Seiko Landmaster GMT SBDB015 อีกหนึ่งตัวเทพที่แฟนๆ ไม่ควรพลาด

0

ถ้าคุณเป็นแฟน Seiko  ตัวยง เราคิดว่านอกจากนาฬิกาดำน้ำในตระกูล Tuna Can แล้ว เจ้าหัวจุกอย่าง Seiko Landmaster GMT SBDB015 คืออีกหนึ่งตัวเทพที่แฟนๆ ไม่ควรพลาดในการเก็บเข้ากรุด้วยประการทั้งปวง

Seiko Landmaster GMT SBDB015 อีกหนึ่งตัวเทพที่แฟนๆ ไม่ควรพลาด
Seiko Landmaster GMT SBDB015 อีกหนึ่งตัวเทพที่แฟนๆ ไม่ควรพลาด

Seiko Landmaster GMT SBDB015 อีกหนึ่งตัวเทพที่แฟนๆ ไม่ควรพลาด

  • Seiko Landmaster GMT SBDB015 เป็นการปรับปรุงจากรุ่นเดิม SBDB005 ที่เปิดตัวเมื่อปี 2012
  • ตัวเรือนและสายไทเทเนียม มีน้ำหนักเบาเพียง 140 กรัม และเหมาะสำหรับคนที่แพ้สแตนเลส
  • กลไก Spring Drive รหัส 5R66 สำรองพลังงานได้ 72 ชั่วโมง
- Advertisement -

Seiko มีคอลเล็กชั่นในการทำตลาดมากมาย แต่เอาที่ถูกจริตกับตัวผมเองนะ มีไม่กี่รุ่นหรอก และในจำนวนนั้นนอกจากนาฬิกาดำน้ำในตระกูล Marinemaster และนาฬิกาโครโนกราฟนักบินอย่าง Flightmaster ที่ผมขยับตัวช้าไปถึง 2  ครั้ง ก็ยังมีอีกรุ่นหนึ่ง นั่นคือ Landmaster GMT รหัส SBDB015 ซึ่งต้องบอกเลยว่าเด่นสุดๆ ทั้งในเรื่องการออกแบบ ตัวเรือนแบบไทเทเนียม และกลไกในรหัส 5R66 แบบ Spring Drive ที่ผมสามารถมองเห็นเข็มสะกดวิญญาณ ตามคำร่ำลือได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินขยับขึ้นไปหา Grand Seiko และ Seiko Landmaster GMT SBDB015 เป็นอีกหนึ่งตัวเทพที่แฟนๆ ไม่ควรพลาด

ย้อนความกลับไปสักนิดสำหรับนาฬิกาในตระกูล  Landmaster ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าเพิ่งเกิดขึ้น แต่ความจริงแล้วชื่อนี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1984 ก่อนที่จะกลับมาเป็นนาฬิการุ่นหลักของ Seiko ในปี 1993 พร้อมกับสร้างตำนานลุยขั้วโลกเหนือกับ Mitsuro Ohba ในปี 1998 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อของ Landmaster เป็นที่คุ้นหูของคนในวงกว้าง

อย่างไรก็ตามตลอด 10 ปีแรกของการทำตลาด Seiko เลือกใช้กลไก Kinetic ทั้งแบบธรรมดาและ GMT ติดตั้งในคอลเล็กชั่นนี้จนกระทั่งถึงปี 2003 พวกเขาจึงเพิ่มรุ่นอัตโนมัติออกสู่ตลาดในรหัส SBDX009 ที่ผลิตเพียง 500 เรือน และที่น่าสนใจคือมากับตัวเรือนแบบ Monocase เหมือนกับ Tuna Can และ MM300 แต่ใช้ไทเทเนียมเป็นวัสดุในการผลิตตัวเรือน

เหมือนกับแผนการตลาดที่พวกเขาจะกำหนดความเปลี่ยนแปลงเอาไว้ทุก 10 ปีสำหรับคอลเล็กชั่นนี้ เพราะเมื่อถึงปี 2012  Landmaster ก็กระตุกต่อมอยากของผมขึ้นมากับการเปิดตัวรหัส SBDB005 ออกมา ตัวเรือนไทเทเนียม แต่ลอกแบบสไตล์ของการวางเม็ดมะยมมาจาก Spacewalk ที่ผลิตในปี 2009 แถมด้วยกลไกสุดแจ่มย่าง 5R66 ที่เป็น Spring Drive GMT แต่ก็เอาเถอะ ตอนนั้นค่าตัวแรงจัดจนกัดฟันซื้อไม่ลง เพราะค่าเงินเยนในช่วงนั้นถือว่าไม่ธรรมดา และกว่าที่ผมจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของ ก็ต้องรอตัวปรับโฉมที่หันมาใช้รหัส SBDB015 ที่เปิดตัวในอีก 3 ปีต่อมาแทน

แล้วมันปรับตรงไหนบ้างเนี่ย ?

