Tissot Chrono XL Swiss made เรือนใหญ่ ดีไซน์สวย

0

Tissot Chrono XL Swiss made เรือนใหญ่ ดีไซน์สวย ถือเป็นนาฬิกาที่น่าสนใจอีกรุ่นในตลาดสำหรับคนที่กำลังมองหานาฬิกาควอตซ์จากสวิสส์ ที่มีราคาไม่แรงจนเกินไป

Tissot Chrono XL Swiss made เรือนใหญ่ ดีไซน์สวย
Tissot Chrono XL Swiss made เรือนใหญ่ ดีไซน์สวย

Tissot Chrono XL Swiss made เรือนใหญ่ ดีไซน์สวย

  • Tissot Chrono XL เป็นนาฬิกา Chronograph เรือนใหญ่ที่สุดของพวกเขาในตลาด
  • ฝาหลังกดอัด บางคนอาจจะไม่ชอบ
  • กระจก Sapphire หน้าปัดดีไซน์สวยออกแนววินเทจ
- Advertisement -

ในกลุ่มของนาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์และกับคนที่ซีเรียสกับคำว่า Swiss Made บนหน้าปัด กับงบในประดับหมื่นต้นๆ ผมเชื่อว่าเมื่อคุณคิดที่จะซื้อนาฬิกาสักเรือนโดยเอาตรงนี้เป็นจุดตั้งต้น ชื่อของ Tissot จะต้องลอยขึ้นมาเป็นชื่อแรกๆ เพราะนี่คือแบรนด์นาฬิกาที่แม้ว่าจะมีประวัติความเป็นมายาวนาน แต่ก็มีผลผลิตที่เน้นตลาดในกลุ่ม Entry-Level ด้วยทางเลือกที่หลากหลาย และทางเลือกใหม่ที่เพิ่งส่งลงตลาดไม่นานอย่าง Chrono XL เป็นอะไรที่ผมคิดว่าโอเคมาเลยสำหรับการเลือกนาฬิกาเข้ากรุตามเงื่อนไขนี้

เหตุผลหรือ ?

ข้อแรก ถ้าคุณต้องการแบรนด์จากสวิสส์ นี่คือคำตอบ ข้อที่สองกับงบที่ไม่เยอะในระดับหมื่นต้นๆ นี่คือคำตอบเช่นกัน แถมอาจจะได้คำกว่านี้อีกนิดถ้าเจอโปรโมชั่นดีๆ เพราะ Chrono XL มากับค่าตัว 12,000 บาท และแถมให้อีกเหตุผลที่ว่ากับงานดีไซน์ที่ต้องบอกว่าสวยและโดนใจมากที่สุดนับตั้งแต่ Visodate

คำว่า Swiss Made มันสำคัญขนาดไหนถึงต้องหยิบยกมาเป็นประเด็น เอาเป็นว่าเรื่องนี้เดี๋ยวผมเขียนแยกเป็น Scoop ออกมาต่างหาก แต่ขออธิบายคร่าวๆ ก่อนว่า มันคือ ข้อกำหนดตามปี 1971 ที่ว่า ต้นทุนมากกว่า 60% ของการผลิตสินค้าชิ้นนั้นๆ จะต้องอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ และในส่วนนาฬิกาจะต้องประกอบและตรวจสอบขั้นสุดท้ายก่อนขายภายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ดังนั้นคำนี้จึงเหมือนกับใบรับประกันในเรื่องคุณภาพตามมาตรฐานประเทศผู้ผลิตนาฬิกา และในเชิงคุณภาพทั้งในแง่ของการสัมผัส และเชิงจิตวิทยา มันย่อมมีผลอย่างมากสำหรับคนซื้อในแง่ความคาดหวังที่ว่าพวกเขาจะได้สินค้าที่มีมาตรฐาน

กลับมาที่ Chrono XL สำหรับใครที่คาดหวังว่าจะมีคำนี้ นาฬิการุ่นนี้มีให้ แต่เอาเข้าจริงๆ ผมไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องนี้สักเท่าไร มากเท่ากับตัวนาฬิกาเป็น ซึ่ง Chrono XL เป็นคอลเล็กชั่นล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อกลางปี 2017 พร้อมกับตัวเรือนแบบสะใจตามชื่อ XL โดยขนาดตัวเรือนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 45 มิลลิเมตร และถือเป็นนาฬิกาแบบ Chronograph ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดของ Tissot เท่าที่มีขายอยู่ในตอนนี้ แต่ด้วยเหตุที่เป็นนาฬิกาขาไม่ยาวมาก ดังนั้น เวลาใส่แล้วจึงไม่ค่อยมีอาการกางออกมาให้เห็น และดูเต็มข้อ

จริงๆ แล้วตอนที่เห็นคอลเล็กชั่นนี้ในตู้โชว์ สิ่งที่ทำให้สะดุดตาผมมากที่สุดคือ ดีไซน์การวางวงย่อย Chronograph ตามแบบมาตรฐานในตำแหน่งเยื้องๆ 3-6-9 เป็นอะไรที่ลงตัวมาก (แม้ผมจะชอบน้อยกว่าพวก 2 วงก็ตาม) และการเลือกใช้ฟอนต์ขนาดใหญ่ในตำแหน่งเดียวกันโดยที่ไม่ได้ไปเบียดเข้ากับวงย่อยเหล่านี้ถือว่าทำได้ดี และตำแหน่งช่อง Date ในตำแหน่ง 4  นาฬิกาก็ดูลงตัว แต่น่าเสียดายอย่างเดียวตรงที่ เมื่อมองเข้าไปที่หน้าปัดกกลับเป็นแบบเรียบแผ่นเดียว ถ้ามีการเล่นระดับแบบ 2 ชั้น ให้ดูมีมิติน่าจะสวยมากยิ่งขึ้น

ตอนที่ยืนดูที่เคาน์เตอร์ Chrono XL มี 3 รุ่น แบบตัวเรือน Steel 316L ในสไตล์เงินเข้มๆ ด้านๆ ซึ่งเป็นการเคลือบ PVD สีเทาโดยมากับ 2 ทางเลือก หน้าปัดฟ้าและเขียว  กับอีกสีเป็นดำ PVD หน้าปัดดำตัวฟอนต์ออกเหลืองนวลๆ คล้ายกับนาฬิกาวินเทจ (ก่อนที่จะรู้ว่ามีขายอีกรุ่นเป็น Tour de France เวอร์ชันเรือนดำฟอนต์เหลือง) แน่นอนว่าผมเล็งเรือนดำเอาไว้เลย พร้อมกับคิดสะระตะในใจถึงแนวทางของการเปลี่ยนสายเอาไว้ในหัวทันที

ตรงนี้ไม่ได้บอกนะว่าสายเดิมติดมาจากโรงงานไม่สวย ผมนั่งพิจารณาดูแล้ว  เมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ผมว่าสายหนังของ Chrono XL ไม่ได้ขี้เหร่เลย ความหนา การเดินด้าย และลวดลาย ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเลยทีเดียว เพียงแต่ตรงนี้เป็นความชอบส่วนตัวละ เพราะผมไม่ชอบให้นาฬิกาตัวเองเหมือนกับใคร และสายไซส์ 22 มิลลิเมตรลายหนังสวยๆ ในตลาดมีให้เลือกเพียบ ดังนั้น งานนี้ต้องจัดการเปลี่ยนซะอย่าให้เสียความตั้งใจ

ประเด็นหนึ่งที่ผมค่อนข้างห่วงสำหรับคนที่ข้อมือเล็ก คือ จากการที่ตัวเรือนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 มิลลิเมตร และไม่มี Bezel หรือขอบ Tachymeter มาช่วยเบรกให้ขนาดของหน้าปัดเล็กลงไปนั้น ทำให้เวลาอยู่บนข้อแล้ว ดูเหมือนว่าตัวนาฬิกาจะใหญ่กว่าความเป็นจริงขึ้นมา สำหรับคนข้อมือ 7 นิ้วถือว่าจบและได้นาฬิกาที่ดูเต็มไม้เต็มมือกลับบ้าน ส่วนใครที่ข้อมือเล็กกว่านี้อาจจะต้องไปลองที่เคาน์เตอร์แล้วว่าพอดีหรือไม่ แล้วนาฬิกามันยิ้มให้หรือเปล่า

อีกประเด็นที่อาจจะสร้างความกังวลให้กับใครหลายคน แต่สำหรับผมนั้นเฉยๆ คือ การที่ฝาหลังเป็นแบบกดอัด ไม่ใช่ขันเกลียว ซึ่งหลายคนค่อนข้างกังวลในเรื่องความชื้นว่าจะเข้าไปได้ง่ายกว่า ส่วนตัวผมไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องนี้มากมายจนนำมาเป็นประเด็นที่ไม่ตัดสินใจซื้อนะ เพราะตราบใดที่คุณดูแลและเซอร์วิสในเรื่องของซีลยางตามระยะเวลาของการเปลี่ยนถ่าน ฝาหลังแบบนี้ก็กันความชื้นได้ดีระดับหนึ่งเลย

แต่ที่ผมกังวลมากกว่าเรื่องความชื้น คือ รอยที่อาจจะเกิดขึ้นตอนช่างเปลี่ยนถ่านหรือเซอร์วิส โดยเฉพาะยิ่งเป็นตัวเรือนดำ เวลาเกิดรอยมันเห็นอย่างชัดเจนมาก และเชื่อเถอะว่าแม้จะอยู่บนฝาหลังที่คุณมองไม่เห็นตอนสวมก็ตาม แต่มันก็เป็นอะไรที่สร้างความคาใจและเคืองใจได้ไม่แพ้รอยที่อยู่ในจุดที่มองเห็น

ในแง่ของตัวกลไกที่บรรจุอยู่ภายใน แน่นอนว่าเป็นแบรนด์ในเครือ Swatch Group อย่าง ETA เป็นกลไกควอตซ์ Chronograph G10.212 ซึ่งมีฟังก์ชั่นการจับเวลาละเอียด 1/10 วินาทีสำหรับวง 3 น. และ 30 นาทีสำหรับวง 9 น. โดยที่ตำแหน่ง 6 น. เป็นวงสำหรับบอกเวลาในหน่วยวินาทีปกติ ไม่มีอะไรซับซ้อน และผมก็เชื่อว่าหลายคนที่ซื้อนาฬิกาประเภทนี้ เกิน 80% น่าจะชอบเพราะความซับซ้อนในแง่ฟังก์ชั่นของมัน แต่การใช้งานจริงๆ แทบจะไม่ได้กดกันเลย

ในแง่ความประทับใจกับหน้าตา และเนื้องานถือว่า Tissot Chrono XL ตอบโจทย์ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี และกับราคาตามป้าย 12,000 บาท ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่อยากได้นาฬิกาควอตซ์ แบรนด์สวิสส์ ในระดับราคาไม่แพงจนเกินไปเอาไว้ใช้งาน เสียดายอย่างเดียว ค่ายนี้ส่วนลดน้อยไปหน่อยเท่านั้นเอง

คุณสมบัติของ : Tissot Chrono XL Swiss made

  • ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง  : 45 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 11 มิลลิเมตร
  • น้ำหนัก : 81 กรัม
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กลไก : ควอตซ์ Chronograph ETZ G10.212
  • แบตเตอรี่ : Renata 394
  • กระจกหน้าปัด : Sapphire
  • ระดับการกันน้ำ : 100 เมตร
  • สิ่งที่ประทับใจ : แบรนด์ คุณภาพ การดีไซน์ สเป็กเมื่อเปรียบเทียบกับราคา
  • สิ่งที่ไม่ประทับใจ : ขนาดที่อาจจะใหญ่สำหรับคนข้อมือเล็ก ฝาหลังกดอัด (สำหรับบางคน)