สิ้นสุดการรอคอยที่นานถึง 6 เดือน เมื่อรู้ว่าสินค้าเข้ามาแล้ว ผมไม่ลังเลเลยที่จะรีบติดต่อร้านประจำ แล้วช่วยส่ง Seiko Prospex SNJ027P1 หรือ ‘Arnie’ Re-Issue มาให้หน่อย
Seiko Prospex SNJ027P1 ‘Arnie’ Re-Issue คุ้มค่าการรอคอย
-
เป็นการปรับปรุงใหม่ให้สวยและทันสมัยขึ้น
-
กลไก H851 แบบ Solar
-
เมืองไทยมีขาย 3 รุ่น คือ SNJ025P1, SNJ027P1 และ SNJ028P1
ตอนที่ได้เห็นราคาชอง Seiko Prospex SNJ025P1 และ SNJ027P1 ซึ่งในญี่ปุ่นใช้รหัสที่แตกต่างออกไปคือ SBEQ001 และ SBEQ003 ผมคิดอยู่แล้วว่า งานนี้ได้กระเป๋าแบนอีกครั้งอย่างแน่นอน เพราะราคาป้ายในญี่ปุ่นเปิดมา 60,000 เยนเท่ากับ Sumo รุ่นที่แล้ว ซึ่งถ้าคิดตามหลักบัญญัติไตรยางค์แล้ว เจ้า Arnie มีสิทธิ์เปิดตัวในบ้านเราด้วยราคา 24,000-25,000 บาทอย่างแน่นอน แต่สุดท้ายดูเหมือนว่าฟ้ายังมีตา ราคาเปิดตัวออกมาไม่แรงมาก และเมื่อหักส่วนลดด้วยดีลดีๆ จากร้านขาประจำอย่าง MeWela.com แล้ว ทุกอย่างจบลงที่ 14,000 บาท แล้วเจ้า SNJ27P1 ก็ถูกส่งมาขึ้นข้อผมสมใจอยากอย่างรวดเร็ว
สารภาพก่อนเลยว่า นี่คือ Wish List ของผมในปีนี้ที่เฝ้ารอมานานตั้งแต่เห็นครั้งแรกในงาน Basel World 2019 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้น โอกาสที่ Review ไปแล้วจิตใจจะเอนเอียงมีค่อนข้างสูง และออกแนวจะชื่นชมค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อตัวจริงเดินทางมาถึงมือ เจ้า Arnie Re-issue ไม่ทำให้ผมผิดหวังจริงๆ ที่รอกันมาเกือบครึ่งปี
แน่นอนว่าผมชอบตัวคลาสสิค SNJ025P1 ค่อนข้างมาก แต่ไปๆ มาๆ ในเมื่อราคาบ้านเราของรุ่นธรรมดากับ PADI ที่เป็น Special Edition เปิดเท่ากันที่ 18,100 บาท (ส่วนรุ่นดำทองในรหัส SNJ028P1 เปิดที่ 19,900 บาท) งานนี้ก็เลยต้องเปลี่ยนตัวเลือกกลางทาง เพราะไม่ใช่แค่การมีคำว่า Special Edition (แบบสะกดถูกแล้ว) อยู่บนฝาหลังเท่านั้น แต่สิ่งที่ต่างคือ พรายน้ำของเข็มนาที ซึ่งในรุ่น PADI ทำแบบมีสีเขียวที่แตกต่างออกไปจากพรายน้ำในส่วนอื่นๆ บนหน้าปัด และทำให้ช่วยดูเด่นขึ้นมาเมื่อยกข้อมือขึ้นมาดูในตอนกลางคืน
ก่อนที่จะไปถึงเรื่องตัวนาฬิกา หลายคนอาจจะสงสัยว่าเจ้า Seiko Arnie มีที่มาอย่างไร ? ซึ่งคำอธิบายคือ มันคือนาฬิกาในรหัส H558 ที่เปิดตัวในปี 1982 แล้ว Arnold Schwarchzenegger นำมาสวมใส่ในภาพยนตร์สุดบู๊ของเขาที่ออกฉายในช่วงทศวรรษที่ 1980 ทั้ง Commando, Raw Deal และ The Predator และด้วยสไตล์ของนาฬิกาที่ออกทรง Tuna Can แต่มากับกลไกแบบ Hybrid อย่าง Analogue-Digital พร้อมกับเม็ดมะยมขนาดใหญ่ ทำให้ H558 ดูสวยและเตะตาขึ้นมาทันที ก็เลยทำให้บรรดานักสะสมตั้งชื่อ H558 ว่า Seiko Arnie เหมือนกับที่พวกเขาตั้งนาฬิกา Chronograph ทรงล้ำสมัยของ Giugiaro ว่า Seiko Ripley ตอนที่ Sigourney Weaver สวมในภาพยนตร์เรื่อง Aliens
ผมชอบนาฬิกาที่มีดีไซน์สวยและเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว ดังนั้น การเล็งเจ้า Seiko Arnie มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ด้วยอายุอานามที่เยอะ แถมยังใช้หน้าจอดิจิตอล ก็เลยหวั่นๆ ดังนั้น ตอนที่ Seiko ประกาศ Re-Issue ออกมา ความหวังก็เกิดขึ้นทันที
