Seiko Prospex SRPA73K1 จะดีกว่านี้ ถ้าใหญ่กว่านี้

0

ถ้าตัดเรื่องของกลไกออกไปก่อน ผมเชื่อว่าตอนที่ Seiko Prospex SRPA73K1 เปิดตัวนาฬิกาโครโนกราฟที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างรุ่น SSC075 และอีกรุ่นย่อยออกมา (ซึ่งในตลาดเรียกว่าหน้า PAM) น่าจะโดนจริตใครหลายคน เพราะแม้แต่ตัวผมเองยังหลงเจ้านี่อยู่พักหนึ่งเลย แต่ติดตรงที่ช่วงนั้น กระแสความฝืดเคืองทางการเงินเริ่มครอบงำ ก็เลยทำเมินๆ ลืมๆ มันไปก่อน

Seiko Prospex SRPA73K1 จะดีกว่านี้ ถ้าใหญ่กว่านี้
Seiko Prospex SRPA73K1 จะดีกว่านี้ ถ้าใหญ่กว่านี้

Seiko Prospex SRPA73K1 จะดีกว่านี้ ถ้าใหญ่กว่านี้

- Advertisement -

ก็ดีที่ทำเช่นนั้น เพราะหลังจากนั้น Seiko ดูเหมือนว่าจะรับรู้ความต้องการของตลาด (แต่ก็ดูเหมือนว่าจะรับรู้ไม่ทั้งหมด) จัดการเปิดตัวเวอร์ชันอัตโนมัติที่อ้างอิงสไตล์ของ SSC ออกมากับรหัส SRPA ในตระกูล Prospex ที่มีขายด้วยกัน 2 เวอร์ชันคือเรือนเงินสายหนัง กับเรือนดำสายเหล็ก ในรหัส Seiko Prospex SRPA75K1 และ Seiko Prospex SRPA73K1 แต่ตลาดบางแห่งมีหน้าเขียวในรหัส SRPA77K1 วางขายด้วย…เรียกว่าโดนใจผมมากๆ

ตอนแรกผมจับจอง SRPA75 เอาไว้ แต่สุดท้ายแล้วด้วยเหตุผลบางประการเลยปล่อยมันออกไปทั้งที่ยังไม่สัมผัสตัวด้วยซ้ำ และเลือกเอาตัวเรือนดำ SRPA73  มาแทน ซึ่งจะว่าไปแล้วค่อนข้างพึงพอใจอย่างมากเมื่อมองดูด้วยสายตา แต่เมื่อจับต้องด้วยมือแล้ว…กลับไม่ประทับใจมากอย่างที่คิด

ในแง่ของภาพรวม Package ของกล่อง อันนี้ไม่ได้ติดขัดอะไร เพราะก็เหมือนกับ G-Shock แหล่ะ ที่ผลิตกล่องออกมาแบบเดียวและใช้กันแทบจะทุกรุ่น แต่สำหรับตัวนาฬิกาแล้ว กับราคาหน้าป้าย 15,000 บาท ใกล้เคียงกับพวกนาฬิกาในตระกูล Prospex เหมือนกันอย่างพวก Baby Tuna สัมผัสที่ได้รับกับสายเหล็กกลับรู้สึกต่างกันอย่างฟ้ากับเหว

ในเรื่องของการรมดำทั้งสายและตัวเรือนไม่ใช่ประเด็น แต่อารมณ์ตอนที่สัมผัสกับสายเหล็ก กลับรู้สึกไม่ต่างจากเวลาสัมผัสกับพวกนาฬิกาในตระกูล 5 Sports ของ Seiko ซึ่งอยู่ในราคาไม่เกินหมื่นบาท เบา ให้สัมผัสที่แปลกมือ บานพับและสัมผัสเวลากดปุ่มคลายล็อก ดูก๋องแก๋งพิกล ซึ่งต่างจากตอนที่ได้สัมผัสตัว Baby Tuna สายเหล็กอย่างชัดเจนเลย

จะว่าไปแล้วประเด็นนี้ไม่ได้ติดใจอะไรผมมาก เพราะปกติ ผมไม่ค่อยใส่สายเหล็กอยู่แล้ว และเตรียมสายหนังเอาไว้เปลี่ยน แต่กับบางคนที่จ่ายเงินไปแล้วและต้องการความคุ้มค่า อาจจะไม่คิดแบบเดียวกับผม

ประเด็นต่อมาคือ ขนาดของขาสาย ซึ่งทำออกมา 21 มิลลิเมตร อันนี้ถือว่าแปลกถึงแปลกมาก จริงอยู่ที่ผมเคยเจอกับแบรนด์แปลกๆ อย่าง Luminox ที่ใช้สาย 23 มิลลิเมตร หรือ Omega บางรุ่น แต่กับ Seiko ที่ปกติแล้วจะมีแค่ 20-22-24 อันนี้ต้องบอกว่าแปลก และยิ่งน่าหงุดหงิดตรงที่ในตลาดหาสายหนังทดแทดส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเจอไซส์นี้ นั่นเลยทำให้ผมต้องใช้สาย 22 ที่หัวสายนุ่มๆ หน่อยเบียดเข้าไป

ประเด็นต่อมาคือ ปุ่มสำหรับหมุนจานทิศในหน้าปัด ดูจะลื่นไปหน่อย สำหรับคนที่ชอบให้สามเหลี่ยมของวงอยู่ตรงกับเข็ม 12 นาฬิกาตลอดเวลาอย่างผมก็เลยหงุดหงิดนิดๆ เพราะดูแล้วมันรำคาญตา เรียกว่าเผลอทีไร มันหมุนเองทุกที ถ้าทำให้หนิดกว่านี้อีกหน่อย หรือเป็นปุ่มคลายเกลียวเวลาใช้งานเหมือนบางรุ่นน่าจะดีกว่า…แต่ก็เอาเถอะมันไม่ใช่ประเด็นใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับอีกเรื่องที่กำลังจะพูดถึง

นั่นคือขนาด 42 มิลลิเมตร ก็ถือว่าค่อนข้างโอเคแล้วนะในแง่ตัวเลข และดูเหมือนเทรนด์นาฬิกายุคใหม่ๆ คนเริ่มหันมาใส่นาฬิกาเรือนเล็กลง แต่ส่วนตัว ผมกลับไม่ค่อยชอบเท่าไร เพราะครั้งแรกที่ลองทาบ บอกเลยว่าไม่โอเค แล้วยิ่งเป็น 42 มิลลิเมตรกับขาสาย 21 มิลลิเมตร อันนี้ยิ่งไม่โอเคเข้าไปใหญ่ ถ้าขาสาย 20 มิลลิเมตร น่าจะดูแล้วลงตัวกว่าในแง่ของภาพรวม

จริงๆ แล้วมันก็พอไหวนะกับข้อมือ 7 นิ้วของผม แต่หลังจากที่คาด Emperor Tuna ในวันก่อน แล้วต้องมาใส่เรือนนี้ในวันต่อมา อารมณ์มันขาดสะบั้นเลย ต้องใช้เวลาถึง 3 วันกว่าจะปรับสายตาและความรู้สึกที่คิดในใจได้ว่า ‘มันก็พอดีกับมือ (เอ็ง) นะ’

กับ Lug-to-Lug ขนาดนี้ ถ้าขยายเป็นสัก 44 มิลลิเมตร ผมว่าจะแจ่มมากมายเลย และเชื่อว่าหลายคนน่าจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่คนเลือกซื้อของผ่านออนไลน์แบบยังไม่จับของจริง

โอเคบ่นกันมาพอแล้ว…มาดูเรื่องที่ชอบบ้างกับนาฬิกาเรือนนี้

อย่างแรกเลยคือ ผมชอบฟอนต์หลักชั่วโมงที่ยกมาจาก SCC Series ใครจะเรียกหน้า PAM หรืออะไรก็แล้วแต่ สรุปคือ ผมค่อนข้างพอใจกับฟอนต์ตัวเลขนี้มาก (อันนี้ส่วนตัวจริงๆ) อย่างที่ 2 การเลือกใช้เข็ม ทั้งเข็มชั่วโมง นาที และวินาทีแบบทรงดาบ ดูลงตัวมาก โดยเฉพาะเข็มวินาทีที่เป็น Lollipop มีวงกลมตรงท้าย อันนี้ชอบเป็นพิเศษเลย

อีกเรื่องคือ ความสว่างและความไวต่อการรับแสงของพรายน้ำ แม้ว่า Seiko จะไม่ได้บอกว่านี่คือ Prospex สำหรับพวก Sea แต่การทำงานของพรายน้ำบอกได้เลยว่าน้องๆ นาฬิกากลุ่ม Diving อย่าง Monster  เลย รับแสงไว แถมสว่างแบบถูกใจ

ฝาหลังเปลือยให้เห็นกลไก อันนี้มีมานานแล้วแม้แต่ในรุ่น 5 Sports ซึ่งผมก็ยังถือว่าชอบมากกว่านาฬิกาแบบฝาหลังทึบ เพราะดูแล้วมันมีอะไรที่พิเศษขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะพวกนาฬิการะดับหรูหลายต่อหลายรุ่นเป็นเช่นนี้มั้ง ก็เลยฝังหัวว่ามันคือความพิเศษ

สุดท้าย การมีแค่ Date ไม่มี Day อันนี้ชอบมากอีกเช่นกัน เพราะปกติ ผมเป็นคนไม่ตั้งวันที่ เรียกว่าเรือนไหนอยากใส่ ก็จับมาเขย่าเลย ดังนั้นถ้าเป็นนาฬิกาพวก No Date จะชอบที่สุด ส่วนพวกที่มีทั้ง Day/Date ถ้าไม่ใช่นาฬิกาควอตซ์ จะไม่ค่อยสนใจเลย นอกจากจะดีไซน์ถูกใจจริงๆ

ในเรื่องของกลไกกับเครื่อง 4R35 ซึ่งน่าจะเป็นรหัสใหม่อย่าง 4R35B เพราะมีทับทิม 24 เม็ด (รุ่นเก่า 23 เม็ด) ต่างจากตระกูล 4R36 แค่ไม่มีหน้าต่าง Day ส่วนเรื่องกลไกก็พื้นฐานเดียวกัน สำรองพลังงาน 41 ชั่วโมง และเดินด้วยความถี่ในระดับ 21,600 Bph ขึ้นลานได้ และ Hack เข็มวินาทีได้  มั่นใจในการทำงานในระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องของความเที่ยงตรง ตรงนี้ผมอาจจะต่างจากคนอื่นตรงที่ไม่ค่อยซีเรียสอะไรกับมันมาก นอกจากจะเดินเพี้ยนแบบผิดปกติจริงๆ

บทสรุปกับค่าตัวหลังหักส่วนลดตามร้านข้างนอกแบบแบงค์พันสิบใบมีทอนให้กินข้าวแกงได้ 1 มื้อ ผมถือว่าค่อนข้างทำให้ตัดสินใจยากไปสักนิดสำหรับ Prospex เรือนนี้

เพราะกับราคานี้ ถ้าคุณเป็นมือใหม่ Seiko และชอบนาฬิกาที่สปอร์ต ผมเชื่อว่าใจคุณคงจะเอนเอียงไปทางพวก Monster รุ่นพื้นฐานที่มีราคาถูกกว่า หรือไม่ก็ Baby Tuna ที่บางรุ่นย่อยถูกกว่าถึงแม้ว่าจะได้สายยาง และถึงเป็นรุ่นสายเหล็ก ราคาหลังหักส่วนลดก็แพงกว่าไม่มาก ส่วนค่าขนาดของตัวเรือนแค่ 42 มิลลิเมตร อาจจะทำให้คนที่นิยมนาฬิกาใหญ่เมินไปเลยด้วยเช่นกัน

เมื่อขนาด และราคาที่เป็นจุดทำให้ตัดสินใจยากกลายเป็นประเด็น คงยากที่จะดันให้เปรี้ยงขึ้นมาชนิดที่เป็น Must Have ในกรุของ SeikoMania นอกเสียจากว่าคุณจะลองมา หรือมีจนหมดแล้วเท่านั้นเอง

หรือถ้าจะซื้อจริงๆ ผมคงเลือกตัว SRPA75K1 ที่มีราคาถูกกว่า 3 พันดีกว่า

คุณสมบัติของ : Seiko Prospex SRPA73K1

  • ขนาดตัวเรือน : 42 มิลลิเมตร (ไม่รวมเม็ดมะยม) / 45.5 มิลลิเมตร (รวมเม็ดมะยม)
  • ความยาว Lug-to-Lug : 50 มิลลิเมตร
  • กระจก : Hardlex Crystal
  • กลไก : 4R35B ทับทิม 24 เม็ด หน้าต่าง Date ตรง 4 นาฬิกา
  • สำรองพลังงาน : 41 ชั่วโมงตามสเป็ก
  • ความถี่ : 21,600 Bph
  • จุดเด่น : หน้าตาดูสปอร์ต ฟอนต์หลักชั่วโมงสวย เข็มชั่วโมง นาที และวินาทีลงตัว พรายน้ำแจ่ม
  • จุดด้อย : สายเหล็กไม่คุ้มค่าราคา ความกว้างขาสายไม่มาตรฐาน Diameter หน้าปัดเล็กไปหน่อย ค่าตัวที่ค่อนข้างสูง

Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/