ผมเชื่อว่าทุกคนจะต้องยิงคำถามนี้ออกมาหลังจากได้เห็นหน้าตาของ SBDB015 แล้วมันไม่ต่างจาก SBDB005 เลย เหมือนกับ MM300 ตัว SBDX001 กับ SBDX017 ยังไงยังงั้นเลย…เอาเป็นว่าตอนอย่างนี้ละกันครับ จุดแรก คือ เม็ดมะยมมีตัว X…อย่าเพิ่งร้องยี้ เพราะมองในแง่ดีก็ยังดีกว่ามีตัว X มาโชว์โฉมบนหน้าปัด เหมือนกับ Prospex  ที่เป็นตัวเริ่มต้น แล้วที่เหลือละ ? คำตอบคือ มีอีกอย่างนึง คือ ตัวเรือนและสายไทเทเนียมเคลือบความทนทานตามกรรมวิธี DiaShield ที่ทนทานต่อการขีดข่วนหรือการเกิดรอย

ผมเชื่อว่าหลายคนที่ได้เห็นหน้าตาของ Landmaster GMT SBDB015 ครั้งแรกจะต้องคิดแบบผมคือ เป็นนาฬิกาที่สวยโคตรๆ ก็ไม่รู้ว่าอาจจะเป็นเพราะการย้ายเม็ดมะยมมาวางที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา มันก็เลยช่วยทำให้แปลกตา และเพิ่มความรู้สึกประทับใจหรือพิเศษในตอนแรกที่เห็นได้อีกหลายสเต็ป ขณะที่ตัวเรือซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางระดับ 46.7 มิลลิเมตร และหนา 14.2 มิลลิเมตรถือว่าลงตัวอย่างมากแบบไม่ต้องไปลองทาบถึงเคาน์เตอร์ในห้าง

ตอนแรกที่กระสุนมี ผมพยายามเดินตามหาจากเคาน์เตอร์ของ Seiko อยู่นานแสนนาน เพราะได้ข่าวว่าเมื่อหักลบกับส่วนลดและ On Top  ของพวกบัตรแล้วราคาสูสีกับที่ญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้เจอตัวสักที แถมพนักงานบอกว่าเรือนสุดท้ายที่เอาเข้ามาขายไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ทำให้ผมต้องตัดสินใจกับกระสุนกองนี้ว่าจะเอาอย่างไรดี จนในที่สุดก็ไปลงเอยกับ Marinemaster SDBX014 แทน

แต่ก็เหมือนกับโดนแกล้ง เพราะอีก 2 วันให้หลัง มีคนประกาศขายมือสองในระดับราคาที่เชิญชวนมากๆ และนั่นทำให้ต้องมีการสลายกรุ ระดมกระสุนรอบใหม่ ซึ่งต้องบอกว่าโชคดีอย่างหนึ่งคือ นาฬิการุ่นนี้ไม่ค่อยมีใครแย่งซื้อ แม้ว่านานๆ จะโผล่มาที ซึ่งอาจจะเพราะราคาแพง และอีกอย่างคือ ในระดับราคานี้แฟน Seiko ส่วนใหญ่หันไปหากับ Tuna Can ตัว 1,000 เมตรกันหมด

หลังจากปิดดีลมาแล้ว สัมผัสแรกที่มีต่อเจ้า Landmaster GMT SBDB015 คือ ความสวยงามของรูปทรง ตามด้วยกระจก Sapphire แบบเคลือบสารกันสะท้อนที่ใสมาก จนเหมือนกับไม่มีกระจกเลย ตามด้วยเนื้องานที่ประณีต มีการขัดแต่งมุมและเหลี่ยมที่เนี๊ยบ ขณะมที่การออกแบบตัวเรือนแบบมีความหนาไม่เท่ากันระหว่างส่วนบนและส่วนล่างและให้ตัวนาฬิกามีลักษณะโค้งเข้าข้อมือนั้น ทำให้ได้ดีอย่างมาก และลงตัวกับข้อมือ 7 นิ้วของผม ส่วนพรายน้ำนี่เป็นเอกลักษณ์ของ Seiko เลย แม้ว่า Landmaster GMT SBDB015 จะไม่ใช่พวกดำน้ำ แต่ก็ไวต่อแสงและสว่างเอาเรื่องเลย

เอาละชมกันมาแล้ว มาถึงเรื่องไม่ขัดใจหลังจากที่นั่งมองอยู่นาน อย่างแรก คือ ความไม่สมส่วนของขนาดตัวเรือนกับความกว้างขาสาย ผมมีความรู้สึกว่า 24 มิลลิเมตรมันใหญ่ไปสำหรับตัวเรือนของ Landmaster GMT SBDB015 ที่มีขาค่อนข้างสั้น ทำให้ Lug-to-Lug ไม่ยาวสะใจ แค่ 48 มิลลิเมตรเท่านั้น เวลาใส่สายตรงแบบ 24/24 มันดูทื่อๆ ยังไงพิกล เลยต้องเปลี่ยนมาใช้สาย 24/22 แทน ประการต่อมาคือ ขอบ Bezel ที่สูงขึ้นเหมือนกับเป็นการ์ดกันกระแทกนั้นทำให้ Landmaster GMT SBDB015 มีสภาพเหมือนกับ G-Shock บางรุ่นคือ กลายเป็นหลุมดักฝุ่นที่ลงมากองบนกระจก

ประการต่อมา คือ การวางรายละเอียดบนหน้าปัดที่มากองรวมอยู่ทางฝั่ง 0-6 นาฬิกาจนหมด ไม่ว่าจะเป็นช่องหน้าต่าง Date และ Power Reserve Indicator มันก็เลยดูอึดอัด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถ้าย้ายไปวางในฝั่ง 6-12 มันจะช่วยทำให้สมดุลมากขึ้นไหม ?

