การเลือกซื้อนาฬิกาสักเรือน นอกจากราคาที่ได้ สเป็กที่โดน การออกแบบที่เด่นแล้ว การนำสตอรี่ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาเชื่อมโยงกับตัวนาฬิกาถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและความจำเป็นอย่างมาก และเรากำลังจะบอกว่าสิ่งที่ Seiko ทำกับ Prospex Speedtimer มีปัจจัยที่กล่าวข้างต้นครบถ้วน และนั่นทำให้นาฬิกาเรือนนี้มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะรุ่น Seiko Prospex Solar Speedtimer SSC913P
Seiko Prospex Solar Speedtimer SSC913P นาฬิกาควอตซ์ Chronograph ที่ไม่ควรพลาด
-
นาฬิกาควอตซ์ Chronograph Solar รุ่นใหม่ของ Speedtimer
-
มากับสีสันใหม่ 3 สีพร้อมชุดเข็มใหม่และขนาดตัวเรือนที่ใหญ่ขึ้น ทำให้คนข้อมือใหญ่ตัดสินใจง่ายขึ้น
-
ขับเคลื่อนด้วยกลไกควอตซ์จับเวลาแบบ Solar ใช้งานง่ายและมีความเที่ยงตรง
ในปีที่แล้ว Seiko เปิดตัวคอลเล็กชั่น Speedtimer ออกมา แน่นอนว่าสวยทั้งรุ่นที่ใช้กลไกจับเวลาอัตโนมัติ และรุ่นที่ใช้กลไกควอตซ์แบบ Solar
โดยเฉพาะรุ่นหลังที่ผมค่อนข้างถูกใจมากแต่ติดอย่างเดียวในเรื่องขนาด จนกระทั่งในปีนี้ เหมือนกับพวกเขาจะรู้ใจก็เลยใจให้ด้วยการเปิดตัว Seiko Prospex Solar Speedtimer รุ่นใหม่ออกมา นอกจากจะมีสีสันใหม่ เข็มแบบใหม่แล้ว พวกเขายังขยายขนาดตัวเรือนเพิ่มขึ้นมาจนอยู่ในระดับที่คนข้อมือใหญ่อย่างผมตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
การเชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีตถือเป็นแนวทางที่ค่อนข้างได้ผลอยู่เสมอสำหรับผู้ผลิตนาฬิกา แน่นอนว่า ตรงนี้สามารถบิลด์ให้เกิดอารมณ์ร่วมและการตัดสินใจซื้อได้อยู่เสมอ…ถ้าเรื่องราวที่ถูกหยิบยกมาน่าสนใจและโดนใจ Seiko คือ แบรนด์หนึ่งที่เราได้เห็นว่าพวกเขาใช้แนวทาวงนี้อยู่เสมอ
แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนาฬิกาในกลุ่มดำน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งในปี 2021 พวกเขาได้เปิดตัว Speedtimer ออกมา และมีการเชื่อมโยงเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน
จากการพัฒนานาฬิกาจับเวลาในช่วงทศวรรษที่ 1960 เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1964 มาสู่การผลิตนาฬิกาข้อมือคุณภาพสูงที่ได้รับการติดตั้งกลไกอัตโนมัติแบบจับเวลาพร้อมกับระบบคอลัมวีลและคลัตช์แนวดิ่งอย่าง Caliber 6139 ในปี 1969
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นมรดกตกทอดทีนำมาสู่นาฬิกาคอลเล็กชั่นใหม่อย่าง Speedtimer ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2021 และจับให้เป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชั่น Prospex โดยนาฬิกาจากคอลเล็กชั่นนี้นอกจากจะมีรุ่นกลไกอัตโนมัติแล้ว ยังมีอีกทางเลือกอย่างรุ่นที่ใช้กลไกควอตซ์แบบ Solar ที่มาพร้อมความเที่ยงตรงในการทำงาน และความสะดวกในการใช้งาน
จริงๆ ผมชอบรุ่นกลไกอัตโนมัตินะเพราะเป็นเวลาแบบจับเวลา 2 วงที่ถูกจริตอย่างมาก แต่สุดท้ายด้วยความต้องการที่อยากได้นาฬิกาควอตซ์แบบจับเวลาเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวันแบบหยิบขึ้นมาปุ๊บใส่ได้เลยปั๊บแล้วชิ่งออกจากบ้านเลย ก็เลยต้องหันมามองที่ Seiko Prospex Solar Speedtimer แทน
แต่ตอนที่รุ่นแรกเปิดตัวออกมานั้น ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับ 39 มิลลิเมตร บอกเลยว่าผมตัดตัวเลือกนี้ตกลงไปในทันที แม้ว่าจะชอบหน้าแพนด้ากับหน้าแชมเปญของนาฬิการุ่นนี้มาก
ดังนั้น เมื่อได้เห็นการเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ปี 2022 พร้อมกับการเปิดตัว Seiko Friend คนใหม่อย่างธีรทร บุญมาทัน รวมถึงการได้รับทราบถึงสเป็กของตัวนาฬิกา สิ่งที่แว๊บขึ้นมาในใจคือ ‘งานนี้เราคงจะได้เจอกันสักที’
ในรุ่นใหม่เป็นการต่อยอดจากรุ่นดั้งเดิมที่เปิดตัวในปี 2021 พร้อมความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างด้วยกัน โดยเซ็ตแรกที่ถูกเปิดตัวออกมานั้นจะมีด้วยกัน 3 รุ่น คือ
- SSC911P สำหรับตลาดโลก หรือ SBDL095 สำหรับตลาดญี่ปุ่น มากับหน้าปัด พื้นเงินและในวงย่อยเป็นสีดำ
- SSC913P สำหรับตลาดโลก หรือ SBDL097 สำหรับตลาดญี่ปุ่น มากับหน้าปัดพื้นสีน้ำเงิน และพื้นในวงย่อยเป็นสีดำ ส่วนขอบสเกลในจับเวลาในช่วงตำแหน่ง 12-3 นาฬิกาจะเป็นสีแดงในสไตล์ Pepsi
- SSC915P สำหรับตลาดโลก หรือ SBDL099 สำหรับตลาดญี่ปุ่น มากับหน้าปัดพื้นและพื้นในวงย่อยเป็นสีดำ ส่วนขอบสเกลในจับเวลาในช่วงตำแหน่ง 12-3 นาฬิกาจะเป็นสีแดงในสไตล์ Coke
สีสันเป็นความเปลี่ยนแปลงจุดหนึ่งของนาฬิกาเรือนนี้ และต้องบอกว่า Seiko เลือกใช้คู่สีที่เราอาจจะคุ้นตากันอยู่แล้วในตลาด ทั้งแพนด้า เป๊บซี่ และโค๊ก ซึ่ง 2 แบบหลังนี่เรามักจะเห็นเฉพาะในนาฬิกาดำน้ำ ไม่ค่อยเห็นในกลุ่มนาฬิกาจับเวลาสักเท่าไร
ซึ่งรุ่น SSC913P หรือเป๊บซี่ถือว่ามีความสวยและโดดเด่นอย่างมากกับการเลือกจับคู่สีแดงและน้ำเงิน ซึ่งตัดกันอย่างลงตัวและผมเลือก SSC913P หรือเป๊บซี่ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ สวยและต้องการนาฬิกาหน้าปัดสีน้ำเงินอยู่พอดี
นอกจากสีสันที่เพิ่มขึ้นมา อีกสิ่งที่ต้องบอกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงคือ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตัวเรือน ซึ่งทุกรุ่นมีขนาดตัวเรือน 41.4 มิลลิเมตร ตรงนี้ถือว่ามีความแตกต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้ที่มีขนาดตัวเรือน 39 มิลลิเมตร
แต่ใครที่ชอบรุ่นที่แล้วและอาจจะกลัวว่าจะกางหรือไม่เวลาสวมใส่ก็ไม่ต้องกังวลนะครับ เพราะ Lug to Lug ของนาฬิกาเพิ่มขึ้นนิดเดียวแค่ 0.4 มิลลิเมตรเป็น 45.9 มิลลิเมตร ตัวเรือนผลิตและสายผลิตจากสแตนเลสสตีลที่มีการขัดแต่งอย่างลงตัวและสวยงามแบบเงาสลับด้าน อีกทั้งยังใช้กระจกแบบ Sapphire เหมือนเดิม เป็นทรงโค้งและมีการเคลือบสารกันการสะท้อนแสง
ถือว่าสเป็กในเชิงตัวเรือนค่อนข้างลงตัวเลยและเป็นนาฬิกาควอตซ์แบบ Chronograph สำหรับคนที่ต้องการคุณภาพที่แตกต่างและชัดเจนจากนาฬิกาประเภทเดียวกันนี้แต่อยู่ในระดับราคาหมื่นต้นๆ
สำหรับรายละเอียดของตัวนาฬิกาที่เปลี่ยนไป คือ การใช้อินเสิร์ตบนขอบตัวเรือนที่มีสเกลในจับเวลาของ Tachymeter ในช่วงตำแหน่ง 12-3 นาฬิกาเป็นสีแดง ตัดกับขอบที่เหลือซึ่งเป็นสีน้ำเงิน และทีมออกแบบ Seiko ยังเลือกใช้โทนสีนี้กับชุดเข็มและพื้นหน้าปัด
เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น 39 มิลลิเมตรเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของรูปทรงของเข็มชั่วโมงและนาทีซึ่งถูกออกแบบใหม่เป็นแบบทรงแท่งตรง และมีการเคลือบสารเรืองแสงลูมิไบรท์ที่เป็นเอกสิทธิ์ของ Seiko เอาไว้ และพื้นหน้าปัดสีน้ำเงินเล่นแสงอย่างสวยงาม
หน้าปัดย่อยของนาฬิกาจะเป็นแบบ 3 วง ตำแหน่ง 3 นาฬิกาคือวงบอกช่วงเวลาว่าเป็น AM หรือ PM วงที่ 2 ในตำแหน่ง 6 นาฬิกาเป็นส่วนของการจับเวลาในหน่วยนาทีซึ่งมีสเกลสูงสุด 60 นาที และมีเข็มสีแดงแบบเดียวกับเข็มวินาทีหลักของระบบจับเวลา เพื่อบอกความเชื่อมโยงกันในแง่ของการทำงาน
ส่วนวงสุดท้ายอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา อันนี้เป็นเข็มวินาทีแยก หรือ Small Second ของระบบบอกเวลา ส่วนหน้าต่างสำหรับบอกวันที่ จะอยู่เลยจากหลัก 4 นาฬิกามานิดนึง
ในวงหน้าปัดย่อยตำแหน่ง 6 นาฬิกาคือ จุดที่น่าสนใจและต้องทำความเข้าใจเล็กน้อยก่อนใช้งาน เพราะนอกจากจะใช้ในการจับเวลาแล้ว ในช่วงปกติจะทำหน้าที่เป็นมาตรวัดในการบอกระดับกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ของกลไก ซึ่งคุณจะมองเห็นตัว E-F ที่อยู่ด้านข้าง
ข้อดีของกลไกประเภทนี้คือ ใช้งานง่ายสะดวก ไม่ต้องเปลี่ยนถ่านบ่อยซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่เรามักจะพูดถึงกันอยู่เสมอด้วย เพราะการใช้ระบบนี้ทำให้อายุของแบตเตอรี่ยาวขึ้น เช่นเดียวกับอายุการใช้งานของนาฬิกาก็นานขึ้นเพราะลดความเสี่ยงในแง่ของการปล่อยให้ถ่ายหมดคากล่องจนสารเคมีในแบตเตอรี่ออกมาเยิ้มแผงวงจร ตรงนี้จะช่วยลดปริมาณการใช้แบตเตอรี่ ทำให้ขยะแบตเตอรี่ลดลง
นอกเหนือกจากสตอรี่-ที่มาของตัวนาฬิกาและรูปลักษณ์ในการออกแบบ อีกสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบในนาฬิกาเรือนนี้คือ กลไก หลายคนอาจจะชอบกลไกอัตโนมัติแบบ Chronograph ซึ่งส่วนตัวผมก็ชอบนะ แต่ถ้าเป็นกลไกควอตซ์แบบจับเวลาผมก็ชอบเหมือนกัน
ยิ่งถ้ามาพร้อมกับระบบ Solar หรือการเปลี่ยนแสงอาทิตย์มาเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อเก็บเข้าสู่แบตเตอรี่ที่เป็นแบบ Rechargeable แล้วก็ ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่ ซึ่งในรุ่นนี้ใช้กลไกในรหัส V192 ที่แฟนๆ Seiko น่าจะคุ้นเคยกันดี
อย่างไรก็ตามเมื่อคุณกดปุ่ม Start ในตำแหน่ง 2 นาฬิกาเพื่อให้ระบบจับเวลาทำงาน เข็มนี้จะดีดกลับมาอยู่ที่ตำแหน่ง 0 เพื่อเริ่มต้นการจับเวลา และเมื่อกดปุ่ม Stop ในตำแหน่ง 2 นาฬิกาเพื่อหยุดการจับเวลา พร้อมกับกดปุ่ม Reset ในการเรียกเข็มทั้งหมดของระบบจับเวลากลับมาอยู่ที่ตำแหน่ง 0 เข็มนี้ก็ยังวิ่งกลับมาอยู่ในตำแหน่ง 0 เหมือนเดิม จนกว่าคุณจะกดปุ่ม Reset อีกครั้งเข็ม
ซึ่งเปรียบเสมือนกับการบอกว่ากำลังจะออกจากฟังก์ชั่นการจับเวลาแล้ว เข็มถึงจะกลับมาอยู่ที่ตำแหน่งในการแสดงระดับกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่
ส่วนความเที่ยงตรง คือ อีกจุดเพราะเป็นกลไกควอตซ์ ซึ่งในรุ่นนี้มีค่าความเที่ยงตรงอยู่ที่ +/- 15 วินาทีต่อเดือน และมาพร้อมกับระบบป้องกันการชาร์จกระแสไฟฟ้าเกินเข้าสู่แบตเตอรี่ ซึ่งเมื่อแบตเตอรี่มีกระแสไฟฟ้าเต็มก็จะไม่มีการชาร์จเข้ามาอีก
มาถึงบทสรุปของนาฬิกาเรือนนี้ ถ้าถามผมว่าน่าสนใจไหม คำตอบคือ กับช่วงราคาบวกลบสองหมื่นกลางๆ กับสเป็กที่มีอยู่ของตัวนาฬิกาบอกได้เลยว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ชอบนาฬิกาที่มีกลไกจับเวลาและชอบนาฬิกาแบบสปอร์ต Chronograph ขนาดตัวเรือนที่กำลังดี เหมาะกับทุกขนาดข้อมือ
โดยเฉพาะในกลุ่ม 6-6.5 นิ้วที่ผมคิดว่าใส่แล้วสวย เมื่อบวกสตอรี่ของตัวนาฬิกา ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าสำคัญและจำเป็นนะครับสำหรับนาฬิกาสักเรือน กับความสวยที่มาจากการออกแบบ เหตุผลเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะตัดสินใจเลือก Seiko Prospex Solar Speedtimer เข้ามาอยู่กรุครับ
ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Prospex Solar Speedtimer SSC913P
- เส้นผ่านศูนย์กลาง: 41.4 มิลลิเมตร
- Lug to Lug: 45.9 มิลลิเมตร
- หนา: 13.3 มิลลิเมตร
- กระจก:Sapphire ทรงโค้ง เคลือบสารกันการสะท้อนแสงด้านใน
- กลไก: V192 ควอตซ์ เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้า
- ความเที่ยงตรง: +/-15 วินาทีต่อเดือน
- ความจุแบตเตอรี่: อยู่ได้ 6 เดือนเมื่อชาร์จจนเต็มและไม่ได้โดนแสง
- การกันน้ำ: 100 เมตร
- ประทับใจ : สตอรี่ การออกแบบ ขนาดที่กำลังดี และกลไกควอตซ์แบบ Solar
- ไม่ประทับใจ : ไม่มี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline