Seiko Power Design Project กลับมาอีกครั้งกับแนวคิด ‘Rebirth’

0

Seiko ปัดฝุ่นนำโครงการ Power Design Project กลับมาอีกครั้งหลังจากที่จัดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2009 เพื่อให้นักออกแบบของตัวเองได้มีเวทีในการปล่อยของออกมา และในปีนี้มีการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาด้วยกัน 7 ชิ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Rebirth

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’
Seiko Power Design Project

Seiko Power Design Project กลับมาอีกครั้งกับแนวคิด ‘Rebirth’

  • การปัดฝุ่นโปรเจ็กต์เพื่อกระตุ้นเซลส์สมองของนักออกแบบให้ทำงานอย่างสนุกสนาน

  • เปิดตัวแคมเปญแรกในชื่อ Rebirth และมีการผลิตผลงานออกมาทั้งสิ้น 7 เรือน

  • ทั้งหมดถูกสร้างเป็นเรือนจริงและนำออกจัดแสดงที่ Seiko Seed ใน Harajuku, Tokyo จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้

- Advertisement -

เชื่อว่าในช่วงรอยต่อของปลายปีที่แล้วมาจนถึงต้นเดือนมกราคม 2023 แฟนๆ ของ Seiko หลายคนอาจจะผ่านตากับนาฬิกา Seiko รุ่นแปลกๆ ที่มาพร้อมกับคำว่า Rebirth กำกับเอาไว้ แน่นอนว่าหลายรุ่นสวยและสะดุดตา พร้อมกับเกิดเครื่องหมายคำถามตามมาว่า ‘จะเริ่มผลิตขายเมื่อไร ?’ คำตอบคือ ยังไม่รู้ แต่ที่แน่นอนนาฬิกาเหล่านี้คือผลผลิตจากโปรเจ็กต์ที่เรียกว่า Power Design Project ของ Seiko ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 22 ปีที่แล้ว

ย้อนความกลับไปในปี 2001 Seiko ได้เปิดเวทีให้กับนักออกแบบด้วยโปรเจ็กต์ที่เรียกว่า Power Design Project ซึ่งพื้นที่นี้ถูกออกแบบมาให้นักออกแบบของ Seiko ได้เปิดกว้างทางความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานตามหัวข้อที่ระบุเอาไว้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องยึดรูปแบบหรือแนวคิดเหมือนกับโปรเจ็กต์ของนาฬิกาเรือนจริงที่จะต้องถูกออกแบบเพื่อใช้ในการจำหน่าย

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’
Seiko Power Design Project

โปรเจ็กต์นี้จะมีส่วนช่วยให้นักออกแบบของ Seiko ได้สลัดกรอบความคิดในเรื่องของการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายออกไป และเปิดประตูสู่โลกกว้างของการออกแบบที่ไม่มีรูปแบบตายตัว Seiko ดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายยุติไปในปี 2009

อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 พวกเขาปัดฝุ่นนำ Power Design Project กลับมาอีกครั้งเพื่อให้นักออกแบบได้มีเวทีในการนำไอเดียใหม่ๆ ของตัวเองมานำเสนอ และสำหรับโปรเจ็กต์ของปีนี้คือ การสร้างสรรค์นาฬิกาภายใต้หัวข้อ Rebirth หรือการก่อกำเนิดครั้งใหม่ และแน่นอนว่านักออกแบบของ Seiko ได้มีการส่งผลงานมาเข้าร่วมและนำเสนอผ่านผลงานชิ้นใหม่ 7 รุ่นจาก 7 ไอเดียที่ยังเป็นแค่งานต้นแบบสำหรับใช้ในการจัดแสดง

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’

และผลงานทั้ง 7 นั่นแหละคือ สิ่งที่เราๆ ได้เห็นผ่านการแชร์อยู่บนช่องทางออนไลน์ จนหลายคนสงสัยและเกิดอาการอยากได้ขึ้นมาทันที เพราะบางเรือนสวยและโดดเด่นมาก แต่สุดท้ายนี่คือผลงาน Showcase ที่ถูกผลิตออกมาเพื่อใช้ในการจัดแสดง ซึ่งทาง Seiko จะมีการนำออกจัดแสดงที่ Seiko Seed ใน Harajuku, Tokyo จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ ใครที่ผ่านไปแถวนั้นก็ไปลองดูตัวจริงกันได้เลย

1.Radiant Time :

นำเสนอความงดงามและความเป็นประกายของเมืองโตเกียวท่ามกลางท้องฟ้าอันสดใสผ่านทางนาฬิกาสุดสวยและสุดหรูของ Seiko ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากรุ่น 45KS ภายใต้ชื่อย่อย King Seiko และเปิดตัวในปี 1970 โดยนาฬิกาเรือนนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความงดงามของการขัดแต่งตัวเรือนที่ในเวลาต่อมากลายเป็นที่รู้จักในชื่อ Zaratsu ซึ่งถูกคิดค้นในปี 1960 และถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในปัจจุบันทั้งกับนาฬิกาของ Seiko และ Grand Seiko โดยในรุ่นใหม่ที่เป็น Rebirth จะมีการโฟกัสไปที่เทคนิคในการขัดแต่งตัวเรือนที่ใช้อยู่ใน King Seiko พร้อมกับการประยุกต์ในการนำเทคนิคนี้มาแตกไอเดียในการสร้างสรรค์ ซึ่งเราจะได้เห็นว่าบนตัวเรือนมีการขัดเหลี่ยมที่มีมากกว่า 20 จุด

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’ Seiko Power Design Project ‘Rebirth’

2.Put On Time :

เพิ่มความสนุกสนานในการสวมใส่ คือ ไอเดียของการสร้างสรรค์นาฬิกาเรือนนี้ขึ้นมา และก็น่าแปลกเหมือนกันที่นักออกแบบเลือกใช้รูปทรงของนาฬิกาดำน้ำที่สุดเจ๋งของ Seiko อย่าง Tuna Can ที่มีจุดกำเนิดในปี 1975 มาเป็นแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะการนำเสนอตัวเรือนและหน้าปัดทรงกลม พร้อมหน้าปัดสีขาวและมีตัวเลขสีดำขนาดใหญ่ ทำให้สามารถมองเห็นได้ง่าย

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’ Seiko Power Design Project ‘Rebirth’

3.Shikakuro (Square Chronograph) :

พาคุณย้อนยุคกลับไปสู่ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งถือเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองของกลไกจับเวลาอัตโนมัติ และในปี 1971 ทาง Seiko ได้เปิดตัวนาฬิกาจับเวลาทรงเหลี่ยมออกมา ซึ่งถือเป็นการฉีกดีไซน์และสไตล์ในการออกแบบนาฬิกายุคนั้นอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ทางนักออกแบบจึงนำแนวคิดนี้กลับมาตีความใหม่ และแต่งเติมสีสันเข้าไปเพื่อทำให้ตัวนาฬิกามีความสนุกสนานมากขึ้นสมกับเป็น Square Chronograph ที่มาพร้อมกับ Modern Diversity

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’ Seiko Power Design Project ‘Rebirth’

4.Adventure Kids Watch :

เด็กๆ ก็มีความต้องการสวมใส่นาฬิกา และนี่คือ เครื่องบอกเวลาสำหรับนักผจญภัยตัวจิ๋วที่เตรียมออกเดินทางไปสัมผัสโลกกว้าง โดยนาฬิกาเรือนนี้ถูกสร้างสรรค์และอ้างอิงมาจากนาฬิกาดำน้ำที่มีเอกลักษณ์ของ Seiko อย่าง Tuna Can พร้อมกับแต่งเติมสีสันและรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดข้อมือและความชอบของเด็กๆ

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’ Seiko Power Design Project ‘Rebirth’

5.The Sonar 434 Feel

จากนาฬิการุ่นดังอย่าง Time Sonar ที่เปิดตัวในปี 1976 มาสู่การออกแบบสำหรับนำเสนอความโดดเด่น และเติมลูกเล่นที่น่าสนใจเข้าไป โดยตัวนาฬิการุ่นใหม่ยังอ้างอิงการใช้ชุดหน้าปัดแบบโปร่งใส ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นจานวันที่ และวันประจำสัปดาห์ที่อยู่ด้านในได้ และถือเป็นเอกลักษณ์ของนาฬิการุ่นนี้เลยก็ว่าได้ ขณะที่จานวันที่ด้านในจะทำหน้าที่ในการแสดงอารมณ์ของผู้สวมใส่ ซึ่งว่ากันว่าสามารถแสดงอารมณ์ได้หลากหลายถึง 434 รูปแบบเลยทีเดียว

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’ Seiko Power Design Project ‘Rebirth’

6.Tisse our Time :

จากนาฬิกาที่เปิดตัวในปี 1984 และถูกมองว่าเป็นเครื่องประดับมากกว่าเครื่องบอกเวลา ทางทีมออกแบบได้นำ Tisse กลับมาอีกครั้งพร้อมการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความแตกต่างและโดดเด่น โดยที่ยังคงเอกลักษณ์บางอย่างเอาไว้ เช่น Loose Fit ซึ่งเป็นรูปทรงของสายที่ถูกออกแบบอย่างเรียบง่ายแต่สวมใส่ได้อย่างสบาย แถมยังมีรูปทรงที่ดูสวยงามเหมือนกับสร้อยข้อมือ

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’ Seiko Power Design Project ‘Rebirth’

7.Ceramic Ball :

จากนาฬิการุ่น O5LC ที่ถือกำเนิดในยุคเริ่มต้นของหน้าจอแบบดิจิตอลและ LCD ในปี 1973 ได้ถูกนำมาปรับปรุงเพื่อให้มีความสวยและความสามารถของกลไกที่ทันสมัยขึ้น โดยสิ่งที่น่าสนใจของนาฬิกาเรือนนี้คือเป็นเรื่องยากมากที่จะออกแบบหน้าจอดิจิตอลให้สอดรับกับตัวเรือนที่เป็นทรงไข่ และผลิตจากสแตนเลสสตีล ซึ่งทีมออกแบบก็นำแนวคิดนี้กลับมาอีกครั้งแต่เปลี่ยนตัวเรือนเป็นแบบเซรามิก พร้อมรูปทรงและฟังก์ชั่นที่ดูสวยทันสมัยขึ้น

Seiko Power Design Project ‘Rebirth’ Seiko Power Design Project ‘Rebirth’