และประการสุดท้ายถ้าไม่นับตัว X บนเม็ดมะยม คือ ความนยุ่งยากในการปรับเข็ม GMT ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยบ่นมาตั้งแต่ตัว Diver GMT แล้ว ซึ่งดูเหมือนว่า Seiko จะออกแบบระบบการปรับเข็ม GMT ไม่ได้อิสระ แต่จะต้องหมุนตามเข็มชั่วโมง ซึ่งตรงนี้บอกได้เลยว่าตั้งยากหน่อย แต่จะน่าเบื่อตอนที่ต้องปรับเวลา ซึ่งแทนที่จะหมุนเม็ดมะยมได้เลย แต่สำหรับกลไก GMT ของ Seiko ส่วนใหญ่จะต้องหมุนเข็มชั่วโมงให้ครบ 2 รอบถึงจะเปลี่ยนวันได้ แล้วลองคิดดูสิถ้าในวันที่ 15 คุณหยิบนาฬิกา Landmaster GMT SBDB015 มาใส่ และตัวเองเป็นคุณชายสุดเนี๊ยบที่ต้องให้วันที่บนนาฬิกาตรงกับความเป็นจริง แต่กลับพบว่ามันเป็นวันที่ 30 คราวนี้บอกได้เลยว่าหมุนกันเหนื่อยเลย กว่าจะตั้งได้…เล่นเอาเหนื่อยเลย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่ชอบซึ่งบ่นอยู่ในพารากราฟข้างบนก็หมดความหมายไป เพราะบอกเลยว่าผมค่อนข้างหลงรักเจ้า Landmaster GMT SBDB015 อย่างมาก

สำหรับกลไก 5R66 มาพร้อมกับคงามเที่ยงตรงในระดับ  +/-15 วินาทีต่อเดือน และในกลไกประกอบด้วยทับทิม 30 เม็ด และชิ้นส่วนจำนวน 295 ชิ้นสามารถสำรองพลังงานได้ 72 ชั่วโมง พร้อมกลไก Spring Drive อันเลื่องชื่อของ Seiko ที่ว่ากันว่าทำให้เข็มวินาทีเดินนิ่งและเรียบขึ้นจนได้รับฉายาว่า ‘เข็มสะกดวิญญาณ’ ถามว่ามีผลอะไรกับผมไหม ? คอตอบคือ เดินนิ่งและเรียบ แต่กลับสะกดผมไม่ได้สักที เพราะฉะนั้น เหตุผลที่ผมตัดสินใจเลือกเจ้า Landmaster GMT SBDB015 ไม่ใช่เรื่องนี้อย่างแน่นอน แต่เป็นภาพรวมมที่เกิดจากการประกอบของชิ้นส่วนย่อยๆ แต่ละส่วนเข้าด้วยกัน

มาถึงตรงนี้คงต้องบอกว่า ถ้าคุณเป็นแฟน Seiko ตัวยง Landmaster GMT SBDB015 คือนาฬิกาอีกรุ่นที่ขาดไม่ได้ในกรุของคุณ และน่าจะเรียกว่าเป็นนาฬิกาที่รวบรวมจุดเด่นในเกือบทุกอย่างของ Seiko เข้าไว้ด้วยกัน เพียงแต่มือหนึ่งจากตัวแทนจำหน่ายในไทยคงเป็นเรื่องยากแล้ว น่าจะต้องพึ่งจากการนำเข้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งราคาก็ถือว่ารับได้ถ้าใจรัก ราคาตามป้าย 378,000 เยน หรือ 113,000 บาทนิดๆ แต่ถ้าเจอร้านมีส่วนลดดีๆ น่าจะได้ในระดับไม่เกิน 270,000 เยน หรือ 81,000 บาทนิดหน่อย…Happy Hunting ครับ

คุณสมบัติของ : Seiko Landmaster GMT SBDB015

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 46.7 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 48 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 14.2 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 24 มิลลิเมตร
  • กระจก : Sapphire พร้อมเคลือบสารกันแสงสะท้อน
  • ระดับการกันน้ำ : 100 เมตร
  • กลไก : 5R66 Spring Drive
  • จำนวนทับทิม : 30 เม็ด
  • สำรองพลังงาน : 72 ชั่วโมง
  • ประทับใจ : ดีไซน์ วัสดุ ฟังก์ชั่น GMT
  • ไม่ประทับใจ : การตั้ง GMT ความกว้างขาสาย ดีไซน์หน้าปัด