Seiko SRPC49J Black Series สวยดุสไตล์วินเทจ

0

ในที่สุดก็มาแล้วสำหรับ Black Series ที่แฟนๆ Seiko เฝ้ารอมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเราไม่พลาดเช่นกันในการสอยเจ้า SRPC49J หรือเต่าดำเข้ามาอยู่ในกรุและจับมารีวิวซะ ก่อนที่จะพบกับข้อบกพร่องเดิมๆ จากกระบวนการควบคุมภาพของพวกเขา

Seiko SRPC49J Black Series สวยดุสไตล์วินเทจ

Seiko SRPC49J Black Series  สวยดุสไตล์วินเทจ

  • เปิดราคาป้าย 19,200 บาท Limited Edition แต่ไม่มีเลขกำกับ
  • ตัวเรือนเคลือบดำเงาสลับด้าน และออกแบบหน้าปัดอย่างลงตัวในสไตล์วินเทจ
  • กลไก 4R36 สำรองพลังงานได้ 41 ชั่วโมง
- Advertisement -

ตอนที่มีภาพของ Seiko Black Series เปิดเผยออกมาในเว็บไซต์ timeandtidewatches เป็นครั้งแรกเมื่อสัก 3 เดือนที่แล้ว เชื่อว่าแฟนๆ Seiko เกินครึ่งจับเจ้าเต่าในรหัส SRPC49J ซึ่งเป็น 1 ใน 3 นาฬิกาที่อยู่ในคอลเล็กชันนี้ใส่อยู่ใน Wish List ของตัวเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ต้องรวมผมเข้าไปด้วย สารภาพตอนนั้นยังไม่มีข้อมูลรวมถึงมันจะเข้าไทยหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่ากระแสตอบรับค่อนข้างแรงถึงแรงมาก จนในที่สุด Seiko Thailand  ก็ต้องนำเข้ามาเปิดตัวขายในที่สุด

ใน Black Series มีขายด้วยกัน 3 รุ่นคือ SRPC49J  ที่มาจากตัว Turtle Re-Issue ตามด้วย SNE493P แบบ 3 เข็ม และรุ่น Chronograph ในรหัส SSC673P ซึ่ง 2  รุ่นหลังเป็นกลไกควอตซ์แบบกินแสง หรือ Solar ดังนั้น ความฮ็อตจึงไม่แรงเท่ากับตัวเต่าที่เป็นกลไกอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม การบอกแค่ปากเปล่าว่ากระแสของ Seiko SRPC49J แรงและดีอาจจะฟังแล้วเลื่อนลอยยังไงพิกล แต่ต้องบอกว่ามันก็พอมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมายืนยันได้ เพราะในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาหลังจากที่ของเริ่มถูกปล่อยวางตามเคาน์เตอร์ หน้า Feed ใน facebook ของผมเต็มไปด้วยภาพของนาฬิการุ่นนี้วางอยู่บนข้อมือมั่ง บนฐานรองที่เคาน์เตอร์มั่งของบรรดาสมาชิกในกลุ่ม SMT ของอย่างนี้มันช่างยั่วใจ และบิลด์อารมณ์ให้อยากเสียเงินอย่างไม่น่าเชื่อ

แน่นอนว่าผมเสียเงินสมใจกับโปรโมชั่นแบบพอประมาณ ทำให้ราคาป้าย 19,200 บาทลดลงมาอยู่ในระดับ 14,000 บาทต้นๆ ได้ ซึ่งถ้ามว่าโอเคกับมันไหม บอกเลยว่าพอใจมาก และสวยกว่าที่คิด เรียกว่าแฟน Seiko คนไหนเดินตัวเปล่าออกจากเคาน์เตอร์ได้นี่ผมนับถือใจเลย

ในแง่ของรายละเอียดอะไรหลายๆ อย่างผมคงขอเกริ่นไม่มาก เพราะพื้นฐานของตัวนาฬิกาก็อ้างอิงรุ่น Turtle Re-Issue  ที่เปิดตัวขายในบ้านเรามาร่วม 3 ปีแล้ว และทาง Ana-Digi ก็รีวิวไปแล้ว ซึ่งคุณสามารถหาอ่านได้จากใน Review เก่าๆ ของเรา ซึ่ง Turtle Re-Issue ถือเป็นนาฬิการุ่นถูกจริตผมรุ่นหนึ่ง  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผมจะมีใจให้กับSRPC49J ตั้งแต่แรกเห็น

ตัวเรือนรมดำแบบเงาสลับด้าน โดยด้านบนจะเป็นแบบด้าน ส่วนขอบด้านข้าง เม็ดมะยม และขอบ Bezel Ring จะเป็นแบบเงา ซึ่งบอกเลยว่าดูลงตัวมาก และเมื่อจับคู่กับการสร้างสีสันบนหน้าปัดด้วยเข็มนาทีสีส้ม และพรายน้ำออกสีเหลืองนวลในสไตล์วินเทจคล้ายกับพรายน้ำ Tritium หมดอายุ ยิ่งทำให้ตัวนาฬิกาดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ส่วนฝาหลังก็ยังเป็นสีเงินแวววาวของสแตนเลสสตีล

ขนาดตัวเรือนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 44 มิลลิเมตร แต่ขาสั้นและมีตัวเลขของ Lug-to-Lug แค่ 48 มิลลิเมตร หลายคนโดยเฉพาะข้อมือใหญ่อาจจะกังวลว่าจะดูไม่เต็มเวลาอยู่บนข้อมือ  แต่ต้องบอกว่าประเด็นนี้ไม่ต้องกังวลเลย เพราะตัวสายยางที่มีข้อย่นจะส่วนกลบข้อด้อยตรงนี้ลงไปได้และทำให้นาฬิกาเบ่งได้เต็มที่เวลาอยู่บนข้อมือ เพราะมีตัวสายโค้งตามข้อมือและเข้ามาช่วยเติมเต็มตรงนี้

บอกเลยว่าผมค่อนข้างแฮปปี้ และชอบการออกแบบสายยางแบบมีข้อย่นที่ติดอยู่ในนาฬิกาในกลุ่มดำน้ำของ Seiko โดยเฉพาะในสายยางรุ่นใหม่ๆ ที่มีความนุ่มและใส่สบายมากขึ้น ซึ่ง Turtle Re-Issue น่าจะเป็นนาฬิกาเพียงรุ่นเดียวของ Seiko ที่ผมไม่เปลี่ยนสายหนัง แต่เลือกที่จะใช้สายยางของเดิมแทน โดยสายยางในรุ่น SRPC49J จะมีตัวรัดสายและบัคเคิลเป็นสีดำเหมือนกับตัวเรือน

สำหรับกลไกที่อยู่ใน SRPC49J  คือ รหัส 4R36 เหมือนกับ Turtle Re-Issue รุ่นอื่นๆ และกลายเป็นกลไกมาตรฐานสำหรับนาฬิการะดับราคาหลักพันกลางๆ ไปจนถึงสองหมื่นกลางๆ ของ Seiko  ไปแล้ว  กลไกรุ่นนี้สำรองพลังงานได้ 41 ชั่วโมง สิ่งที่น่าเสียดายคือ ถ้าเพลท Day เป็นตัวอักษรคันจิเหมือนกับรุ่นที่ขายในญี่ปุ่น แทนที่จะเป็นฟอนต์อังกฤษกับตัวเลขโรมัน มันน่าจะช่วยทำให้มีกลิ่น JDM ได้มากกว่านี้

หลายคนอาจจะขัดใจกับการใช้คำว่า Limited Edition แต่ไม่มีการรันเลขของ Seiko เหมือนกับที่เมื่อปีที่แล้วพวกเขาทำกับเวอร์ชัน Blue Lagoon ซึ่งก็บอกเลยว่าผมไม่ได้แคร์อะไรกับตรงนี้ เพราะในกลุ่มนาฬิการะดับหมื่นต้นๆ ผมมักจะเลือกซื้อนาฬิกาเพราะเหตุผลในเรื่องหน้าตาถูกใจมากกว่าจะซีเรียสเรื่องความเป็น Limited Edition ที่มีการรันหมายเลข เพียงแต่ขัดใจกับการทำอะไรที่ไม่ตรงกับนิยามของคำเท่านั้นเอง และผมก็เชื่อนะว่าถึงไม่ใช่คำว่า Limited Edition ยังไงเจ้า Black Series โดยเฉพาะ SRPC49J ก็น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดเพราะอิทธิพลจากดีไซน์และรูปลัษณ์ของมันมากกว่า

ไหนๆ ก็บ่นเรื่องที่ไม่แฮปปี้ (แต่ก็ดันซื้อกลับมา) แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ผมว่าแฟน  Seiko อาจจะตั้งคำถามขึ้นมาคือ เรื่องของคุณภาพในการผลิต เพราะพักหลังกลายเป็นเรื่องที่ต้องหัวเราะทั้งน้ำตาแบบอำกันสนุกๆ ว่า ถ้าใครได้นาฬิกาที่มีมาร์คเกอร์ในตำแหน่ง 6 นาฬิกา หรือเลข 30 บน Bezel Ring และขอบด้านข้างติดกับหน้ัาปัดแบบตรงจุด อาจจะเป็นของปลอมได้…มันเป็นเรื่องตลกร้ายที่ทำร้ายจิตใจแฟนๆ ชะมัด (T T) และเจ้า SRPC49J ก็เป็น

รวมถึงอีกอาการที่ผมเจอคือ เมื่อหมุนเข็มให้อยู่ในตำแหน่ง 6 หรือ 12 นาฬิกาแล้ว  เข็มชั่วโมง (เข็มสั้น) จะเบี้ยวออกไม่เป็นแนวระนาบตรงกับเข็มยาว (กรณี 6 นาฬิกา) และ ไม่ทับกันสนิททั้ง 2 เข็ม (กรณี 12 นาฬิกา) อาการนี้ผมเคยเจอครั้งแรกสมัยที่ซื้อเจ้า Tuna 50 ปี SRP655J1 เมื่อปี 2015

ในกรณีที่ขอบด้านข้างของหน้าปัดเบี้ยวและไม่ตรงกับหลัก 6 นาฬิกานั้น เท่าที่ดูแล้ว ไม่น่าจะเกิดจากความผิดพลาดของไลน์ประกอบ แต่น่าจะเป็นเพราะการผลิตตัวชิ้นส่วนนี้โดยตรง เนื่องจากถ้ายึดตำแหน่ง 12 นาฬิกาเป็นหลักแล้ว ตำแหน่งขีดของขอบด้านข้างของหน้าปัดกับหลักบนหน้าปัดจะมาเริ่มเบี้ยวจากจุดกึ่งกลางเอาตรงตำแหน่งเลข 4-5-6-7 และกลับสู่สภาพปกติในหลักที่ 8 เป็นต้นไป

มันก็รู้สึกแปลกๆ ที่บนหน้าปัดมีคำว่า Made in Japan อยู่ แต่ดันมีเครื่องหมายคำถามอันโตอยู่บนกระบวนการควบคุมคุณภาพของสินค้า แต่ถึงต่อให้ไม่มีคำว่า Made in Japan ผมว่ามันก็ไม่ควรเป็นเช่นนี้อยู่ดี

ดูจากภาพจะเห็นว่า Seiko SRPC49K มีการเบี้ยวของชุดเข็มชั่วโมงที่เบี้ยวออกจากกึ่งกลางหลักชั่วโมงอย่างชัดเจน

ถามว่ามันมีผลต่อการใช้งานหรือเปล่า คงไม่มี เช่น ถ้าคุณจะจับเวลาดำน้ำยังไงก็ยึดตัวเลขบนขอบ Bezel Ring อยู่แล้ว แค่หมุนให้มันตรงกับเข็มนาทีสำหรับจับเวลาเท่านั้นเอง แต่มันจะขัดใจตรงที่เหมือนกับได้ของสภาพไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง และอย่าถามนะว่าทำไมถึงซื้อมาทั้งที่ดูแล้วน่าจะเป็นของมีตำหนิ ซึ่งผมเชื่อว่าแฟนๆ ของ Seiko รวมถึงตัวผมมีเหตุผลเดียวกันคือ ชอบและพร้อมจ่ายอยู่แล้ว (ขนาดเจอข้อบกพร่องยังเมินแล้วหิ้วกลับบ้านเลย) เพียงแต่อย่าทำลายความเชื่อมั่นกับความรู้สึกของแฟนๆ ด้วยข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้บ่อยๆ เลย

เอาละ ถ้าตัด 2 ประเด็นที่ผมบ่นข้างบนไป มาถึงคำถามชิงเงินล้านที่หลายคนมักจะถามเสมอคือ กับค่าตัว 19,200 บาทตามป้าย มันน่าสนใจที่จะจับจองเป็นเจ้าของหรือเปล่า ?

ถ้าเปรียบเทียบราคาป้ายกับรุ่นปกติที่มีส่วนต่าง 3,000,-5,000 บาท (แล้วแต่รุ่นย่อย) ผมโอเคกับมันนะในการแลกกับความสวยและลงตัวที่มีมากกว่า แม้ว่าจะไม่ได้มีการปรับสเป็กให้สูงขึ้นเหมือนอย่างพวก Zimbe เรียกว่าเป็น Turtle Re-Issue ที่สวยที่สุดเท่าที่นาฬิการุ่นนี้เปิดตัวออกมาเลยทีเดียว เพียงแต่เมื่อมองหาส่วนลดจากเคาน์เตอร์ในห้าง หรือร้านค้าข้างนอกแล้ว พบว่ามันไม่ได้เยอะอย่างที่คิด อันนี้ก็พอเข้าใจและพอทำใจได้ เพราะ ณ ตอนนี้ Demand มีมาก ส่วนลดก็เลยไม่ได้อย่างที่หวังเท่านั้นเอง

ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Black Series SRPC49J

  • ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 14 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 48 มิลลิเมตรโดยประมาณ
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กระจก : Hardlex
  • ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
  • กลไก : อัตโนมัติ 4R36 Day/Date
  • จำนวนทับทิม : 25 เม็ด
  • ความถี่ : 21,600 bph
  • สำรองพลังงาน : 41 ชั่วโมง
  • ประทับใจ : การออกแบบ ความสวย รูปแบบสายยาง
  • ไม่ประทับใจ : คุณภาพการผลิต