Seiko Prospex SPB079 ร่างจำแลง MM300 ในราคาที่จับต้องได้

0

ถ้าคุณไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อตัว Re-Issue ของ 6195 ที่เป็น Hi-Beat รุ่นแรกและใช้ตัวเรือนแบบ Monocae ซึ่งมีการเอามาทำใหม่ในรหัส SLA025 นี่คืออีกทางเลือกสำหรับคนงบน้อย สำหรับ Seiko Prospex SPB079

Seiko Prospex SPB079
Seiko Prospex SPB079 ร่างจำแลง MM300 ในราคาที่จับต้องได้

Seiko Prospex SPB079 ร่างจำแลง MM300 ในราคาที่จับต้องได้

  • หนึ่งในนาฬิกา Re-interpretation ที่เปิดตัวออกมาเมื่อต้นปีโดยอ้างอิงจากรุ่น 6159

  • รูปร่างหน้าตามาพร้อมกับความคลาสสิค จนหลายคนบอกว่ามันคือ MM200

  • มีจำหน่าย 2 รุ่นคือ SPB077 สายเหล็ก และ SPB079 สายยาง

- Advertisement -

ในปีที่แล้ว ตอนที่ Seiko เริ่มนำแนวคิดในการผลิตนาฬิกาดำน้ำที่อ้างอิงจากรูปทรงของรุ่นหลักๆ ที่เป็น Milestone ของบริษัท พร้อมกับมีรุ่น Poor Man ตามออกมาขายด้วยกัน สารภาพตามตรงเลยว่า ผมค่อนข้างชอบนะกับไอเดียนี้ เพราะมันทำให้คนที่ไม่อินกับ Story ของพวกเขาในการดำน้ำแต่ชอบในเรื่องของหน้าตา และสไตล์การออกแบบของตัวนาฬิกา สามารถที่จะมีโอกาสสัมผัสกับ ‘ความคล้าย’ ในราคาที่จับต้องได้ ไม่ใช่ระดับค่าตัวเป็นแสนเหมือนกับตัวที่เป็น Re-Issue และหนึ่งในนั้นคือผม ที่ต่อจากการสอยเจ้า Seiko Prospex SPB051 มาแล้ว คราวนี้ก็ต้องมาอุดหนุนเจ้า SPB079 กันต่อ

ตอนที่ Seiko นำเรือนจริงของ SPB079 ออกมาเปิดตัวให้เห็นเป็นครั้งแรกที่ Basel World 2018 พร้อมกับ SPB077 และตัวดังเดิมที่เป็นต้นทางของ 2 รุ่นนี้คิอ SLA025 นั้น ผมค่อนข้างเฉยๆ นะ เพราะเมื่อมองในแง่ของการดีไซน์แล้ว นาฬิกาในเซ็ตนี้ธรรมดาไปหน่อย ซึ่งถ้าเรียกตามภาษาผมคือ ขาดความกล้าในการออกแบบ ต่างจากแก๊งค์ SPB051/053 และ SLA017 ที่ดูแล้วมีเอกลักษณ์และสไตล์ ซึ่ง Seiko กล้าที่จะเล่นและนำเสนอให้มันมีความแตกต่าง

แล้วผมไปติดกับได้อย่างไรละ ?

คำตอบ คือ ก็ดันไปยืนเกาะดูตัวจริงที่หน้าตู้ไงละ สำหรับคนอื่นไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับผม บางครั้งการดูภาพบนหน้าจอผ่านทางเว็บไซต์มันยังไม่มีความรุนแรงมากพอที่จะเขย่าบัตรเครดิตในกระเป๋าเงินผมให้สั่นระริกได้ เรียกว่าถ้านาฬิกาเรือนนั้นไม่ใช่เนื้อคู่ ประเภทเห็นปุ๊บบนหน้าจอแล้วเกิดอยากได้ปั๊บแล้ว ก็ต้องใช้ตัวจริงเข้าช่วยบิลด์อารมณ์ทั้งนั้น…อันนี้หมายถึงตัวผมนะ

ของจริงก็มีส่วนด้วยแหละ แต่วาทศิลป์ของคนขายก็เป็นอีกส่วนที่มีผลซึ่งทำให้ใจที่ลังเลอยู่นั้นเกิดการโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งจนได้ แต่สุดท้ายผมไม่ได้จบที่หน้าตู้หรอกนะ เพราะราคาป้าย 29,000 บาทมันทารุณไปหน่อย ก็เลยต้องมาจบกับพ่อค้าคนคุ้นเคยในกลุ่มกันดีกว่า และค่าตัวในระดับเกิน 16,000 บาทมานิดนึงถือว่าสมเหตุสมผล และทำให้ผมตัดสินใจได้ง่ายกว่าเมื่อดูราคาป้ายที่เคาน์เตอร์

ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับราคา แต่สังเกตมารอบหนึ่งแล้วตอนปีที่แล้ว ซึ่ง SPB051/053 วางขาย ร้านค้าในอินเตอร์เนตก็นำมาลดกระหน่ำอยู่พักหนึ่งชนิดคนซื้อก่อนยืนหนาวยะเยือกอยู่บนดอยกันเป็นแถว (ซึ่งผมคือหนึ่งในนั้น) และเหมือนเป็นช่วงระบายสินค้า พอหลังจากที่ของล็อตนั้นหมดเกลี้ยงไปแล้ว เราก็ไม่ได้เห็น SPB051/053 ในราคาที่เร้าใจกันอีกเลย และส่วนใหญ่ก็ขยับราคาไปสู่สภาพปกติอย่างที่มันควรจะเป็น

สภาพนี้กำลังเกิดขึ้นกับ SPB077/079 ด้วยเช่นกัน และคาดว่าลูปของกระบวนการก็น่าจะคล้ายของเดิม นั่นจึงเป็นอีกสิ่งที่เร่งเร้าให้ผมรีบตัดสินใจก่อนที่ของจะหมดไปจากตลาด และต้องไปตามหาในระดับราคาที่ต้องเขกกะบาลตัวเองหลายๆ ทีที่ดันไม่ตัดสินใจตั้งแต่แรก เจ้า SPB079 ก็เลยเข้ามาอยู่ในกรุ

ราคาเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งคือ ความพยายามของ Seiko สร้างความต่างจากที่รุ่นผ่านมา เพราะเมื่อดูจาก SPB077 แล้วจริงอยู่ที่ดูแล้วเรียบๆ มากับสายเหล็กที่บางคนบอกว่าสวย แต่ผมว่ามันเรียบไปหน่อย ดูไม่ค่อยมีเสน่ห์ ต่างจาก SPB079 ที่มีการเติมลูกเล่นเข้าไปหน่อยกับขอบ Bezel สีน้ำเงิน ซึ่งแม้ว่าเมื่อมาถึงมือแล้ว ผมจะยืนงงๆ ก่อนคิดว่า ‘ของมันไม่ตรงกับปก’ นี่หว่า

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะขอบ Bezel ที่มาแบบเงาแวววาวของ SPB079 นั้นดันเป็น

สีน้ำเงินเข้มมาก และเมื่อดูกับแสงสว่าง แม้กระทั่งกลางแดดยังแทบมองไม่ออกเลยว่ามันเป็นสีน้ำเงินหรือดำ นอกจากบางเหลี่ยมมุมที่เล่นกับแสงจึงจะสะท้อนเหลือบน้ำเงินออกมาให้เห็น ต่างจากภาพ Official ที่ Seiko นำออกเผยแพร่ขอบ Bezel มันสีตัดกันอย่างชัดเจนเลย…แต่ก็ช่างมัน

ก่อนที่จะควักเงินซื้อ มีคำทางการตลาดโผล่ออกมาให้เห็นเหมือนกับตอนที่ Baby Tuna เปิดตัวออกมา นั่นคือ มีการใช้คำว่า MM200 สำหรับนาฬิการุ่นนี้ ผมไม่เห็นด้วยนะและคำนี้ก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อการตัดสินใจส่วนตัวสักเท่าไร เพราะผมไม่ได้ซื้อนาฬิการุ่นนี้เพราะรูปทรงมันไปเหมือนกับ MM300 (ทั้งที่ความจริง MM300 นั่นแหละที่เหมือนมันมากกว่า) แต่ชอบเพราะมันเป็นในแบบที่มันเป็น

ส่วนเรื่องในวงเล็บกำลังจะบอกว่า นาฬิกาเรือนนี้ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากรูปทรงของ 6159 ที่เปิดตัวในปี 1968 และเป็นนาฬิกาดำน้ำแบบตัวเรือน Monocase รุ่นแรกของ Seiko และในเวลาต่อมา รูปทรงของ 6159 ได้ถูกปรับและนำมาใช้กับ MarineMaster 300 เมตร หรือ MM300 ที่เปิดตัวในปี 2000 และ Seiko ใช้คำว่า The 1968 Automatic Diver’s Modern Re-interpretation ในการโปรโมทนาฬิกา 2 รุ่นนี้ ดังนั้นถ้าจะบอกว่า SPB077/079 เลียนแบบ MM300 ผมว่าไม่น่าจะใช่ละ

ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 44 มิลลิเมตร และ Lug to Lug 51 มิลลิเมตร แต่เห็นตัวเลขนี้ ผมคิดว่ามันน่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับตัวเองในแง่ความเหมาะสมกับขนาดของข้อมือของตัวเอง แต่เอาเข้าจริงๆ ผมผิดหวังนิดหน่อย เพราะมันไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิดเลย และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมรู้สึกเช่นนี้ เพราะตอนที่ได้ SBDX001 หรือ MM300 รุ่นแรกมา ก็รู้สึกแบบเดียวกันเลย เพียงแต่ MM300 มันจะออกหนากว่า ก็เลยช่วยขจัดความรู้สึกในเรื่องอาการคาใจกับไซส์ลงไปได้ระดับหนึ่ง แต่กับ SPB079 ผมยังรู้สึกไม่ค่อยโอเคกับตรงนี้เท่าไร คงอาจจะต้องใช้เวลาเข้าช่วยเยียวยาความรู้สึกอีกสักระยะ

เส้นสายและเหลี่ยมมุมบนตัวเรือนของ SPB077 ถูกขัดแต่งและสร้างสรรค์ขึ้นโดยอ้างอิงจาก 6159 ซึ่งตัวเรือนมีการขัดเงาสลับด้านดูสวยงามมาก และใช้วิธี Super Hard Coating เพื่อทำให้พื้นผิวมีความแข็งแรงและทนทานต่อการขูดขีดมากขึ้น แต่จะทนขนาดไหน ผมยังไม่กล้าลอง

ขอบ Bezel ยกสูงขึ้นมาจากแนวของกระจกเล็กน้อย จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนการ์ดกันกระแทกไปในตัว โดยจากความแวววาวและความเงาที่เกิดขึ้น ตอนแรกนึกว่า Seiko ใจถึงให้ขอบเซรามิกมาให้ด้วย แต่เอาจริงๆ ยังเป็น Insert ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมแต่มีการเคลือบด้วยชั้นแล็คเกอร์เพื่อให้มีความเงางาม ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นกรรมวิธีเดียวกับที่ใช้ใน MM300 อย่าง SBDX001 และ SBDX017 และที่น่าผิดหวังนิดๆ สำหรับผมเมื่อได้ดูภาพกับของจริง มันดันไม่ตรงกัน เนื่องจากตอนที่เห็นในภาพที่แจกออกมานั้น ผมละชอบมากเลยกับความเด่นของวง Bezel แต่พอมาเป็นตัวจริง สีน้ำเงินมันเข้มเกินไปหน่อยและไม่ได้สะท้อนให้เห็นความแตกต่าง จนบางครั้งดูแล้วเหมือนกับแค่เอารุ่น SPB077 ที่เป็นหน้าดำขอบ Bezel ดำมาเปลี่ยนสายเท่านั้นเอง อย่าหาว่าผมเรื่องมากเลยนะครับ แต่ภาพนั้นมันติดตาจริงๆ

ในส่วนของหน้าปัดมากับสีดำและหลักชั่วโมงเป็นแบบวงกลมสำหรับ 1-11 และเป็นแท่งคู่สำหรับหลัก 12 ถอดแบบมาจากตัว SLA025 ตำแหน่งการแสดงวันที่หรือ Date อยู่ที่ 3 นาฬิกา และเข็มชั่วโมง-นาที-วินาทีถูกถอดแบบมาจากรุ่น SPB051/053 ซึ่งผมบอกตรงๆ เลยว่า นี่คืออีกจุดที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อ แม้ว่าหลายคนจะไม่ค่อยชอบรูปทรงของ 3 เข็มนี้สักเท่าไรตั้งแต่มันถูกนำมาใช้กับ Tuna Can ตัว 300 และ 1,000 เมตร

แต่ผมกลับชอบนะ ดูเรียบ แต่โดดเด่นทั้งเข็มชั่วโมงทรงหัวลูกศรอันโต และเข็มนาทีทรงดาบยาว ส่วนเข็มวินาทีบางๆ และมีปลายด้านหนึ่งแปะมาร์คเกอร์พร้อมพรายน้ำในสไตล์ Lolli-Pop

ประเด็นหนึ่งที่หลายคนอาจจะบ่นมาบ้างคือ ความยืดยาวของเม็ดมะยมที่ติดตั้งอยู่ในตำแหน่ง 4 นาฬิกา ซึ่งเป็นตำแหน่งดั้งเดิมในรุ่น 6159 และได้รับการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องมาสู่นาฬิกาดำน้ำรุ่นหลังๆ ของ Seiko ส่วนตัวผมเฉยๆ และไม่คิดว่ามันจะเกะกะหรือมากระแทกกับหลังมือสักเท่าไร แม้ว่าการออกแบบตัวขันเกลียวเม็ดมะยมดูเหมือนจะไม่ได้ขยับให้ตัวเม็ดมะยมจมลงไปกับตัวเรือนเวลาที่คุณขันล็อกเหมือนกับนาฬิกาดำน้ำบางรุ่น แถมหน้าตัดของเม็ดมะยมก็ไม่ได้โลโก้ X มาเกะกะกวนใจเหมือนกับนาฬิกาในกลุ่ม Prospex รุ่นใหม่ๆ
เหมือนกับหลายๆ รุ่นที่ผ่านมา ที่อยู่ในกลุ่มนาฬิการะดับนี้ กลไก 6R15 ยังเป็นทางเลือกในการประจำการ ถือว่าเป็นกลไกที่ดี มีความเที่ยงตรงในระดับหนึ่ง และเท่าที่เคยใช้งานมาไม่ค่อยจุกจิกและแทบไม่เจอกับปัญหาเหมือนกับพวก 4R ความถี่ในระดับ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมงแม้ว่าเข็มวินาทีจะไม่เนียนเท่ากับพวกกลไก ETA หรือ SW-200 แต่ก็แลกมาด้วยความจุของกำลังสำรองซึ่งทาง Seiko เคลมเอาไว้ที่ 50 ชั่วโมง

ส่วนเรื่องความครบเครื่องในแง่ของ Day/Date นั้น ใครที่ชอบแบบครบๆ ทั้ง 2 ส่วนอาจจะขัดใจเล็กน้อย เพราะว่ามันมีแค่ช่อง Date เท่านั้น แต่ส่วนตัวผมแฮปปี้กับนาฬิกาที่ไม่มีช่องวันที่อะไรให้วุ่นวายอยู่แล้ว หรือถ้าจะมีก็ขอแค่ช่อง Date อย่างเดียวก็พอ ยกเว้นในกรณีของนาฬิควอตซ์ เพราะขี้เกียจมานั่งตั้งเวลาตอนที่หยิบขึ้นมาใช้งาน นั่นก็เลยทำให้ 6R15 เป็นกลไกที่ผมค่อนข้างโปรดปรานพอๆ กับ 8L35

อ้อ…ส่วนเรื่องรหัสรุ่นอย่าถามนะว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Seiko ที่แยกรหัสรุ่นของนาฬิกาออกจากกันระหว่างเวอร์ชันที่ขายในญี่ปุ่น และที่ขายเป็น International Version อย่างรุ่นนี้ถ้าเป็นญี่ปุ่นจะใช้รหัส SBDC061 สำหรับรุ่นสายเหล็กหรือ SPB077 และ SBDC063 สำหรับรุ่นสายยาง หรือ SPB079 ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะทำให้มันวุ่นวายและยุ่งยากกันทำไม

ผมรู้ว่าหลายคนอาจจะอยากทราบบทสรุปสุดท้ายแล้วว่าจะเป็นอย่างไรสำหรับเจ้า SPB079 ซึ่งส่วนตัวผมค่อนข้างโอเคกับมันนะในแง่ของภาพรวม หน้าตาดูดี มีเรื่องราวให้พูดถึง (แม้ว่าจะไม่ใช่สายตรงก็ตาม) กลไกเชื่อถือได้ แต่ติดอย่างเดียวที่ราคาป้ายในบ้านเรา ดูเหมือนว่าเดี๋ยวนี้ Seiko จะตั้งค่อนข้างเอาเรื่องเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับ SPB051/053 แล้ว ดูเหมือนว่า Seiko จะพยายามปรับราคาให้กลับมาอยู่ในระดับที่เชิญชวนให้ลิ้มลองมากขึ้น เพราะตัวสายเหล็ก SPB077 ตั้งเอาไว้ที่ 37,900 บาท ขณะที่ SPB079 ตั้งเอาไว้ที่ 29,400 บาท เมื่อหักส่วนลดและได้โปรดีๆ ตามงานนาฬิกา หรือตามเคาน์เตอร์ในห้างแล้ว การตัดสินใจก็น่าจะง่ายขึ้น เพียงแต่ช่วงที่ผมไปยืนสำรวจแผงดันไม่มีโปรโมชั่นดีๆ เข้ามาช่วยหนะสิ
ส่วนใครที่ถนัดตัวแทนจำหน่ายซึ่งขายผ่านทางออนไลน์ อาจจะตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้นเหมือนอย่างที่ผมเจอมาก็ได้

ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Prospex SPB079

  • ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 51 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 13.1 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
  • กระจก : Sapphire
  • ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
  • ตัวเรือน : สแตนเลสสตีล พร้อมกรรมวิธี Super Hard Coating
  • กระจก : Sapphire พร้อมเคลือบสารกันการสะท้อนแสง
  • กลไก : 6R15 เดินด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
  • สำรองพลังงาน : 50 ชั่วโมง
  • ประทับใจ : หน้าตาโดยรวม รูปทรงของเข็ม สเป็ก
  • ไม่ประทับใจ : สี Bezel ที่ไม่เหมือนกับรูปที่ใช้ในการโฆษณา