Rado ถือเป็นแบรนด์นาฬิกาที่ได้รับการยอมรับถึงความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุศาสตร์ ซึ่งถูกนำมาใช้กับนาฬิการุ่นต่างๆ ที่อยู่ในตลาด ซึ่ง ณ ตอนนี้ ต้องบอกว่าพวกเขาคือ ผู้ที่มีความชำนาญในการใช้เซรามิกในการผลิตนาฬิกาในรูปแบบต่างทั้งตัวเรือนและสาน ซึ่งสมกับที่ได้รับการยอมรับว่า Master of Materials
Rado Master of Materials เมื่อความเชี่ยวชาญด้านวัสดุผสานกับงานออกแบบอันไร้ที่ติ
ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใดสำหรับประโยคคลาสสิกที่ว่า Rado เป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุ” หรือ Master of Materials พิสูจน์ได้จาก Rado High-Tech Ceramic ซึ่งหลายคนได้เคยสัมผัสมาแล้ว และคนรักนาฬิกาทั่วโลกต่างยอมรับว่าไฮเทคเซรามิกนี้ “ให้ความรู้สึกพิเศษ ที่ไม่เหมือนสิ่งใดเลย”
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา Rado สร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นสูงเช่นนี้ขึ้นมาเสมอ เพราะความเชื่อที่ว่า “หากเราคิดจินตนาการสิ่งใดขึ้นมาได้ แปลว่าเราย่อมสร้างสรรค์สิ่งนั้นได้ และถ้าเราทำอะไรได้ เราก็จะลงมือทำ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ
Rado มักทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงได้ตลอด ตัวอย่างเช่นการนำเสนอนาฬิกา Captain Cook Limited Edition ที่แสดงถึงการนำแรงบันดาลใจมาผสานกับสุดยอดวัสดุ เพื่อทำให้นาฬิกาในฝันมีชีวิตจริงขึ้นมา
นับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์เมื่อศตวรรษก่อน Rado ก็ค่อยๆ ค้นคว้าหาโลหะผสมและวัสดุใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยองค์ความรู้รอบด้าน ทั้งวิศวกรรม เคมี และฟิสิกส์ จนเกิดวัสดุที่นำมาผลิตนาฬิกาได้จริง อาทิ การนำทังสเตนคาร์ไบด์ Hardmetal กับกระจกคริสตัลแซฟไฟร์มาใช้กับรุ่น DiaStar1 เมื่อปีค.ศ.1962 ถือเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่ตัวเรือนป้องกันรอยขีดข่วนได้ ซึ่งแน่นอนว่าในยุคต้นทศวรรษ 60 นั้น ต้องอาศัยนวัตกรรมล้ำสมัยและความพยายามอย่างยิ่งยวดทั้งในการออกแบบและผลิตกว่าจะออกมาเป็น DiaStar รุ่นแรกที่ขึ้นชั้นตำนานของแบรนด์ไปแล้ว
นอกจากการพัฒนาวัสดุหลัก Rado ยังคงวิจัยสิ่งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงเทคนิคการผลิตให้สมบูรณ์ด้วย เช่น การเติมสารยึดเกาะโพลิเมอร์ที่ช่วยให้ฉีดขึ้นรูปนาฬิกาได้ดีขึ้น การใช้ไทเทเนียมไนไตรด์สร้างพื้นผิวซึ่งมีความทนทานสูง รวมไปถึงการยกระดับคริสตัลแซฟไฟร์ เห็นได้จากนาฬิกาซีรีส์ Captain Cook ทั้งหมดที่มีกระจกทรงสี่เหลี่ยมโดดเด่น สอดคล้องกับคุณสมบัติที่เอื้อต่อความสมบุกสมบันเป็นพิเศษ
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 90 Rado ค้นคว้าเรื่องวัสดุและเทคนิคอย่างเข้มข้นขึ้นอีก เพื่อให้ไฮเทคเซรามิกของแบรนด์มีสีถาวรให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า Rado ทำได้สำเร็จในปีค.ศ.1986 ช่วงปีแรกๆ อาจเน้นไปที่ไฮเทคเซรามิกสีเข้มดูเรียบง่าย หลังจากนั้นจึงสร้างเฉดสีพาสเทล เติมความสดใสเข้ายุคสมัย
จนกระทั่งปัจจุบัน Rado มีไฮเทคเซรามิกมากกว่า 20 เฉดสี ดังจะเห็นได้จากนาฬิกาคอลเล็กชั่น Le Corbusier ที่เต็มไปด้วยสีสันมากมาย นอกจากจะสวยงามแปลกตาแล้ว แบรนด์ยังคงคุณสมบัติความแข็งแรงทนทานของวัสดุชนิดนี้ไว้ด้วย ขณะเดียวกันก็พัฒนาให้ไฮเทคเซรามิกมีน้ำหนักเบาลง ให้สัมผัสนุ่มนวลขึ้น
นอกจากนี้ Rado ยังทยอยเปิดตัววัสดุคุณภาพชนิดใหม่ๆ ตามมาด้วย อาทิ CeramosTM รวมทั้งเนรมิตเทคนิคการผลิตอันชาญฉลาดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการฉีดขึ้นรูป การทำพลาสม่า และกระบวนการผลิตคริสตัลแซฟไฟร์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างนาฬิกาที่สมบูรณ์แบบในทุกมิติ และเพื่อยืนยันตัวตนที่เป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุ” ตลอดกาล
ศิลปะแห่งเซรามิก: ขั้นตอนการผลิต
- การออกแบบแม่พิมพ์
“แม่พิมพ์” เกิดจากฝีมือการวาดของนักออกแบบ
- การฉีดขึ้นรูป
นำแม่พิมพ์ที่ได้ติดตั้งด้านในเครื่องจักรอันทรงพลังที่ใช้ฉีดขึ้นรูป
- การเผาผนึก
นำตัวเรือนเข้าเตาอบแบบพิเศษที่มีอุณหภูมิสูงมาก (1450°C) ทิ้งไว้หลายชั่วโมงจนเซรามิกแข็งตัวดี กระบวนการนี้จะทำให้เซรามิกได้สีที่เข้มข้นและเกิดความแข็งแรงในระดับสูงสุด ขณะเดียวกันตัวเรือนก็จะหดลง 23% ซึ่งเป็นขนาดนาฬิกาที่แท้จริง
4. การขึ้นรูปด้วยเครื่องจักร
ใช้เครื่องมือเจียระไนเพชรในการตัดเฉือนส่วนประกอบต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ขนาดที่แม่นยำที่สุด 5. การขัดเงา นำส่วนประกอบที่ต้องการให้เกิดความเงาจุ่มลงในอ่างซึ่งมีเศษเซรามิกเล็กๆ สั่นสะเทือนด้วยความถี่สูงอยู่ 6. การพ่นทราย ขั้นตอนนี้สำหรับชิ้นส่วนที่ต้องการให้ผิวเรียบและผิวด้าน 7. การสลักลวดลาย เลเซอร์จะสลักตัวเลขและเครื่องหมายต่างๆ ลงบนกรอบหน้าปัดในระดับความลึกที่พอดีที่สุด 7A. เตาอบพลาสม่า การตกแต่งขั้นสุดท้ายสำหรับส่วนประกอบบางชิ้น เตาอบพลาสม่าจะเปลี่ยนพื้นผิวสีขาวให้เป็นพื้นผิวเฉดสีโลหะได้อย่างถาวร 7B. พลาสม่า พลาสม่าไฮเทคเซรามิกของ Rado คือวัสดุที่รูปลักษณ์เหมือนโลหะ แต่ไม่มีส่วนประกอบของโลหะอยู่เลย |