มีอยู่ 3 สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบ SNJ027P1 หลังจากที่แกะออกมาจากกล่อง อย่างแรกคือ การปรับแค่ดีไซน์ให้ดูทันสมัย เรายังได้เห็นการวางเลย์เอาท์บนหน้าปัดที่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับ Insert Ring ด้านในหน้าปัดที่มีหลักเวลา 24H รูปทรงของเข็ม และหลักชั่วโมงที่คล้ายกับของเดิมเพียงแค่ปรับนิดหน่อยเท่านั้น รวมถึงการแสดงเวลาบนหน้าจอดิจิตอลที่ถ้าคุณเลือกแสดงในแบบ 12H แล้ว หลังเที่ยงคุณจะได้พบกับตัว P ตัวโตๆ วางอยู่ด้านหน้าของเวลา และตัว A สำหรับตอนที่เข้าสู่หลังเที่ยงคืน จะมีเปลี่ยนไปคือ ปุ่มกดทางฝั่งซ้ายที่มีขนาดใหญ่และยาวยื่นออกมาคล้ายกับเม็ดมะยม ซึ่งผมว่าโดยรวมแล้วดูลงตัวกว่าต้นฉบับเสียอีก
อย่างที่ 2 คือ การปรับปรุงตัวนาฬิกาให้มีความทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะการใช้กลไก H851 ที่เป็น Solar และสุดท้ายคือ การอัพขนาดตัวเรือนให้ใหญ่ขึ้นจากรุ่นดั้งเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์การใส่นาฬิกายุคนี้ ซึ่งถ้าคนข้อมือเกิน 6.5 นิ้ว ผมว่ามิติตัวเรือนขนาดนี้ถือว่าใส่สบายๆ เลย แต่ถ้าคนข้อมือเล็กอาจจะต้องเจอปัญหาเรื่องปลายสายยาวยื่นสักหน่อย เพราะชุดสายยางออกแบบให้มีข้อย่นในตัว เพื่อรองรับกับการใช้งานกับ Wet Suit ตอนดำน้ำ เวลาใส่ปกติ มันก็อาจจะยาวๆ หน่อย
H558 | SNJ027P1 | Diff | |
เส้นผ่านศูนย์กลาง (มม.) | 45 | 47.8 | +2.8 |
ความหนา (มม.) | 11.3 | 13.8 | +2.5 |
Lug to Lug (มม.) | 46.5 | 50.5 | +4 |
ความกว้างขาสาย (มม.) | 22 | 22 | – |
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะถูกใจกับเม็ดมะยมฝั่งซ้ายที่มีขนาดใหญ่ แถมยังปรับปรุงให้เป็นแบบขันเกลียวเหมือนกับเม็ดมะยมฝั่งขวาที่เอาไว้ตั้งเวลา ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นเวลาคุณใช้งานแล้วเผลอไปกดเล่นตอนอยู่ใต้น้ำ
แต่คุณควรจะอ่านคู่มือก่อนใช้งานนะ เพราะการหมุนเม็ดมะยมทั้ง 2 ฝั่งไปคนละทิศกันเลยเวลาต้องการคลายเกลียว โดยเม็ดมะยมฝั่งขวาคุณต้องหมุนทวนเข็มนาฬิกา ส่วนฝั่งซ้ายหมุนตามเข็มนาฬิกา ซึ่งตอนที่นั่งอ่านคู่มือผมดันอ่านไม่ละเอียด แล้วไปหมุนทวนเข็มนาฬิกาที่เม็ดมะยมฝั่งซ้าย ผลคือ เหงื่อตก คิดว่านาฬิกามีปัญหาซะแล้ว กว่าจะรู้ว่าหมุนผิด มันก็ขันไปจนแน่น มือหมุนไม่ออก และสุดท้ายต้องเอาผ้าหนาๆ รองแล้วใช้คีมบีบเบาๆ เพื่อหมุนออก
ดูเหมือนจะดีที่มีการป้องกัน แต่อีกมุมหนึ่งผมกลับเจอความยุ่งยาก โดยเฉพาะต้องการดูเวลาบนหน้าจอตอนอยู่ในที่มืด ต้องมานั่งถอดนาฬิกาออกจากข้อมือแล้วหมุน เพราะถ้าคุณขันแน่นมากๆ การใช้มือขวาหมุนเม็ดยมฝั่งนี้ โดยที่นาฬิกายังคาดอยู่บนข้อมือ ผมว่ามันเป็นอะไรที่ลำบากสุดๆ สุดท้ายก็เลยไม่กดไฟเล่น ดูเอาจากพรายน้ำบนเข็มก็ได้
อีกสิ่งที่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ขัดใจผมค่อนข้างมากคือ
บัคเคิลหรือหัวเข็มขัด ซึ่งตามปกติแล้ว ผมจะค่อนข้างชอบรูปทรงและสไตล์ของบัคเคิลบนสายยางของ Seiko รุ่นใหม่ๆ ที่ออกแนวบานๆ หน่อยๆ แต่สำหรับรุ่นนี้ กลับให้มาในแบบธรรมดา แถมยังขัดซะเงาเลย ตัวดีไซน์บัคเคิลเหมือนกับแบบที่คุณเจอกับสายหนังราคาถูกๆ
ส่วนสเป็กกระจกที่เป็นแบบ Hardlex แทนที่จะเป็น Sapphire เพราะราคานาฬิกาก็แตะๆ 20,000 บาทแล้ว ผมเฉยๆ นะ ไม่ได้ซีเรียสอะไรกับตรงนี้เท่าไร
ในแง่ของฟังก์ชั่นนั้น กลไก H851 ที่เข้ามารับหน้าที่แทน H558 ผมมองว่าเป็นการเข้ามาแทนที่ลงตัว โดยเฉพาะการใช้ระบบ Solar ซึ่งสามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในถ่านแบบ Rechargeable ได้เวลาที่อยู่กลางแจ้ง กลไกนี้ฟังก์ชั่นไม่ได้มีอะไรซับซ้อนและไม่ต้องมาคาดหวังว่าจะต้องมีในระดับที่เหมือนกับโมดุลใน Casio G-Shock นะ เพราะสิ่งที่มีหลักๆ คือ แสดงเวลา แสดงเวลาที่ 2 หรือ Local Time (อันนี้ถูกใจผมมากแม้ว่าจะต้องปรับเองไม่ได้มีการล็อกโซนเวลาเอาไว้เหมือนกับของ G-Shock) การจับเวลาละเอียด 1/100 วินาที และการตั้งปลุก รวมถึงมีฟังก์ชั่นต่างๆ ที่คุณต้องอ่านจากคู่มือก่อน ไม่ว่าจะเป็น H-Set สำหรับในกรณีที่เข็มของนาฬิกาไม่ตรงกับหน้าจอดิจิตอล การเซ็ตทุกเข็มมาอยู่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาเพื่อปรับให้ทุกเข็มกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่เบี้ยวหลังจากตั้งเวลา
ส่วนความเที่ยงตรงก็อยู่ในระดับ +/- 15 วินาทีต่อเดือน และเมื่อมีการชาร์จจนเต็มและอยู่ในโหมด Power Saving ตัวนาฬิกาจะอยู่ได้นานถึงครึ่งปี
การทำงานตรงส่วนไหนต้องทำอย่างไรบ้าง ผมแนะนำให้อ่านครับ ดาวน์โหลดคู่มือมาเก็บในมือถือก็ได้ เผื่อวันไหนต้องปรับเซ็ตหรือตั้งเวลานาฬิกาจะได้ไม่งง
สำหรับการเช็คระดับไฟในแบตเตอรี่นั้น นอกจากการดูการเดินของเข็มแล้ว ยังสามารถดูสถานะได้จากหน้าจอดิจิตอลด้วย แค่กดปุ่มในตำแหน่ง 10 นาฬิกาค้างเอาไว้สัก 3 วินาที จากนั้นหน้าจอจะแสดงระดับมาให้เห็น แต่คุณต้องนำมาเปรียบเทียบกับตารางในคู่มือ ซึ่งถ้าอยู่ในระดับ 7-10 ถือว่าปกติ ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ถ้าต่ำว่านั้น แนะนำให้นำนาฬิกาออกมาพบปะกับแสงอาทิตย์บ่อยครั้งหน่อย เพราะเมื่อระดับไฟในแบตเตอรี่ต่ำมากๆ เช่นต่ำกว่า 4 บางระบบอาจจะไม่ทำงานได้
ค่าตัวของ SNJ025P1 และ SNJ027P1 เท่ากันที่ 18,100 บาทอย่างที่บอกงานนี้คุณจะเลือกรุ่นไหนแล้วแต่ชอบเลย หน้าดำได้คลาสสิคและเหมือนตัวต้นฉบับ ส่วน PADI ได้สีสันที่แปลกใหม่ ขอบ Pepsi และพรายน้ำที่มีรูปแบบเฉพาะ แต่ส่วนตัว สงสัยงานนี้ถ้าเม้มเงินผบ. มาได้อีกสงสัยอาจจะสอยเจ้าหน้าดำมาอยู่คู่กันก็ได้
ข้อมูลทางเทคนิค : Seiko Prospex SNJ027P1 ‘Arnie’ Re-Issue
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 47.8 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 50.5 มิลลิเมตร
- ความหนา : 13.8 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- รหัสกลไก : H851 ควอตซ์ แสดงผล Analogue และ Digital
- ความเที่ยงตรง : +/-15 วินาทีต่อเดือน
- ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : รูปทรง การปรับให้ทันสมัย กลไก Solar
- ไม่ประทับใจ : เม็ดมะยมฝั่งซ้ายคลายเกลียวไม่สะดวก บัคเคิลขัดเงาและทรงดูแล้วไม่สวย
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/