Steinhart Marine Officer : ย้อนดีไซน์สำหรับนักเดินเรือ

0

ตามปกติแล้ว ผมไม่ค่อยสนใจคำว่า ‘Poor Man Watch’ มากเท่าไร เหตุผลคือ นาฬิกาแต่ละเรือนมีดีไซน์และเอกลักษณ์ของมัน และก็ควรจะเป็นเอกลักษณ์ของรุ่นหรือแบรนด์นั้นๆ

Steinhart Marine Officer : ย้อนดีไซน์สำหรับนักเดินเรือ
Steinhart Marine Officer : ย้อนดีไซน์สำหรับนักเดินเรือ

Steinhart Marine Officer : ย้อนดีไซน์สำหรับนักเดินเรือ

- Advertisement -

ดังนั้น การที่จะมีนาฬิกาสักแบรนด์นำดีไซน์นั้นๆ มาใช้เพื่อในการออกแบบเพื่อให้ดูใกล้เคียงกัน หรืออาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งแบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ พร้อมกับตั้งราคาให้ถูกชนิดที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้…ผมมักจะไม่ค่อยสนใจเท่าไรจนกระทั่งได้เจอกับ Steinhart Marine Officer ความคิดตรงนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไป

ก่อนจะไปถึงเรื่อง Steinhart Marine Officer นั้น ผมก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ปกติแบรนด์ Steinehart กับผมไม่ค่อยจะโดนกันเท่าไร เพราะอย่างที่อธิบายข้างต้น เนื่องจากพวกเขาชอบที่จะทำตัวเป็น Poor Man Watch จนทำให้นาฬิกาที่อยู่ใน List สำหรับขายไม่ค่อยมีเอกลักษณ์สักเท่าไร ยกเว้นบางรุ่น เช่น  Apollon หรือ Triton Military ที่ดูเหมือนว่าทีมออกแบบจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนที่เหลือมักจะอ้างอิงดีไซน์ของนาฬิการุ่นดังๆ โดยเฉพาะค่าย Rolex

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันจะมีนาฬิกาอยู่ประเภทหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานเฉพาะโดยรัฐบาลและกลายเป็นดีไซน์แบบเปิดที่ใครก็สามารถนำไปใช้ได้ เหมือนกับว่าไม่มีลิขสิทธิ์ในด้านดีไซน์ไปแล้ว เช่น นาฬิกานักบิน หรือ Pilot Watch อันนี้ค่อยน่าสนับสนุนหน่อย ซึ่ง Steinhart ก็ผลิตรุ่น Nav B-Hur ที่อ้างอิงดีไซน์ตามสเป็กกองทัพ และตรงนี้ก็รวมถึงนาฬิกาสำหรับทหารเรืออย่าง Marine Officer ซึ่งเป็นนาฬิกาของเจ้าหน้าที่ประจำสะพานเดินเรือของราชนาวีอิตาลี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาใช้ โดยในตอนนั้น Panerai ได้รับการไหว้วานให้เป็นผู้ผลิตและใช้ชื่อว่า Mare Nostrum หรือ Our Sea ในปี 1942 และเป็นแค่ตัวต้นแบบ ไม่มีการผลิตออกมา เนื่องจากอิตาลีพ่ายแพ้ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม Mare Nostrum กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในช่วงปี 1993 เมื่อ Panerai ได้นำกลับมาผลิตอีกครั้งพร้อมกับเพิ่มเติมสเกล Tachymeter บน Bezel ในจำนวนไม่ถึง 500 เรือน โดย 1 ใน 5 นั้นถูกเหมาโดย Sylvester Stallone ซึ่งกลายมาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ PAM เพราะนาฬิการุ่นนี้ จากนั้น Mare Nostrum รุ่นนี้ได้กลายมาเป็นแม่แบบสำหรับ Marine Officer ของ Steinhart และทำให้พวกเบี้ยน้อยอย่างผมต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเองตามที่เกริ่นบนพารากราฟแรกๆ และจัดการสอยมันเข้ามาอยู่ในกรุ โดยที่ตอนนั้นก็ไม่ได้ทราบว่ามันได้รับแรงดันดาลใจมาจาก PAM ด้วยซ้ำ จนกระทั่งมาตามหาอ่านรีวิวในภายหลัง

Marine Officer ของ Steinhart ที่มีขายอยู่นั้นมีอยู่ 4 เวอร์ชันด้วยกัน นอกจากตัว Bronze ที่เป็น Limited Edition แล้วก็มี Grey Blue และ Beige หน้าครีมเข็มแดง ส่วนตัวพอดีกำลังอยากได้หน้าน้ำเงินพอดี ก็เลยจัดการสอยสี Blue มาซะให้สมใจอยาก แต่พอเปิดกล่องออกมาดู ถึงกับหงายหลังผึ่ง อารมณ์พวกภาพกราฟฟิกที่มีให้เห็นตาม FB ตาม LINE อย่าง ‘ของที่เห็น กับของที่กูสั่ง’ มันแว่บขึ้นมาทันที ชนิดที่ต้องขยี้ตาหลายรอบ

เรื่องของเรื่องคือ หน้าปัดมันไม่ได้สีฟ้าอย่างที่เห็นในภาพ แต่ออกสีเขียวอ่อนๆ เหมือนกับสีน้ำทะเล ซึ่งเมื่อเช็คตามเว็บ ก็พบว่าไม่ใช่เป็นผมคนเดียวเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะภาพในเน็ตกับของที่ได้มันแทบจะคนละสีกันเลย ครั้นจะมานั่งหาข้อความที่ว่า ‘สีที่เห็นอยู่นี้เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์และคันจริงอาจจะมีสีที่แตกต่างออกไป’ เหมือนกับในโบรชัวร์ขายรถ ก็ใช่เรื่อง รู้อย่างนี้ผมสั่งตัวเรือน Bronze ให้รู้แล้วรู้รอดดีกว่า

แต่เอาละในเมื่อได้มาแล้วก็ต้องทำใจ พูดปลอบใจตัวเองทุกครั้งที่ยกข้อมือขึ้นมาดูเวลาว่า มันก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไร ซึ่งก็จริง เพียงแต่สีหน้าปัดนี้หาสายหนังมาแต่งให้สวยๆ ค่อนข้างยากหน่อยเท่านั้นเอง

ถ้าไม่นับเรื่องสีของหน้าปัดตัวจริงกับภาพในเว็บไม่ตรงกันแล้ว ที่เหลือผมค่อนข้างพอใจกับ Marine Officer น้ำหนักในระดับ 125 กรัมบนตัวเรือนขนาด 44 มิลลิเมตรแบบไม่รวมเม็ดมะยมและปุ่มโครโนกราฟที่ผลิตจาก Stainless Steel 316L

ถือว่าไม่สร้างภาระให้กับข้อมือ ตัวสายมาพร้อมกับบัคเคิล 22 มิลลิเมตรแบบปีกผีเสื้อดูสวยและลงตัว แต่ผมไม่ค่อยชอบบัคเคิลแบบนี้เท่าไร เพราะใส่ยาก และก็คงเปลี่ยนสายกับบัคเคิลใหม่อยู่แล้ว ขอบ Bezel เป็น Steel มาพร้อม Tachymeter ดูลงตัวกว่าพวกแบบขอบฟิล์มมาก และตรงนี้ทำให้ผมเริ่มหลงรักขอบเหล็กแบบนี้ละ

อีกสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างทำให้ผมชอบคือ ตัวกระจกที่เป็นแบบโดม แถมยังมีการเคลือบสารกันสะเทือนมาให้ด้วย และเมื่อพลิกด้านหลังก็จะเป็นกับฝาหลังแบบเปลือย ทำให้มองเห็นโรเตอร์สีทองงามสง่า ดูแล้วแปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง

สำหรับกลไกที่ติดตั้งใน Marine Officer เป็นการโมดิฟายด้วยการนำกลไก 2824-2 ของ ETA มาพ่วงเข้ากับระบบจับเวลา Dubois-Depraz DD 2030 โดยที่บนหน้าปัดจะเป็นแบบ 2 วงย่อย คือ วงแสดงการหมุนของเข็มวินาทีที่อยู่ตรงตำแหน่ง 3 นาฬิกา และวงจับเวลาในหน่วยนาที ซึ่งจับได้สูงสุด 30 นาทีในตำแหน่ง 9 นาฬิกา และที่ชอบที่สุดคือ มันเป็นนาฬิกา Chronograph แบบ 2 วงที่ไม่มีเรื่องของ Day/Date มากวนใจตอนต้องเสียเวลาตั้งวันที่ตอนเอามาใส่ใหม่หลังจากนอนกล่องจนลานหมด

เอาละผมพูดในสิ่งที่ตัวเองชอบไปแล้ว คราวนี้มาดูเรื่องที่ไม่ค่อยถูกใจกันบ้าง อย่างแรกเลย คือ สีหน้าปัดอย่างที่บ่นไปว่าสีไม่ตรง แถมการให้สีของตัวเลขต่างๆ ดันไม่ชัดเจน และค่อนข้างกลมกลืนไปกับสีแบ็คกราวน์ ชนิดคนสายตายาวอย่างผมเริ่มมีปัญหาในการมอง เรื่องต่อมาคือ แม้ว่าขนาดตัวเรือนจะ 44 มิลลิเมตรซึ่งไม่ได้ถือว่าใหญ่อะไรมากมาย แต่ตัวปุ่มกดของระบบ Chronograph จะค่อนข้างยาวเอาเรื่อง ดังนั้นมันมักจะทิ่มหลังมือผมอยู่เสมอ (ใส่นาฬิกามือซ้าย)

ข้อต่อมาตัวระบบกลไกหลังโมดิฟายแล้ว ดูเหมือนว่าการเก็บลานจะต่ำไปหน่อย ผมยังไม่ได้ลองจับเวลาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวๆ แต่เมื่ออ่านรีวิวของฝรั่ง ส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่เกิน 40 ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่ามันน้อยไปหน่อยสำหรับนาฬิการะดับนี้

และปิดท้ายกับเรื่องของตัวล็อคสายซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำให้พิสดารต้องใช้บล็อกพิเศษขันออกมา แถมยังเป็นแบบต้องบิดหัวท้าย ลำบากเข้าไปอีก แถมยังเสี่ยงขาสายมีรอย หรือถ้าเกิดทำที่ขันหาย งานนี้ก็ต้องเหนื่อยตามหาบล็อกเทียบมาใช้กันอีก ส่วนอีกเรื่องคือแม้ว่าจะเป็นนาฬิกาสำหรับกองทัพเรือน แต่คนใช้คือคนที่อยู่บนพื้นที่แห้งอย่างสะพานเดินเรือ ดังนั้นระดับกันน้ำก็ไม่จำเป็นต้องเยอะ มีตัวเลขแค่ 3ATM หรือ 30 เมตรเท่านั้น ใครที่เห็นผ่านๆ ว่าเป็น Marine แล้วคิดว่ามันลงน้ำได้ อันนี้ต้องพึงระวังอย่างมาก

890 ยูโรแบบยังไม่หัก TAX  เวลาสั่งทางออนไลน์ ค่าตัวหลังแปลงเป็นเงินไทยอยู่ทื่ 35,600 บาท อาจจะดูแล้วตึงไปสักนิดสำหรับผู้ที่มีงบจำกัด และไม่อยากใส่แบรนด์ที่คนทั่วไปไม่รู้จัก แต่สำหรับผม ตรงนี้ไม่ได้แคร์อะไร และเลือกเพราะชอบในหน้าตากับดีไซน์มากกว่า…ก็เลยจบลงด้วยประการละฉะนี้

คุณสมบัติของ : 

  • ขนาดตัวเรือน : 44 มิลลิเมตร
  • หนา : 16 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กลไก : 2824-2 ของ ETA มาพ่วงเข้ากับระบบจับเวลา Dubois-Depraz DD 2030
  • จุดแข็ง : หน้าปัดดีไซน์ย้อนยุค ความเป็นนาฬิกาแบบ Chronograph แบบ 2 วง พรายน้ำแบบ C3 ที่ค่อนข้างไวแสง
  • จุดอ่อน : สีหน้าปัด Blue ไม่ตรงกับภาพ ปุ่มกดระบบจับเวลายื่นยาวไปหน่อย ใช้บล็อกพิเศษสำหรับขันเพื่อเปลี่ยนสาย การเก็บพลังงานที่น้อยไปหน่อย

Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/