- การเคลือบแลกเกอร์
ขั้นตอนการเคลือบแลกเกอร์บนช่องว่างเล็กๆ ที่เกิดจากการเลเซอร์ ซึ่งแลกเกอร์จะแห้งแล้วยึดติดกับไฮเทคเซรามิกอย่างถาวร งานอันแสนละเอียดอ่อนนี้ดำเนินการโดยช่างทำนาฬิกาผู้เชี่ยวชาญ
- การควบคุมคุณภาพ
ขั้นตอนการตรวจสอบนาฬิกาอย่างละเอียดและเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่านาฬิกาทุกเรือนได้มาตรฐานของ Rado ทุกประการ
ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุของ Rado
ศิลปะแห่งไฮเทคเซรามิก
Rado เปิดตัวไฮเทคเซรามิกครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1986 ซึ่งมาพร้อมคุณสมบัติมากมาย ทั้งแข็งแรงทนทาน ป้องกันรอยขีดข่วนได้ มีน้ำหนักเบา และให้สัมผัสนุ่มนวล ทั้งหมดนี้ชนะใจคนรักนาฬิกาทั่วโลกได้ทันที
ไฮเทคเซรามิกเกิดขึ้นได้ด้วยวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ต้องใช้ทั้งผงอะลูมิเนียมออกไซด์, เซอร์โคเนียมออกไซด์ และซิลิกอนไนไตรด์บริสุทธิ์ที่มีขนาดเกรนเท่ากันทั้งหมด จากนั้นนำมาขึ้นรูป แล้วเข้าอบในอุณหภูมิสูง โดยมีพลาสติกผสมผงแร่เป็นสารตัวกลางที่ช่วยให้ฉีดขึ้นรูปในแม่พิมพ์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องอยู่ใต้แรงดันราว 1,000 บาร์ หลังจากนั้นเมื่อส่วนประกอบเย็นตัวลง ก็นำไปเผาผนึกที่อุณหภูมิ 1450°C ขั้นตอนนี้อยู่ในระดับเดียวกับการผลิตจรวด ซึ่งทำให้ไฮเทคเซรามิกมีความหนาแน่นและแข็งแรงกว่าเซรามิกทั่วไป โดยช่างเทคนิคต้องคำนวณขนาดนาฬิกาให้แม่นยำ เพราะกระบวนการเผานี้ตัวเรือนจะหดลง 23% ส่วนความแข็งสุดท้ายที่ได้อยู่ในระดับ 1,250 Vickers พร้อมเข้าสู่กระบวนการเจียระไนและตกแต่งด้วยเครื่องมือเดียวกับที่ใช้เจียระไนเพชร
ศิลปะแห่ง CeremosTM
หนึ่งใน DNA ของ Rado คือการค้นคว้าหาวัสดุในอุดมคติสำหรับผลิตนาฬิกาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งวิศวกรของ Rado ได้สร้าง CeremosTM วัสดุคอมโพสิตแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีทั้งความแข็งแกร่งแบบเซรามิกและความมันวาวแบบโลหะ โดยงานชิ้นแรกๆ ผลิตด้วยการอัดขึ้นรูปในแม่พิมพ์ อาทิ นาฬิกาซีรีส์ Sintra ปีค.ศ.1993 จนเมื่อปีค.ศ.2011 ทีมงานของ Rado ก็ประสบความสำเร็จในการฉีดขึ้นรูปโลหะผสมนี้ ซึ่ง CeremosTM มีส่วมผสมของไททาเนียมคาไบด์ราว 90% ทำให้วัสดุตัวนี้น้ำหนักเบากว่า “โลหะแข็ง” ที่แบรนด์เคยใช้กับ DiaStar1 เมื่อปีค.ศ.1962
คุณสมบัติและเอกลักษณ์เด่นของ CeremosTM คือป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี มีความมันวาวเป็นพิเศษ มีโทนสีแปลกตา เช่นเฉดสีเมทัลลิก สีทอง ฯลฯ
ศิลปะแห่งโลหะแข็ง
ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือยุคแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ และวัสดุ หนึ่งในนั้นคือ “โลหะแข็ง” หรือที่ศัพท์เทคนิคภาษาเยอรมันเรียกว่า “Hartmetal” ซึ่ง Rado เป็นผู้บุกเบิกการนำวัสดุชนิดนี้มาผลิตนาฬิกา จนได้เป็น Rado DiaStar (รุ่นดั้งเดิม) ในปีค.ศ.1962 ถือเป็นนาฬิการุ่นแรกที่ตัวเรือนเป็นโลหะแข็ง มีความทนทานสูงแบบที่ไม่มีใครเทียบได้
ส่วนกระบวนการผลิตนาฬิกาจากโลหะแข็งก็คล้ายกับนาฬิกาไฮเทคเซรามิก คือใช้ผงทังสเตนคาร์ไบด์แบบละเอียดพิเศษ ผสมสารยึดเกาะโลหะกับพลาสติก โดยบดให้เป็นเม็ดก่อนเพื่อฉีดขึ้นรูปให้ได้รูปร่างที่ต้องการ จากนั้นนำชิ้นส่วนที่ได้ไปเผาในภาวะสุญญากาศ ซึ่งจะช่วยให้เราได้ส่วนประกอบที่มีความหนาแน่นและแข็งแกร่ง แล้วก็เช่นเดียวกันกับไฮเทคเซรามิก คือวิศวกรรมต้องคำนวณขนาดมาอย่างแม่นยำ เพราะในขั้นตอนนี้ชิ้นส่วนจะหดเล็กลง หลังจากเผาผนึกแล้ว ก็จะส่งส่วนประกอบที่ได้ไปกลึงและขัดเงา เพื่อให้ได้ตัวเรือนหรือชิ้นส่วนที่มีความมันวาวและทนทานต่อการขีดข่วน
ศิลปะแห่งคริสตัลแซฟไฟร์
คริสตัลแซฟไฟร์ถือเป็นวัสดุที่แข็งที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สร้างขึ้นจากกระบวนการที่เรียกว่า Verneil โดยผสมผงอะลูมิเนียมออกไซด์แบบละเอียดพิเศษ เข้ากับออกซิเจนและไฮโดรเจนในความร้อนสูงถึง 2000°C จากนั้นจะได้ผลึกโมโนคริสตัลแนวตั้งที่เรียกว่า “Boule” ซึ่งจะค่อยๆ ก่อตัวสูงขึ้นมาประมาณ 20 ซม.ทุก 8 ชั่วโมง เสร็จแล้วจึงนำ Boule ไปอบให้อ่อนตัวลง โดยต้องใช้อุณหภูมิสูงมากและกินระยะเวลาหลายวัน เพื่อให้ได้วัสดุที่มีโครงสร้างเหมือนแซฟไฟร์จากธรรมชาติจริงๆ
ตัวคริสตัลแซฟไฟร์ที่ได้จากการผลิตนี้นอกจากจะแข็งแรงทนทานมากแล้ว ความโปร่งใสยังอยู่ในระดับสูงมากด้วย ซึ่ง Rado คือแบรนด์แรกที่นำคริสตัลแซฟไฟร์มาผลิตกระจกนาฬิกา โดยเริ่มจาก DiaStar1 หลังจากนั้นนักออกแบบของ Rado ก็ได้เติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปอีก โดยเพิ่มการเจียระไน เคลือบโลหะ ย้อมสี รมควัน ไปจนถึงการเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนบนคริสตัลแซฟไฟร์
*คุณลักษณะและประโยชน์ของไฮเทคเซรามิก:
- น้ำหนักเบา ให้สัมผัสสบาย
- มีความแข็งในระดับสูงสุดขีด
- ทนต่อการขีดข่วนและเสียดสีได้อย่างยอดเยี่ยม
- เป็นมิตรกับผิว เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย
- ทนต่อการเสื่อมสภาพ
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline