๆ คือ มีขาสายที่ค่อนข้างยาวในระดับ 47 มิลลิเมตร และมีความหนาค่อนข้างมาก ตรงความหนานี่แหละที่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยถูกใจรสนิยมของคนที่ชอบนาฬิกาเรือนเล็กๆ บางๆ สักเท่าไร แต่ส่วนตัวผมกลับชอบนะ เพราะแม้ว่าจะหนาถึง 14.6 มิลลิเมตร และดูไม่สมส่วนกับขนาดตัวเรือน 39 มิลลิเมตร แต่สุดท้ายมิติตัวเรือนแบบนี้แหละ ที่ช่วยกลบความไม่ชอบในขนาดตัวเรือน 39 มิลลิเมตรของผมลงไปได้ ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่ข้อมือใหญ่อาจจะคิดแบบเดียวกัน
สำหรับเรื่องความหนาของตัวเรือนก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็หนาขึ้นมาเอง แต่เป็นเพราะเรื่องการใช้กลไก In-House ในรหัส MT5652 แบบเดียวกับ Black Bay GMT ซึ่งนาฬิกาเรือนนี้ก็มีความหนาด้วยเช่นกัน ด้วยตัวเลขถึง 15 มิลลิเมตร โดยความหนาของกลไกชุดนี้อยู่ในระดับ 7.52 มิลลิเมตร
แน่นอนว่าตรงนี้ถือเป็นข้อดี เพราะส่วนหนึ่งคือการได้ความยอดเยี่ยมของกลไกที่มีความเที่ยงตรงในระดับ Chronometer แถมด้วยกำลังสำรองในระดับ 70 ชั่วโมงมาด้วย ที่สำคัญคือ การช่วยทำให้นาฬิกามีราคาที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด ด้วยราคาที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งถ้ากวาดสายตาดูรายชื่อของนาฬิกา GMT ที่มีแบรนด์ชั้นแนวหน้า มาพร้อมสเป็กระดับนี้ทั้งกลไก In-House แถมยังมีความเที่ยงตรงระดับ Chronometer เราแทบไม่เห็นตัวเลือกใดในตลาดเลย
ตัวกลไกชุดนี้มากับเข็ม GMT ที่เป็นแบบ Traveler GMT คือหมุนปรับเวลาของเมืองที่เพิ่งเดินทางไปถึง หรือ Local Time ผ่านทางเข็มชั่วโมงหลักไปเลย ขณะที่เข็ม GMT ก็จะแสดงเวลาของ Home Time หรือเมืองที่จากมา ตรงนี้สะดวกในการมองเห็นกว่าระบบ GMT อีกแบบที่ถูกเรียกว่า Office GMT เพราะการแสดงเวลาบนหน้าปัดหลักจะเป็นเมืองที่ผู้สวมใส่เพิ่งเดินทางไปถึง
นอกจากนั้น อีกจุดที่ผมชอบคือ การผลิตหลักชั่วโมงบนหน้าปัดซึ่ง Tudor เรียกว่า Monobloc Luminous Ceramic ซึ่งจะมีการผสมสารเรืองลงไปกับผงเซรามิกเพื่อใช้ในการหล่อขึ้นรูปเป็นทรงของหลักชั่วโมง ทำให้การส่องสว่างคล้ายกับหน้าปัดแบบเรืองแสงทั้งแผ่น ตรงนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่องสว่างที่มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องขยายพื้นที่ของหลักชั่วโมง แถมยังทำให้ตัวหลักชั่วโมงดูมีมิติมากกว่าการหยอดสารเรืองแสงลงไปในเบ้าที่เป็นหลักชั่วโมง
หลังจากที่ได้ลอง Touch&Feel แล้ว ต้องยอมรับเลยว่า Tudor Black Bay Pro ดึงความสนใจของผมได้อย่างอยู่หมัด ชนิดที่ Black Bay GMT S&G ที่วางข้างๆ กันไม่สามารถทำได้เลย ดีไซน์ที่แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากนาฬิกาคลาสสิค แต่ทีมออกแบบของ Tudor ก็ปรับให้เข้ากับตัวเองได้เป็นอย่างดี นวัตกรรมและสเป็กที่มีอยู่ในตัวนาฬิกาถือว่ามีให้ครบและจัดเต็มชนิดที่คุ้มค่าตัว
ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณแล้วว่าจะมีชะตาต้องใจกับนาฬิกาเรือนนี้ขนาดไหน ส่วนตัวผม ถ้ามีงบประมาณในระดับนี้ นี่คือ ตัวเลือกแรกที่อยู่ในใจผมอย่างแน่นอน
รายละเอียดทางเทคนิค : Tudor Black Bay Pro
- เส้นผ่านศูนย์กลาง: 39 มิลลิเมตร
- ความหนา : 6 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 47 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน: สแตนเลสสตีล
- กระจก: Sapphire ทรงโดม
- กลไก: อัตโนมัติ MT5625 มีความเที่ยงตรงระดับ Chronometer พร้อมฟังก์ชั่น GMT
- ความถี่: 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- กำลังสำรอง: 70 ชั่วโมง
- การกันน้ำ: 200 เมตร
- ประทับใจ : การออกแบบ มิติโดยรวมตัวเรือน รายละเอียดบนหน้าปัด ความคุ้มค่าของราคากับสเป็กที่ได้
- ไม่ประทับใจ : ไม่มี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline